Posted: 28 Jun 2017 12:07 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ในโอกาส 24 มิถุนายน พ.ศ.2560 นี้ จะเป็นวันครบรอบอีกครั้งหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ประเทศไทยเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ แต่เหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่มีโจรการเมืองมาลักลอบเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร แล้วเอาหมุดหน้าใสไร้สาระมาใส่แทน เป็นการสะท้อนว่า เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ พ.ศ.2475 ในสังคมไทยนั้นยังไม่จบ ระบอบประชาธิปไตยตามความคาดหวังของคณะราษฎร ยังไม่ได้หยั่งรากลึกในกลุ่มอนุรักษ์นิยมไทย แม้ว่าเวลาจะผ่านมาแล้วถึง 85 ปี จนถึงขณะนี้ พวกอนุรักษ์นิยมสลิ่มก็ยังเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง และมีรัฐธรรมนูญที่เป็นแบบแผนเหมือนนานาประเทศ เป็นสิ่งไม่เหมาะสม เพราะชาวบ้านไทยยังไมพร้อม ต้องให้กองทัพยึดอำนาจแล้วปฏิรูปการเมืองเสียก่อน จึงค่อยมีประชาธิปไตยตามขั้นตอน ในกรอบความคิดลักษณะนี้ คณะราษฎรจึงตกเป็นจำเลย ถูกโจมตีเสมอมาว่า เอาระบอบการเมืองที่ผิดพลาดมาสู่สังคมไทย ชิงสุกก่อนห่าม เพราะไม่รู้จักรอคอยให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชทานประชาธิปไตยให้กับประชาชนไทย

ความจริงแล้ว ในทางประวัติศาสตร์ ยังมีแนวทางการพิจารณาอีกแนวหนึ่ง ที่จะทำให้เข้าใจการปฏิวัติ 2475 ในลักษณะที่กว้างขึ้น นั่นคือ การนำเอาเหตุการณ์ปฏิวัติในสยามไปพิจารณาในบริบทการเมืองของโลก ในกรณีนี้ เราก็จะเห็น “ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์”ที่จะต้องเกิดการปฏิวัติ 2475 ไม่ว่าคณะราษฎรจะเป็นผู้ลงมือกระทำการหรือไม่ก็ตาม ซึ่งการที่จะทำความเข้าใจในประเด็นนี้ คงต้องมองการปฏิวัติ 2475 ในฐานะกระแสคลื่นทางการเมืองชุดหนึ่ง จากสังคมระดับโลก และกระทบสู่สังคมไทย

ประเด็นแรกสุด ที่จะต้องทำความเข้าใจคือ กระแสการเมืองโลกตั้งแต่หลัง พ.ศ.2465 เป็นต้นมา คือการพังทลายของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั่วโลก ประเทศมหาอำนาจที่เคยเป็นฝ่ายสมบูรณาญาสิทธิ์ คือ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี รุสเซีย และ ตุรกี ระบอบกษัตริย์ถูกโค่นลงแล้วทุกประเทศ สำหรับในประเทศที่เหลือระบอบกษัตริย์ในยุโรป ต่างก็เปลี่ยนรูปเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ การมีรัฐธรรมนูญ และรัฐสภาจากการเลือกตั้ง กลายเป็นปรากฏการณ์ธรรมดา และในกรณีของเอเชีย ระบอบกษัตริย์ของจีน ก็ถูกปฏิวัติโค่นล้มตั้งแต่ พ.ศ.2454 ในญี่ปุ่น ก็เปลี่ยนเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญและมีระบอบรัฐสภา ใน พ.ศ.2474 เกิดการปฏิวัติโค่นกษัตริย์ในประเทศสเปน แล้วเปลี่ยนสเปนเป็นสาธารณรัฐ ดังนั้น ประเทศสยามเมื่อ พ.ศ.2475 จึงกลายเป็นประเทศเดียวที่ยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีรัฐธรรมนูญ และ ไม่มีรัฐสภา จึงถือเป็นประเทศล้าหลังทางการเมืองอย่างที่สุด สถานการณ์ทางการเมืองของสยาม จึงเป็นสถานการณ์ที่รอการเปลี่ยนแปลง แต่ปัญหาคือ ชนชั้นนำของสยามในสมัยนั้น ไม่ตระหนักถึงปัญหานี้ ยังเห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์เหมาะสมกับประเทศสยาม ประชาชนชาวสยามยังไม่พร้อม ต้องใช้ระบอบเก่าไปก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงระบอบได้

ปัญหาประการต่อมาคือ สังคมสยามสมัยก่อน พ.ศ.2475 ยังเป็นสังคมชนชั้นแบบศักดินา ที่เจ้านายและขุนนาง มีอภิสิทธิ์เหนือประชาชนคนสามัญที่เป็นไพร่ เจ้านายและขุนนางสยามได้รับการยกเว้นจากการถูกเกณฑ์แรง ไม่ต้องถูกบังคับให้รับราชการทหาร โดยเฉพาะเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ซึ่งมีอยู่ราว 108 คน ชนชั้นนี้ ประกอบด้วย”สกุลยศ” คือได้ฐานันดรมาโดยชาติกำเนิด ได้มี”วัง”เป็นที่พักอาศัย ได้รับการยกเว้นจากการเสียภาษี ไม่ถูกพิจารณาคดีในศาล และยังได้เบี้ยหวัดเงินปีเป็นเงินเลี้ยงชีพตลอดชีวิต และการที่สังคมไทยไม่มีระบบตัวแทนของชนชั้นอื่น และไม่มีระบบกฎหมายหลัก ทำให้เจ้านายเชื้อพระวงศ์กลายเป็นผู้ผูกขาดอำนาจทางการเมือง และผูกขาดการใช้กฎหมาย ซึ่งในระบบสังคมของประเทศอื่นในโลก ไม่มีระบบเช่นนี้แล้ว

ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ คือ ระบอบทุนนิยม ที่เน้นการผลิตสินค้าขายออกสู่ตลาดโลก และจากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงสร้างระบบราชการสมัยใหม่เพื่อรองรับอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระองค์ เงื่อนไขเช่นนี้ ทำให้เกิดชนชั้นกลางสมัยใหม่ ที่พัฒนาขึ้นทั้งในและนอกระบบราชการ สถานที่อาศัยของชนชั้นกลาง ก็คือเมืองที่พัฒนาขึ้นอย่างมาก โภคทรัพย์ในสังคมเมืองจะอยู่ในมือของชนชั้นกลางมากขึ้น แต่ปัญหาคือ ชนชั้นกลางเหล่านี้ไม่มีบทบาททางการเมือง จึงนำมาสู่ความกดดันภายในสังคม

ปัญหาส่วนหนึ่งยังมาจากการเติบโตของลัทธิชาตินิยมแบบชนชั้นกลาง ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วเอเชีย เท่าที่ผ่านมา มักจะอธิบายกันว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯเป็นผู้ริเริ่มลัทธิชาตินิยมในประเทศสยาม แต่ความจริงชาตินิยมของพระองค์เป็นชาตินิยมชนชั้นสูง ที่เน้นความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ยิ่งกว่าการรักชาติบ้านเมือง และยังเป็นเรื่องรณรงค์ในหมู่ข้าราชบริพารของพระองค์ ไม่ส่งผลต่อคนกลุ่มอื่นในสังคม ยิ่งกว่านั้น เมื่อผ่านมาถึงสมัยรัชกาลที่ 7 พระองค์ก็เลิกนโยบายชาตินิยมแบบรัชกาลที่ 6 และไม่มีการรณรงค์ลัทธิชาตินิยมแบบใดเลย เพราะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ชนชั้นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่เป็นชายในสังคมสยาม จะถูกส่งไปศึกษาต่อในประเทศตะวันตกตั้งแต่ยังเล็ก ชนชั้นเจ้านายจึงคุ้นเคยกับฝรั่ง และเมื่อมีประเด็นปัญหาทางการเมือง ก็สามารถต่อรองกับฝรั่งได้ แต่กระแสชาตินิยมในเอเชียขณะนั้น คือ กระแสต่อต้านฝรั่งตะวันตก ซึ่งชนชั้นสูงสยามไม่สามารถจะเข้าใจได้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเองก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ทรงหนังสือเป็นภาษาอังกฤษได้ดีกว่าภาษาไทย ภาษาที่ใช้สนทนาในกลุ่มเจ้านายเชื้อพระวงศ์เป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งไม่เข้ากับสมัยชาตินิยมต่อต้านฝรั่งเป็นอย่างยิ่ง

ในงานเรื่องการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 ของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า การขยายตัวของการรู้หนังสือ นำมาสู่ช่องทางใหม่ในการเรียกร้องความเป็นธรรมในระบบ นั่นคือ การเขียนฎีกาและการส่งหนังสือร้องทุกข์ ช่องทางการต่อสู้ลักษณะนี้ ไม่มีความจำเป็นสำหรับชนชั้นสูง เพราะสามารถแสดงออกด้วยช่องทางอื่นที่มีประสิทธิภาพกว่า แต่สำหรับชนชั้นกลาง และประชาชนชั้นล่าง นี่กลายเป็นช่องทางสำคัญในการเล่าความทุกข์ และนำเสมอให้ชนชั้นสูงได้รับรู้ จึงพบหลักฐานว่า มีฎีกาเหล่านี้ หลงเหลืออยู่นับพันฉบับ ซึ่งแสดงให้เห็นปัญหาความไม่เป็นธรรมจำนวนมากที่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการพัฒนาของวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ใหม่ให้กับชนชั้นกลาง ในการเสนอความคิดเห็นต่อสังคม รวมทั้งการวิพากษ์ต่อความเหลื่อมล้ำ และเสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ยังช่วยในการพัฒนาสำนึกแห่งความเท่าเทียมกัน ทำให้สิทธิที่ได้มาโดยชาติกำเนิด ไม่เป็นที่ยอมรับมากขึ้น และทำให้การปฏิวัติ 2475 ได้รับปฏิกิริยาในเชิงบวกมากกว่าที่เข้าใจ

จากบริบททั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่ากระแสประชาธิปไตยเป็นลมตะวันตกชุดหนึ่ง ที่หอบเอาความเปลี่ยนแปลงมาสู่สยาม นำประเทศสยามสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งสภาภายใต้ระบบตัวแทน และนำอำนาจการปกครองออกจากกลุ่มเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ไปสู่กลุ่มสังคมอื่นที่กว้างขวางมากขึ้น นำเอาลัทธิชาตินิยมไทยมาสู่ประเทศไทย แล้วเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ระบอบทุนนิยม และนี่คือความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติ 2475




เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 622 วันที่ 24 มิถุนายน 2560

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.