การซ้อมยิงขีปนาวุธของกองทัพเกาหลีเหนือ ภาพเผยแพร่ในเว็บไซต์ Uriminzokkiri ของเกาหลีเหนือเมื่อ 12 มีนาคม 2017 (ที่มาของภาพ: แฟ้มภาพ/Uriminzokkiri)

Posted: 12 Aug 2017 11:18 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

นักวิเคราะห์ผู้เคยทำงานให้สภาความมั่นคงและกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ เสนอ 12 ข้อควรรู้สำหรับกรณีเกาหลีเหนือที่เพิ่งขู่ยิงขีปนาวุธท่ามกลางความพยายามปลดอาวุธนิวเคลียร์จากนานาชาติ ซึ่งเขามองว่าการกดดันจากจีนจะเป็นตัวแปรสำคัญ แต่ผู้นำสหรัฐฯ เองก็ต้องทำตัวเรียกความน่าเชื่อถือจากจีนได้ด้วย

12 ส.ค. 2560 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นจากสหรัฐฯ นำเสนอบทความเสนอแนะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ถึงสิ่งที่เขาควรจะรู้เกี่ยวกับเกาหลีเหนือ 12 ประการ หลังจากที่ทรัมป์และผู้นำเกาหลีเหนือคิมจองอึน โต้ตอบด้วยวาจาและขู่กันไปมาตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ทางการเกาหลีเหนือแสดงท่าทีไม่พอใจเมื่อสหประชาชาติมีมติเพิ่มการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือหนักขึ้น ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาขู่ว่าจะยิงขีปนาวุธใส่เกาะกวมซึ่งเป็นเกาะในพื้นที่ปกครองของสหรัฐฯ ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ก็สวนกลับไปด้วยการขู่เช่นกันว่าถ้าหากเกาหลีเหนือแสดงการคุกคามอีกจะต้อง "เผชิญกับเปลวเพลิงและความโกรธเกรี้ยวแบบที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน"

เจมี เมตซ์ นักวิจัยอาวุโสจากสภาแอตแลนติคผู้ที่เคยทำงานในสภาความมั่นคงสหรัฐฯ และกระทรวงการต่างประเทศมาก่อนระบุว่าเป็นการปะทะกันทางวาจาระหว่างผู้นำที่ "เอาแน่เอานอนไม่ได้" ทั้งสองคน และขณะเดียวกันเขาก็ประเมินว่านอกจากทรัมป์จะทำให้ประเด็นคาบสมุทรเกาหลีกลายเป็นวิกฤตแล้วรัฐบาลทรัมป์เองก็ไม่มียุทธวิธีใดๆ ในการแก้ไขปัญหานี้ ทำให้เมตซ์แนะนำทรัมป์ถึงสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเกาหลีเหนือ 12 ข้อ ผ่านบทความของซีเอ็นเอ็นดังนี้

ข้อ 1. เมตซ์ระบุถึงสาเหตุที่เกาหลีเหนือพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะว่าพวกเขาเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ราคาถูกที่สุดที่จะทำให้พวกเขาอยู่รอดได้โดยไม่ถูกกดดันจากประเทศอื่น และทางการเกาหลีเหนือเชื่อว่าอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นหลักประกันไม่ให้พวกเขาถูกแทรกแซงด้วยกำลังทหารแบบลิเบียหรือยูเครนหลังจากยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์แล้ว การพยายามสร้างการคานอำนาจด้วยวิธีทางการทหารแบบดั้งเดิมมีราคาที่สูงเกินไปสำหรับประเทศที่แร้นแค้นอย่างเกาหลีเหนือ

ข้อ 2. อุดมการณ์ทางการเมืองของผู้นำเผด็จการเกาหลีเหนือต้องขึ้นอยู่กับการต้องทำให้คนระแวงอย่างหนักว่าอยู่ในภาวะสงครามตลอดเวลาจนทำให้เกาหลีเหนือรู้สึกปลอดภัยมากกว่าถ้าจะมีอาวุธนิวเคลียร์ เมตซ์ระบุว่า เมื่อพิจารณาร่วมกับประวัติศาสตร์การไม่ยอมทำตามข้อตกลงการลดอาวุธที่พวกเขาร่วมลงนามแล้ว การโน้มน้าวหรือดำเนินการร่วมมือใดๆ ก็ตามดูจะไม่ทำให้เกาหลีเหนือยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ได้ง่ายๆ เมตซ์เสนอว่าวิธีที่จะทำให้เกาหลีเหนือยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ได้คือการที่ต้องทำให้ผู้นำเกาหลีเหนือเชื่อว่าราคาที่ต้องจ่ายให้กับการคงไว้ซึ่งอาวุธนิวเคลียร์มีสูงกว่าราคาที่ต้องจ่ายให้กับการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์

ข้อ 3. เมตซ์มองว่าวิธีการที่จะให้เกิดผลลัพธ์แบบข้อ 2 นั้น เป็นเรื่องยากที่จะรอให้เปลี่ยนแปลงผู้นำหรือถึงขั้นใช้วิธีโจมตีทางทหารจากสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลเสียมากกว่า วิธีที่เมตซ์เสนอคือการเพิ่มการคว่ำบาตรให้หนักขึ้นเท่านั้นหรือไม่ก็ต้องใช้วิธีการบีบเค้นด้วยมาตรการอื่นๆ นอกจากการทหารไปจนกระทั่งบ่อนทำลายการยึดกุมอำนาจของพวกเขาได้ ถ้าหากพวกเขายังไม่ยอมยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์

ข้อ 4. อย่างไรก็ตามเมตซ์มองว่าเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมายังไม่มากพอที่จะชักจูงให้เกาหลีเหนือออกจากเส้นทางนิวเคลียร์ได้ การเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรในครั้งนี้อาจจะเป็นการหยิกให้เจ็บนิดๆ หน่อยๆ แต่ผู้นำที่อำมหิตของเกาหลีเหนือคงยอมให้ประชาชนนับแสนอดตายแทนที่พวกเขาจะยอมทำตามข้อตกลงที่ดีในเชิงยุทธศาสตร์

เมตซ์ประเมินว่าวิธีการคว่ำบาตรที่จะได้ผลกับเกาหลีเหนือคือการให้จีนร่วมมือในการปิดกั้นการค้าและเชื้อเพลิงกับเกาหลีเหนือจนกว่าเกาหลีเหนือจะยอมยกเลิกพัฒนานิวเคลียร์ แต่นี่ก็เป็นเรื่องจีนคงไม่ยอมทำง่ายๆ ด้วยเหตุผลเชิงยุทธศาสตร์ของจีนเอง

ข้อ 5. เมตซ์ชี้ว่าตัวเกาหลีเหนือเองเป็นเสมือนกันชนระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการรวมชาติเกาหลี นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งแรงงานราคาถูกสำหรับจีน จีนแลกเปลี่ยนกับเกาหลีเหนือด้วยการส่งน้ำมันดิบและอาหารเป็นส่วนใหญ่ให้กับกองทัพเกาหลีเหนือ มีสถาบันทางการเงินจีนส่งเงินให้เกาหลีเหนือเพื่อทำให้เศรษฐกิจเกาหลีเหนือยังคงอยู่ได้รวมถึงทำให้เกาหลีเหนือเข้าถึงตลาดในจีนได้ด้วย ถ้าหากปราศจากการสนับสนุนและการปกป้องการคว่ำบาตรโดยยูเอ็นจากจีนแล้วก็เป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือจะล่มสลายลง

ข้อ 6. แต่กระนั้นการที่จีนสนับสนุนเกาหลีเหนือต่อไปก็มีราคาที่ต้องจ่ายสำหรับจีนเอง เพราะเกาหลีเหนือก็ทำท่าเป็นปฏิปักษ์ต่อจีนมากขึ้น การทีเกาหลีเหนือดำเนินโครงการนิวเคลียร์ต่อไปก็บ่อนทำลายสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งจีนให้การสนับสนุนอยู่ จึงมีความเป็นไปได้ว่าถ้าหากจีนยังสนับสนุนเกาหลีเหนือก็อาจจะทำให้จีนตกเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดใน "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" ที่เกาหลีเหนืออาจจะเป็นผู้ก่อได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่ความไม่มีเสถียรภาพและความไม่คงเส้นคงวาของเทคโนโลยีเกาหลีเหนืออาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์สำหรับเกาหลีเหนือได้ นั่นอาจจะส่งผลทำให้เกิดการปนเปื้อนไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนได้ด้วย

ท่าทีกระหายสงครามของเกาหลีเหนือยังเป็นผลเสียต่อจีนในแง่ที่มันทำให้สหรัฐฯ อ้างความชอบธรรมในการวางกำลังในเกาหลีใต้ได้และพัฒนาอาวุธป้องกันขีปนาวุธให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นได้มากขึ้น นอกจากนี้การที่ญี่ปุ่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ที่ทำให้พวกเขาหาความชอบธรรมในการใช้กองกำลังป้องกันตนเองในการจัดการข้อพิพาทนอกอาณาเขตได้ง่ายขึ้น มีโอกาสทำให้เกิดการพยายามสั่งสมอาวุะนิวเคลียร์ในหมู่ประเทศเอเชียซึ่งส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ของจีนเองมากกว่าประเทศอื่นๆ

ข้อ 7. ถึงแม้จีนจะต้องการให้เกาหลีเหนือปฏิรูปตนเองจากภายในแบบที่จีนเคยทำแต่ผู้นำเกาหลีเหนือก็ไม่ปฏิรูปตัวเองจากภายในถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะพังแค่ไหนก็ตาม พวกเขาทำไม่ได้เพราะการปฏิรูปทางเศรษฐกิจโดยไม่ปฏิรูปทางการเมืองในการลดโครงสร้างเผด็จการเบ็ดเสร็จของพวกเขาไปด้วยนั้นเป็นไปไม่ได้ การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญจะต้องอาศัยตลาดข้อมูลในระดับหนึ่งรวมถึงต้องมีการเสริมกำลังให้กับคนงาน แต่การสร้างการเติบโตเช่นนี้เข้ากันไม่ได้กับระบบควบคุมอย่างโหดเหี้ยมของเกาหลีเหนือ

ข้อที่ 8. เมตซ์ระบุว่าด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้จีนมีทางเลือกอยู่สองทางเท่านั้น ทางแรกคือถ้าหากจีนเชื่อว่าควรจะมีเกาหลีเหนือจอมปฏิปักษ์และติดอาวุธนิวเคลียร์อยู่ใกล้ตัว ก็จะกระทำอะไรแบบเดิมต่อไปคือการแสดงความไม่พอใจและสนับสนุนการคว่ำบาตรบางส่วนแต่ก็ไม่ได้กดดันเกาหลีเหนืออย่างจริงจัง ทางที่สองคือถ้าหากพวกเขาไม่ทนต่อการมีเกาหลีเหนือที่ติดอาวุธและเป็นปฏิปักษ์ก็จะพยายามบีบให้เกาหลีเหนือยอมยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ไม่เช่นกันรัฐบาลเกาหลีเหนือจะต้องเผชิญกับการถูกทำลายเสถียรภาพและอาจจะล่มสลายไปได้

ข้อที่ 9. อย่างไรก็ตามเมตซ์ประเมินว่าถ้าจีนยังคงไม่กดดันเกาหลีเหนือเพิ่มเติมก็อาจจะทำให้เกาหลีเหนือเริ่มมีอะไรเอาไว้แข็งข้อกับจีนมากขึ้น เรียกร้องให้จีนต้องสนับสนุนส่งเสริมพวกเขามากขึ้นไม่ว่าเกาหลีเหนือจะส่งผลเสียหายทางยุทธศาสตร์ต่อจีนมากเพียงใดก็ตาม ถ้าจีนยังปล่อยเกาหลีเหนือไว้ก็อาจจะยิ่งทำให้สหรัฐฯ เกาหลีใต้และญี่ปุ่นหันมาบีบจีนแทนเพื่อให้ส่งผลต่อเกาหลีเหนือ

ข้อที่ 10. ในทางตรงกันข้ามถ้าจีนตั้งเงื่อนไขกับเกาหลีเหนือว่าต้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ไม่เช่นนั้นจะตัดสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจก็จะสร้างความเสี่ยงใหญ่ๆ ให้จีนเช่นกัน แต่ก็อาจจะส่งผลดีอย่างมากต่อจีนไปด้วย

ข้อที่ 11. ในบทความของเมตซ์ยังประเมินอีกว่า ถ้าหากจีนสามารถทำให้เกาหลีเหนือสามารถเลิกพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ จีนจะกลายเป็นมหาอำนาจผู้ดูมีความรับผิดชอบในภูมิภาคและทำลายความพยายามของสหรัฐฯ และพันธมิตรในการโต้ตอบภัยนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้

ในกรณีที่จีนกดดันเกาหลีเหนือแล้วแต่เกาหลีเหนือก็ยังไม่ยอมยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์จนทำให้จีนกดดันหนักขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้การยึดกุมอำนาจของเกาหลีเหนือเสื่อมลง เรื่องนี้จะทำให้จีนเข้าไปมีอิทธิพลมากขึ้นในการรวมชาติเกาหลีได้ทำให้สามารถปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตัวเองในกระบวนการนี้ไปในตัวด้วย โดยอาจจะทำให้จีนสามารถออกมติห้ามสหรัฐฯ ส่งกองทัพเข้าไปในเกาหลีเหนือและจีนวางกองทัพตัวเองได้ นอกจากนี้ยังอาจจะทำให้จีนได้รับประโยชน์ทางการค้ากับชาติเกาหลีมากขึ้นจากการเปิดเชื่อมตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่ไฮเทคกับตอนใต้ของเกาหลีไปพร้อมๆ กับการยับยั้งภัยการสั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ไปในตัว อีกทั้งยังลดอิทธิพลของสหรัฐฯ ต่อเกาหลีได้ด้วย

ข้อ 12. อย่างไรก็ตามเมตซ์ยังกล่าวถึงการที่สหรัฐฯ ควรจะช่วยปลดล็อกจีนในการดำเนินการเช่นนี้ เพราะแต่เดิมแล้วจีนมองเกาหลีเหนือว่าเป็นปฏิปักษ์ในเชิงยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ สหรัฐฯ จึงต้องดำเนินการเพื่อสร้างความเชื่อใจทางยุทธศาสตร์กับจีนถึงจะทำให้จีนยอมกดดันเกาหลีเหนือ แต่เมตซ์ก็วิจารณ์ผู้นำสหรัฐฯ ว่ามีพฤติกรรมเอาแน่เอานอนไม่ได้ การดำเนินยุทธศาสตร์แบบไม่สอดคล้องกัน และคณะรัฐบาลที่พึ่งพาลำบาก การจะทำให้เกิดความเชื่อใจกับจีนได้ก็เป็นเรื่องยาก

สรุปคือแม้ว่าจะมีการคว่ำบาตรจากสหประชาชาติเรื่อยๆ แต่ถ้าหากจีนไม่ได้ร่วมมือกดดันด้วยก็เป็นไปได้ยากที่จะเปลี่ยนแปลงออกจากสภาพเดิม การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ถ้าหากจีนเปลี่ยนนโยบายหรือเกาหลีเหนือพังทลายลงด้วยตัวเองซึ่งต้องใช้เวลานานหลายปี

เมตซ์ประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงของเกาหลีเหนืออาจจะไม่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ นี้ สหรัฐฯ คงกลับไปสู่สภาพแบบพยายามควบคุมอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือคล้ายสมัยสหภาพโซเวียต แต่โดยรวมๆ แล้วคาดว่าในภูมิภาคจะค่อนข้างมีเสถียรภาพเพราะเกาหลีเหนือคงไม่เสี่ยงยิงอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งจะเป็นการทำลายตัวเองง่ายๆ กระนั้นก็ตามผู้นำสหรัฐฯ เองก็ไม่ควรจะไปเล่นโต้ตอบทางวาจากับผู้นำเกาหลีเหนือซึ่งมีโอกาสจะเสี่ยงต่อเรื่องเสถียรภาพมากกว่าหรืออาจจะทำให้เกิดภัยจากการคำนวณผิดพลาดได้



เรียบเรียงจาก

12 things Trump should know about North Korea, CNN, August 9, 2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.