Posted: 12 Aug 2017 03:33 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เครือข่ายสุขภาพผู้หญิง จ.เชียงใหม่ จี้รัฐต้องไม่ทำให้วัคซีนมะเร็งปากมดลูกเป็นแค่อุปาทานหมู่


กาญจนา แถลงกิจ ผู้ประสานงานเครือข่ายสุขภาพผู้หญิง จ.เชียงใหม่

ตามที่เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2560 จากข่าวในสื่อสารมวลชนต่าง ๆ มีการรายงานความผิดปกติของนักเรียนหญิงจำนวน 11 คนของโรงเรียนบ้านกร่าง ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก หลังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV Vaccine) โดยพบอาการแน่นหน้าอก ใจสั่น หายใจไม่ทั่วท้อง และไม่มีแรง จนต้องนำส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลพุทธชินราชจำนวน 3 ราย ต่อมารองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงในวันเดียวกันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดอาการแพ้จากการฉีดวัคซีน แต่เกิดจากการกลัวการฉีดยาจึงเกิดเป็นอุปาทานหมู่ หากแพ้วัคซีนจริงจะต้องมีอาการไข้หรือมีผื่นขึ้นร่วมด้วย และได้มีการฉีดวัคซีนมาแล้วกว่า 20,000ราย โดยไม่พบการรายงานผู้แพ้วัคซีนแต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2560 เครือข่ายสุขภาพผู้หญิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ทำงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศกับผู้หญิงเห็นว่า จากกรณีดังกล่าวภาครัฐไม่ควรรีบด่วนสรุปว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่องอุปาทานหมู่แล้วไม่มีการให้ข้อมูลทางวิชาการใดๆ เพิ่มเติม เนื่องจากมีข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันได้ว่าอาการหายใจลำบาก ใจสั่น และหลอดลมหดเกร็ง (Bronchospasm) นั้นเป็นอาการข้างเคียงที่อาจพบได้จากการได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก แม้จะมีโอกาสพบน้อยมากคือประมาณน้อยกว่า 1 รายใน 10,000 คนก็ตาม แต่ภาครัฐโดยกรมควบคุมโรคต้องให้ความสำคัญกับการสอบสวนความผิดปกติที่เกิดจากการใช้วัคซีนตามมาตรฐานการปฏิบัติงานของหน่วยงาน พร้อมทั้งนำเสนอกระบวนการสอบสวนและผลการสอบสวนต่อสาธารณะอีกครั้ง

เครือข่ายพ่อแม่วัยรุ่นกลุ่มวัยใส ต.ดอนแก้ว อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ทำกิจกรรมค่ายครอบครัวพูดเรื่องเพศเชิงบวกกับลูก ได้แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาประชาชนมีข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกน้อยมาก ไม่ทราบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ครอบคลุมแค่ไหนในระยะเวลาเท่าไหร่ หากนักเรียนผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้ววัคซีนจะยังได้ผลหรือไม่ ผลกระทบหรืออาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดจากการรับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเป็นอย่างไรบ้าง ช่วงอายุที่เหมาะสมในการรับวัคซีน หากคนที่อายุมากกว่านี้สนใจจะฉีดวัคซีนบ้างต้องมีค่าใช่จ่ายเท่าใด ฯลฯ

ดังนั้น จึงอยากให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐและโรงเรียนควรมีกิจกรรมส่งเสริมให้ความรู้ ในกลุ่มผู้ปกครองและเด็กหญิงที่จะต้องรับรู้ข้อมูลและเงื่อนไขต่างๆ ก่อนลงชื่อยินยอมให้ลูกหลานเข้ารับการฉีดวัคซีน และต้องมีกลไกติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของกลุ่มนักเรียนภายหลังจากการฉีดวัคซีนด้วย

ด้าน น.ส.กาญจนา แถลงกิจ ผู้ประสานงานเครือข่ายสุขภาพผู้หญิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าแม้โครงการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกดังกล่าวจะเป็นนโยบายของรัฐในการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมนักเรียนหญิง ป.5 ทุกคน โดยเริ่มฉีดเข็มแรกตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2560 เป็นต้นไปโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่กระทรวงสาธารณสุขต้องตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพเป็นหลัก ต้องมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงหรือผลกระทบที่อาจเกิดจากการฉีดวัคซีน รวมทั้งต้องมีกลไกระบบสอบสวนโรคที่ชัดเจน โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเพราะเป็นผลิตภัณฑ์เกิดใหม่ต้องมีการติดตามและรายงานผลต่อสาธารณะ การที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรครีบออกมาชี้แจงโดยมิได้รายงานผลการสอบสวนร่วมด้วย อาจเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและยิ่งจะก่อผลเสียและสร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคมโดยรวม ผลข้างเคียงไม่ใช่อุปทานหมู่ในกรณีการฉีดวัคซีนต้องแยกแยะให้สังคมเข้าใจด้วย

ทั้งนี้ผู้ประสานงานเครือข่ายสุขภาพผู้หญิง จ.เชียงใหม่ มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า นโยบายการฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนเป็นโยบายที่ดีเพราะเด็กหญิงวัยรุ่นในต่างประเทศก็ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงในหลายๆประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงควรใช้โอกาสนี้สร้างความร่วมมือกับโรงเรียนในการเปิดพื้นที่ให้มีกิจกรรมให้ความรู้เรื่องมะเร็งปากมดลูกและการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างรอบด้านร่วมกับครูในโรงเรียน ผู้ปกครอง และนักเรียน เช่น วิธีการป้องกัน โอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีอันเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก รวมไปถึงต้องให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในอนาคต เพราะวัคซีนที่ฉีดให้นั้น เป็นเพียงการลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ 2 สายพันธุ์เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ เงื่อนไขตรงนี้ต้องมีหน่วยงานรัฐเข้ามาสร้างเข้าใจให้กระจ่างโดยเร็ว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.