ที่มา: Facebook/Mark Zuckerberg)

Posted: 22 Mar 2018 04:44 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เกิดข้อถกเถียงกรณีข้อมูลส่วนตัวของบุคคลรั่วไหลจากเฟซบุ๊ก ไปยังบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรณรงค์หาเสียงให้โดนัลด์ ทรัมป์ ช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2559 ส่งผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังมีข่าวว่าข้อมูลรั่ว มูลค่าเฟซบุ๊กลดลงถึง 37,000 ล้านดอลลาร์

22 มี.ค. 2561 สื่อซีเอ็นเอ็นรายงานถึงสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับข้อถกเถียงประเด็นนี้ เช่นว่าเกิดอะไรขึ้นกับข้อมูลที่คุณโพสต์ลงเฟซบุ๊ก และใครเป็นผู้รับผิดชอบกับเรื่องการใช้ข้อมูลส่วนตัวในโซเชียลเน็ตเวิร์ก


ไทม์ไลน์เฟซบุ๊กปล่อยข้อมูลรั่ว 50 ล้านคน จากแอพฯ ทายบุคลิกสู่ผลเลือกตั้ง ปธน. สหรัฐฯ

เรื่องเริ่มต้นจากการที่เฟซบุ๊กให้อนุญาตอเล็กซานแดร์ โคแกน ศาตราจารย์จิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์รวบรวมข้อมูลของผู้ใช้งานที่ดาวน์โหลดโปรแกรมแอพพลิเคชั่นของเขาที่ชื่อ "thisisyourdigitallife" ถึงแม้ว่าโปรแกรมดังกล่าวจะอ้างว่าเป็นโปรแกรมแบบทดสอบบุคลิกภาพแต่ทางเฟซบุ๊กก็อนุญาตให้โคแกนเก็บข้อมูลผู้ใช้งานรวมถึงเพื่อนหรือเนื้อหาที่คนๆ นั้นกดไลก์ด้วย ซึ่งเป็นไปตามกฎการใช้งานของเฟซบุ๊กในยุคนั้น

นิวยอร์กไทม์รายงานว่าโคแกนให้ข้อมูลผู้ใช้งานมากกว่า 50 ล้านรายชื่อให้กับบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลเคมบริดจ์อนาไลติกา ซึ่งถือเป็นการผิดกฎของเฟซบุ๊กเอง โดยที่บริษัทนี้กำลังพัฒนาเทคนิคว่าจะทำอย่างไรถึงจะส่งอิทธิพลต่อผู้ลงคะแนนเสียงได้

แม้ว่าเฟซบุ๊กจะบอกว่าทางเคมบริดจ์อนาไลติกาลบข้อมูลไปแล้วในปี 2558 แต่ข้อมูลก็ไม่ได้ถูกลบออกทั้งหมดจากหลักฐานของรายงานหลายชิ้น ขณะที่เคมบริดจ์อนาไลจิกากล่าวต่อนิวยอร์กไทม์วาพวกเขาไม่ได้ใช้บริการนี้ช่วยเหลือการหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์

มีการตั้งคำถามกับวิธีการล้วงข้อมูลและใช้ข้อมูลของบริษัทนี้ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากที่โทรทัศน์ Channel 4 ของอังกฤษรายงานว่าประธานบริหารของเคมบริดจ์อนาไลติกา อเล็กซานเดอร์ นิกซ์ อาจจะมีส่วนร่วมในการติดสินบนและหลอกล่อนักการเมือง โดยที่นิกซ์แก้ต่างว่ารายงานของ Channel 4 วางบทและตัดต่อแบบไม่ตรงกับความจริงเกี่ยวกับวิธีการดำเนินธุรกิจของบริษัท

กรณีนี้ทำให้เฟซบุ๊กต้องเผชิญกับข้อกังขาในหลายๆ เรื่อง ทั้งจากเรื่องที่เฟซบุ๊กส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งในสหรัฐฯ หรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ก็มีการเปิดโปงกรณีที่รัสเซียเข้ามาอาศัยพื้นที่เฟซบุ๊กส่งอิทธิพลต่อการข่าวการเลือกตั้งสหรัฐฯ ทำให้เฟซบุ๊กต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาทั้งการขจัดข่าวปลอม ลดช่องทางการหาเงินของพวกโทรล และทำให้การโฆษณาทางการเมืองมีความโปร่งใสมากชึ้น

แต่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กก็ต้องเผชิญคำถามที่ว่าเฟซบุ๊กมีความโปร่งใสมากขนาดไหนกับกรณีการนำข้อมูลของผู้ใช้ไปใช้งาน พวกเขาต้องตรวจสอบกลุ่มบุคคลที่สามในเรื่องการนำข้อมูลผู้ใช้งานไปใช้มากขึ้นหรือไม่ หรือแม้กระทั่งคำถามที่ว่าเฟซบุ๊กควรจะอยู่กับวิธีการขายข้อมูลผู้ใช้ให้โฆษณาและผู้พัฒนาแอพพลิเคชันแบบนี้ต่อไปหรือไม่

เรื่องนี้ยังทำให้นักการเมืองหลายกลุ่มหมายลงมาตรวจสอบในเรื่องนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอัยการสูงสุดของรัฐแมสซาชูเซตส์ที่ประกาศว่าจะมีการสืบสวนความเกี่ยวข้องระหว่างเฟซบุ๊กกับเคมบริดจ์อนาไลติกา สำนักงานคณะกรรมาธิการข้อมูลข่าวสารของอังกฤษและสภายุโรปก็กำลังทำการสืบสวนในเรื่องนี้ด้วย ขณะที่ ส.ว. พรรครีพับลิกันวิจารณ์ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้คน

เอมี คโลบูชา คณะกรรมาธิการด้านการยุติธรรมแห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ สังกัดพรรคเดโมแครตประกาศให้ซัคเคอร์เบิร์กต้องออกมาอธิบายในเรื่องนี้ ส่วนทางการอังกฤษก็ขอหมายค้นสำนักงานเคมบริดจ์อนาไลติกาในลอนดอน สะท้อนให้เห็นว่าการเปิดโปงเกี่ยวกับเคมบริดจ์อนาไลติกาทำให้ภาครัฐมีเป้าหมายตรวจสอบบริษัทไอทีมากขึ้นและในยุโรปก็อาจจะมีกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิความเป็นส่วนตัวที่จริงจังขึ้น

เรื่องอื้อฉาวนี้ยังส่งผลให้หุ้นของเฟซบุ๊กตกลงร้อยละ 7 ทำให้มูลค่าของบริษัทไอทีแห่งนี้สูญไป 37,000 ล้านดอลลาร์ด้วย

เรียบเรียงจาก

What you need to know about Facebook's data debacle, CNN, Mar. 20, 2018
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.