ภาพขวา : ร.ต.สนาน ทองดีนอก, ภาพซ้าย : สระว่ายน้ำที่ฝึก

Posted: 25 Nov 2018 10:31 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-11-26 13:31


คดีมารดา-ภรรยา ของ ร.ต.สนาน ฟ้องกองทัพบก เรียกค่าเสียหาย จากเหตุการณ์ ร.ต.ร.ต.สนาน เสียชีวิตในระหว่างฝึกหลักสูตรทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (UKBT) รุ่นที่ 11 โดย ศาลแพ่งนัดสืบทหารหัวหน้าครูฝึกผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุ 23 ม.ค. พร้อมนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 มี.ค.62

26 พ.ย.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับเจ้งจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ว่า เมื่อวันที่ 20 ถึงวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 717 ศาลแพ่ง (ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร)ผู้พิพากษาแพ่งออกนั่งพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลย ในคดีหมายเลขดำ ที่ พ.2580/2559 คดีระหว่าง หวาน ทองดีนอก โจทก์ที่ 1 ธัญญารัตน์ วรรณสถิตย์ โจทก์ที่ 2 กับ กองทัพบก จำเลย เรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จากเหตุการณ์ ร.ต.สนาน ทองดีนอก เสียชีวิตในระหว่างฝึกหลักสูตรทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (UKBT) รุ่นที่ 11 โดยหลักสูตรดังกล่าวได้จัดให้มีการทดสอบความสามารถโดยการว่ายน้ำ เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นหัวหน้าครูฝึกมีหน้าที่กำกับดูแลการฝึก ถูกกล่าวหาว่าขณะเกิดเหตุ ร.ต.สนาน ได้ถูกบังคับให้ว่ายน้ำไป-กลับ ภายในสระว่ายน้ำโดยไม่มีการหยุดพักหลายสิบรอบ ซึ่งเกินกำลังความสามารถที่ร่างกายจะรับได้ เป็นเหตุให้ ร.ต.สนาน จมลงไปก้นสระเป็นเวลานาน โดยที่ครูฝึกซึ่งมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้เข้ารับการฝึกกลับปล่อยปละละเลยไม่เข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

วันที่ 20 พ.ย.2561 สืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายคือเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งทำหน้าที่เป็นพยาบาลภาคสนามในวันเกิดเหตุเบิกความว่าตนเป็นคนที่ลงไปช่วย ร.ต.สนาน จากสระว่ายน้ำ

วันที่ 21 และ 22 พ.ย. 2561 สืบพยานจำเลยจำนวน 4 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นคณะกรรมการในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกองทัพบกในกรณีการเสียชีวิตของ ร.ต.สนาน, เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายธุรการ, พนักงานสอบสวนและแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพ พนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายความจำเลยแถลงต่อศาลขอเลื่อนนัดสืบพยานจำเลยไปอีกหนึ่งนัด เพราะยังมีพยานอีกหนึ่งปากซึ่งติดภารกิจมาศาลไม่ได้ เป็นพยานปากสำคัญเนื่องจากพยานดังกล่าวเป็นทหารหัวหน้าครูฝึกผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุทำให้ ร.ต.สนาน ถึงแก่ความตาย ศาลจึงมีคำสั่งกำหนดนัดสืบพยานจำเลยอีกครั้งในวันที่ 23 ม.ค. 2562 เวลา 09.00-16.30 น. พร้อมนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 มี.ค. 2562 เวลา 09.00 น.

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า คดีนี้เป็นหนึ่งในอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งมีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เข้าข่ายเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งกองทัพบกในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหาร ควรมีการตรวจสอบ ควบคุมกำกับกำลังพลทุกหน่วยทุกระดับ มิให้เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดต่อร่างกายและชีวิตของประชาชนทั่วไป ทหารเกณฑ์หรือเจ้าหน้าที่ทหารด้วยกันเองทุกระดับ ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของกำลังพลฝ่ายทหาร โดยถือหลักสากลในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง คือ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CAT) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีที่พึงต้องยึดถือปฏิบัติ

[full-post]


Posted: 26 Nov 2018 04:54 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-11-26 19:54


สปสช. กรมควบคุมโรค สภากาชาดไทย ภาคีเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ลงนามความร่วมมือ “ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย” มุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เอดส์ชาติ บรรลุเป้า “ยุติปัญหาเอดส์ ปี 2573” พร้อมแจงแนวทางบริการป้องกันติดเชื้อเอชไอวี กองทุนบัตรทองปี 2562 กสม. ย้ำผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องไม่ถูกกีดกันสิทธิการเข้าถึงการจ้างงานทั้งในหน่วยงานรัฐ/เอกชน แนะรัฐบาลเร่งส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ - ป้องกันการเลือกปฏิบัติ

26 พ.ย.2561ที่ รร.เซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมควบคุมโรค สภากาชาดไทย และองค์กรภาคีและเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ร่วมลงนามความร่วมมือในการดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย พร้อมร่วมประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยมีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ผู้แทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคเขตทุกแห่ง องค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เอดส์ เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญเพื่อยุติการแพร่กระจายโรค ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ 1.ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เหลือไม่เกิน 1,000 ราย/ปี 2.ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย และ 3.ลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะลงจากเดิมร้อยละ 90

ในส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้สนับสนุนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ฯ มาอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลจัดสรรงบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์จำนวน 3,046 ล้านบาท เป็นงบบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 200 ล้านบาท แต่การบรรลุเป้าหมายได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน นำมาสู่การลงนาม “ความร่วมมือในการดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย”ครั้งนี้ เพื่อผนึกกำลังร่วมกันให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนงานระดับโลกเพื่อทราบสถานการณ์ติดเชื้อของตนเองตามคำขวัญที่ว่า “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์”

ส่วนการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ปีงบประมาณ 2562 เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจแนวทางดำเนินงานปีนี้ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงาน สะท้อนปัญหาและอุปสรรคสู่การปรับปรุงและพัฒนางานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี พร้อมเชื่อมโยงทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน 3 ประการ คือ ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่มีการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ สู่ความสำเร็จในการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573

นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งใประเทศที่ประสบความสำเร็จการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ให้เข้าถึงการรักษา รวมถึงการป้องกันและลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากรายงานสถานการณ์เอชไอวี ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ ปี 2559 พบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 6,200 ราย หรือเฉลี่ยวันละ17 ราย ความสำเร็จนี้เป็นผลของความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยศูนย์วิจัยโรคเอดส์เป็นหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อน และเพื่อให้การควบคุมและป้องกันเอดส์เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ฯ ได้กำหนดเป้าหมายลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้เหลือไม่เกิน 1,000 ราย/ปี

ทั้งนี้แม้ว่าปัจจุบันสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ครอบคลุมทั้งการรักษาและการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีแล้ว แต่เป้าหมายยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ฯ จะเกิดขึ้นได้ต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนโดยใช้กลไก “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์” เนื่องจากปัจจุบันยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ยังไม่ทราบสถานการณ์การติดเชื้อของตนเอง เพราะผู้ติดเชื้อระยะแรกส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการและทราบได้โดยการตรวจเลือดเท่านั้น ดังนั้นการตรวจเร็วและรักษาเร็วจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดการแพร่กระจายเชื้อและลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่

นพ.ประพันธ์ กล่าวต่อว่า การลงนามความร่วมมือเพื่อดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยในครั้งนี้ ได้แสดงถึงเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นของหน่วยงานและภาคีเครือข่ายภาคีที่เกี่ยวข้อง ส่งผลต่อร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเอดส์อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ประกอบกับความเสียสละและทุ่มเทแรงกายแรงใจของคนทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน เชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยประสบผลสำเร็จอีกครั้งเพื่อยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573

กสม. ย้ำผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องไม่ถูกกีดกันสิทธิการเข้าถึงการจ้างงาน

วันเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) รายงานว่า ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้ร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่า ถูกเลือกปฏิบัติในการสมัครเข้าทำงานเนื่องจากเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus : HIV) จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างกำหนดให้การตรวจหาเชื้อเอชไอวีเป็นเงื่อนไขในการพิจารณารับเข้าทำงาน ทั้งที่ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกและศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ยืนยันว่าการติดเชื้อมีได้เพียง 2 ทาง คือ 1. การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย และ 2. การใช้เข็มฉีดยา (เสพติด) ร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันมียาต้านไวรัสที่ให้ผลการรักษาเป็นอย่างดี ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจึงสามารถมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถดำรงชีวิตหรือทำกิจกรรมได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ดังนั้น สถานะการเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีจึงไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการทำงานไม่ว่าในตำแหน่งใด

ฉัตรสุดา ระบุว่า เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับการคุ้มครองสิทธิในการทำงานและไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อันสอดคล้องกับหลักความเสมอภาคและความเท่าเทียมของบุคคลที่ได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมทั้งแนวปฏิบัติระหว่างประเทศว่าด้วยเชื้อเอชไอวี/เอดส์และสิทธิมนุษยชน (International Guidelines on HIV/AIDS and Human Rights) เนื่องในวันเอดส์โลก 1 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ จึงขอเสนอแนะและเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทุกแห่งพิจารณายกเลิก ปรับปรุง แก้ไข กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือเงื่อนไขการตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงานในทุกตำแหน่ง และขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวีต่อไป เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติร่วมกับคนทั่วไป ได้มีสิทธิในการทำงานและการเข้าถึงการจ้างงานโดยปราศจากเงื่อนไขในที่สุด

[full-post]

มาเรีย เรสซา (ซ้าย) ผู้ก่อตั้ง Rappler
รับรางวัลเสรีภาพสื่อของคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ)

Posted: 26 Nov 2018 06:16 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-11-26 21:16


ในสุนทรพจน์รับรางวัลเสรีภาพสื่อของคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) มาเรีย เรสซา เจ้าของสื่อ Rappler แห่งฟิลิปปินส์ผู้ได้รับรางวัลนี้ พูดถึงการที่ Rappler ต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ รวมถึงการที่รัฐบาลเผด็จการต่างๆ เริ่มกันมาใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียในการแพร่กระจายคำโกหก ใส่ร้าย ใส่ความ สื่อและนักวิจารณ์ รวมถึงเรื่องที่ว่าทำไมพวกเราทุกคนถึงควรจะต่อสู้กลับในเรื่องนี้

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา องค์กรคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าวหรือ CPJ ประกาศให้ มาเรีย เรสซา ที่เป็นทั้งผู้ก่อตั้ง ซีอีโอ และบรรณาธิการบริหารของสื่อออนไลน์จากฟิลิปปินส์ Rappler เป็นผู้ได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อเกวน อิลฟิลล์ โดยที่สื่อ Rappler ก่อตั้งเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา เป็นที่รู้จักกันในฐานะสื่อมวลชนฟิลิปปินส์ที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายและปฏิบัติการที่ชวนให้เกิดข้อโต้แย้งของประธานาธิบดี รอดริโก ดูเตอร์เต

อย่างไรก็ตามรัฐบาลฟิลิปปินส์ก็พยายามสกัดกั้นสื่อ Rappler ด้วยวิธีการฟ้องร้องเกี่ยวกับเรื่องภาษี มีการพยายามเพิกถอนการจดทะเบียนของสื่อนี้และรวมถึงมีการสั่งแบนเว็บไซต์โดยที่ดูเตอร์เตกล่าวหาว่าเป็น "ข่าวปลอม" แต่ทาง Rappler ก็ยังคงดำเนินการเว็บไซต์ของตัวเองต่อไปโดยที่ท้าทายรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่พยายามปิดกั้นสื่อด้วยสาเหตุทางการเมือง

เรสซาเคนทำงานสื่อในเอเชียมากกว่า 30 ปี ส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าสาขาของซีเอ็นเอ็นในกรุงมะนิลาและจาการ์ตา และไปทำงานในแหล่งอื่นๆ อีกหลังจากนั้น โดยที่ต่อมาเธอพยายามกำหนดนิยามการทำสื่อแบบใหม่คือผสมผสานระหว่างการแพร่ภาพกระจายเสียงแบบดั้งเดิมกับสื่อใหม่และเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ

เรสซากล่าวสุนทรพจน์รับรางวัลของ CPJ ไว้โดยระบุถึงปัญหาจากการสับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจในโลกปัจจุบันทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยีในทางที่หันมาโจมตีผู้สื่อข่าวทั่วโลก เธอบอกว่าปัญหาส่วนหนึ่งมาจากโซเชียลมีเดียอเมริกันที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นพื้นที่เสริมสร้างกำลังให้กับนักข่าว นักกิจกรรม และพลเมือง มาก่อน แต่ในตอนนี้กลับกลายมาเป็นอาวุธทำลายพวกเขาแทน ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่คำโกหกข้ามพรมแดนจากผู้มีอำนาจเผด็จการ เผด็จการเหล่านี้ยังกลายเป็นผู้เปิดให้คนใช้ด้านมืดของมนุษย์ในการโจมตีสื่อและแม้กระทั่งโจมตีผู้หญิงโดยไม่ต้องรับผิด

ในสุนทรพจน์ของเรสซามีการกล่าวว่าทั้งรัฐบาลฟิลิปปินส์และเฟสบุ๊คต่างก็กลายเป็น "เมล็ดพันธุ์ที่บ่มเพาะความรุนแรง ความกลัว และคำโกหก ที่เป็นพิษต่อประชาธิปไตยของพวกเรา" เช่น กรณีคำโกหกที่รัฐบาลฟิลิปปินส์กุขึ้นเกี่ยวกับคดีที่ฟ้งอร้องต่อ Rappler ซึ่งมีการเพาะเรื่องโกหกเหล่านี้กันมาเป็นเวลานาน

เรสซาพูดถึงการบิดเบือนข้อมูลจากฝ่ายรัฐบาลฟิลิปปินส์เพื่อใส่ความพวกเขาเรื่องภาษี เช่น เรื่องที่จัดประเภทของ Rappler ว่าเป็น "ผู้ค้าหลักทรัพย์" ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นสื่อ เธอมองว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์บิดเบือนกฎหมายไปจนถึงจุดแตกหักเพื่ออ้างใช้ปราบปรามนักข่าวและคนที่วิพากษ์วิจารณ์พวกเขาโดยอาศัยเครื่องมือโซเชียลมีเดีย เครื่องมืออย่างเฟสบุ๊คที่เชื่อมต่อผู้คนมากกว่า 2,300 ล้านคนทั่วโลก แต่พวกเผด็จการก็เรียนรู้วิธีใช้งานแบบทำร้ายประชาชนจากกันและกันด้วย ไม่ว่าจะจากผู้นำโดนัลด์๋ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ หรือดูเตอร์เต

ทั้งทรัมป์และดูเตอร์เตต่างก็เลียนแบบกันในเรื่องการอ้างว่าสื่อที่ตนไม่พอใจเป็นสื่อที่นำเสนอ "ข่าวปลอม" นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ทรัมป์สั่งแบนนักข่าวซีเอ็นเอ็นที่ชื่อ จิม อะโคสตา ไม่ให้ทำข่าวที่ทำเนียบข่าว ซึ่งเป็นการเลียนแบบดูเตอร์เตผู้เคยสั่งห้ามไม่ให้นักข่าว Rappler ที่ชื่อ เปีย รานาดา ทำข่าวอีกทั้งยังเคยสั่งแบนเรสซาไม่ให้เข้าถึงทำเนียบรัฐบาลทั้งๆ ที่เธอไม่ได้ทำข่าวอะไรที่นั่นเลยในช่วงที่ดูเตอร์เตเป็นรัฐบาล

สุนทรพจน์ของเรสซาเสนออีกว่า ควรมีปฏิบัติการต่างๆ เพื่อตอบโต้คำโกหกของรัฐบาลเหล่านี้ 6 ประการ ประการแรก เธอบอกว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะต้องสู้เพื่อสื่อมวลชนและหลักการรัฐธรรมนูญของพวกเขาเอง ประการที่ 2 เธอบอกว่าไม่ควรนิ่งเฉยเมื่อคุณถูกโจมตีในโลกออนไลน์ การนิ่งเฉยต่อการถูกโจมตีเหล่านี้ถือเป็นการยอมให้ผู้นำเผด็จการเหล่านี้้โกหกและปั้นแต่งกุเรื่องขึ้นมาเองต่อไป

ประการที่ 3 เรสซาเสนอให้นักข่าวทำงานรายงานข่าวต่อไปโดยไม่กลัวเกรงหรือมีอคติโอนเอียง อย่างที่อดีตเพื่อนร่วมงานของเธอเคยบอกไว้ว่า "พวกเราควรจะซื่อตรง ไม่ใช่เป็นกลาง"

ประการที่ 4 คือการสร้างพันธมิตรในระดับโลกเพราะข้อมูลข่าวสารคือพลังอำนาจที่มีพวกผู้นำระดับโลกคอยบงการอยู่ ถ้ารัสเซียใช้โมเดล B to C (ธุรกิจสู่ผู้บริโภค) จีนก็กำลังใช้โมเดล B to B (ธุรกิจต่อธุรกิจ) อย่างบริษัทดิจิทัลสตาร์อัพเพื่อ "ส่งออก" ลัทธิเผด็จการทางดิจิทัลของพวกเขาไปสู่ประเทศอื่นๆ และสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้น

ประการที่ 5 เรสซาเสนอว่าผู้คนควรเรียกร้องให้บรรษัทเทคโนโลยีรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ด้วยไม่ใช่เน้นแต่เรื่องการเติบโตของธุรกิจตัวเองแต่อย่างเดียวในฐานะที่โซเชียลมีเดียเหล่านี้เป็นผู้เฝ้าช่องทางข้อมูลข่าวสารพวกเขาไม่ควรจะปล่อยให้มีการแพร่กระจายเรื่องลวงต่างๆ พวกเขาควรจะคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนและพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นแหล่งที่ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้น

ประการที่ 6 เรสซาบอกว่าเธอไม่เพียงถูกโจมตีในฐานะนักข่าวเท่านั้นแต่ยังถูกโจมตีในฐานะนักลงทุนทางธุรกิจที่ทำให้แนวคิดกลายเป็นความจริงด้วย นักลงทุนและผู้ประกอบธุรกิจทั้งหลายจึงควรแสดงการไม่เห็นด้วยกับมาตรการเผด็จการของรัฐบาลเพื่อส่งสัญญาณถึงนักลงทุนอื่นๆ ด้วย

ผู้ก่อตั้งสื่อ Rappler บอกอีกว่าสำหรับพวกเขาแล้วมันเป็นเรื่องของค่านิยมและหลักการ เธอยังกล่าวด้วยว่าพันธกิจของ Rappler นั้นชัดเจน โดยกล่าวถึงนักข่าวหญิงของ Rappler คือแพทริเซีย อีวานเกลิสตา ผู้อุทิศตนยืนหยัดทำข่าวเรื่องเกี่ยวกับสงครามยาเสพติดและการไม่ต้องรับผิดของรัฐบาลดูเตอร์เต รวมถึงทุกคนที่ต้องเผชิญการถูกโจมตีจากรัฐบาลดูเตอร์เตและพยายามสู้กลับ "คุณไม่รู้หรอกว่าคุณเป็นใคร จนกว่าคุณจะถูกบีบให้ต้องต่อสู้เพื่อปกป้องมัน" เรสซากล่าว

เรียบเรียงจาก

Maria Ressa : International Press Freedom Awards, CPJ, 21 November 2018.

[full-post]


Posted: 26 Nov 2018 07:07 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-11-26 22:07


นุชประภา โมกข์ศาสตร์

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมาระบบเศรษฐกิจโลกได้พัฒนาภายใต้ระบบ “โลกาภิวัฒน์เสรีนิยมใหม่” (Neo-liberal Globalization) ทำให้หลายประเทศเผชิญกับคลื่นการเปลี่ยนแปลงนานัปการทั้งในส่วนของสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การปะทะกันระหว่างพลเมืองที่แบ่งออกเป็นสองขั้ว (polarization) การประสบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตการณ์ซับไพร์ม ค.ศ. 2008 วิกฤตหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นใน กรีซ สเปน อิตาลี ไอซ์แลนด์ ฯลฯ รวมถึงวิกฤตเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (hyperinflation) ในเวเนซูเอล่า

ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจ การถดถอยของระบอบประชาธิปไตยทำให้โลกอยู่ในบริบทของ “ความไม่มั่นคง” และ “ความเสี่ยง” อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จนมีความกังวลว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าโลกจะเผชิญกับภาวะ “tipping point” หรือภาวะที่โลกไม่สามารถกลับคืนเป็นเหมือนเดิมได้อีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทำให้หลายประเทศเผชิญกับช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของการคิดค้นแนวทางการพัฒนาแนวทางใหม่ (new development approach) เพื่อบรรเทาสภาพปัญหารวมถึงผลกระทบและวิกฤตการณ์จากสภาวะเศรษฐกิจ การเมือง สังคม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลัน ปัจจุบันการพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นแนวทางที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญไม่ต่างจากบริบทการส่งเสริมการมีงานทำเต็มที่และการสร้างความมั่นคงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 1929 โดยการหันมาให้ความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนของหลายประเทศนั้นส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการตั้งคำถามต่อรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่เชื่อว่าเมื่อประเทศทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้สำเร็จเม็ดเงินจากกำไรจะหลั่งไหลลงไปสู่สังคมโดยอัตโนมัติ หรือหลักคิดเกี่ยวกับการทำให้ผลประโยชน์ไหลจากส่วนบนลงไปยังส่วนล่าง (tickle down effect)

อย่างไรก็ตามผลลัพธ์กลับขัดแย้งกับหลักทฤษฎีที่ได้เคยกล่าวไว้ เนื่องจากกลไกการสะสมทุนอย่างเข้มข้น (capital accumulation) ทำให้ช่องว่างระหว่างช่วงชั้นทางเศรษฐกิจคือคนรวยคนจนทวีความรุนแรงและถ่างกว้างมากขึ้น เกิดการผูกขาดรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่ จนนำมาสู่การกระจุกตัวของความมั่งคั่งและปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นความเชื่อที่เคยมองว่าเม็ดเงินจากสภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวจะส่งผลให้ผลประโยชน์ของสังคมเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติจึงไม่ได้เกิดขึ้นจริง ขณะที่การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) มีความแตกต่างจากความเชื่อดังกล่าวเนื่องจากมีการนำมิติของ “ประชาธิปไตย” เข้ามาเป็นส่วนประกอบในการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อสร้างสมดุลการพัฒนาที่ตอบรับกับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของสังคม

การพัฒนาที่ยั่งยืนมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ในบางประเทศที่เปลี่ยนผ่านสังคมเข้าสู่ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมประชาชนส่วนใหญ่เป็นแรงงาน กลไกการจัดสรรทรัพยากรจำเป็นต้องให้รัฐเข้ามาแทรกแซงเพื่อนำส่วนเกินทางเศรษฐกิจมากระจายกลับไปสู่ประชาชน ตัวอย่างเช่น ประเทศในแถบยุโรปเหนือเป็นกลุ่มประเทศที่มีความโดดเด่นในด้านการพัฒนาที่นำทางสายกลาง (The middle way) มาปรับใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการจัดการเศรษฐกิจแบบผสม (mixed economy) ระหว่างระบบทุนนิยมกับระบบสังคมนิยมเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ประเทศในแถบนี้จึงมุ่งไปที่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านกลไกทางสถาบัน โดยพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการเพื่อเชื่อมประสานประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ กับความเสมอภาคทางสังคมเพื่อลดผลกระทบของระบบทุนนิยม ลักษณะของรัฐสวัสดิการจึงเป็นการส่งตัวแทนจากองค์กรแรงงานเข้าไปในระบบการเมืองเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับกลุ่มทุน รัฐสวัสดิการจึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยในมิติเศรษฐกิจและมิติทางสังคมที่เสริมสร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยให้กับประชาชน (trygghet) บรรเทาปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมถึงปัญหาการแบ่งขั้วทางการเมือง นอกจากนี้หลัก “กระจายซ้ำทรัพยากร” (redistribution) ภายใต้รัฐสวัสดิการยังเป็นหลักประกันการพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืน (sustainable democracy) อีกด้วย

ทั้งนี้การพัฒนาที่ยั่งยืนอาจมีรูปแบบอื่นนอกเหนือจากรัฐสวัสดิการ เช่น ในสังคมเกษตรกรรมแบบเอเชียที่ดินคือปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญต่อประชาชน ทำให้การเกษตรมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต กลายเป็นวิถีชีวิตและเป็นภูมิปัญญาที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน สำหรับประเทศไทยมีการปรับใช้หลักทางสายกลางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างวิถีชีวิตแบบพึ่งพาตัวเอง และลดการพึ่งพาระบบเศรษฐกิจแบบเงินตราที่มีความผันผวนและมีความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ ฯลฯ การพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียงจึงให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันและการปรับสมดุลชีวิต รวมถึงการสร้างความมั่นคงปลอดภัยภายใต้ความสัมพันธ์ต่างตอบแทนและความสัมพันธ์แบบครัวเรือนระหว่างคนในชุมชน ขณะเดียวกันประชาชนที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นชุมชนสามารถจัดตั้งสหกรณ์เพื่อกระจายถ่ายโอนทรัพยากรจากส่วนกลางไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของชุมชนเหมือนระบบสหกรณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เพื่อสร้างดุลยภาพและความยั่งยืนภายในชุมชน

อย่างไรก็ตามข้อสังเกตที่หลายคนมีต่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ การมองว่าหลักของความพอเพียงไม่สามารถปรับให้เข้ากับสภาพของสังคมสมัยใหม่ได้ เพราะเน้นการกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ และการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก ไม่ได้นำพาให้ผู้คนมีชีวิตที่สะดวกสบาย รวดเร็ว และมีความมั่งคั่งเหมือนสังคมปัจจุบัน ทว่าหากลองพิจารณาถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการพึ่งพาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยเรียนรู้ผ่านวิกฤตการณ์ที่เกิดกับโลกในปัจจุบันแล้วจะพบว่า ความพอใจที่เกิดจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเกิดจากการสร้างสมดุลชีวิตเป็นภูมิคุ้มกันความทุกข์ที่มีความยั่งยืนมากกว่าการพึ่งพาระบบเศรษฐกิจแบบเงินตราเพราะในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติการมีเงินอาจไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงน้ำและอาหารได้ เนื่องจากโรงงานผลิตน้ำได้รับผลกระทบจึงต้องปิดโรงงานชั่วคราว หรือกรณีวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 ที่รัฐปล่อยลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้มูลค่าของเงินลดลงอย่างรวดเร็วกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อคนไทย เงินจึงเป็นเพียงสื่อกลางการแลกเปลี่ยนที่มีความเสี่ยงและไม่ใช่ปัจจัยที่นำไปสู่ความยั่งยืนตามที่สังคมเข้าใจ นอกจากนี้ความทุกข์ที่เกิดจากระบบทุนนิยม ผ่านภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผลกระทบจากโรคภัยไข้เจ็บ มลพิษในอากาศ สารเคมีในแม่น้ำลำคลอง ผลกระทบจากขยะพลาสติก ตลอดจนผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ฯลฯ เป็นตัวสะท้อนถึงความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจ ความยั่งยืนจึงจำเป็นต้องถูกนำกลับมาตีความใหม่เพื่อพัฒนาแนวทางเลือกที่เป็นเส้นทางสำรองไว้รับมือกับความผันผวนและความไม่แน่นอนของระบบทุนนิยมในปัจจุบันและอนาคต

ในประวัติศาสตร์โลกมีบทเรียนและแนวทางเลือกหลายแนวทางให้ประเทศต่างๆได้ศึกษาและลองนำมาปรับใช้ แนวทางหนึ่งคือแนวทางของรัฐสวัสดิการ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาของระบบทุนนิยม ขณะที่อีกแนวทางคือแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อลดการทำลายธรรมชาติและการพึ่งพาระบบทุนนิยม ทั้งนี้การพัฒนาเศรษฐกิจที่เคยผิดพลาดสามารถนำมาสรุปบทเรียนเพื่อออกแบบการจัดการเศรษฐกิจที่ได้ดุลยภาพ และสอดรับกับบริบทยุคใหม่มากขึ้น เหมือนกับที่ จอห์น เอฟ เคนเนดี้เคยกล่าวว่า “สิ่งใดที่ออกแบบโดยมนุษย์ย่อมออกแบบใหม่ได้โดยมนุษย์”

ในบางประเทศที่เลือกเดินบนเส้นทางรัฐสวัสดิการจะมุ่งเน้นไปยังหลักของการกระจายทรัพยากร ประเทศในแถบยุโรปเหนือซึ่งมีทุนรอนจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอันเป็นผลของบริบทสังคม การเมืองในช่วงศตวรรษที่ 19-20 จึงมองว่าการจะทำให้ประเทศมีเสถียรภาพและมีความมั่นคงรัฐจำเป็นต้องสร้างหลักประกันขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน ดังนั้นรัฐจึงออกแบบระบบการจัดการเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการ กลไกการทำงานของรัฐสวัสดิการเกิดจากแนวคิดการกระจายความเท่าเทียมไปสู่สังคม หรือสอดคล้องกับทฤษฎีอ่างเก็บน้ำ การสร้างหลักประกันทางสังคมของประเทศในแถบสแกนดิเนเวียเปรียบเสมือนการปล่อยน้ำไหลออกจากอ่างเก็บน้ำเพื่อทำให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อป่ามีความอุดมสมบูรณ์น้ำจะไหลกลับคืนมาสู่อ่างเก็บน้ำคือรัฐ กลายเป็นความอุดมสมบูรณ์ที่มากขึ้น การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนเปรียบเสมือนการพัฒนาผืนป่าที่เคยแห้งแล้งให้กลายเป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อสร้างชีวิต สร้างอนาคต โดยความเท่าเทียมที่ถูกกระจายออกไปจะย้อนกลับมาสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อรัฐในอนาคต

กระบวนการดังกล่าวจึงเป็นกลไกหรือนวัตกรรมในการป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากการมองเห็นข้อดีของการกระจายความเท่าเทียมไปสู่สังคม ที่สามารถนำไปปรับใช้ทั้งในระดับชุมชนและในระดับรัฐซึ่งเสถียรภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งที่ถูกแบ่งปันออกไปคือหลักประกันการพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืนคล้ายกับหลักทางสายกลางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มุ่งสร้างหลักประกันในมิติของการพึ่งพาตัวเอง ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นความยั่งยืนในอีกมิติหนึ่ง การศึกษากลไกการทำงานของรัฐสวัสดิการกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงมุ่งเน้นไปที่การสร้าง “ความมั่นคงปลอดภัย” ที่เกิดจากการจัดวางสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับสังคม และระหว่างชีวิตกับธรรมชาติ การพัฒนาที่แท้จริงจึงควรมุ่งเน้นไปที่สารัตถะหรือผลสัมฤทธิ์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม รัฐสวัสดิการกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือหนึ่งในรูปธรรมหรือผลสัมฤทธิ์ของการนำแนวคิดทางสายกลางไปปรับใช้ภายใต้บริบทและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน

แม้ว่าทั้งสองการจัดการเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นคนละซีกโลกคือยุโรปกับเอเชีย แต่แนวคิดทั้งสองรูปแบบได้กลายเป็นทางเลือกที่นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่น่าพอใจในการจัดการกับปัญหาของระบบทุนนิยมอันเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้หลักการจัดการของรัฐสวัสดิการกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีคุณูปการต่อสังคมที่ช่วยสะท้อนให้เห็นมิติการจัดการเศรษฐกิจที่หลากหลาย และทำลายความเชื่อของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่มองว่ารูปแบบเศรษฐกิจที่เน้นประสิทธิภาพสูงสุดคือรูปแบบที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมได้ดีที่สุด ทั้งนี้การมองเห็นถึงข้อจำกัดและผลกระทบของระบบทุนนิยมที่เกิดขึ้นกับโลกสมัยใหม่ รวมถึงผลกระทบต่อผู้คน สังคม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่จำเป็นที่โลกในศตวรรษที่ 21 ต้องมีระบบการจัดการเศรษฐกิจเพียงรูปแบบเดียวคือรูปแบบทุนนิยมเสรี แต่ทุกประเทศสามารถออกแบบและกำหนดเส้นทางการพัฒนาที่มีความหลากหลายเพื่อบูรณาการหลากมิติของการพัฒนาเข้าด้วยกันอันจะนำไปสู่เสถียรภาพ ความมั่นคง และความยั่งยืนในอนาคต

อ้างอิง
Maclellan, L. (2017). The Swedish concept of “trygghet” explains why having an erratic leader is so destabilizing. (Available on) : https://qz.com/949064/the-swedish-concept-of-trygghet-explains-why-having-an-erratic-leader-is-so-destabilizing/?fbclid=IwAR3AUMBxB39mPS0GKivxni-BmAzXDa9SgkE1mowILkZrYEkgc2e8UmzIz_o.
Maracaibo, the story of Venezuela's collapse. (Available on) https://www.youtube.com/watch?v=el3OlIaUrsU&feature=share.
นุชประภา โมกข์ศาสตร์.(2561). วิกฤติการณ์ของกระบวนทัศน์การพัฒนาในปัจจุบันและทางเลือกสำหรับอนาคต, คอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน. Online. http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645669.
สาทิศ กุมาร.(2556). จาริกบนผืนโลก, แปลโดยอัฐพงษ์ เพลินพฤกษา, สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา, กรุงเทพมหานคร.

ซ้ายไปขวา: แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ปรานม สมวงศ์ อังคณา นีละไพจิตร หทัยรัตน์ พหลทัพ

Posted: 26 Nov 2018 07:23 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-11-26 22:23


เวทีแอมเนสตี้ฯ คุยปัญหา-ทางออกเมื่อนักสิทธิมนุษยชนถูกคุกคาม ก้าวแรกของการแก้ปัญหาคือยอมรับความจริง จากนั้นสร้างการมีส่วนร่วม ข้อเสนอแนะจากเวทีต่างประเทศไม่คืบ กระบวนการยุติธรรมถูกใช้คุกคามนักสิทธิฯ มากขึ้น มองวิกฤตเป็นโอกาส ใช้กระบวนการศาลแพร่คดีฟ้องกลั่นแกล้งสู่สาธารณะ หนุนสร้างความรู้กระบวนการบกพร่อง

เมื่อ 23 พ.ย. 2561 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจัดเวทีเสวนาเรื่อง “20 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน: แนวทางเพื่อยกระดับการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” มีปรานม สมวงศ์ จากองค์กรคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โปรเท็คชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความอาวุโส เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดยหทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

การเสวนาเป็นการพูดคุยสืบเนื่องจากวาระครบรอบ 20 ปีที่จะมาถึงในวันที่ 9 ธ.ค. 2561 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือชื่อเต็มว่า ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรของสังคม ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างสากล ที่ผ่านการลงคะแนนเสียงจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ รัฐสมาชิกทุกรัฐจึงมีพันธะว่าต้องทำให้เป็นกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งไทยก็ได้ให้การรับรองในบางส่วน

อีกหนึ่งประเด็นที่เวทีเสวนาหยิบยกมาพูดถึงกันคือรายงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ประกาศรายชื่อประเทศจำนวน 38 ประเทศที่มีพฤติกรรมอันน่าละอายต่อผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นโดยทั้งน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐและจากบุคคลหรือกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐไม่ว่าจะด้วยวิธีการข่มขู่ คุกคาม สังหาร ทรมานและจับกุมตัวตามอำเภอใจ โดยประเทศไทยติดอยู่ใน 38 ประเทศดังกล่าวด้วย


ไทยติด 1 ใน 38 ประเทศ ‘น่าละอาย’ รายงาน UN กรณีคุกคามนักสิทธิฯ - ผู้เกี่ยวข้อง

ก้าวแรกของการแก้ปัญหาคือยอมรับความจริง จากนั้นสร้างการมีส่วนร่วม

ปรานมกล่าวว่า สถานการณ์การคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้หญิงเกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อย้อนมาดูไทยแล้วก็ไม่มีอะไรที่น่าภูมิใจ เพราะสี่ปีหลังรัฐประหาร มีผู้หญิงจากชนบท ชุมชน ที่ขึ้นมาเรียกร้องเรื่องทรัพยากรถูกฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งแล้ว 179 ราย ในปีนี้จำนวนเพิ่มเป็น 224 คน โดยคดีที่โดนคือบุกรุกที่อุทยาน ขัดแย้งเรื่องที่ดิน โดยเฉพาะในภาคอีสาน ในขณะที่รัฐบาลมีแถลงการณ์เรื่องรายงานมนตรีด้านสิทธิมนุษยชน ที่กระทรวงการต่างประเทศบอกว่าไทยไม่มีนโยบายและเจตนาในการคุกคามนักปกป้องสิทธิฯ แต่ว่านโยบาย คำสั่ง หรือกฎหมายหลายๆ ตัวเป็นการละเมิดหรือคุกคามอยู่แล้ว

ปรานมเห็นว่าแนวทางในการแก้ไข คุ้มครองนั้นอย่างแรกต้องยอมรับความจริงกันก่อนว่ามีการข่มขู่ คุกคาม โต้กลับและเอาคืนกับประชาชนคนธรรมดาทั้งหญิงชายที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชน มีการทำให้การต่อสู้กับอาชญากรรมให้กลายเป็นอาชญากรรม นอกจากนั้นยังขอให้รัฐพิจารณาข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคม เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมแก้ปัญหา

ปรานมยังกล่าวว่า นักปกป้องสิทธิฯ ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง แต่สี่ปีที่ผ่านมา พื้นที่ประชาสังคมก็ถูกปิด ทั้งนี้ พื้นที่ประชาธิปไตยกับการทำงานด้านสิทธินั้นไม่สามารถแยกจากกันได้ ท้ายที่สุดการแก้ปัญหาก็ต้องกลับไปที่รากเหง้า ก็คือความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ภาวะที่คุณค่าของคนไม่เท่ากัน ความคิดที่แตกต่างกลายเป็นอาชญากรรม หรือค่าจ้างแรงงานที่น้อยจนอยู่ไม่ได้ ใครก็ตามที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิพื้นฐานทั้งหลายก็คือนักปกป้องสิทธิ และเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้เลยถ้าหากพวกเขาถูกคุกคาม

ข้อเสนอแนะจากเวทีต่างประเทศไม่คืบ กระบวนการยุติธรรมถูกใช้คุกคามนักสิทธิฯ มากขึ้น

อังคณากล่าวว่า ในส่วนปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ความสำคัญกับการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ นั้นไทยยังไม่ได้รับรองทั้งฉบับ แต่ที่ผ่านมาไทยได้รับข้อเสนอแนะในประเด็นเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิฯ มาอย่างต่อเนื่อง อย่างปีที่แล้วที่ไทยไปรับการทบทวนกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ก็ยังได้รับข้อเสนอแนะ ส่วนกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review--UPR) ที่ไทยเข้ารับฟังข้อเสนอแนะเมื่อปี 2559 ก็มีตัวแทนของประเทศต่างๆ ที่มีข้อเสนอแนะ 10 ข้อ และไทยรับโดยสมัครใจว่าจะทำการตามนั้น เช่น ให้มีการสืบสวนสอบสวนกรณีนักปกป้องสิทธิที่ถูกอุ้มหายหรือถูกสังหาร ไม่ให้มีการละเว้นโทษ ซึ่งก็ต้องเรียนตรงๆ ว่ายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

คณะกรรมการ กสม. กล่าวว่า ในฐานะ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่องเรื่องการละเมิดนักปกป้องสิทธิฯ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่าน การอุ้มฆ่าหรือสังหารนั้นลดลง กรณีสุดท้ายคือกรณีของพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ เมื่อปี 2557 แต่ที่เพิ่มมากขึ้นคือการคุกคามตามกระบวนนการยุติธรรม การฟ้องร้อง การดำเนินคดี ไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่บ้าน สร้างความหวาดกลัว

อังคณาบอกว่าสิ่งที่ควรปรับปรุงคือกระบวนการของกองทุนยุติธรรมที่ถ้าผู้ขอรับกองทุนนั้นเป็นที่เชื่อว่าน่าจะกระทำผิด กรรมการอาจจะไม่ให้เงินกองทุนได้ ซึ่งระเบียบข้อนี้ขัดหลักรัฐธรรมนูญที่สันนิษฐานว่าทุกคนบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะพิพากษา ในเรื่องฟ้องปิดปากก็เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขไม่ให้เกิดการฟ้องในลักษณะนั้นได้ ส่วนเรื่องภูมิคุ้มกัน (Immunity) ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ หลายครั้งที่ กสม. ต้องอดทนกับการตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องปกป้อง NGO ที่รับเงินต่างประเทศมาทำลายประเทศไทย เคยให้คำตอบกับผู้มีหน้าที่และอำนาจในบ้านเมืองหลายครั้งว่า อยากให้ลงไปดูข้อเท็จจริง นักปกป้องสิทธิฯ หลายคนไม่มีเงินเดือน บางคนตกเป็นเหยื่อเสียเอง และต้องขยายงานไปช่วยคนอื่น มีโอกาสลงไปคุยกับนักสิทธิฯ ที่เป็นผู้หญิงในหลายพื้นที่ในต่างจังหวัด สิ่งใหม่ที่ได้เห็นคือ คนหนุ่มสาวกลับบ้านเกิดมากขึ้น หลายคนเรียน ปริญญาโท มีงานทำแต่ต้องกลับไปบ้านเกิดเพื่อช่วยกันปกป้องสิทธิหรือที่ดินของบรรพชน

สิ่งที่กังวลอีกอย่างหนึ่งคือการสร้างความหวาดหลัว ชาวบ้านบางคนบอกว่า เวลาคนในชุมชนอุ้มหายไปคนหนึ่งก็กลัวกันทั้งหมู่บ้าน ไม่มีใครกล้าติดต่อกับบ้านเหยื่อ ทำให้เป็นความท้าทายของคนทำงานด้านสิทธิด้วยว่า จะทำอย่างไรให้หลุดพ้นจากความกลัว ทำให้เกิดการสร้างเครือข่าย เสริมศักยภาพซึ่งกันและกันและไม่ทิ้งกัน มีใครมีหลักประกันในการทำงานของนักสิทธิฯ ไหม ก็ไม่มีใครทำได้ ประสบการณ์ทั่วโลกบอกแล้วว่าหลายประเทศมีการสังหาร การล่วงละเมิดทางเพศ ใช้เพศเป็นการประหัตประหาร ทำร้าย

สำหรับรายงานยูเอ็นเรื่องการเอาคืนจากที่บอกว่าเป็นเรื่องน่าละอาย อยากให้รัฐบาลเปิดใจให้กว้างแล้วทบทวนว่าเรื่องเหล่านั้นมีจริงไหม ซึ่งก็มีจริง ตนเองก็มีชื่อในรายงานเรื่องการถูกคุกคาม สิ่งที่อยากจะเห็นคือกระจกที่ส่องว่าประเทศไทยได้ดำเนินการปกป้องนักสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง โดยการเชิญผู้รายงานพิเศษเรื่องการปกป้องนักสิทธิจากยูเอ็นมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพราะในการนั้น ผู้รายงานพิเศษจะมีอิสระในการพบกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สามารถเขียนรายงานและมีข้อเสนอถึงไทยได้ ซึ่งจะเป็นความก้าวหน้าอีกแบบหนึ่ง

ใช้กระบวนการศาลแพร่คดีฟ้องกลั่นแกล้งสู่สาธารณะ หนุนสร้างความรู้กระบวนการบกพร่อง

แสงชัยกล่าวว่า ถ้าปล่อยให้การละเมิดสิทธิของผู้คนถูกทำได้ง่ายๆ ทำกันเงียบๆ ไม่ได้รับการเปิดเผย ก็จะเป็นอันตราย จะเป็นจุดที่ทำให้การใช้อำนาจแบบนี้เป็นความเคยชินของอำนาจรัฐและผู้อิงอำนาจรัฐเพื่อแสวงหาผู้ประโยชน์ ถ้าอยากจะแก้ไขปัญหานี้ อย่างน้อยข้อแรกคือต้องทำให้การละเมิดที่ทำกันเงียบๆ แบออกมาสู่ที่สว่าง สู่สาธารณะ ถ้าทำแบบนี้ได้มากเท่าไหร่ โอกาสที่สังคมไทยจะปรับตัวน่าจะเกิดได้เร็วขึ้น เพราะผู้กระทำนั้นรู้แก่ใจว่าเขาละเมิดกฎหมายและความเป็นธรรม คนที่จะแสวงหาประโยชน์จากการละเมิดกฎหมายจะรู้สึกทันทีว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องเสียมากกว่าได้ ในฐานะทนายความที่เป็นการทำคดีในขั้นท้ายของการถูกละเมิด คือการขึ้นศาล สิ่งที่ทำได้คือการใช้ศาลเป็นพื้นที่ในการซักถามข้อเท็จจริง ตรวจสอบ นำเอกสาร ข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายมาแสดงต่อหน้าศาลเพื่อเป็นที่รับรู้ของสาธารณชน เป็นโกาสที่จะชี้ความไม่ชอบมาพากล

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือแนวโน้มช่วงหลังๆ มีการใช้กระบวนการตั้งข้อหาดำเนินคดีแบบที่ไม่น่าจะเกิด แทนที่จะคุกคามด้วยการใช้กำลังแบบเถื่อนๆ เช่นการใช้ พ.ร.บ. การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่ถูกดำเนินคดีด้วยเรื่องที่ไม่เกี่ยวคอมพิวเตอร์สักนิด คือเป็นเรื่องด่ากันที่บังเอิญรัฐเป็นผู้ถูกด่า ลักษณะเช่นนี้เป็นการทำลายวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นพื้นฐานหลักการประชาธิปไตย

ทนายความอาวุโสกล่าวว่า มีการทำให้สังคมสับสน และเข้าใจผิดระหว่างคำว่านโยบายกับกฎหมาย คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เป็นเพียงนโยบายของคณะผู้ถืออำนาจทหารที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ทั้งๆ ที่มีรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะแล้ว คำสั่งที่ 3/2558 ก็ไม่มีสถานะทางกฎหมาย เป็นเพียงนโยบายสั่งการผู้ใต้บังคับบัญชาและคณะทหารเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นข้อหาการกระทำความผิดแล้วยื่นศาลหลายสิบเรื่อง ศาลใคร่ควรญดูหรือยังว่าหลักการใน 3/2558 ถูกยกเลิกไปด้วยรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะที่ออกมาใช้กับกิจการนั้นๆ โดยเฉพาะแล้ว แต่รัฐที่รวมศูนย์อำนาจอย่างนี้เอาอำนาจกลไกสำคัญที่ใช้ตรวจสอบความเป็นธรรมทางสังคมอย่างกระบวนการยุติธรรม เข้าไประวัง และป้องกันการแสดงเสรีภาพทางความคิดเห็นของประชาชน เมื่อรัฐส่งสัญญาณแบบนี้ การใช้คดีที่ฟ้องปิดปาก ของเอกชนโครงการใหญ่ๆ ก็ไม่จบลง แม้ฟ้องไปไม่ติดคุก แต่จำเลยก็เผชิญกระบวนการมากมาย แบบนี้สะท้อนว่ารัฐมีวิธีคิดอะไรบางอย่างที่ผิดเพี้ยนอยู่ ต้องทำความเข้าใจกับมันพอสมควร

แสงชัยอยากให้ผู้คนช่วยกันสร้างทัศนะคติต่อสู้กับความคิดที่ทำให้ NGO นักกฎหมาย ทนายความกลายเป็นอุปสรรคของผลประโยชน์แห่งประเทศชาติ ใครอยู่ใกล้วงไหนก็สร้างความตระหนักรู้ในวงนั้น แล้วให้แพร่ขยายออกไป ทั้งนี้ อย่าไปถือคำตอบที่รัฐไทยไปตอบยูเอ็นว่าไม่มีกฎหมายที่จะกีดกันสิทธิ เสรีภาพ ตัวกฎหมายนั้นเป็นตัวจำกัดสิทธิเสรีภาพ เพราะมันถูกออกแบบให้รวมศูนย์การตัดสินใจที่กลุ่มคนเล็กๆ ไม่สนใจฟังความเห็นชาวบ้าน


Posted: 26 Nov 2018 07:32 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-11-26 22:32


นิธิ เอียวศรีวงศ์

การร่วมเพศเป็นอันตรายต่อชีวิตพรหมจรรย์อย่างไร ผมขอไม่พูดถึง เพราะความรู้ไม่พอ แต่ถ้าพระมีเมียได้ย่อมมีอันตรายในทางการเมืองอย่างมาก โดยเฉพาะในรัฐโบราณซึ่งอำนาจมักกระจุกอยู่ในมือของบุคคล, กลุ่มบุคคล, กลุ่มตระกูล, หรือ “ชนชั้น” ที่จำกัดไว้เล็กและแคบ

ก่อนหน้าจะเกิดรัฐชาติ (หรือที่เรียกในเพลงชาติว่าประชารัฐ) ขึ้น ศาสนาดึงดูดความภักดีของผู้คนได้มากที่สุด ซ้ำเป็นความภักดีที่เข้มข้นซึมลึกถึงจิตใจและยืนนานที่สุดด้วย ไม่มีผู้ปกครองของรัฐใดจะสามารถเสริมสร้างความภักดีต่อตนเองได้เทียบเท่า

แต่ตราบเท่าที่ศาสนายังเป็นแต่เพียงคำสอนและแบบปฏิบัติในชีวิต “อันประเสริฐ” ภัยคุกคามต่ออำนาจทางการเมืองก็มีไม่มาก และผู้ปกครองสามารถยอมรับนับถือ ตลอดจนมีความภักดีแม้อย่างจริงใจต่อศาสนาได้ กลายเป็นเครื่องเสริมสร้างอำนาจของผู้ปกครองเสียด้วยซ้ำ

แต่ศาสนามักไม่ได้เป็นเพียงคำสอนเฉยๆ มี “บุคลากร” ประจำศาสนาด้วย บางศาสนาเรียกบุคลากรประเภทนี้ว่า “นักบวช” ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่ยอมรับนับถือไม่แต่เพียงคำสอน แต่ยอมรับวัตรปฏิบัติบางอย่างเป็นกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดในการดำเนินชีวิต นับตั้งแต่เครื่องแต่งกาย (และกาย), ไปจนถึงอาหารที่เสพ, การเลี้ยงชีพ และความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ทั้งที่เป็นนักบวชด้วยกัน หรือที่เป็นชาวบ้าน หรือที่เรียกว่า “วินัย”

แม้ว่าบางศาสนาไม่มี “นักบวช” แต่ก็มีบุคลากรบางประเภทซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ต่อศาสนาที่พิเศษกว่าคนทั่วไป เช่น พราหมณ์ย่อมรักษาวัตรปฏิบัติในชีวิตให้แตกต่างจากคนที่ไม่ใช่พราหมณ์ และอาจประกอบพิธีกรรมทางศาสนาบางอย่างซึ่งคนอื่นไม่มีสิทธิ์จะประกอบได้ “ผู้รู้” ในศาสนาอิสลาม หรือ “นักเทศน์” ในศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ คือคนที่ได้ศึกษาเล่าเรียนทางศาสนามามากกว่าคนทั่วไป แม้ไม่ใช่นักบวชเหมือนภิกษุในพุทธศาสนา แต่ก็ได้รับความนับหน้าถือตาเป็นพิเศษจากคนอื่น ทั้งมีหน้าที่บางอย่างต่อศาสนาด้วย เช่นเทศน์หรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับศาสนาแก่คนอื่น (แม้ไม่มีกฎตายตัวว่าต้องทำ)

เพียงเท่านี้ บุคลากรทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือไม่ก็มีอำนาจอิสระของตนเองขึ้นแล้ว ที่ผมเรียกว่าอำนาจอิสระ คือเป็นอำนาจที่เกิดขึ้นในตัวเอง ไม่ได้รับจากคนอื่น จะมีหรือสูญอำนาจในเวลาต่อมาก็มาจากการกระทำของตนเอง ไม่มีใครไปให้หรือถอนได้ ดังนั้น คนเหล่านี้จึงเป็นภัยคุกคามแก่ผู้ถืออำนาจของรัฐ ต้องหาวิธีจัดการให้คนเหล่านี้อยู่ในความควบคุมอย่างใดอย่างหนึ่ง

เพียงแค่บุคลากรทางศาสนาเป็นคนๆ ไปเช่นนี้ก็อาจคุกคามผู้ปกครองรัฐได้แล้ว หากบุคลากรเหล่านี้รวมตัวกันกลายเป็นองค์กร และมีการจัดองค์กรภายในที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ ก็ยากที่ผู้ปกครองรัฐคนใดจะสู้ได้ เพราะนอกจากคนเหล่านี้จะได้รับส่วนแบ่งความภักดีต่อศาสนามาไว้กับตัวแล้ว ยังสามารถเคลื่อนไหว (ทั้งทางศาสนาและการเมือง) ได้ในฐานะองค์กร คือบุคลากรหรือนักบวชทุกคนหันหน้าไปในทิศทางเดียวกันหมด

องค์กรนักบวชที่ใหญ่ที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นนักบวชในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ศาสดาของศาสนาไม่ได้สร้างนักบวชหรือองค์กรนักบวช แต่เงื่อนไขทางการเมืองและสังคมที่เกิดขึ้นในการเผยแพร่คำสอนหลังจากนั้นทำให้เกิดคณะนักบวชขึ้น และเริ่มจัดองค์กรแบ่งเขตการปกครองดูแลกัน แต่ยังไม่มีเจ้าคณะใหญ่สุดที่ดูแลได้ทั่วทุกเขต พูดอีกอย่างหนึ่งคือยังไม่มีองค์กรกลาง

แม้กระนั้น หากไม่นับจักรวรรดิโรมันอันมีจักรพรรดิเป็นประมุขสูงสุดแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า องค์กรของนักบวชคริสต์นับเป็นองค์กรที่มีบทบาทอำนาจสูงสุด เพราะสามารถควบคุมดูแลพระสงฆ์ข้ามแดนไปได้ไกลๆ นอกจากนี้ เจ้าคณะแห่งกรุงโรมก็ยังได้รับความนับถือว่ามีเกียรติยศสูงสุด และพึงมีอาญาสิทธิ์สูงสุดในกลุ่มนักบวชที่ประกาศตนว่ายึดถือคำสอนดั้งเดิมอันถูกต้อง (Catholic)

ดังนั้น เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลายลง องค์กรนักบวชคาทอลิกจึงเป็นองค์กรเดียวที่สามารถรับสืบทอดอำนาจ (บางส่วน) ของจักรวรรดิมาได้ ตลอดทั่วดินแดนยุโรปใต้, ตะวันตก และยุโรปกลาง

นักบวชคาทอลิกทุกประเภท (นับตั้งแต่เณร, ชี, พระระดับและประเภทต่างๆ) ห้ามเสพเมถุนธรรม จึงไม่มีเมีย (และผัว)

องค์กรนักบวชพุทธเป็นอีกองค์กรหนึ่ง ซึ่งแม้มีกำเนิดมาตั้งแต่สมัยองค์พระศาสดาแล้ว แต่ก็เป็นการจัดองค์กรที่หลวมมาก คือดูแลกันเองในสำนักของอาจารย์เดียวกันเท่านั้น จึงพร้อมจะแตกแยกออกจากกันเมื่อพระบรมศาสดาดับขันธ์แล้ว โอกาสที่อาจารย์ของสำนักใดสำนักหนึ่งจะมีอำนาจหรืออิทธิพลไปกำกับดูแลสำนักอื่นจึงเป็นไปไม่ได้เอาเลย แม้เมื่อพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์จากอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์ ทั้งในและนอกอินเดีย การจัดองค์กรก็ยังไม่เคยถูกรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนคาทอลิก จนถึงยุคสมัยใหม่แล้วเท่านั้น

อำนาจทางการเมืองของคณะสงฆ์จึงไม่เป็นอิสระ ต้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพระราชอำนาจเสมอ นับเป็นความปลอดภัยของผู้ปกครองรัฐอย่างหนึ่ง แม้กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพระสงฆ์เป็นองค์ๆ ไป อาจได้รับความนับถือศรัทธาจากชาวบ้านอย่างมาก จนสามารถขยายเครือข่ายสำนักของตนออกไปได้กว้างขวาง เป็นภัยคุกคามทางการเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ปกครองต้องมีวิธีจัดการควบคุมด้วยกำลังหรือการอุปัฏฐาก แล้วแต่กรณี

นักบวชพุทธก็ถูกห้ามมิให้เสพเมถุนธรรมเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่มีเมีย (หรือผัว) ในขณะดำรงเพศเป็นนักบวช

อันที่จริงการห้ามเสพเมถุนธรรมนั้นไม่ได้เป็นประเพณีของศาสนามาก่อน หรือไม่ได้ถือเคร่งครัดนัก หากเชื่อว่าคริสต์ศาสนามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับศาสนายูดายของยิว นอกจากไม่มีนักบวชในศาสนานั้นแล้ว แม้แต่คนที่คริสต์ศาสนายกย่องให้เป็นศาสดาพยากรณ์เช่นอับราฮัมหรือโมเสส ก็มีเมียมีลูกเหมือนคนทั่วไป

ข้อห้ามมีเมียของนักบวชพุทธยังพอมีเค้าอยู่บ้างในอินเดีย ถ้าถือตามหลักอาศรมสี่ของศาสนาพราหมณ์ คนแก่ที่ปฏิญาณตนเป็นสันยาสีหรืออาศรมสุดท้ายของชีวิต ย่อมสละทุกอย่างรวมทั้งลูกเมียโดยสิ้นเชิง มีกฎเกณฑ์การใช้ชีวิตหรือ “วินัย” อยู่บ้าง จะเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็น “นักบวช” ก็คงพอได้ เช่นเดียวกับพวกที่ถูกเรียกโดยฝ่ายพุทธว่า “นิครนถ์” และ “ปริพาชก” ซึ่งมี “วินัย” อยู่เหมือนกัน ก็ใช้ชีวิตที่มีเมียได้ยาก

แต่ข้อห้ามมิให้ล่วงเมถุนธรรมนี้นับว่าแปลก เพราะฤษีในรามเกียรติ์บางคนล่วงละเมิดเรื่องนี้ ซ้ำยังมีฤทธิ์เหมือนเดิม ยิ่งในเรื่องเล่าพื้นถิ่นไทยฤษีมีลูกสาวที่เที่ยวยกให้เจ้าเมืองเลยทีเดียว หรือฤษีไทยกับฤษีแขกจะไม่ใช่คนประเภทเดียวกันก็ไม่ทราบได้

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่านักบวชในสองศาสนานี้เท่านั้นที่มีการจัดองค์กร แม้ในพุทธศาสนาเถรวาทเป็นองค์กรหลวมๆ ที่ไม่เข้มแข็งนักก็ตาม แต่ก็ยังเป็นองค์กรในสังคมที่ไม่มีองค์กรอื่นนอกจากองค์กรปกครองของกษัตริย์ และนักบวชในสองศาสนานี้เท่านั้นที่ถูกห้ามไม่ให้มีเมีย

ชีวิตพรหมจรรย์ของนักบวชช่วยประกันความมั่นคงของอำนาจผู้ปกครองได้อย่างมาก เพราะหากมีเมียก็จะเกิดครอบครัวและวงศ์ตระกูล ซึ่งล้วนสามารถสั่งสมเครื่องมือแห่งอำนาจได้หลายอย่าง เช่น ตำแหน่ง, ทรัพย์, บริวาร และเครือข่ายทางเศรษฐกิจ, สังคม หรือการเมือง ล้วนทำให้สามารถต่อรองอำนาจหรือแข็งขืนอำนาจของผู้ปกครองได้อย่างน่ากลัวทั้งสิ้น

พราหมณ์ในราชสำนักอาณาจักรเมืองพระนครคนหนึ่งชื่อศิวะไกวัลยะ สืบทอดตำแหน่งราชครูของพระเจ้าแผ่นดินเขมรมาหลายชั่วคน แม้ว่าอาจมีการแย่งราชสมบัติหรือเปลี่ยนราชวงศ์ก็ตาม ตระกูลนี้จึงต้องมีบทบาทอย่างสำคัญในการเมืองราชสำนัก และที่มีบทบาทอย่างนี้ได้คงไม่ใช่เพียงสืบทอดตำแหน่ง แต่ต้องสืบทอดอื่นๆ อีกหลายอย่างในตระกูลด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพราะพราหมณ์มีเมียไงครับ

แม้ไม่มีเมีย มีแต่ตระกูล ก็ยังรวบอำนาจไว้ได้มาก

ในช่วงที่ศาสนจักรคาทอลิกเริ่มเสื่อม พระก็ (แอบ) มีเมีย ทำให้พระเข้าไปสัมพันธ์กับตระกูลที่มีอำนาจบางตระกูล ในที่สุดบางตระกูลก็สามารถผลักดัน “ญาติ” ของตนให้ขึ้นไปดำรงตำแหน่งสันตะปาปาสืบเนื่องกันมาหลายสมัย ดังเช่นตระกูล Medici แห่งฟลอเรนซ์และทัสคานี ซึ่งถือกำเนิดจากพ่อค้าและธุรกิจธนาคารเท่านั้น

มีหลักฐานที่แสดงว่า ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส ตระกูลเจ้าที่ดินใหญ่ๆ ของฝรั่งเศส ต่างส่งลูกหลานไปจับจองตำแหน่งเจ้าคณะของจังหวัดและมณฑลต่างๆ ทั่วฝรั่งเศสไปแล้ว

พระมีเมียจึงเป็นเรื่องน่ากลัว

จะเป็นความบังเอิญ หรือมีเหตุอันลึกซึ้งอย่างไรผมก็ยังคิดไม่ออก ศาสนาที่ปล่อยให้พระมีเมีย มักจัดองค์กร (เอง… คือไม่ใช่ให้คนอื่นจัดให้) ใหญ่ที่รวมศูนย์ไม่ได้ นักบวชในนิกายพุทธมหายานระยะหลังซึ่งไม่ห้ามพระมีเมีย ก็แตกแยกเป็นนิกายย่อยจำนวนมาก ถึงมีองค์กรของตนเอง ก็เป็นองค์กรขนาดไม่ใหญ่ที่จะครอบคลุมได้ทั่วพระราชอาณาจักร ฉะนั้น เมื่ออยู่ในรัฐที่มีการจัดองค์กรด้วยระบบราชการที่เข้มแข็งของลัทธิขงจื๊อ หรือศักดินาที่รวมศูนย์อย่างญี่ปุ่น จึงยากที่จะรักษาอิทธิพลทางการเมืองซึ่งช่วงชิงมาได้ในบางครั้งไว้อย่างถาวร

เช่นเดียวกับพราหมณ์ในอินเดีย แทบจะไม่มีองค์กรของตนเองมากไปกว่าที่กระจุกในศาสนสถานที่สำคัญ อำนาจทางการเมืองของพราหมณ์หากจะมี ก็มาจากบุคคล ไม่ได้มาจากองค์กร ยิ่งกว่านี้หากถือว่าความเชื่อและแบบปฏิบัติทางศาสนาเป็นไปตามความเชื่อและแบบปฏิบัติในท้องถิ่น ซึ่งไม่เหมือนกัน ก็ต้องถือว่าศาสนาฮินดูมีนิกายเป็นร้อยเป็นพัน ถ้าจะมีองค์กรนักบวชก็น่าจะเล็กและไร้ความสำคัญทางการเมืองเอาเลย

ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ซึ่งยอมให้พระมีเมียก็อยู่ในลักษณะเดียวกันกับฮินดู แม้ว่าองค์กรของแต่ละนิกายอาจเข้มแข็งพอที่จะเรี่ยไรเงินบริจาคได้มากๆ นำมาเผยแพร่ศาสนานิกายของตนเองในดินแดนห่างไกล แต่อิทธิพลทางการเมืองหากจะมีกลับเป็นเรื่องของบุคคลซึ่งเป็นนักเทศน์บางคน ที่ได้รับศรัทธาจากประชาชนข้ามนิกายอย่างสูง

สรุปก็คือ ชีวิตพรหมจรรย์ของนักบวชนั้น อาจจำเป็นในทางธรรมสำหรับนักบวช แต่ที่แน่ๆ ก็คือจำเป็นทางการเมืองมากทีเดียว



เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ matichonweekly.com/column/article_149684


[full-post]


Posted: 26 Nov 2018 07:45 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-11-26 22:45


นุชประภา โมกข์ศาสตร์

เศรษฐศาสตร์การเมืองคือหนึ่งในสาขาวิชาที่มีบทบาทในการนำเสนอประเด็นปัญหาของชนชั้นแรงงานมาอย่างยาวนาน โดยจะสังเกตได้ว่าองค์ความรู้ที่นำมาสอนในหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมืองของมหาวิทยาลัยต่างๆนั้นไม่ได้มุ่งผลิตเนื้อหาเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม (utility theory) หรือมุ่งให้ผู้เรียนสร้างอัตรากำไรผ่านการสะสมทุนด้วยการออกไปเป็นนายทุนหรือผู้ประกอบการเพื่อแสวงหากำไรจากธุรกิจในรูปแบบต่างๆ เหมือนการเรียนในสาขาวิชาทั่วไป ในทางตรงกันข้ามองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองกลับนำเสนอปัญหาของระบบทุนนิยมในปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมาเพื่อตั้งคำถามต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมของรัฐ โดยเน้นการสร้างข้อถกเถียงสำคัญ เช่น ข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาของการกระจายรายได้ ข้อถกเถียงถึงแนวทางในการหาทางออกจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม ข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นความเหลื่อมล้ำและปัญหาความยากจน ตลอดจนข้อถกเถียงเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์การเมือง เช่น ทฤษฎีมาร์กซิสม์ ทฤษฎีนีโอมาร์กซิสม์ ทฤษฎีของเคนส์ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สถาบัน รวมถึงการศึกษามิติเชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ จึงมีคุณูปการในการนำมาอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรมภายใต้บริบทโลกสมัยใหม่ที่ซับซ้อนและกำลังเปลี่ยนไป ขณะที่เครื่องมือ ในการวิเคราะห์แบบเศรษฐศาสตร์การเมืองประกอบไปด้วย 4 มิติ ได้แก่ มิติของการวิเคราะห์แบบองค์รวม (Totality) มิติในเชิงประวัติศาสตร์ (historical dimension) มิติในเชิงความขัดแย้ง (Dialectic) และมิติด้านการวิพากษ์ (Critical) ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างกระบวนการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมและรอบด้านเพื่ออธิบายรากฐานของปัญหาและวิกฤตการณ์

วิธีวิเคราะห์ดังกล่าวนอกจากจะถูกสร้างขึ้นเพื่อวิพากษ์กระบวนทัศน์หลักแล้วยังเป็นกลไกการป้องกันการแผ่ขยายความเป็นจักรวรรดินิยมทางความคิดโดยศาสตร์แขนงอื่นที่มักจะเข้ามาครอบงำและยึดครองพื้นที่และวิธีการอธิบายโลกที่เน้นรูปแบบเดียว กระทั่งผลิตซ้ำความคิดเกี่ยวกับหลักของประสิทธิภาพที่ลอยอยู่บนฐานคิดทางทฤษฎี แต่ไม่ได้มองมาที่ข้อเท็จจริงนั่นคือสภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระบวนการพัฒนาที่นำมาสู่ความไม่เท่าเทียมในสังคม การผลิตชุดคุณค่าที่ขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริง ดังนั้นวิธีวิทยาที่มุ่งนำเสนอปัญหาของตัวระบบทำให้เศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นศาสตร์กระแสรอง (Heterodox economics) ที่มุ่งวิพากษ์ศาสตร์กระแสหลัก เพื่อเรียกร้องให้เกิดการตั้งคำถามต่อความคิดความเชื่อที่ยึดครองพื้นที่ทางความคิดและพื้นที่ทางสังคมมาอย่างยาวนาน รวมถึงมีเป้าหมายคือการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อออกแบบระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ได้ดุลยภาพและครอบคลุมมิติอื่นๆ มากขึ้น

เศรษฐศาสตร์การเมืองชี้ให้เห็นว่าการวิเคราะห์แบบองค์รวมและการศึกษาในทุกมิติมีส่วนช่วยในการสร้างความเข้าใจและนำไปสู่การพัฒนากระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) อย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองเพื่อเข้าใจโลกและเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก (Praxis)

ขณะที่การสร้างข้อถกเถียง (Argument) ผ่านการปรับใช้วิธีวิเคราะห์ทั้ง 4 ด้าน เป็นกระบวนการที่นำไปสู่การคิดในมุมกว้างที่ลึกซึ้งและรอบด้านเพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงและเป็นการช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจรากฐาน ที่มาที่ไปของปัญหาต่างๆ ผ่านการศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และการวิเคราะห์แบบองค์รวม ตัวอย่างของประเด็นถกเถียงที่น่าสนใจ เช่น เศรษฐศาสตร์การเมืองมองว่าการอธิบายเรื่อง "ตลาด" กับ "สังคม" นั้นไม่สามารถที่จะอธิบายหรือสรุปได้ว่าตลาดคือพื้นที่ของการแลกเปลี่ยน ขณะที่สังคมคือการที่มนุษย์แต่ละกลุ่มมารวมตัวกันเพียงอย่างเดียว แต่กระบวนการทำความเข้าใจจะต้องอธิบายในขอบเขตที่ลึกซึ้งมากขึ้นโดยเฉพาะการวิเคราะห์ผ่านมุมมองทฤษฎีที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในมุมมองของทฤษฎีมาร์กซิสม์ "ตลาด" กับ "สังคม" หมายถึงการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นแรงงาน ซึ่งมาร์กซ์มองว่าการถือกำเนิดขึ้นของระบบตลาดได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคม (social relation) จากความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยมาสู่ความสัมพันธ์แบบขูดรีด (exploitation relationship) เอารัดเอาเปรียบของนายทุน โดยมาร์กซ์ชี้ว่ารัฐคือปัจจัยสำคัญที่รักษาและผลิตซ้ำความสัมพันธ์ดังกล่าวเพื่อให้กระบวนการสะสมทุนเดินหน้าต่อไปและเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางชนชั้น (class struggle)

อย่างไรก็ตามหากมองในเชิงสังคมประชาธิปไตย "ตลาด" กับ "สังคม" อาจหมายถึงการร่วมมือกันของนายทุนกับแรงงานอันเกิดจากผลพวงของการประนีประนอมทางชนชั้น (class compromise)ได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างของรูปแบบดังกล่าวคือระบบรัฐสวัสดิการของประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่เห็นว่าระบบเศรษฐกิจควรจะให้รัฐ ทุน และแรงงานร่วมมือกันในลักษณะไตรภาคี (tripatism) เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการสะสมทุนและการกระจายทรัพยากร หรือการเน้นไปที่ทางสายกลางมากกว่าหลักประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ "ตลาด"กับ "สังคม" อาจหมายถึง ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจระหว่างแนวคิดมือที่มองไม่เห็นหรือกลไกตลาดเสรี (laisseze faire) ของอดัม สมิธ กับการให้รัฐเข้ามาแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ (interventionism) เพื่อลดทอนอำนาจครอบงำของลัทธิเสรีนิยมตามข้อเสนอของเคนส์ได้เช่นกัน

การนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์การเมืองทั้ง 4 มิติมาวิเคราะห์ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจรากฐานความเป็นมาของปัญหาทำให้การวิเคราะห์มีความครอบคลุมและเพียงพอในการค้นหาทางเลือกที่เหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของแต่ละประเทศ เช่น บางประเทศมองว่าแกนกลางของปัญหาต่างๆในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกับวิกฤตการณ์ของระบบทุนนิยม ทำให้พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เกิดการสร้าง "นวัตกรรม" หรือรูปแบบการจัดการเศรษฐกิจที่สอดรับกับบริบท ค่านิยม และวัฒนธรรมเฉพาะพื้นที่ขึ้นมาเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น การรับมือกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ (Great Depression) และปัญหาการว่างงานของยุโรปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่มีการอนุญาตให้สังคมเข้ามากำกับดูแลระบบเศรษฐกิจ (embeded liberalism) ในหลายประเทศอันนำมาสู่บริบทที่รัฐให้ความสำคัญกับการมีงานทำเต็มที่และการสร้างความมั่นคงเพื่อลดทอนปัญหาการว่างงาน ด้วยเหตุนี้ระบบรัฐสวัสดิการจึงเป็นกลไกที่รัฐนำมาใช้เพื่อคลี่คลายสภาวะความตึงเครียดในเวลานั้น

การที่เศรษฐศาสตร์การเมืองนำเสนอถึงผลกระทบของระบบทุนนิยมนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมมาจนถึงปัจจุบันทำให้เศรษฐศาสตร์การเมืองมองว่าในการพัฒนาเศรษฐกิจควรทำให้เกิดความครอบคลุมทั้งกระบวนการเพื่อบูรณาการองค์ความรู้ทุกมิติเข้าด้วยกัน และชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาสังคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม การบูรณาการองค์ความรู้ที่ครอบคลุมทุกมิติส่งผลต่อการสร้างข้อถกเถียงที่วิพากษ์ไปยังตัวโครงสร้างและตัวระบบอันเป็นสารัตถะที่สำคัญในการเข้าใจปัญหาที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่โลกมีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง การพัฒนานวัตกรรมทางความคิดจึงเปรียบเสมือนกับการออกแบบระบบการจัดการที่พยายามเชื่อมประสานโลกทางทฤษฎีเข้ากับโลกในบริบทจริงเพื่อรองรับกับความเสี่ยง ความไม่แน่นอน และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า

โดยสรุปเราจะเห็นได้ว่าเศรษศาสตร์การเมืองคือวิชาพื้นฐานในการสร้างนักคิดเพื่อสร้างทักษะการคิดและการมองโลกแบบหลากหลายมิติ การอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) จึงไม่สามารถอธิบายแบบแยกส่วนได้ แต่จำเป็นต้องบูรณาการทุกมิติ ทั้งมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน โดยวิธีคิดดังกล่าวเรียกว่ากระบวนการวิเคราะห์แบบองค์รวม (Holistic) เศรษฐศาสตร์การเมืองจึงเป็นหลักสูตรที่สอนให้ผู้เรียนมีทักษะทางความคิดที่แตกต่างออกไปจากระบบการศึกษากระแสหลัก และมุ่งผลิตนักคิดเพื่อที่จะวิพากษ์และตั้งคำถามกับสิ่งที่ดำรงอยู่เพื่อนำเสนอถึงปัญหาและเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์


Posted: 26 Nov 2018 07:57 AM PST
Submitted on Mon, 2018-11-26 22:57

นิธิ เอียวศรีวงศ์

กว่า 21 ล้านวิวแล้ว สำหรับแร็พ “ประเทศกูมี” ตอนที่เขียนบทความนี้

ผมรู้สึกยินดีมาก ไม่ใช่เพราะสะใจ เนื่องจากกว่า 4 ปีที่ผ่านมา มีแต่เรื่องให้สะใจตลอดมาอยู่แล้ว แต่ยินดีเพราะ 21 ล้านวิวเป็นประจักษ์พยานอย่างชัดเจนว่า มี “สังคม” ในเมืองไทย ซึ่งแยกและแตกต่างจาก “รัฐ” อย่างแน่นอน

ไม่ว่าจะให้หารด้วย 4 หรือ 3 หรือ 2 เพราะถูกชมซ้ำหรือชมเพื่อเร้าความโกรธต่อคณะแร็พของตนเอง ที่เหลืออยู่ก็ยังเป็นสถิติที่สูงมากสำหรับคนไทย ซึ่งมีความคิดเห็นและความใฝ่ฝันทางการเมืองที่แตกต่างจาก “รัฐ” อย่างสุดขั้ว

รัฐและสังคมเป็นสองสิ่งที่นักวิชาการตะวันตกเห็นว่ามีปฏิสัมพันธ์กันตลอดมา นักรัฐศาสตร์ไทยบางท่านพูดว่าในโลกเสรีประชาธิปไตยตะวันตก สังคม “ล้อม” รัฐ (กำกับควบคุม) แต่ในสังคมไทย รัฐกลับเป็นผู้ “ล้อม” สังคมไว้ จนกระทั่งเจตจำนงใดๆ ของสังคมไม่สะท้อนออกมาในรัฐเอาเลย

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักวิชาการตะวันตกในรุ่นหลังอีกไม่น้อยที่เห็นว่า ในเอเชีย รัฐและสังคมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแยกออกจากกันไม่ได้ โดยรัฐ (ขอนิยามว่าคือกลุ่มบุคคลที่แย่งและถืออำนาจระดับต่างๆ ในนามของรัฐ) เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดความเป็นไปของสังคม หรือ “ล้อม” รัฐไว้เสมอ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคมจึงค่อนข้างเป็นไปในทางเดียว นั่นคือรัฐเป็นฝ่ายบอกให้สังคมทำอะไรหรือไม่ทำอะไร

ประเทศที่ถูกยกเป็นตัวอย่างอยู่เสมอคือสิงคโปร์ นับตั้งแต่เป็นเอกราชมาจนถึงทุกวันนี้ รัฐกำกับสังคมไปทุกด้าน จนถึงรายละเอียดการใช้ชีวิตของผู้คน นับตั้งแต่หมากฝรั่ง ที่ฉี่อันเหมาะสม เพลงที่ควรฟัง หนังสือที่ควรอ่าน ไปจนถึงควรพูดกันด้วยภาษาอะไร ความสำเร็จทางเศรษฐกิจและการเมืองของรัฐ ซึ่งโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง ก็ไม่ทำให้รัฐเลิก “ล้อม” สังคมไว้อย่างรัดกุมมิดชิดเหมือนเดิม

เช่นเดียวกับจีน ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกไปแล้ว ก็ยังใช้เงินและความรู้ทางเทคโนโลยีของตนในการอุดรูรั่วซึ่งโลกดิจิทัลเจาะเอาไว้ จนเกือบไม่เหลืออยู่เลย “ล้อม” สังคมไว้ภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐอย่างทั่วถึง แม้จะปล่อยเสรีทางด้านชีวิตส่วนตัวมากขึ้น แต่ปฏิบัติการของบุคคลจะเป็นปฏิบัติการทางสังคมไม่ได้เป็นอันขาด จนกว่ารัฐจะบอกว่า “เห่า” (ทำได้)

อย่างไรก็ตาม ผม “รู้สึก” ว่า (คือไม่กล้าใช้คำว่า “คิด”) สังคมเอเชียโตขึ้น และเริ่มมีอำนาจต่อรองกับรัฐมากขึ้น แม้ยังไม่สามารถ “ล้อม” รัฐได้ก็ตาม

ไม่ว่าเราซึ่งเป็นคนนอกจะผิดหวังกับออง ซาน ซูจี อย่างไร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อพม่ามีเสรีภาพมากขึ้น คนพม่ามีสิทธิในการเคลื่อนไหวทางสังคมมากขึ้นโดยไม่ต้องกลัวการสังหารหมู่ จะเต้นแร็พเต้นร็อกก็ทำได้โดยรัฐไม่ห้าม แม้แต่ที่สามารถฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาได้ ก็ (ว่ากันว่า) รัฐ โดยเฉพาะกองทัพ ได้รณรงค์ในหมู่ชาวพม่าให้เกลียดชังมุสลิมโรฮีนจามาก่อน เท่ากับว่ารัฐเอาสังคมเป็นพันธมิตร ไม่ใช่เป็นเบี้ยล้อมขุนเพียงอย่างเดียว

ไม่จำเป็นต้องพูดถึงเกาหลีใต้, มาเลเซีย, ตุรกี, อินเดีย หรือแม้แต่จีน ที่บางกลุ่มในสังคมลุกขึ้นมาแสดงทัศนคติทางการเมืองซึ่งไม่สอดคล้องกับรัฐ แม้เป็นกลุ่มเล็กๆ แต่กลับได้รับความสนใจในสังคมอย่างกว้างขวาง ทั้งๆ ที่ถูกปิดกั้นข่าวสารข้อมูลมาก

สิงคโปร์ซึ่งถูกยกเป็นตัวอย่างว่ารัฐและสังคมไม่แยกจากกันอาจเป็นข้อยกเว้น เพราะรัฐประสบความสำเร็จในหลายด้านเสียจนผู้คนไม่อยากรู้สึกแปลกแยกจากรัฐ

ไม่ต่างจากประเทศเอเชียอื่นๆ สังคมของประเทศไทยก็โตขึ้นในรัฐเหมือนกัน

เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกฯครั้งแรก รัฐไทยสั่งให้สังคมแต่งตัวอย่างไร, พึงมีความสัมพันธ์ระหว่างหญิง-ชายในครอบครัวอย่างไร, ควรเคี้ยวหมากหรือไม่, ใช้สรรพนามภาษาไทยอย่างไร และสะกดคำในภาษาไทยอย่างไร ฯลฯ จนดูเหมือนไม่มีสังคมอยู่ในประเทศไทยขณะนั้นเลย

สถานการณ์เช่นนั้นดำรงสืบมาจนถึงสมัยสฤษดิ์-ถนอม แม้ไม่ลงรายละเอียดเท่า แต่รัฐก็กำกับสังคมอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่อย่านั่งกินกาแฟแล้วล้อมวงคุยกันนานเกินไป ห้ามเผยแพร่ข่าวที่เกี่ยวกับไทยบางเรื่องจากสำนักข่าวต่างประเทศ ห้ามชายหนุ่มไว้ผมยาว ฯลฯ

แต่สังคมไทยก็โตขึ้นมาเรื่อยๆ โดยรัฐไม่ทันรู้สึกตัว เผด็จการที่จะครองอำนาจได้หลัง 14 ตุลา ต้องแสวงหาการยอมรับจากสังคมด้วย หรืออย่างน้อยก็ไม่สร้างความเป็นอริกับสังคมจนเกินไป แม้ว่าผู้มีอำนาจทางการเมืองหลายกลุ่มได้ตกลงจัดวางอำนาจกันมาอย่างลงตัวแล้วก็ตาม

รัฐบาลเผด็จการหลัง 14 ตุลา ที่คิดว่าจะสามารถย้อนกลับไปสู่ช่วงที่รัฐยังสามารถคุมสังคมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การบังคับกำกับสังคมอย่างเคร่งครัด ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคมกลายเป็นความเครียด บางฝ่ายในชนชั้นนำเองรู้สึกเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชนชั้นนำ จึงก่อรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนนโยบาย ผ่อนปรนให้สังคมได้ขยับเขยื้อนอย่างอิสระจากรัฐมากขึ้น

รัฐบาลกึ่งเผด็จการที่ต้องอาศัยกองทัพหนุนหลัง เริ่มเรียนรู้ที่จะ “บริหาร” สังคมควบคู่กันไปกับรัฐ

รัฐประหารของกองทัพใน 2534 และ 2549 ก็เช่นเดียวกัน แม้เข้ายึดรัฐได้อย่างเด็ดขาดแล้ว คณะรัฐประหารก็รู้ดีว่าจำเป็นต้องแสวงหาการยอมรับของสังคมควบคู่ไปด้วย

แต่การยึดรัฐของ คสช.ใน พ.ศ.2557 คิดทวนกระแส โดยอาศัยความแตกแยกที่ร้าวลึกของสังคม คสช.คิดจะยึดสังคมไว้พร้อมกัน แม้ว่าสังคมที่แตกแยกอาจต่อรองกับรัฐได้น้อยลงก็จริง แต่ก็ไม่ได้เพิ่มอำนาจรัฐในการกำกับควบคุมสังคมสักกี่มากน้อย

แม้ว่ากลุ่มนกหวีดสนับสนุนการรัฐประหารมาแต่ต้น และพร้อมจะสนับสนุน คสช.ตั้งแต่วันแรกที่ยึดอำนาจ แต่นี่คือกลุ่มที่มีความคาดหวังกับ คสช.สูง ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มที่ผิดหวังกับ คสช.เร็วและมากกว่ากลุ่มตรงข้าม ซึ่งไม่มีความหวังอะไรกับ คสช.อยู่แล้ว อันที่จริงกลุ่มนกหวีดไม่ได้หวังว่า จะปล่อยให้รัฐ คสช.กำกับควบคุมและนำตนไปสู่ความคาดหวังแต่เพียงลำพัง ยังหวังว่าตนจะเป็นพลังหลักฝ่ายสังคม ที่คอยกำกับและเสนอแนะรัฐ คสช.ให้ก้าวเดินไปในทิศทางที่ตนใฝ่ฝันด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยเป็นผู้นำนกหวีด

ในบรรดาคนที่ “นกหวีดติดคอ” ทั้งหมด คงไม่มีใครที่ติดคออย่างแรงเท่ากับ คสช. เพราะ คสช.ไม่เคยมีจินตนาการถึงการแบ่งอำนาจระหว่างรัฐและสังคมเอาเลย คิดแต่รัฐในฐานะผู้นำที่เด็ดขาดฝ่ายเดียว ฉะนั้นแม้แต่ฝ่ายสนับสนุนตนก็มีหน้าที่เพียงส่งเสียงเชียร์เท่านั้น ไม่พึงเข้ามามีส่วนร่วมในรัฐที่ถูกยึดไปแล้วมากไปกว่าที่ คสช.จัดให้

แต่จินตนาการเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับสังคมที่โตแล้ว แม้ว่าเป็นสังคมที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างผู้สนับสนุนหรือผู้คัดค้านการยึดรัฐ ก็ล้วนเป็นสังคมที่ “โตแล้ว” ทั้งนั้น จึงไม่พร้อมจะปล่อยให้รัฐเป็นฝ่ายนำอย่างมืดบอดดังสมัยที่สังคมยังเยาว์หรือยังไม่เกิด

แม้แต่การยึดรัฐใน 2549 และ 2557 ทำได้สำเร็จ ก็ไม่ใช่เพราะกำลังทหารอย่างเดียว ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวของสังคมเป็นแรงหนุนอยู่นานพอสมควร ก่อนจะเคลื่อนกำลังออกมายึดรัฐได้

สมัยหนึ่ง การยึดรัฐเป็นเรื่องที่ชนชั้นนำตัดสินใจกันเอง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน นั่นคือเป็นเรื่องที่จำกัดอยู่แต่เฉพาะรัฐเท่านั้น แต่หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา สังคมเริ่มมีบทบาท “ยินยอม” หรือไม่มากขึ้น หลังรัฐธรรมนูญ 2540 การยึดรัฐกลายเป็นเรื่องที่สังคมต้องเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ต้น

มีแล้วจะให้ถอยกลับไปแค่ยินยอมเฉยๆ ไม่ได้อีกแล้ว รถไฟความเร็วปานกลาง, รางคู่, เขตเศรษฐกิจพิเศษ, ทวงคืนผืนป่า, เรือดำน้ำ, นาฬิกาหรู ฯลฯ ล้วนแล่นไม่ค่อยไป เพราะติดหล่มสังคมทั้งกลุ่มนกหวีดและกลุ่มตรงข้าม จนทำให้รัฐ คสช.ต้องยอมให้เพลงแร็พ “ประเทศกูมี” โด่งดังยิ่งกว่าทุกเพลงที่ คสช.สู้แต่งทำนองเนื้อร้องมาเปล่งผ่าน “ปาก” ของรัฐ

การยึดรัฐด้วยวิธีรัฐประหารอาจทำได้ยากขึ้น ไม่ใช่เพราะอุปสรรคด้านการทหาร แต่เพราะสังคมกลายมาเป็น “ผู้เล่น” ในเกมด้วย ทำให้การรัฐประหารทำได้ยากขึ้น อีกทั้งอาจไม่ตอบโจทย์ของชนชั้นนำได้อย่างหมดจดอีกแล้ว ผู้นำการรัฐประหารจึงไม่ใช่ผู้บัญชาการกองทัพ แต่ต้องเป็นคนที่ยึดสังคมได้ก่อน จึงอาจยึดรัฐได้ คนที่เก่งและชาญฉลาดขนาดนี้ ทั้งต้องอยู่ในฐานะที่อาจใช้คุณสมบัติข้อนี้ของตน ไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในทุกประเทศ

ด้วยเหตุดังนั้น ในอนาคตการยึดรัฐด้วยรัฐประหารจึงทำได้ยากขึ้น ถึงยึดได้ ก็ยากที่จะรักษาอำนาจไว้ได้นานนัก



เผยแพร่ครั้งแรกใน: matichon.co.th/article/news_1242136

[full-post]

(แฟ้มภาพ ประชาไท)

Posted: 26 Nov 2018 10:55 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-11-27 01:55


ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพิ่มบทนิยามคำว่า “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” เพื่อให้มีความชัดเจน เปิดกว้างให้คนต่างด้าวมีสิทธิเท่าเทียมกับคนสัญชาติไทยในการเข้าถึงข้อมูล ประชาชนเข้าตรวจดูได้โดยไม่ต้องร้องขอ ผู้อุทธรณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของ กก.วินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลฯมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้

26 พ.ย.2561 พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ คือ ให้คนต่างด้าวมีสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่เป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้โดยไม่ต้องร้องขอ รวมถึงกำหนดให้มีคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารประจำหน่วยงาน เพื่อจัดวางระบบการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการและทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการตามที่หน่วยงานของรัฐได้รับคำขอ

พุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ โดยเพิ่มปลัดกระทรวงทุกกระทรวง และแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เช่น ให้คำแนะนำปรึกษาในการดำเนินการใดๆ ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อคุ้มครองสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ยังกำหนดให้ผู้อุทธรณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้ เป็นต้น

สำหรับสาระสำคัญที่เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลสรุปไว้มีดังนี้

1. กำหนดให้การดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการโดยหน่วยงานของรัฐเป็นไปตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.นี้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการไว้โดยเฉพาะและมีมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการแก่ประชาชน หรือมีหลักประกันในการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.นี้

2. เพิ่มบทนิยามคำว่า “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” เพื่อให้มีความชัดเจน และสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” เพื่อให้มีความชัดเจนครอบคลุมหน่วยงานของรัฐทุกประเภท

3. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของบุคคลต่างด้าว โดยให้ยกเลิกนิยามคำว่า “คนต่างด้าว” และเปิดกว้างให้คนต่างด้าวมีสิทธิเท่าเทียมกับคนสัญชาติไทยในการเข้าถึงข้อมูล มิใช่มีสิทธิเฉพาะตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวงเท่านั้น

4. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่เป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้โดยไม่ต้องร้องขอ และแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้

5. กำหนดวิธีการเผยแพร่หรือเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาหรือที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้

6. กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับคำขอให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงกำหนดให้มีคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารประจำหน่วยงานเพื่อจัดวางระบบการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการและทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการตามที่หน่วยงานของรัฐได้รับคำขอ และกำหนดมาตรการบังคับสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ

7. กำหนดหลักเกณฑ์ในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานของรัฐ เช่น การเข้าถึงและการใช้งานสารสนเทศ อุปกรณ์ ระบบ และสถานที่ การตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงด้านสารสนเทศอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

8. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ โดยเพิ่มปลัดกระทรวงทุกกระทรวง และแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เช่น ให้คำแนะนำปรึกษาในการดำเนินการใด ๆ ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อคุ้มครองสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการในระหว่างที่ตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่างลง

9. กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้

[full-post]


Posted: 24 Nov 2018 09:50 PM PST
Submitted on Sun, 2018-11-25 12:50

รถเมล์ร่วมฯ จี้คมนาคมขอขึ้นค่าโดยสาร ลั่นทำตกงานแล้ว 4 พันคน/ลูกจ้างส่วนราชการกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ได้รับสิทธิตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับใหม่ ทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 9 ธ.ค.นี้/ผลสำรวจเงินเดือนไทย-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2562 คาดงานด้านดิจิทัลและทักษะเฉพาะ ตลาดต้องการสูง อัตราจ้างแพง/กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยืนยัน 'พนักงาน-บริษัทยาโน่' บรรลุข้อตกลงโบนัสแล้ว

ตราสัญลักษณ์ 'มอช.' ยกระดับอาชีพคนไทยสู่สากลเริ่มใช้ปี 2562

นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หรือ สคช. กล่าวว่า สคช. ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพ โดยมุ่งเน้นให้คุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพของประเทศไทย สอดคล้องกับความต้องการอย่างแท้จริงของภาคอุตสาหกรรม และสนองตอบนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ซึ่ง สคช.ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในอาชีพจากทั้งภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา เพื่อพัฒนามาตรฐานอาชีพและนำไปใช้ได้จริง ซึ่ง สคช. ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับต่างประเทศ ทั้งประเทศเยอรมนี ออสเตรเลีย และในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อมุ่งผลักดันให้การรับรองระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ได้รับการยอมรับในระดับสากล และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการสร้างมาตรฐานในการประเมิน การรับรองสมรรถนะของบุคคล ให้มีความเป็นธรรม เป็นกลางและโปร่งใส เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ

ด้านนายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า การยกระดับบุคลากรสู่สากลด้วย มอช เป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นต่อยอดในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้แก่บุคลากรในอาชีพ ด้วยการใช้ตราสัญลักษณ์ “มอช” เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองบุคคลในอาชีพที่ได้รับใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ โดยเริ่มจากการให้การรับรองหน่วยรับรองบุคคล ด้วยแนวทางตามมาตรฐานข้อกำหนดทั่วไป สำหรับหน่วยรับรองบุคลากร (ISO/IEC17024) เป็นมาตรฐานหลักในการดำเนินงานสำหรับทุกองค์กรที่มีหน้าที่รับรอง

ที่ผ่านมา สคช. ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพแล้วเสร็จ จำนวน 51 สาขาวิชาชีพ ครอบคลุมกว่า 600 อาชีพ โดยในกลุ่ม New S Curve อาทิ สาขา ICT ระบบราง พลังงานทดแทน การบิน โลจิสติกส์ หุ่นยนต์ การแพทย์ครบวงจรและกลุ่ม First S Curve อาทิ สาขาวิชาชีพท่องเที่ยวโรงแรม ภัตตาคาร การแปรรูปอาหาร เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น และได้ดำเนินการให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพแก่บุคลากรในสาขาวิชาชีพต่างในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 40,000 คน ในหลากหลายสาขาวิชาชีพ ซึ่งบุคลากรอาชีพต่างๆ ที่ผ่านการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพและได้รับใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ในอนาคตจะได้รับเครื่องหมาย “มอช” ด้วย

"การจะได้รับมาตรฐาน “มอช” จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพนั้น บุคลากรในอาชีพจะต้องเข้าสู่การประเมินคุณวุฒิวิชาชีพ ในมาตรฐานอาชีพต่างๆ ที่ สคช. ได้ดำเนินการจัดทำ โดยผ่านองค์กรรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพของ สคช. ทั่วประเทศ ที่ใช้แนวทางมาตรฐาน ISO/IEC 17024 ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า บุคลากรในอาชีพต่างๆ ที่ได้เข้ารับการประเมินจาก สคช. จะผ่านขั้นตอนในการประเมินบุคคลอย่างมีมาตรฐานระดับสากล และมาตรฐาน “มอช” จะเป็นเครื่องหมายในการยืนยันบุคลากรในอาชีพที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อทั้งนายจ้าง ผู้ใช้บริการ และเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ กล่าวคือ นายจ้างมั่นใจได้ว่าลูกจ้างสามารถทำงานได้อย่างมีสมรรถนะตามที่มาตรฐานอาชีพกำหนด ผู้ใช้บริการ จะเชื่อมั่นได้ว่า ผู้ให้บริการสามารถให้บริการได้อย่างมีมาตรฐาน และเป็นหลักประกันกำลังของประเทศ ว่าเป็นผู้มีความสามารถตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ ซึ่งการใช้มาตรฐาน มอช จะเริ่มดำเนินการใช้ภายในช่วงกลางปี 2562 เพื่อเป็นเครื่องหมายยืนยันบุคลากรที่มีมาตรฐานอาชีพและได้รับการรับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ” นายพิสิฐ กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 25/11/2561

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยืนยัน 'พนักงาน-บริษัทยาโน่' บรรลุข้อตกลงโบนัสแล้ว

นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหากรณีลูกจ้างบริษัท ยาโน่อิเล็กทรอนิกส์ ไทยแลนด์ จำกัด อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ประมาณ 300 คน ได้ชุมนุมอยู่บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.เป็นต้นมา เพื่อรอฟังผลการเจรจาเรียกร้องโบนัส ทั้งนี้ กสร.ได้สั่งการให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานชี้แจงขั้นตอนการปฎิบัติและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างรับทราบ และร่วมกับนายอำเภอศรีมหาโพธิ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเจราจาแก้ไขปัญหากับนายจ้างและลูกจ้างอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกำกับดูแลสถานการณ์ให้มีความปลอดภัยและเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย จากการร่วมเจรจากันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อเวลา 03.00 น. ของวันที่ 24 พ.ย. 2561 ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างสามารถตกลงกันได้และได้ข้อยุติทั้งในเรื่องของเงินโบนัสและเงินช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามบริษัทฯ จะไม่เอาผิดกับลูกจ้างจากสถานการณ์ระหว่างการเจรจา และขอให้กลับเข้าทำงานตามปกติในบ่ายวันที่ 24 พ.ย. 2561

นายวิวัฒน์ กล่าวต่อว่า ข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้างย่อมส่งผลกระทบต่อทั้ง 2 ฝ่าย จึงอยากฝากความห่วงใยไปยังสถานประกอบกิจการและลูกจ้างให้ดำเนินการเสมือนเป็นหุ้นส่วนร่วมกันเพื่อป้องกัน ข้อขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่าย แต่หากมีความเห็นที่ไม่ตรงกันเกิดขึ้น ขอให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาพูดคุยปรึกษาหารือร่วมกันในระบบทวิภาคีภายใต้หลักสุจริตใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายและสามารถทำงานร่วมกันต่อไปด้วยความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 24/11/2561

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยยอดเลิกกิจการ ต.ค. 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด คือธุรกิจก่อสร้างอาคาร ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ผลการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนตุลาคม 2561 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศจำนวน 6,197 ราย ลดลง 116 ราย เมื่อเทียบกับเดือน กันยายน 2561 ที่มีจำนวน 6,313 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 2 ส่วนประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป /ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร

ขณะเดียวกัน จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการจำนวน 2,166 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2561 ที่มีจำนวน 1,899 ราย และเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 หรือ 369 ราย เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2560 ที่มีจำนวน 1,797 ราย ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร

ทั้งนี้ ช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 95.29 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดตั้งธุรกิจในปี 2561 ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของการประกาศใช้มาตรการการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล รวมไปถึงมาตรการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวและการเข้ามาของชาวต่างประเทศต่างๆ เช่น การยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ และการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ถือสมาร์ทวีซ่าสำหรับบุคคลเข้ามาพำนักในประเทศไทยชั่วคราว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้มีการประกอบธุรกิจและการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น

ที่มา: VoiceTV, 23/11/2561

ผลสำรวจเงินเดือนไทย-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2562 คาดงานด้านดิจิทัลและทักษะเฉพาะ ตลาดต้องการสูง อัตราจ้างแพง

วันที่ 22 พ.ย. 2561 – โรเบิร์ต วอลเทอร์ส (Robert Walters) บริษัทที่ปรึกษาด้านการสรรหาบุคลากรระดับมืออาชีพชั้นนำของโลกสัญชาติอังกฤษ มุ่งเน้นการสรรหาตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางถึงระดับสูง รวมถึงระดับ C-suite (ระดับงานที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "Chief") จดทะเบียนในตลาดหุ้นกรุงลอนดอนมานานกว่า 20 ปี และมีสำนักงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จดทะเบียนในตลาดหุ้นกรุงลอนดอนมานานกว่า 20 ปี ได้เปิดเผยข้อมูลการสำรวจเงินเดือนล่าสุดของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี พ.ศ.​ 2562 โดยมืออาชีพด้านเงินเดือนและเทรนด์การสรรหาบุคลากรทั่วโลก รวมทั้งระดับนานาชาติและระดับท้องถิ่น ภาพรวมของการขยายตัวอัตราการแข่งขันการว่าจ้างสำหรับงานด้านทักษะเฉพาะและความต้องการแรงงานในท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งนี้มีพื้นฐานมาจากการขยายตลาดของธุรกิจทั่วโลก พร้อมกับชี้กุญแจสำคัญที่บริษัทจำเป็นต้องปรับปรุง รวมทั้งในหลายภาคส่วน อาทิ ธนาคาร ควรเร่งกระบวนการสรรหาบุคลากร โดยเน้นข้อเสนอให้กับพนักงานที่มีทักษะเฉพาะด้าน ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในตลาดแรงงานปี 2562

ผลการสำรวจเงินเดือนของ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ปี 2562 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 20 นั้น ชี้ให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่จะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีการลงทุนที่แข็งแกร่งจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศจีน ซึ่งนับเป็นแรงกระตุ้นสำคัญในการขยายตลาดอย่างมีเสถียรภาพ

บุคลากรมืออาชีพที่มีทักษะความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จะเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานอย่างมาก ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ เร่งปรับกลยุทธ์การสรรหาบุคลากรเพื่อดึงดูดผู้สมัครที่เป็นที่ต้องการในตลาดมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดอัตราเงินเดือนและสวัสดิการที่สูงขึ้น รวมไปถึงการแสดงให้เห็นว่า ผู้สมัครที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าวจะมีความสำคัญต่อบริษัทฯ​

เช่นเดียวกับบุคลากรที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมบทบาทของการขยายงานในตลาดแรงงานมากขึ้นในปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของธุรกิจในยุคดิจิทัลที่เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้บริษัทหลายแห่งต้องการจ้างผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถในด้านดิจิทัล ทั้งในเชิงการตลาดและไอที (IT) โดยเฉพาะผู้ที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีที่มีความเติบโตอย่างแพร่หลาย เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์​ (Artificial Intelligence หรือ AI), การวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ (Cybersecurity) ตลอดจนบุคคลที่มีความรู้เกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ และความสามารถในการทำอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสาขาวิชาต่าง ๆ ได้

ด้านการสรรหาบุคลากรของธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ยังเน้นไปที่แรงงานในท้องถิ่นอีกด้วย โดยผลการสำรวจเงินเดือนปี 2562 เผยว่า บริษัทต่าง ๆ กำลังมองหาพนักงานด้วยกลยุทธ์ "glocal" มากขึ้น กล่าวคือ พนักงานในท้องถิ่นที่มีประสบการณ์ระดับนานาชาติ อย่างเช่นมีประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ หรือทำงานในบริษัทที่มีขยายตัวไปสู่ภูมิภาคอื่น เป็นต้น โดยในอนาคตอันใกล้ในปี 2562 นี้ คาดว่า จะเป็นปีที่มีความเคลื่อนไหวอย่างมากในกระบวนการสรรหาบุคลากรในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ทั้งภาคธุรกิจและตลาดแรงงาน

แกริต บุคกาต กรรมการผู้จัดการ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประเทศไทยและเวียดนาม กล่าวถึง แนวโน้มของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีผลกระทบต่อการการจ้างงานในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น และเน้นการสรรหาแรงงานในท้องถิ่นที่มีประสบการณ์การทำงานระดับนานาชาติ ว่า "จากผลการสำรวจเงินเดือนของ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ปี 2562 จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะภาษาอังกฤษที่เชี่ยวชาญอย่างมาก อันเนื่องมาจากธุรกิจไทยมีการขยายตัวทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากลมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ปี 2562 นี้จะเป็นปีแห่งการปฏิรูประบบดิจิทัล ซึ่งส่งผลให้ความต้องการบุคลากรทางด้านไอทียังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องทั่วทั้งภูมิภาค"

ด้านโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศไทย มุ่งไปที่การสรรหาผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ปัญหาและการจัดการโครงการอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากการขาดแคลนช่องทางเข้าสู่บทบาทของผู้บริหารระดับกลางไปสู่ระดับสูง ซึ่งคาดว่า จะส่งผลให้มีการเพิ่มเงินเดือนเพื่อเฟ้นหาผู้สมัครที่เหมาะสม และกระตุ้นให้บริษัทปรับปรุงกระบวนการสรรหาบุคลากรให้ดึงดูดมากยิ่งขึ้น การแข่งขันของผู้สมัครจะมีความเข้มข้นสูง ควบคู่ไปกับการสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทให้โดดเด่นผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อเพิ่มชื่อเสียงและดึงดูดผู้สมัครในตลาดงาน นอกจากนี้ ในปี 2562 ยังเน้นการให้โอกาสพนักงานในบริษัทฯ ด้วยการเลื่อนตำแหน่งหรือย้ายงาน ในขณะที่การสรรหาบุคลากรได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมไปถึง การนำบทบาทบางอย่างมาเป็นตำแหน่งงานใหม่ในบริษัทในปีหน้าอีกด้วย เช่น ตำแหน่งทางกฎหมาย เป็นต้น

ทั้งนี้ 4 ปัจจัยหลักที่กำหนดความพึงพอใจในการทำงานในปี 2562 คือความสมดุลในชีวิตการทำงาน ค่าตอบแทน ผลตอบรับ และการสนับสนุนจากผู้บริหาร ตลอดจนการฝึกอบรม และโอกาสต่าง ๆ ด้านแรงจูงใจหลักในการเปลี่ยนงานในปี 2562 คือความต้องการความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ทั้งการเพิ่มเงินเดือนขึ้นและ/หรือสวัสดิการที่ดีขึ้น รวมไปถึงความสมดุลในชีวิตการทำงานที่ดีขึ้นด้วย

กลุ่มบุคลากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ 90% ยังรู้สึกมั่นใจว่า กลุ่มของตนเองยังเป็นที่ต้องการในตลาดงานปี 2562 ด้านอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้น 15-20% สำหรับตำแหน่งฝ่ายสนับสนุนในองค์กร และ 20-30% สำหรับตำแหน่ง Front-office และงานที่มีความสามารถทักษะเฉพาะด้าน

ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของนักวางแผนด้านการเงิน นักวิเคราะห์ และ คู่ค้าทางธุรกิจเช่น บริษัทสำนักงานอัตโนมัติ (Business partners as companies automate) และปรับปรุงกระบวนการสำคัญ ๆ (streamline key processes)ความต้องการของผู้จัดการด้านความสัมพันธ์ในด้านการธนาคารพาณิชย์ที่มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีจะเพิ่มขึ้น ความต้องการผู้บริหารที่มีมาตรฐานสูงในอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญของไทย และมีบทบาทการบริหารจัดการโครงการที่ใช้เทคโนโลยี เช่น IoT (Internet of Thing)

ความต้องการของผู้หางานเพิ่มขึ้น 30% จะได้พบกับการมุ่งเน้นไปที่แพ็คเกจแรงจูงใจ เนื่องจากมีความสามารถเฉพาะ ทีมงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะกลายเป็นเหมือนคู่ค้าทางธุรกิจมากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปยังเป้าหมายและวัตถุประสงค์ ทักษะทางกฎหมายจะยังคงถูกนำมาใช้ในบริษัท ด้วยการเพิ่มบทบาทในการให้คำปรึกษาทางกฎหมายมากขึ้น และความต้องการสำหรับผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณภาพแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซช่วยเพิ่มความต้องการสำหรับนักการตลาดที่มีทักษะด้านดิจิทัลและมีวิสาหกิจในรูปแบบ B2B มากขึ้นทำ ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค

ธุรกิจบริการสุขภาพจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะศูนย์การแพทย์ที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของประชากรสูงอายุพนักงานขายในตลาดระดับลักซ์ชัวรี่จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกจะต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้นเงินเดือนในตำแหน่งงานบางประเภทอาจเพิ่มขึ้นถึง 40% โดยเฉพาะในด้านห่วงโซ่อุปทานเฉพาะ และตำแหน่งการจัดซื้อจะมีการให้ความสำคัญกับการบูรณาการเทคโนโลยี Big Data, เทคโนโลยีบล็อกเชน,​ และเทคโนโลยี AI ซึ่งมีความต้องการสำหรับมืออาชีพที่สามารถผสานรวมความก้าวหน้าเหล่านี้เข้ากับกรอบการพัฒนาธุรกิจได้

กลยุทธ์ Mobile-first หรือการที่ทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมต่อผ่านมือถือ ได้รับการผลักดันอย่างมาก ทำให้ความต้องการและเงินเดือนเพิ่มขึ้นสำหรับผู้สมัครที่มีทักษะเหล่านี้ ในขณะที่การนำเสนอทักษะด้านไอทีควบคู่กับความเข้าใจในกลยุทธ์ทางธุรกิจ

สำหรับโรเบิร์ต วอลเทอร์ส เป็นหนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาด้านการสรรหาบุคลากรระดับมืออาชีพชั้นนำของโลก และมุ่งเน้นการจัดวางตำแหน่งงานผู้บริหารระดับสูงด้วยบุคลากรที่มีความสามารถยอดเยี่ยม ​เพื่อดำรงตำแหน่งทั้งในแบบถาวรและสัญญาระยะยาวหรือระยะสั้น ให้แก่ธุรกิจในประเทศไทย ครอบคลุมธุรกิจด้านบัญชีและการเงิน การธนาคารและบริการทางการเงิน การจัดการทั่วไป วิศวกรรม อุปโภคบริโภค การจัดซื้อและโลจิสติกส์ ทรัพยากรบุคคล ไอที การขายและการตลาด และการดูแลด้านเทคนิค ก่อตั้งขึ้นในปี 2528 ปัจจุบันกลุ่มบริษัทได้สร้างเครือข่ายทั่วโลกครอบคลุม 29 ประเทศและภูมิภาค

การสำรวจเงินเดือน รวบรวมโดยแผนกวิจัยเฉพาะของเรา โดยทำการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์จากตำแหน่งในเครือข่ายสำนักงานของเรา และสาขาผู้เชี่ยวชาญของเรา ในช่วงปี พ.ศ. 2561 ปัจจุบันได้จัดทำการสำรวจมาเป็นปีที่ 20 ซึ่งนำไปใช้โดยผู้จ้าง ผู้จัดการฝ่ายบุคคล และพนักงาน สำหรับการวัดระดับเงินเดือนภายในอุตสาหกรรมของพวกเขา

ที่มา: คมชัดลึก, 22/11/2561

ลูกจ้างส่วนราชการกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ได้รับสิทธิตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับใหม่ ทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 9 ธ.ค.นี้

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความสำคัญของพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ว่า ทันทีที่กฎหมายว่าด้วยกองทุนเงินทดแทนฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป จะส่งผลให้ลูกจ้างส่วนราชการทั้งประเทศกว่า 1 ล้านคน ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประเภทสัญญารายปี หรือสัญญาจ้างเหมา เช่น พนักงานกวาดถนน พนักงานเก็บขยะ ซึ่งเป็นลูกจ้างของกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมทั้งลูกจ้างของกิจการที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจด้วย เช่น องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ จากเดิมที่ลูกจ้างเหล่านี้ไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์ค่าทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน กรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย สูญหายหรือตาย อันเนื่องมาจากการทำงานให้นายจ้าง

นายอนันต์ชัย กล่าวต่อไปว่า กฎหมายใหม่ยังเพิ่มเงินทดแทนให้ลูกจ้าง จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ70 ของค่าจ้างรายเดือน โดยกรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้และมีใบรับรองแพทย์ให้หยุดงาน ก็สามารถเบิกค่าทดแทนหยุดงานได้ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป แต่สูงสุดไม่เกิน 1 ปี สำหรับกรณีลูกจ้างทุพพลภาพจะได้รับค่าทดแทนไม่น้อยกว่า 15 ปี หรือกรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ทายาทก็จะได้รับค่าทดแทนมีกำหนด 10 ปี นอกจากนี้ยังได้เพิ่มค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้าง จำนวน 40,000 บาท

ส่วนประโยชน์ที่นายจ้างได้รับจาก พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับใหม่ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีอำนาจลดการจ่ายเงินเพิ่มในท้องที่ที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ประสบภัยพิบัติ หรือมีสถานการณ์พิเศษอย่างอื่นได้ และปรับลดเงินเพิ่มหรือเบี้ยปรับจากเดิมร้อยละ 3 ต่อเดือน ลดลงเหลือร้อยละ 2 ต่อเดือน และกำหนดให้จำนวนเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย ดังนั้น นายจ้างจึงไม่ต้องกังวลว่าจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทนเพิ่มจากเดิมแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน ยังอำนวยความสะดวกโดยเพิ่มช่องทางให้นายจ้างสามารถยื่นแบบรายการขึ้นทะเบียนนายจ้าง และจ่ายเงินสมทบ แจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย ผ่านทางสำนักงาน หน่วยบริการ ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 21/11/2561

กสศ.เปิดตัวทุน นวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ประเดิมปีแรก 2,500 ทุน เริ่มปี 2562

วันที่ 19 พ.ย. 2561 ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย ที่ปรึกษากองทุนฯ และศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน”

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันนักเรียนจากครอบครัวยากจนมีโอกาสเรียนต่อสูงกว่าม.ปลายเพียงร้อยละ 5 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยครอบครัวทั่วไปที่ได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษาถึงร้อยละ 32 กสศ.จึงมีโครงการ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” เพื่อช่วยเหลือเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่มีศักยภาพ ให้มีโอกาสเรียนต่อสายอาชีพและมีงานทำทันทีเมื่อจบการศึกษา ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาสายอาชีพทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเป็นโครงการลักษณะพันธมิตรกับเครือข่ายสถาบันการศึกษา มีการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่สร้างกำลังคนสายอาชีพ ให้มีสมรรถนะและทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้ความสำคัญกับสาขา STEM (วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี) รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะอาชีพการทำงานตาม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลและความต้องการตลาดแรงงานในท้องถิ่น

“ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนนอกจากจะสร้างกำลังคนรุ่นใหม่สายอาชีพราวรุ่นละ 2,500 คน แล้วยังเป็นการสร้างโอกาสสู่การศึกษาระดับสูงแก่นักเรียนที่มีศักยภาพแต่มีอุปสรรคทางรายได้ของครอบครัว โครงการยังมุ่งปฏิรูปการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาสายอาชีพ ให้สามารถผลิตกำลังคนที่สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตและภาคธุรกิจ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์4.0” นายสุภกร กล่าว

ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กระทรวงแรงงานประมาณการว่า ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC สิบปีจากนี้ (2561-2570) ภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานสายอาชีพเป็นอันดับสูงสุด ร้อยละ 44 จำนวนราว 80,000 คน ขณะที่ต้องการวุฒิปริญญาตรีราวร้อยละ 33 กสศ. มีภารกิจหลักในการสร้างเสริมโอกาสแก่เด็กและเยาวชนผู้ขาดโอกาสซึ่งมีจำนวนถึงรุ่นละ 150,000 คน ผลการวิเคราะห์คะแนน PISA พบว่านักเรียนช้างเผือกของไทยมีประมาณ 3% แต่หากขจัดอุปสรรคด้านทุนการศึกษาจำนวนนักเรียนช้างเผือกจะเพิ่มขึ้นเป็น 18% กสศ.จึงสนับสนุนทุนให้นักเรียนที่มีศักยภาพสูงเรียนต่อสายอาชีพ โดยในขั้นตอนแรกจะคัดเลือกสถาบันการศึกษาที่สนใจและมีแผนดำเนินงานที่ดีที่สุดก่อน จากนั้นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจะพัฒนาการเรียนการสอน เช่น ระบบทวิภาคี ระบบดูแลนักศึกษา เป็นต้น เพื่อจัดรับสมัครนักศึกษาให้ทันในปีการศึกษา 2562

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ในแง่ผลประโยชน์ที่จะได้รับ กสศ.ได้คำนวณ ผลตอบแทนของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง จากนักเรียนผู้รับทุน 2500 ทุน ในปีแรก จากข้อสมมติฐานว่าผู้รับทุนทุกคนทำงานหลังจบการศึกษาจนถึงเกษียณอายุ 60 ปี จะคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV ) ประมาณ 10,000 ล้านบาท หรืออัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR หรือ Internal Rate of Return อยู่ที่ร้อยละ10 โครงการนี้ยังสร้างผลประโยชน์ทางอ้อมให้แก่ ผู้รับทุน เช่น ผู้รับทุนมีความพึงพอใจในงานเพิ่มขึ้น อัตราการออกจากการศึกษาของสายอาชีพน้อยกว่าการศึกษาประเภทอื่น และมีความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายแรงงาน ผลประโยชน์ในแง่ของนายจ้าง ผลลัพธ์ของโครงการจะสามารถเพิ่มผลิตภาพการผลิตของบริษัทให้สูงขึ้น และประหยัดต้นทุนของบริษัทในการสรรหาแรงงานทักษะ และลดอัตราการเข้าออกของพนักงานในบริษัท ขณะที่แง่เศรษฐกิจภาพรวม จะช่วยให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของรัฐ การเพิ่มรายได้ภาษี และลดปัญหาความยากจน

“โครงการนี้ถือว่ามีความคุ้มทุนอย่างมาก เพราะเป็นการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เหมือนเป็นการเกาถูกที่คัน ผลิตคนป้อนตลาดแรงงานได้อย่างทั่วถึง รวมถึงทำให้สถาบันการศึกษาสายอาชีพได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 มากขึ้น”

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สังคมไทยยังยึดติดกับภาพลักษณ์ของเด็กอาชีวะในเรื่องความรุนแรง การทำร้ายร่างกาย การสูญเสียชีวิต ตรงนี้ทำให้สัดส่วนการเรียนสายอาชีพถดถอยลงมาโดยตลอด ประมาณร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับสายสามัญศึกษาที่อยู่ประมาณ ร้อยละ 60-70 สวนทางกับทิศทางการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ทั้งที่เส้นทางหลักที่จะเป็นกระดูกสันหลังของประเทศในทศวรรษหน้า คือการเรียนในสายสัมมาอาชีพ แต่ยังมีอุปสรรคในเรื่องนี้มาก ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ.จึงเป็นความก้าวหน้าสำคัญที่จะช่วยปฏิรูประบบการเรียนการสอนสายอาชีพให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาไปที่สถาบันการศึกษาให้เป็นสถาบันเฉพาะทาง มีความเชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ และจุดเด่นอีกเรื่องของโครงการ คือ การจัดการศึกษาระบบทวิภาคีที่มีคุณภาพสูง เน้นการเรียนรู้โดยลงมือปฏิบัติงานจริง ผ่านความร่วมมือกับสถานประกอบการ ชุมชนท้องถิ่น นักศึกษาจะมีทักษะด้านปฏิบัติ เมื่อสำเร็จการศึกษาสามารถทำงานได้ทันทีและมีโอกาสจ้างงานสูง ซึ่งมีสถาบันของเอกชนกับรัฐหลายแห่งเป็นต้นแบบและเป็นตัวอย่างที่ดี ในการผลิตนักศึกษาที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานกับระบบโรงงานอุตสาหกรรม

"โครงการนี้จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเด็กอาชีวะ ที่สังคมมองว่านิยมใช้ความรุนแรง เป็นเด็กประเภท2 ไม่มีแก่นสาร ให้เป็น นวัตกรสายอาชีพ เด็กกลุ่มนี้ก็จะกลายเป็นคนที่ตอบโจทย์อนาคตของประเทศ กสศ.จะเป็นตัวหนุนเสริมสำคัญในการยกระดับคุณภาพกำลังคนสายอาชีพเวลานี้ได้เป็นอย่างดียิ่ง" ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

สำหรับ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” จะสนับสนุนงบประมาณผ่านสถาบันการศึกษาประกอบด้วย ทุนสำหรับพัฒนาสถาบันการศึกษาที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกตามคุณภาพ (Competitive Grants) ประมาณ 50 แห่ง ซึ่งต้องพัฒนาหลักสูตรที่รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของประเทศ สายอาชีพที่กำลังขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในท้องถิ่นหรือจังหวัด รวมถึงสายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และทุนการศึกษาแก่นักศึกษา จำนวน 2,500 ทุน ต่อปี ที่ผ่านการคัดเลือกโดยสถาบันการศึกษา โดยเปิดกว้างให้สถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรืออนุปริญญาสายอาชีพจากทุกสังกัด ทั้งนี้ กำหนดรับข้อเสนอโครงการตั้งแต่ วันที่15-28 ธันวาคม 2561 และสามารถติดตาม ข่าวสารที่ www.EEF.or.th หรือ สายด่วน โทร. 02-079-5475 กด 2 ในวันและเวลาราชการ

ที่มา: ไทยรัฐ, 19/11/2561

รถเมล์ร่วมฯ จี้คมนาคมขอขึ้นค่าโดยสาร ลั่นทำตกงานแล้ว 4 พันคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 9.30 น. นายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนารถ ร่วมเอกชน (รถเมล์ร่วม ขสมก.) และนางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง (สมาคมรถร่วมฯ) ได้นำตัวแทนผู้ประกอบการรถร่วมกว่า 200 คนได้เดินทางมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือขอให้ปรับอัตราค่าโดยสารรถธรรมดา (รถร้อน) 3 บาท จาก 9 บาทต่อเที่ยว เป็น 12 บาทต่อเที่ยว , รถปรับอากาศ (รถแอร์) ขอปรับเพิ่มระยะทางละ 2 บาท หรือราคาเริ่มต้นจาก 13 บาทเป็น 15 บาท

ส่วนรถปรับอากาศใหม่ ที่เข้าสู่การปฏิรูปขอให้จัดเก็บอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นจาก 20 บาท ใน 4 กิโลเมตรแรกและระยะต่อไปให้จัดเก็บ 25 บาทมีเพียง 2 ระยะเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการติดตั้งระบบอีทิกเก็ต โดยให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอภายใน 15 วัน

นางภัทรวดี กล่าวว่า ผู้ประกอบการได้ขอปรับราคามาได้ ปี 2558 แล้วแต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติหากเป็นนักเรียนก็เรียนจบปริญญาเอกแล้ว ทำให้ผู้ประการต้องแบก ภาระขาดทุนเพราะมีการเก็บค่าโดยสารอัตราที่ต่ำกว่าทุน

“ขณะนี้มีรถเมล์ร่วมบริการ ขสมก. ในระบบมีประมาณ 4 พันคัน ปัญหาขาดทุนทำให้ผู้ประกอบการหยุดวิ่งให้บริการหรือจอดรถวันนี้วิ่งประมาณเกือบ 2 พันคันแล้ว ทำให้ทั้งพนักงานทั้งคนขับและพนักงานเก็บค่าโดยสารต้องตกงานไปกว่า 4 พันคน อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือปรับขึ้นราคาซึ่งวันนี้ไม่ได้มาขอเงินรัฐบาลไปซื้อรถใหม่อะไร มาขอให้ปรับค่าโดยสารให้เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริงเท่านั้น”

นายวิทยา กล่าวว่า สาเหตุที่รัฐบาลไม่ปรับขึ้นค่าโดยสารให้รถเมล์รวมนั้นเป็นเพราะว่าเป็นเรื่องของการเมือง รัฐบาลกลัวกระทบฐานคะแนนสียงเลือกตั้งซึ่งเป็นทุกรัฐบาล ไม่ใช่เพราะรัฐบาลนี้ ขณะที่รัฐบาล ก็ทราบดีถึงต้นทุนของรถว่าเป็นอย่างไร แต่ไม่ยอมให้ปรับราคา

ที่มา: ข่าวสด, 19/11/2561

[full-post]


Posted: 24 Nov 2018 10:03 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-11-25 13:03


'หมอศักดิ์ชัย' ลงพื้นที่ติดตามงานคุ้มครองประชากรกลุ่มเปราะบาง 'ชาวมานิ' ขึ้นทะเบียนบัตรทองแล้ว 312 คน รับสิทธิบริการสุขภาพภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เตรียมชงบอร์ด สปสช.ยกเว้นชาวมานิใช้สิทธิหน่วยบริการรัฐได้ทุกแห่ง เพิ่มเข้าการถึงบริการ สอดคล้องวิถีชีวิตเคลื่อนย้ายถิ่น

25 พ.ย. 2561 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยผู้บริหาร สปสช.ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานเพื่อการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สำหรับ “กลุ่มชาติพันธุ์มานิมานิ รักษ์ป่าบอน” จ.สงขลา และ จ.พัทลุง โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรเปราะบางที่มีปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่ากลุ่มชาติพันธุ์มานิ เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของไทย มีถิ่นอาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ ด้วยสภาพสังคมและวิถีชีวิต การอพยพเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัย ทำให้เป็นกลุ่มเปราะบาง ทั้งบางส่วนไม่มีบัตรประชาชนจึงไม่ได้รับการรับรองสถานะ ทั้งที่เป็นกลุ่มคนติดแผ่นดินอาศัยอยู่เทือกเขาบรรทัดมานานกว่าพันปี ทำให้ไม่ได้รับการดูแลและคุ้มครองสิทธิที่จำเป็นรวมถึงบริการสุขภาพ และจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560-2564) ที่ได้มุ่งเน้นให้ทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ รวมถึงกลุ่มเปราะบาง ซึ่งชาวมานิเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางนี้

ในอดีตเมื่อเจ็บป่วยชาวมานิจะดูแลรักษากันเองตามภูมิปัญญาชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่ใช้สมุนไพรที่ปัจจุบันมีจำนวนลดน้อยลงเพราะพื้นที่ป่าลดลง เมื่อมีอาการหนักจะขอความช่วยเหลือจากคนคุ้นเคยพาไปโรงพยาบาลใกล้ที่พักอาศัย ซึ่งหน่วยบริการในพื้นที่จะให้การสงเคราะห์เพราะทราบดีว่า ชาวมานิส่วนใหญ่ไม่ถือเงินและไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองได้ ขณะที่หน่วยบริการไม่สามารถเบิกจ่ายจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ เพราะเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับสิทธิบัตรทอง จากสถานการณ์นี้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และ สปสช.เขต 12 สงขลา จึงได้ร่วมดำเนินการเพื่อรับรองสถานะกลุ่มชาวมานิเป็นคนสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตเพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ

จากข้อมูลการสำรวจมีจำนวนชาวมานิประมาณ 500 คน ในจำนวนนี้มีคนที่ได้รับบัตรประชาชนแล้ว 312 คน และจากฐานข้อมูลทะเบียนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2561 พบชาวมานิระบุเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 312 คน ทำให้มีงบประมาณสนับสนุนไปยังหน่วยบริการในพื้นที่เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ในระดับหนึ่ง โดยชาวมานิที่อยู่ในกลุ่มกึ่งสังคมชุมชน และกลุ่มตั้งถิ่นถาวรจะได้รับการดูแลอนามัยแม่และเด็กเป็นระบบมากขั้น และได้รับความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพจากงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่าการเข้าถึงบริการของกลุ่มมานิยังมีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะการย้ายถิ่นที่อยู่บ่อยตามห่วงโซอาหาร ทำให้ไม่สามารถไปรับบริการยังหน่วยบริการประจำได้ การส่งต่อตามเงื่อนไขที่กำหนดไม่รองรับการเข้ารับบริการสาธารณสุขตามปกติหรือตามความจำเป็นของกลุ่มชาวมานิ รวมทั้งการย้ายสิทธิหรือเปลี่ยนหน่วยบริการได้ 4 ครั้ง/ปี ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมความเป็นอยู่และวิถีชีวิตชาวมานิที่อยู่อาศัยกลางป่า ไม่มีบ้านเลขที่ชัดเจน พูดภาษไทยไม่ได้หรือได้แต่น้อย จึงอาจไม่สะดวกในการใช้สิทธินี้ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอให้กลุ่มชาวมานิสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการสุขภาพของรัฐได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องมีการส่งตัว เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่จำเป็นต้องย้ายที่อยู่ตามห่วงโซ่อาหาร โดยคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ เขต 12 สงขลา ได้ให้ความเห็นชอบ และอยู่ระหว่างการเตรียมนำเสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อพิจารณาต่อไป

“ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแม้ว่าจะให้การคุ้มครองสิทธิประชาชน รายงานล่าสุดปี 2561 ได้ครอบคลุมผู้มีสิทธิหลักประกันแห่งชาติ ร้อยละ 99.94 โดยยังมีประชากรบางกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อย่างกลุ่มชาวมานินี้ และการเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นสิทธิพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน ดังนั้น สปสช.จึงให้ความสำคัญเพื่อให้คนไทยทุกกลุ่มเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

[full-post]


Posted: 24 Nov 2018 11:30 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-11-25 14:30


นิด้าโพลเผยสำรวจประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ครั้งที่ 5 (23 พ.ย.2561) อันดับ 1 'สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์' 25.16% รองลงมา อันดับ 2 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา' 24.05 อันดับ 3 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' 14.52% อันดับ 4 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' 11.67% อันดับ 5 'เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส' 6.90%

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2561 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (ครั้งที่ 5)” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20 – 22 พฤศจิกายน 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,260 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง ด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้เข้ามาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.67 ระบุว่า พรรคการเมืองพรรคใหม่ ๆ เพราะ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง มีคนใหม่ ๆ นโยบายใหม่ ๆ แนวคิดใหม่ ๆ เข้ามาบริหารและพัฒนาประเทศ ขณะที่บางส่วนระบุว่า เบื่อการบริหารงานของพรรคการเมืองพรรคเก่า และร้อยละ 38.33 ระบุว่า พรรคการเมืองพรรคเก่า เพราะ มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ชอบการบริหารงานแบบเก่า ๆ บริหารงานดีอยู่แล้ว การทำงานมีระบบ เคยเห็นผลงานมาแล้ว มั่นใจในผลงาน รู้จักและคุ้นเคยกับประชาชนเป็นอย่างดี มีความเข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าพรรคการเมืองพรรคใหม่

ด้านบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (10 อันดับแรก) พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 25.16 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคเพื่อไทย) รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 24.05 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) อันดับ 3 ร้อยละ 14.52 ระบุว่าเป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) อันดับ 4 ร้อยละ 11.67 ระบุว่าเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) อันดับ 5 ร้อยละ 6.90 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย) อันดับ 6 ร้อยละ 5.32 ระบุว่าเป็น พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ (หัวหน้าพรรคเพื่อไทย) อันดับ 7 ร้อยละ 4.29 ระบุว่าเป็น นายชวน หลีกภัย (อดีตนายกรัฐมนตรี) อันดับ 8 ร้อยละ 1.35 ระบุว่าเป็น หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล (หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย) อันดับ 9 ร้อยละ 1.19 ระบุว่าเป็น นายอุตตม สาวนายน (หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ) และอันดับ 10 ร้อยละ 1.11 ระบุว่าเป็น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกรัฐมนตรี)

เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล (10 อันดับแรก) พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 31.75 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 19.92 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 3 ร้อยละ 16.98 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 4 ร้อยละ 15.63 ระบุว่าเป็น พรรคอนาคตใหม่ อันดับ 5 ร้อยละ 5.32 ระบุว่าเป็น พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 6 ร้อยละ 2.14 ระบุว่าเป็น พรรคชาติไทยพัฒนา อันดับ 7 ร้อยละ 1.83 ระบุว่าเป็น พรรคไทยรักษาชาติ อันดับ 8 ร้อยละ 1.67 ระบุว่าเป็น พรรครวมพลังประชาชาติไทย อันดับ 9 ร้อยละ 1.35 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย และอันดับ 10 ร้อยละ 0.79 ระบุว่าเป็น พรรคพลังชาติไทย

ส่วนปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ใช้ในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.21 ระบุว่า เป็นบุคคลที่มีผลงานประจักษ์ ทำประโยชน์ในพื้นที่หรือต่อประเทศไทย รองลงมา ร้อยละ 33.33 ระบุว่า ชอบพรรค/นโยบายของพรรค ที่ผู้สมัครสังกัด ร้อยละ 10.24 ระบุว่า ต้องการได้ ส.ส. หน้าใหม่ ร้อยละ 7.94 ระบุว่า ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว (เช่น บุคลิก หน้าตา ท่าทาง มีแนวคิดคล้ายตนเอง เป็นคนบ้านเดียวกัน เป็นต้น) ร้อยละ 1.75 ระบุว่า ต้องการได้นายกรัฐมนตรี ตามมติของพรรคที่ผู้สมัครสังกัด ร้อยละ 1.35 ระบุว่า เป็นอดีต ส.ส. หรือ นักการเมืองในพื้นที่ หรือ เป็นญาตินักการเมืองเดิมในพื้นที่ ร้อยละ 0.63 ระบุว่า ผู้สมัครสังกัดพรรคที่อยู่ตรงข้ามกับพรรคที่ตนเองไม่ชอบ และร้อยละ 0.55 ระบุว่า ผู้สมัครสังกัดพรรคที่จะได้เป็นรัฐบาลแน่นอน

สำหรับปัญหาที่อยากให้นายกคนต่อไปเข้ามาแก้ไขมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.13 ระบุว่า ปัญหาปากท้องและหนี้สินของประชาชน รองลงมา ร้อยละ 28.81 ระบุว่า ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ ร้อยละ 9.21 ระบุว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจโดยมิชอบ ผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 5.08 ระบุว่า ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม มิจฉาชีพ ร้อยละ 5.00 ระบุว่า ปัญหาการควบคุมราคาสินค้า ร้อยละ 2.62 ระบุว่า ปัญหาการว่างงานและแรงงานนอกระบบ และปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยในปัจจุบัน ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 1.11 ระบุว่า ปัญหาด้านสุขภาพการรักษาพยาบาล และการคุ้มครองความเสี่ยงของผู้บริโภค และร้อยละ 1.42 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ปัญหาด้านการคมนาคม ความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมาย และระบบงานราชการ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้ง ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยไม่มีการเลื่อนออกไปอีก พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.71 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่น เพราะ หลายพรรคการเมืองยังไม่พร้อม ไม่ชัดเจนในหลาย ๆ เรื่อง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะที่บางส่วนระบุว่า เลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้งเลยทำให้ขาดความเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 48.81 ระบุว่า เชื่อมั่น เพราะ สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ เป็นไปตามโรดแมปที่รัฐบาลวางไว้ มีการประกาศให้ทราบโดยทั่วกันแล้วถึงกำหนดการเลือกตั้ง และเชื่อมั่นในความสามารถและความพร้อมของรัฐบาล และร้อยละ 0.48 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.89 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 24.92 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.17 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 34.21 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.81 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 54.76 เป็นเพศชาย ร้อยละ 45.16 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 6.98 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 15.00 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.46 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 35.96 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 18.25 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.35 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 93.33 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.50 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.03 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 2.14 ไม่ระบุศาสนา

ตัวอย่าง ร้อยละ 20.16 สถานภาพโสด ร้อยละ 73.41 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.21 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.22 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่าง ร้อยละ 31.51 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 27.14 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.25 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.20 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.60 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.30 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่าง ร้อยละ 11.35 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 15.79 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 19.61 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 19.61 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 13.25 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 15.32 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.54 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.16 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 2.37 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 13.33 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 27.30 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.64 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.98 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.03 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.94 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 7.78 ไม่ระบุรายได้


[full-post]
ขับเคลื่อนโดย Blogger.