Posted: 20 Mar 2018 07:39 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
เอากันอย่างนี้ใช่ไหม.. ศาลออกหมายจับ ‘บิ๊กแอส’ ทั้งวง ฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพลงของวงตัวเอง หลังร้องเพลง 'ก่อนตาย' พร้อมย้อนดู 'มิวสิคบั๊กส์' ฟ้อง 'แกรมมี่-ลาบานูน' หลังใช้เพลงเก่า 7 อัลบั้มแสดงคอนเสิร์ต
21 มี.ค.2561 Workpoint News - ข่าวเวิร์คพอยท์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนของลิขสิทธิ์ค่ายเพลง เพาเวอร์เทรเซอร์ จำกัด หรือ มิวสิคบั๊กส์ พร้อมด้วยตำรวจสน.ทองหล่อ นำหมายจับจากศาลจังหวัดระยอง มาที่บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินคดีกับนักดนตรีวงบิ๊กแอส รวม 5 ราย ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนในงานดนตรีเพื่อการค้า ประกอบด้วย 1.เดชา โคนาโล (เจ๋ง) ร้องนำ 2. พูนศักดิ์ จตุระบุล (อ๊อฟ) กีตาร์นำ ร้องประสาน 3.อภิชาติ พรมรักษา (หมู) กีตาร์นำ ร้องประสาน 4. พงศ์พันธ์ พลสิทธิ์ (โอ๊ค) กีตาร์เบส 5. ขจรเดช พรมรักษา (แหลมหรือกบ) มือกลอง
ภายหลังนำบทเพลง 'ก่อนตาย' ของวงบิ๊กแอสเอง โดยเป็นบทเพลงในอัลบั้ม เอ็กซ์แอล ซึ่งขณะนั้นเป็นชุดที่ 2 ของวงและยังอยู่ในสังกัดค่ายมิวสิคบั๊กส์ มาขับร้องในงานเทศกาลเที่ยวทะเลหาดบ้านเพ-เกาะเสม็ด เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.60
‘หนุ่ม กะลา’โดนหมายจับ ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ หลังร้องเพลง 'ยาม' ในร้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การฟ้องลักษณะนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า บุญธรรม เพ็ชรนารถ ประธานกรรมการบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลง เพ็ชรเมโทร จำกัด พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.ทองหล่อ ได้นำหมายศาลจังหวัดพัทยา ที่ จ. 99/2561 ลงวันที่ 8 มี.ค.61 เดินทางมาที่ตึกแกรมมี่ เพื่อจับกุมตัว นายณพสิน แสงสุวรรณ อายุ 36 ปี หรือ หนุ่ม กะลา ในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าด่วยการเผยแพร่ภาพและเสียงต่อสาธารณะชน ซึ่งงานดนตรีกรรมหรือโสตทัศนวัสดุโดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยระบุเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 60 หนุ่ม กะลา ได้ไปเปิดแสดงคอนเสิร์ตที่ร้าน คลับ อินซอมเนีย ถนนวอล์คกิ้งสตรีท ต.หนองปรือ อ.เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และนำเพลง “ยาม” ไปร้องในร้านและในสถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ตต่างๆ อีกหลายครั้งหลายสถานที่ โดยไม่ได้มีการขออนุญาตกับทางเจ้าของลิขสิทธิ์แต่อย่างใด
โดยทางตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ ต่อ ร.ต.ท.(ญ) ชนิกานต์ เผื่อนพินิจ รอง สว.สส.สภ.เมืองพัทยา และได้ออกหมายเรียกให้มาตกลงกับทางเจ้าของลิขสิทธิ์หลายครั้งแต่ทางหนุ่ม กะลา ไม่ยอมมาพบและบ่ายเบี่ยงมาตลอด จึงต้องเดินทางมาที่บริษัทแกรมมี่ ด้วยตนเอง ซึ่งจนถึงขณะนี้ได้รับแจ้งจากทางแกรมมี่ ซึ่งเป็นต้นสังกัดว่า หนุ่ม กะลา ยังไม่เข้ามาที่บริษัทแกรมมี่ ซึ่งตนเองต้องการให้มาตกลงกันและในคดีดังกล่าวมีความผิดทางอาญามีโทษ จำคุก 4-6 ปี และปรับ 100,000 ถึง 800,000 บาท
'มิวสิคบั๊กส์' ฟ้อง 'แกรมมี่-ลาบานูน' หลังใช้เพลงเก่า 7 อัลบั้มแสดงคอนเสิร์ต
เมื่อย้อนไปต้นปี 2559 อีกนึ่งวงดนตรีดังอย่าง ลาบานูน ก็เผชิญปัญหานี้ หลังใช้เพลงเก่า 7 อัลบั้มแสดงคอนเสิร์ต โดยกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ชนินทร์ วรากุลนุเคราะห์ กรรมการบริษัท เพาเวอร์ เทรเซอร์ จำกัด ค่ายเพลงมิวสิคบั๊กส์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ.59 ตนได้ยื่นฟ้องบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งศิลปินวงลาบานูน กับพวก รวม 6 คน ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เรื่องละเมิดลิขสิทธิ์เพลงทั้ง 7 อัลบั้มของวงลาบานูนซึ่งเป็นสิทธิ์ของบริษัท เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้จำเลยทั้งหมด ระงับการนำพลงานเพลงลิขสิทธิ์โจทก์ ทั้ง 7 อัลบั้มไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าในรูปแบบใดๆโดยเด็ดขาด
สำหรับจำเลยทั้งหก ที่ค่ายมิวสิคบั๊กส์ ยื่นฟ้อง ประกอบด้วย บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิช ซิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดย บุษา ดาวเรือง กก.ผจก. , กรรมการผู้จัดการสังกัดจีนี่ เรคคอร์ด , บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)โดย สุวิมล จึงโชติกะพิสิฐ กก.ผจก. , ศิลปินวงลาบานูนทั้ง 3 คนซึ่งปัจจุบันย้ายค่ายสังกัดจีนี่ เรคคอร์ด เป็นจำเลยที่ 1-6
โดยคำฟ้อง บรรยายพฤติการณ์ระบุว่า บจก.เพาเวอร์ เทรเซอร์ ค่ายเพลงมิวสิคบั๊กส์ โจทก์ อนุญาตให้ บจก.จีเอ็มเอ็ม มิวสิคฯ จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บค่าตอบแทน และค่าเผยแพร่ผลงานด้านดนตรี สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศน์วัสดุ ที่เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทโจทก์ จากสถานประกอบการร้านค้าหรือผู้ใช้งานเพลง โดยทำหนังสืออนุญาตให้จัดเก็บค่าเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ต่อสาธารณะ รวม 3 ฉบับ ในปี 2545 , 2547 และ 2549 ซึ่งสัญญาฉบับที่ 3 จะสิ้นสุดในวันที่ 4 ก.ค.60 โดยเจตนารมณ์ของสัญญา คือการที่โจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดเก็บค่าตอบแทนจากบุคคลภายนอกเท่านั้น
แต่เมื่อปลายเดือน ส.ค.58 ภายหลังวงลาบานูนที่ได้ย้ายค่ายสังกัดจีนี่ เรคคอร์ด ต้นเดือนต.ค.57 ได้ออกผลงานเพลงเชือกวิเศษ แล้วได้นำงานเพลงทั้ง 7 อัลบั้ม คือนมสด , 191 , คนตัวดำ , 24 ชั่วโมง , Clear , Keep Rocking และสยามเซ็นเตอร์ ที่เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทโจทก์ไปใช้ประกอบการแสดงในแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 10 เพลงต่อรอบ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2557 จนถึงวันฟ้องวงลาบานูน ได้จัดการแสดงเพื่อประโยชน์การค้า ถึง 250 รอบ จึงเป็นการกระทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับความเสียหาย ก่อนฟ้องโจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสื่อแจ้งจำเลยทั้ง 6 ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมให้ยุติการกระทำที่ละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้ง 6 ยังเพิกเฉย
แสดงความคิดเห็น