Silicon Beach

หากคุณอยากเพิ่มศักยภาพในการทำงาน อาจต้องพึ่งพาการอบรมทักษะเพิ่มเติม แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าแค่ปรับเปลี่ยนที่นั่ง อาจช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้นและเก่งขึ้นได้ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งในสหรัฐฯ ยืนยันความสำเร็จของแนวคิดนี้

ใครอยากเป็นคนทำงานเก่งขึ้นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีแนวคิดที่น่าสนใจ คือ การปรับที่นั่งทำงานเสียใหม่ การปรับที่ว่านี้ไม่ใช่การปรับมุมนั่งให้เป็นไปตามศาสตร์ความเชื่อใดๆ แต่เป็นการขยับไปใกล้ๆ คนที่ทำงานเก่ง และเชี่ยวชาญในทักษะที่คุณสนใจ เพื่อความก้าวหน้าของคุณ

หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal เปิดเผยว่า การนั่งโต๊ะทำงานใกล้ๆ กับเพื่อนร่วมงานที่ประสบความสำเร็จสูง จะช่วยดึงศักยภาพในการทำงานของคนๆ นั้นได้ถึง 3-16 เปอร์เซนต์ ตามข้อมูลการศึกษาของมหาวิทยาลัย Northwestern ที่สำรวจพนักงานออฟฟิศ 2,450 คนในบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ

ภายใต้สมมติฐานว่า ผู้ที่ประสบความสำเร็จสูงในการทำงานจะสามารถยกระดับความสามารถของผู้คนในหลายอาชีพและความถนัด ผ่านการสร้างแรงบันดาลใจ แรงกดดัน และแรงกระตุ้นจากเพื่อนร่วมงาน และสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้คนที่อยู่ใกล้เคียงได้

ขณะที่การวิจัยจาก Harvard Business School เมื่อปีที่แล้ว ศึกษาการกระจายทักษะอันหลากหลายของพนักงานออฟฟิศในบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และยุโรปหลายแห่ง

และพบว่าพนักงานที่ทำงานเสร็จก่อนใครเพื่อน จะช่วยกระตุ้นการทำงานของคนใกล้เคียงให้รวดเร็วขึ้นได้ถึง 8 เปอร์เซนต์ พนักงานที่จัดการปัญหาได้เบ็ดเสร็จในคนเดียว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเพื่อนร่วมงานที่นั่งใกล้เคียงกันได้ถึง 16 เปอร์เซนต์ ส่วนพนักงานคุณภาพที่ได้รับคะแนนนิยมจากลูกค้าในระดับสูง จะช่วยให้เพื่อนที่นั่งใกล้เคียงได้รับคะแนนนิยมจากลูกค้าสูงขึ้น 3 เปอร์เซนต์

ในทางกลับกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Dr. Dylan Minor หัวหน้าทีมวิจัยจาก Northwestern University’s Kellogg School ยืนยันว่า หากพนักงานดีเด่นต้องถูกล้อมรอบด้วยพนักงานที่ศักยภาพน้อยกว่าจะไม่ได้รับผลกระทบในเชิงลบ เมื่อเทียบกับการกระตุ้นศักยภาพเพื่อนร่วมงานให้เพิ่มขึ้นไป ยิ่งไปกว่านั้น ในอาชีพที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์

การนั่งติดกับคนเก่งจะช่วยต่อยอดแนวคิดที่น่าสนใจร่วมกันได้มากยิ่งขึ้น
มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมากมาย อย่างกรณีของ Hoon Oh ที่ได้รับตำแหน่ง Creative Director ของบริษัทโฆษณา Allen&Gerritsen ในฟิลาเดเฟีย และถูกจัดให้นั่งตรงข้าม Hilary Sedgwick ที่ทำตำแหน่งเดียวกัน แต่หลังจากทั้งคู่ย้ายมานั่งใกล้กัน หัวหน้าของพวกเขาพบว่าพวกเขาแสดงความหลงไหลในงาน แนะนำการทำงานให้กันและกัน รวมทั้งถ่ายทอดแนวคิดนี้สู่เพื่อนร่วมทีมด้วย

อีกกรณีหนึ่ง คือ ซีอีโอของบริษัทออกแบบซอฟต์แวร์ในการจัดหางาน Jobvite ในแคลิฟอร์เนีย มีนโยบายจัดที่นั่งของพนักงานใหม่ให้ใกล้กับพนักงานที่มีศักยภาพสูง หรือขนาดที่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทการตลาดดิจิทัล Vanerate Media Group จัดที่นั่งของพนักงานใหม่ให้ติดกับผู้บริหารผู้นั้น และพบว่าพนักงานใหม่ได้ผสมผสานเทคนิคการสัมภาษณ์ของเขาเข้าไปกับวิธีการสัมภาษณ์ของพนักงานใหม่ด้วย

แต่บางกรณี การอยู่ใกล้คนเก่งอาจไม่ช่วยให้กระตุ้นการทำงานได้จริง

อย่างการศึกษาจาก Washington University วิทยาเขต St. Louis เมื่อปี 2014 พบว่า พนักงานที่ศักยภาพน้อยจะได้ประโยชน์จากเพื่อนร่วมทีมที่เก่งกว่า หากบริษัทมีนโยบายจ่ายโบนัสพนักงานเป็นทีม

ตัวอย่างเช่น พนักงานดีเด่นในแผนกเครื่องสำอางค์ จะช่วยเพื่อนด้วยการเข้าไปดูแลลูกค้าชั้นดี และใช้ทักษะของตัวเองเพื่อดึงลูกค้าใหม่ๆ เข้ามา แต่ในทางกลับกัน หากบริษัทจ่ายโบนัสเป็นรายบุคคล พนักงานขายเก่งๆ อาจดึงลูกค้าชั้นดีไว้เอง และให้ส่วนลดลูกค้าเพื่อกระตุ้นยอดขายอยู่ฝ่ายเดียว


source ;- http://rferl.c.goolara.net/Click.aspx?id=066994956504315273

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.