Posted: 28 Feb 2018 08:01 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

เมื่อ "คนอยากเลือกตั้ง" ออกมาเรียกร้องให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกำหนด ก็มีบางเสียงบอกว่า "เลือกไปก็ได้คนเดิมๆ พรรคเดิมๆ แล้วก็จะกลับไปมีปัญหาแบบเดิมๆ"


วาทกรรมนี้ คิดได้ในบางมุมว่า คนพูดต้องการลดความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งว่า ไม่ใช่ทางออกจากปัญหาที่บ่นๆกันได้หรอก แต่ในบางมุม ผมก็เห็นประเด็นให้คิดต่อว่า ถ้าพรรคการเมืองที่เป็นตัวเลือกไม่มีวิวัฒนาการให้คนอยากเลือกตั้ง ปัญหาที่เผชิญอยู่ ก็เห็นทางออกริบหรี่อยู่เหมือนกัน

ลองคิดเล่นๆต่อไปอีกว่า สมมติ ถ้าการเลือกตั้งเมื่อ 6 มกราคม พ.ศ.2544 ไม่มีพรรคไทยรักไทยเป็นตัวเลือกอยู่ในสารบบของการเลือกตั้งครั้งนั้น ถึงแม้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ประกาศใช้แล้ว แต่การเมืองไทยและสังคมไทยย่อมไม่เป็นเช่นที่เห็นในวันนี้อย่างแน่นอน

การเมืองไทยที่ไม่มีพรรคไทยรักไทย คงย้อนกลับไปเหมือนทศวรรษ 2530 ที่พรรคต่างๆหมุนเวียนกันขึ้นมาเป็นแกนนำรัฐบาลผสม ไม่มีการชูนโยบายในการเลือกตั้งอย่างจริงจัง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นได้เพียงความใฝ่ฝันของคุณหมอสงวน กองทุนหมู่บ้านไม่เคยเกิดขึ้น ส่วน OTOP และ SME เป็นคำย่อที่ไม่มีใครรู้จัก และเราอาจยังทยอยจ่ายหนี้ให้ IMF อยู่

การเมืองไทยที่ไม่มีพรรคไทยรักไทย คงไม่มีการสร้างความขัดแย้งของสีเสื้อ เพราะเกิดการหมุนเวียนของอำนาจ ไม่มีพรรคใดชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง ไม่ต้องอาศัยการเมืองบนท้องถนนเพื่อขับไล่รัฐบาล เพราะอายุรัฐบาลสั้นเพียง 1-2 ปี

การเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทยจึงเปลี่ยนการเมืองไทยและสังคมไทยในทศวรรษ 2540 โดยสิ้นเชิง

ผมคิดสนุกๆต่อไปอีกว่า ถ้าพรรคไทยรักไทยปี 2544 เดินทางข้ามเวลามาเสนอตัวรับเลือกตั้งในปี 2561 หรือ 2562 พรรคไทยรักไทยจะเป็นตัวเลือกที่เปลี่ยนการเมืองไทยและสังคมไทยได้หรือไม่

ฟันธงเลยว่า ไม่ได้ เพราะระบบนิเวศของสังคมเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วกับปัจจุบันนี้แตกต่างกันมาก คนหนุ่มสาววันนี้ รับแรงกดดันจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาส ความบีบคั้นจากการแข่งขัน และเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI, Blockchain, IOT, EV ฯลฯ กำลังรื้อถอนสิ่งที่เขาเคยชินอย่างดุดันด้วยความเร็วแบบยกกำลัง ส่งผลให้เขาเหล่านั้นเรียกร้องหาพรรคการเมืองที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้ ซึ่งแน่นอน...พรรคไทยรักไทยยุค 2544 ทำไม่ได้

พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคการเมืองอื่นๆที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศในการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อรับความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแค่ การซ่อม (Fix), ปรับปรุง (Renovate) หรือใหญ่ขนาด รื้อถอน (Disrupt) ก็ตาม

ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่ พรรคการเมือง "ใหม่" ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ สามารถเสนอตัวเป็นทางเลือก หากพรรคการเมืองเดิม อุ้ยอ้าย ขยับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้

ผมสัมผัสได้ถึงกระแสลมของพรรคคนรุ่นใหม่ที่พัดแรงขึ้นทุกที ท่ามกลางคลื่นประชาธิปไตยของ "คนอยากเลือกตั้ง" ที่ก่อตัวใหญ่ขึ้นและใหญ่ขึ้น

และเมื่อมองย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย พรรคการเมือง "ใหม่" ก็ไม่เคยว่างเว้นจากการเมืองไทย และบางครั้งยังเคย "เขย่า" การเมืองอย่างเข้มข้นมาแล้ว

ในการเมืองไทยยุคปัจจุบัน หลัง 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา มีการเลือกตั้ง 3 ครั้งที่พรรคการเมืองซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ได้รับเลือกตั้งอย่างมีนัยสำคัญ และมีผลต่อการเมืองไทยในขณะนั้น

1) การเลือกตั้งวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2522 พรรคการเมือง"ใหม่"ที่เพิ่งก่อตั้งเพียง 45 วันอย่างพรรคประชากรไทย มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค กวาดที่นั่งในกรุงเทพมหานครไป 29 ที่นั่งจากทั้งหมด 32 ที่นั่ง เหลือเพียง 3 ที่นั่งให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ นายเกษม ศิริสัมพันธ์ จากพรรคกิจสังคม และ พ.อ.ถนัด คอมันตร์ จากพรรคประชาธิปัตย์

2) การเลือกตั้งวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2535 พรรคพลังธรรมที่มี พลตรี จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค กวาดที่นั่งในกรุงเทพมหานครไป 32 ที่นั่งจากทั้งหมด 35 ที่นั่ง เหลือเพียง 3 ที่นั่งให้ นายสมัคร สุนทรเวช และ ดร.ลลิตา ฤกษ์สำราญ จากพรรคประชากรไทย และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์

3) การเลือกตั้งวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 พรรคไทยรักไทยที่มี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค กวาดที่นั่งในกรุงเทพมหานครไป 29 ที่นั่งจากทั้งหมด 37 ที่นั่ง เหลือเพียง 8 ที่นั่งให้พรรคประชาธิปัตย์

อ่านทบทวน 3 ครั้ง คุ้นๆไหมครับ คำว่า "กวาดที่นั่งในกรุงเทพมหานคร" - พื้นที่ที่เชื่อกันว่า ไม่มีการซื้อเสียง แต่ผู้เลือกเปลี่ยนใจได้เสมอหากผู้ที่ได้รับเลือกไปแล้ว ทำงานไม่ถูกใจ และผู้เลือกพร้อมอ้าแขนรับผู้เสนอตัวรับเลือกตั้งรายใหม่ๆตลอดเวลา

การเลือกตั้งครั้งหน้า ผมจึงไม่เพียงอยากให้มาถึงในเร็ววัน แต่ยังอยากเห็นพรรคการเมือง"ใหม่" ที่ขับเคลื่อนโดยคนหนุ่มสาว เพื่อนำพาสังคมไทยไปสู่อนาคตที่พวกเขาใฝ่ฝัน และหากพวกเขาทำการบ้านได้ดีพอ เราอาจได้เห็นการ "กวาดที่นั่งในกรุงเทพมหานคร" อีกครั้ง

ที่จริงแล้ว พรรคการเมือง"ใหม่" และนักการเมือง”แบบใหม่” กำลังเป็นกระแสนิยมไปทั่วโลก เพราะคนหนุ่มสาวทั้งโลกในวันนี้ ต่างเผชิญกับแรงบีบคั้นรุนแรงอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเหมือนๆกัน

อีกทั้ง คนหนุ่มสาวยังถูกผลักไสให้เป็น "คนนอก" กระเด็นไกลจากแวดวงการเมืองที่มีผลต่อชีวิตและอนาคตของเขา ดังนั้น จึงเกิดการก่อตัว เรียกร้องให้มีตัวแทนของพวกเขาที่เป็นอิสระจากพวก "ขาใหญ่" ในการเมืองแบบดั้งเดิม

ไม่น่าแปลกใจ ที่ตัวแทนซึ่งให้ความรู้สึกแบบ "คนนอก" จึงเป็นที่ยอมรับในกลุ่มก้อนของคนหนุ่มสาว การผงาดขึ้นมาของคนแบบ Bernie Sanders ของสหรัฐอเมริกา, Jeremy Corbyn ของอังกฤษ, Justin Trudeau ของแคนาดา, Emmanuel Macron ของฝรั่งเศส และ Pablo Iglesias ของสเปน อธิบายความคับข้องของคนหนุ่มสาวยุคนี้ได้พอสมควร

วันนี้ เราเห็นคนหนุ่มสาวของไทยลุกขึ้นมาแสดงความรู้สึกว่า "อยากเลือกตั้ง" อย่างคึกคัก ไม่หวั่นเกรงภยันตรายใดๆ

พร้อมๆกัน ก็มีคนหนุ่มสาวบางคนเริ่มคิดดังๆ ให้ได้ยิน วาดหวังถึงตัวแทนของพวกเขาในการเลือกตั้งที่จะมาถึง เช่น


“การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีขึ้น ไม่สามารถทำได้ชั่วข้ามคืน ต้องใช้เวลา อดทน มุ่งมั่น แต่การใช้เวลา ไม่ได้หมายความว่า รอเวลาอย่างเดียว โดยไม่ลงมือทำ ผมเชื่อว่า ยังมีคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดดีๆ และมุ่งมั่นตั้งใจอยากเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ทำการเมืองแบบใหม่ให้ประเทศนี้อีกมาก

"การเมือง" เป็นเรื่องของเรา หากเราไม่ทำ คนอื่นก็จะเข้ามาทำ หากเราต้องการให้การเมืองเป็นแบบใด เราต้องลงมือทำเอง เราต้องสร้าง "ทางเลือกใหม่" ให้สำเร็จให้จงได้ "ทางเลือกใหม่" อาจไม่ชนะในวันนี้ แต่อย่างน้อย ต้องทำให้ผู้คนมี "ความหวัง" กับการเมือง... การเมืองแบบใหม่ ประชาชนสร้างได้"

- ปิยบุตร แสงกนกกุล

ผมทำนายว่า หลังวันที่ 1 มีนาคมนี้ เราจะได้เห็นคนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาตั้งพรรคการเมืองของพวกเขาเอง ขับเคลื่อนโดยวิธีคิดแบบคนหนุ่มสาว เพื่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกเขาจะใช้ชีวิตไปอีก 50-60 ปี
คนรุ่นใหม่ อนาคตใหม่



ที่มา: เฟสบุ๊ค สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.