Posted: 28 Feb 2018 08:13 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในยุคนี้มีนักประชาธิปไตยดีๆ บางคน ออกมาพูดว่าเราไม่ควรใช้คำว่า “สลิ่ม” แล้ว และเราควรจะก้าวพ้นความแตกแยกในสังคมที่เกิดขึ้นตั้งแต่เสื้อเหลืองออกมากวักมือเรียกให้ทหารทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา นอกจากนี้นักประชาธิปไตยบางคนก็พูดทำนองว่า “อย่ามาพูดเรื่องเสื้อแดงอีก” และมีการพยายามที่จะปฏิเสธว่าคนเสื้อแดงออกมาร่วมในการประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือที่เชียงใหม่ เมื่อเดือนที่แล้ว

ในแง่หนึ่งผมเข้าใจความรู้สึกของคนที่อยากลดความตึงเครียดในสังคม แต่ข้อเสนอที่พวกนี้เอ่ยถึงข้างบน มันพาคนไปเข้าสู่เกมหรือโรดแมปของทหารเผด็จการ

เราควรเข้าใจว่าทหารเผด็จการ นอกจากจะต้องการสืบทอดอำนาจไปนานหลังการเลือกตั้ง ผ่าน “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” แผนใหญ่ของเขาคือการบังคับปรองดองจอมปลอมบนเงื่อนไขของพวกเผด็จการ และพวกชนชั้นกลางที่เกลียดชังประชาธิปไตย (พวก “สลิ่ม” นั้นเอง)

สิ่งที่ทหารเผด็จการต้องการคือ อยากให้นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหดหู่ หมดกำลังใจ จนพร้อมจะประนีประนอมกับฝ่ายเผด็จการ และยอมรับประชาธิปไตยครึ่งใบ กับ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ”

นี่คือสาเหตุที่เขากำลังปราบปรามนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่โกหกว่าสิทธิมนุษยชนเป็น “วาระแห่งชาติ” เขาอยากจะทำลายขบวนการประชาธิปไตยที่กำลังก่อตัวขึ้นทุกวันนี้ภายใต้การนำของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เพราะถ้าสามารถทำลายกระแสนี้ได้ อุปสรรคสำคัญที่จะมีการเลือกตั้งภายใต้ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบก็จะหายไป


แน่นอนเราไม่ควรรังเกียจคนที่เคยเป็นสลิ่มที่กลับใจสำนึกผิดและอยากจะร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยในยุคนี้ แต่การจับมือกับคนที่ไม่สำนึกผิด ที่มองว่าไทยมีประชาธิปไตย “มากเกินไป” หรือคนที่อวยเผด็จการ หรือคนที่มองว่าพลเมืองไทยส่วนใหญ่ที่ยากจน “โง่” “ขายเสียง” และ “ไม่ควรมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ในการเลือกรัฐบาล” จะเป็นการยอมจำนนต่อแผนของเผด็จการ นอกจากนี้การจับมือกับคนคลั่งชาติที่มองว่าเขาพระวิหาร “เป็นของไทย” และพร้อมจะเห็นสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องไร้สาระแบบนี้ ก็มีปัญหาเช่นกัน ถ้าเขาไม่กลับใจสำนึกผิด

ผมไม่มีปัญหากับการถกเถียงกับสลิ่ม เพื่อให้เขาเปลี่ยนจุดยืน ใครมีเวลาว่างก็เชิญทำ แต่การประนีประนอมกับจุดยืนของสลิ่มจะไม่นำไปสู่ประชาธิปไตยแต่อย่างใด นอกจากนี้การประนีประนอมแบบนั้น จะเป็นการทอดทิ้งเพื่อนเราที่ติดคุกในกรณี 112 อีกด้วย

ในหัวข้อบทความนี้ผมพูดถึงความภูมิใจที่ “เคย” เป็นเสื้อแดง ผมใช้คำว่า “เคย” ไม่ใช่เพราะผมเปลี่ยนจุดยืนแต่อย่างใด แต่เพราะตอนนี้เสื้อแดงหมดพลังในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม สาเหตุหลักคือการที่ทักษิณและพรรคพวกของเขาใน นปช. จงใจแช่แข็งและทำลายขบวนการจนมันหมดสภาพ

ในเรื่องเสื้อแดง ทุกคนควรยอมรับว่าการที่มีเสื้อแดงหลายคนไปร่วมในการชุมนุม “คนต้องการเลือกตั้ง” ทำให้มวลชนมีจำนวนมากขึ้น แถมมีการจัดป้ายอย่างเป็นระบบอีกด้วย บางครั้งผมสงสัยว่านักประชาธิปไตยบางคนอยากจับมือและเอาใจ “สลิ่ม” มากกว่าเสื้อแดงอีก แต่ขบวนการเสื้อแดงเคยเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

ผมไม่เคยสนับสนุนทักษิณ แต่ในยุคเผด็จการผมยินดีทำแนวร่วมกับคนที่รักทักษิณหรือยิ่งลักษณ์ บางคนอาจคิดว่าถ้านักประชาธิปไตยหรือเสื้อแดงหมดรักในทักษิณ หรือก้าวพ้นทักษิณ เราอาจจับมือกับเสื้อเหลืองหรือ “สลิ่ม” ได้ คนที่คิดแบบนี้เป็นคนที่วิเคราะห์วิกฤตไทยแบบตื้นเขิน เพราะมองว่ามันคล้ายๆ ความขัดแย้งระหว่างคนที่เชียร์ทีมฟุตบอล์สองสี ไม่มีการทำความเข้าใจเนื้อหาทางการเมืองที่เป็นรากฐานความขัดแย้งเลย

โดยรวมแล้วพวกสลิ่มชนชั้นกลางเป็นคนที่คัดค้านการใช้งบประมาณรัฐในการพัฒนาสภาพชีวิตของคนทำงานธรรมดาๆ ในเมืองและในชนบท พวกนี้คัดค้านนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยรักไทย เขาคัดค้านกองทุนหมู่บ้านเพื่อสร้างงาน เขาคัดค้านโครงการประกันราคาข้าวสำหรับเกษตรกร ฯลฯ


จุดยืนแบบนี้คือจุดยืนทางชนชั้น และสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐศาสตร์การเมืองที่บูชากลไกตลาดเสรี หรือนโยบาย Neo-liberal ของฝ่ายขวาทั่วโลกที่ชื่นชมระบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” เขามองว่าคนจนควรเจียมตัวในความยากจน และโกหกสังคมกับตัวเองว่าเขาเองร่ำรวยเพราะ “การขยันทำงาน” และคนจน “ขี้เกียจหลังยาว” นี่คือจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาลเผด็จการทหารที่ชอบใช้คำว่า “การรักษาวินัยทางการคลัง” เพื่อคักค้านการใช้เงินรัฐเพื่อพัฒนาชีวิตคนส่วนใหญ่ และแน่นอนพวกนี้ไม่เคยคัดค้านการใช้งบประมาณรัฐเพื่อเพิ่มงบประมาณทหาร งบประมาณพวกอภิสิทธิ์ชน หรือการลดภาษีให้คนรวย [ดู]

เรื่องแบบนี้คือรากฐานความขัดแย้งระหว่างเสื้อแดงกับสลิ่ม และการปิดหูปิดตาไม่ยอมสนใจ จะไม่นำไปสู่สังคมที่สงบ มันจะนำไปสู่สังคมที่มองไม่เห็นหัวคนส่วนใหญ่ต่างหาก



เผยแพร่ครั้งแรกใน: Turnleft-Thailand
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
เสรีนิยม กลไกตลาด และรัฐ


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.