Posted: 24 Jun 2017 11:15 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เสวนา ขุดราถอนโคนโค่นมรดกคณะราษฎร์ บางอย่างถอนได้ บางอย่างไม่ สุลักษณ์-อุดมคติคณะราษฎรกับคนรุ่นใหม่, สุรพศ -การปฏิรูปศาสนา ยกเลิกมหาเถรฯ พ.ร.บ.สงฆ์ 2484, ปกป้อง-สิทธิสตรี ความก้าวหน้าของผู้หญิงที่ไม่ถูกจำ, ธนาวิ-การรื้อถอนศิลปะโมเดิร์นแบบคณะราษฎร, เอกชัย-มรดกทางกฎหมาย ประชาธิปไตย และสวัสดิการ




คลิปเสวนา ‘ขุดรากถอนโคนโค่น มรดกคณะราษฎร’ ช่วงแรกเป็นการนำเสนอดังนี้ (1) "การอภิวัฒน์ 2475 ในทรรศนะปัญญาชนสยาม" โดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ [รับชมคลิปนาทีที่ 00.00] (2) "มรดกคณะราษฎรในความทรงจำ" โดย พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุเสนา ทายาท พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา [รับชมคลิปนาทีที่ 36.00] และ (3) "มรดกคณะราษฎรด้านกฎหมาย" เอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการกฎหมาย [รับชมคลิปนาทีที่ 56.56]


คลิปจากวงเสวนา "ขุดรากถอนโคน โค่นมรดกคณะราษฎร" ช่วงที่สองเป็นการนำเสนอดังนี้ (4) "มรดกคณะราษฎรด้านศิลปกรรม" โดย ธนาวิ โชติประดิษฐ [รับชมคลิปนาทีที่ 00:00] (5) "มรดกคณะราษฎรด้านการปฏิรูปพุทธศาสนา" โดย สุรพศ ทวีศักดิ์ [รับชมคลิปนาทีที่ 29:55] (6) "มรดกคณะราษฎรด้านสิทธิสตรี" โดย ชานันท์ ยอดหงษ์ [รับชมคลิปนาทีที่ 53:35] และช่วงอภิปรายถาม-ตอบกับผู้ร่วมฟังเสวนา



24 มิ.ย.2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ พรรคใต้เตียง มธ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดเสวนา ‘ขุดรากถอนโคนโค่น มรดกคณะราษฎร’ โดยมีวิทยากรนำเสนอประเด็นต่างๆ ดังนี้
"การอภิวัฒน์ 2475 ในทรรศนะปัญญาชนสยาม"

สุลักษณ์ ศิวรักษ์


“ผมเคยพูดเรื่องการหาข้อเท็จจริงของพระนเรศวรมหาราชซึ่งเสวยราชย์เมื่อ 500 ปีที่แล้ว ผมถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ต้องประกันตัวมา 300,000 บาท หวังว่าคราวนี้จะไม่โดนอีก ฉะนั้น เพื่อความปลอดภัยจึงเขียนมาและจะก็อปปี้ให้ตำรวจไปเลย” สุลักษณ์กล่าว

เขากล่าวว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันสำคัญที่สุดของคนไทยร่วมสมัย โดยเฉพาะคนที่ถือว่าสาระของประชาธิปไตยเป็นหัวใจของสังคมสมัยใหม่ แต่สำหรับปฏิกิริยาขวาสุดนั้นถือว่าวันดังกล่าวคณะราษฎรแย่งชิงพระราชอำนาจไปจากพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงทศพิธราชธรรมและพร้อมจะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว การที่คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างร้ายแรง

รัฐไทยอยู่ใต้อารักขาของอเมริกาตั้งแต่การรัฐประหาร 8 พ.ย.2490 เป็นต้นมา และชนชั้นนำของเราสนิทแนบแน่นกับอเมริกา ที่น่าตั้งคำถามคือ เราเข้าใจสาระความเป็นประชาธิปไตยแบบของสหรัฐอเมริกาแค่ไหน โดยขอหยิบยกคำกล่าวของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในตอนตอบโต้ปฏิบัติการ 9/11 นั่นคือ (ผู้ก่อการร้าย) พวกเขาเกลียดเสรีภาพต่างๆ ของเรา เสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา เสรีภาพในคำพูด เสรีภาพในการออกเสียงเลือกตั้ง เสรีภาพในการรวมตัว และรับความคิดเห็นที่แตกต่าง นี่ถือได้ว่าวาทกรรมที่เป็นหัวใจของประชาธิปไตยและความทันสมัย

ข้อความของบุชเป็นหัวใจของการอภิวัฒน์สยามหรือไม่ โดยที่ก่อนหน้านี้พวกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ยอมรับสิทธิดังกล่าวของราษฎร แม้ ร.5 ทรงทำให้ไทยหันไปทางตะวันตกมากแล้ว แต่ประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของราษฎรกลับไม่อาจดำรงอยู่ในสังคมไทย ยกตัวอย่าง ร.ศ.103 มีการกราบบังคับทูลให้ใช้ธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรโดยไม่ได้ลดทอนอำนาจกษัตริย์ แต่ ร.6 ทรงปฏิเสธ คนธรรมดาสามัญอย่างเทียนวรรณ เสนอให้มี “ปาเลียเม้นต์” เพื่อให้เจ้ากับไพร่หาทางปกครองบ้านเมืองร่วมกัน แต่เขากลับถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกจำคุก 14 ปี

ทั้งนี้ พระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจของ ร.5 สามารถทำให้ใครๆ เห็นคล้อยตามพระราชกระแสได้ไม่ยาก สายชล สัตยานุรักษ์ ศึกษาบทบาทปัญญาชนกระแสหลักตั้งแต่ ร.5 เป็นต้นมา แล้วพบว่า พวกเขาพยายามสร้างความเชื่อว่า การแบ่งคนเป็นลำดับนั้นเป็นการปกครองแบบไทย การรวมศูนย์อำนาจที่คนคนเดียวก็เป็นการปกครองที่ดี ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งก็คืออภิชน การให้อำนาจสูงสุดเด็ดขาดแก่คนดีเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และชาติกำเนิดกับพุทธศาสนาทำให้ผู้ปกครองเป็นผู้มีคุณธรรม มีอุดมคติจึงใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร ไม่มีความจำเป็นต้องควบคุมตรวจสอบ ถ้าจะมีก็ให้พระมหากษัตริย์ทำหน้าที่แทนราษฎร

นอกจากนี้ปัญญาชนกระแสหลักยังเน้นความยุติธรรม แต่เป็นความยุติธรรมที่ไม่เสมอภาค ความเท่าเทียมกันสำหรับพวกเขาจำกัดเพียงระหว่างคนชั้นเดียวกัน ไม่ใช่ทุกคนในสังคม เสรีภาพก็ไม่ใช่ทางความคิด หรือระบบความสัมพันธ์ทางสังคมแต่เน้นว่าในความเป็นไทยมีเสรีภาพอยู่แล้ว คือ เสรีภาพทางใจ เป็นผลมาจากการบรรลุธรระชั้นสูงของศาสนา วิธีคิดแบบนี้ยังเป็นกระแสหลักจนปัจจุบัน ปัญหาที่น่าคิดคือ พุทธศาสนาแบบคนที่คนกลุ่มนี้หวัง คนที่สูงเมตตากับคนในที่ต่ำยังมีพลังไหม การที่สังคมไทยฝากความหวังไว้กับคนเดียว สถาบันเดียว ทำหน้าที่ปกครองดูแลคนไทยถูกต้องและเพียงพอหรือไม่

สำหรับผู้ที่ต้องการให้การอภิวัฒน์เป็นความจริงให้ได้ จำต้องเรียนรู้จากอดีตและประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ในเรื่องความนึกคิดภายในต้องฝึกใจให้กล้าหาญ กล้าเผชิญความจริง แสวงหาความงามและความดี สถาบันการศึกษาก็ไม่ฝึกสอนในเรื่องนี้ เยาวชนควรหากัลยาณมิตรให้ได้ อาจเป็นครูที่ยอมรับคำติชมของศิษย์อย่างจริงใจ อ่อนน้อมถ่อมตนกับศิษย์ หรือกัลยาณมิตรอาจเป็นกลุ่มเพื่อนด้วยกันเอง เพราะกัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของชีวิตอันประเสริฐ และเมื่อกล้าคิดก็ต้องกล้าพูด กล้าพูดกับผู้มีอำนาจ เป็นเสียงแห่งมโนธรรมสำนึกให้เขา ไม่ควรเกลียดเขา แต่ควรสงสารเขาเหมือนที่เราสงสารสุนัขที่บ้านเรา ให้เขาแลเห็นสัจธรรม แต่ก่อนจะกล้าพูดกับผู้มีอำนาจ ควรฝึกในหมู่เราเองก่อน ฝึกแสวงหาความจริง ความงาม และความดี ยอมรับถ้อยคำที่เห็นต่างจากเรา ถ้าเป็นคนชั้นกลางต้องออกไปสัมผัสกับคนชั้นล่างให้มาก ไม่ใช่ไปสั่งสอนหรือรู้สึกเหนือกว่าแต่ต้องไปอยู่อย่างเข้าใจ เรียนรู้จากพวกเขา

ปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อเปลี่ยนทัศนคติผู้คน ใช้ธรรมะเป็นศาตราที่แหลมคม ตอนนี้มหาวิทยาลัยยังทำบทบาทนั้นไหม การที่อธิกาบดีทุกมหาลัยสยบยอม คสช.น่ารังเกียจหรือไม่ แม้เผด็จการจะทำลายสาระของประชาธิปไตย แต่เรายังคงต้องแสวงหากัลยาณมิตรและดำเนินแนวทางนั้นต่อ ถ้าเรามีเจตจำนงอันมุ่งมั่น จะเป็นพลังให้เราก้าวข้ามเผด็จการ ทุนนิยม บริโภคนิยม เข้าถึงสาระของประชาธิปไตย ความฝันและความหวังก็จะเป็นจริงตามหนทางสันติประชาธรรม
"มรดกคณะราษฎรในความทรงจำ"

พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุเสนา ทายาท พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา


“ผมไม่ใช่นักการทูต ไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ใช่นักการเมือง ไม่ใช่นักการทหาร แต่เคยเป็นทหาร เมื่อก่อนแต่งเครื่องแบบทหาร แต่เวลานี้ไม่ได้เป็นเลยมีเครื่องแบบของผมเอง เป็นเครื่องแบบของนักรักประชาธิปไตย” พ.ต.พุทธินาถกล่าว

เขากล่าวว่า หมุดนี้เป็นจุดที่พ่อยืนประกาศการเปลี่ยนแปลงการปกครองฉบับแรก เป็นตัวแทนคณะราษฎรทั้งหลายที่เอาชีวิตเข้าแลกเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น ที่ผ่านมาเคยไปอ่านงานคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ที่คุยกับพ่อว่า ท่านเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อนำประชาธิปไตยมานั้นทำใจได้อย่างไร คุณพ่อบอกว่า ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน เพราะรู้ว่าถ้าไม่สำเร็จก็มีโทษถึงเจ็ดชั่วโคตร กว่าจะทำใจได้ว่าถึงจะต้องตายก็จะยอมจึงใช้เวลาถึง 3 เดือน หลังจากทานข้าวเย็นจะนั่งสมาธิ คิดตั้งคำถามว่าถ้าทำอย่างนี้จะเกิดอะไรขึ้น ชีวิตจะเป็นอย่างไร ตอนนั้นมีลูกสาวแล้วอายุยังไม่ถึงขวบ เรื่องนี้แม้เป็นความลับแต่พ่อบอกแม่ และแม่ก็ยินดีที่จะให้พ่อทำทั้งที่แม่เกิดในดงทหาร ทำให้ภาคภูมิใจในพ่อและคณะราษฎรที่กล้าเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อนำประชาธิปไตยมาให้คนไทยทั้งหลาย

การใช้คำว่า มรดก นั้นอาจไม่ถูกต้องนัก คณะราษฎรไม่ได้เป็นเจ้าของระบอบประชาธิปไตย แต่มันเป็นของประชาชน เพียงแต่อะไรที่เกิดมาทีหลังเขาก็ต้องมีล้มลุกคลุกคลาน

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน คณะราษฎรไม่ได้อยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมพายเรือแจกใบปลิวในแม่น้ำเจ้าพระยา นายควงและกลุ่มก็ตัดสายโทรเลขโทรศัพท์ ขณะที่บางส่วนไปอันเชิญสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์พินิตเป็นองค์ประกัน ขณะที่ทหารทั้งหลายไปรวมกันตรงนั้นเพราะคณะราษฎรต้องหลอกลวงอ้างว่ามีการฝึกพิเศษ หลังจากนั้นจึงประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พ่อของเขาได้พบกับกรมพระนครสวรรค์พินิต เมื่อพ่อเข้าไปกราบและบอกท่านว่าเป็นหัวหน้าคณะราษฎร ท่านก็บอกว่าไม่อยากจะเชื่อ ทำไมจึงอกัตญญูต่อราชวงศ์ที่ชุบเลี้ยงมา ไม่ว่าท่านจะด่าว่าอย่างไร คุณพ่อก็พนมมืออย่างเดียว ในที่สุดจึงได้อธิบายสิ่งประสงค์ซึ่งเป็นไปเพื่อประชาชน กระนั่นท่านก็บอกว่าไม่ควรด่าว่าเจ้าเช่นนั้น คุณพ่อตอบว่าการรบก็ต้องเอาชนะกัน แต่เมื่อจบการรบก็จะมีการขออภัยกันตามธรรมเนียมไทย การที่รับเป็นหัวหน้าคณะราษฎรนั้นเพราะบอกกับทุกๆ คนว่าไม่ว่าจะอย่างไรประเทศก็ต้องต้องมีกษัตริย์อยู่แต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ คณะราษฎรไม่ต้องการทำลายทำร้ายใครทั้งสิ้น กรมพระนครสวรรค์พินิตบอกว่าใครมาพูดก็ไม่เชื่อ แต่ถ้าคุณพ่อพูดนั้นเชื่อ จึงยินดีที่จะลงนามรับรองในหนังสือที่คณะราษฎรกราบบังคับทูลให้รัชกาลที่ 7 เสด็จมาเป็นมิ่งขวัญปวงชนชาวไทย มันจึงเป็นการปฏิวัติที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อแต่ประการใด

“ผมรับรู้เรื่องราวเหล่านี้จากคุณแม่ คุณแม่รู้เรื่องเยอะ”
"มรดกคณะราษฎรด้านกฎหมาย"


เอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการกฎหมาย


สิ่งสำคัญที่สุดของอภิวัตน์ คือ การทำคนให้เป็นคน จากไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เป็นเป็น ข้าราช จนเป็น ราษฎร เปลี่ยนการกำหนดชีวิตคนโดยคนคนเดียว โดยสมบูรณ์ มาเป็นประชาธิปไตยปกครองโดยกฎหมายไม่ใช่ตามอำเภอใจ

อย่างไรก็ดี มีความเห็นว่า องค์กรตุลาการเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของราษฎรที่ยังไม่ยึดโยงกับประชาชน เป็นองค์กรในระบอบเก่าที่มีการเปลี่ยนระบอบแต่องค์กรยังไม่เปลี่ยน กฎหมายเป็นเครื่องมือให้ความชอบธรรมของอุดมการณ์ ของระบอบเท่านั้น กฎหมายไม่ใช่ มรดก ของคณะราษฎร แต่อุดมการณ์ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาต่างหากที่เป็นมรดกและคณะราษฎรจะทำสำเร็จไม่ได้ ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับอำนาจตุลาการ จะทำอย่างไรให้อำนาจนี้มีสำนึกว่า อำนาจที่ใช้มาจากประชาชน สร้างความยุติธรรมให้เป็นที่ประจักษ์

ประเด็นต่อมาขอนำเสนอความเชื่อมโยงของแนวคิด ภราดรภาพนิยม ของปรีดี พนมยงค์ กับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค แนวคิดสำนักภราดรภาพนิยมโดย ศ.ชาร์ลส์ จิ๊ด อธิบายว่า การกระทำของเราแต่ละคนนั้นมีผลกระทบทั้งในแง่ดีและแง่ร้ายต่อเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ..ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสังคมของมนุษย์ทั้งมวลไปสู่ความเป็นชุมชนใหญ่ที่มุ่งช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ...โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคจึงนับเป็นแนวคิดที่สืบต่อมาจากปรีดีที่ต้องการเห็นสังคมที่ทุกคนไม่อดตาย มีงานทำ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ไม่ล้มละลายทางสุขภาพ คนร่ำรวยช่วยเหลือคนที่รวยน้อยกว่า

คณะราษฎรไม่ใช่กลุ่มคน 115 คน แต่เป็นแนวคิดของ “คนเท่ากัน” อยู่ด้วยกัน กฎหมายที่มาจากคนเท่ากัน ตัดสินด้วยคนที่คนเท่ากันเลือกมา ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม และมีพื้นที่ในการอยู่ร่วมกันโดยสันติและยอมรับในความแตกต่างบนพื้นฐานของการเลือกตั้งและเสียงข้างมาก


"มรดกคณะราษฎรด้านศิลปกรรม"

ธนาวิ โชติประดิษฐ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร



ครอบคลุม สถาปัตยกรรม อาคาร อนุสาวรีย์ โดยพูดถึงชิ้นหลักๆ เริ่มที่ หมุดกำเนิดรธน.หรือ หมุดคณะราษฎร เป็นอนุสรณ์สถานประเภทหนึ่ง ระลึกถึงความทรงจำการปฏิวัติ 24 ลักษณะเป็นหมุดทองเหลืองติดตั้งที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ปี 2479 และหายไปแล้วและแทนที่ด้วยหมุดใหม่ในปีนี้ แต่หมุดคณะราษฎร ไม่ได้เป็นวัตถุเพียงชิ้นเดียวในยุคนั้นที่เปลี่ยนแปลง แต่หลายชิ้นก็เปลี่ยนแปลง อีกที่คือ ศาลาเฉลิมไทย ถนนราชดำเนิน เป็นโรงมหรสพที่เปิด 2483 สมัยจอมพลป. ทุบทิ้ง 2532 พล.อ.ชาติชายเพื่อเปิดให้เห็นพื้นที่ด้านหลัง คึกฤทธิ์เขียนในคอลัมน์ซอยสวนพลูว่า สนับสนุนการรื้อศาลาทิ้งเพื่อเปิดให้เห็นสิ่งสวยงามกว่าคือ วัดราชนัดดา และโลหะปราสาท สร้างในสมัยร.3 การรื้อทำให้เกิดพื้นที่ว่าง รบ.สร้างลานพลับพลาเจษฎาบดินทร์ นอกจากนั้นยังมีอีกหลังที่สร้างช่วงใกล้กันแต่ไม่ได้สร้างโดยคณะราษฎร ศาลาเฉลิมกรุง ร.7 ดำริให้สร้างเพื่อมอบให้ราษฎรเป็นที่ระลึกสำหรับการเฉลิมฉลองพระนคร 150 ปี ปี 2473 จะครบในปี 2475 สถาปัตยกรรมคล้ายกันมาก เป็นแบบสมัยใหม่ กล่องสี่เหลี่ยม หลังคาตัด สร้างโดยคอนกรีต แต่สิ่งที่น่าสนใจเมื่อรบ.จะรื้อเฉลิมไทย คึกฤทธิ์บอกรื้อไปเถอะเพราะไม่สวยงาม อัปลักษณ์ทำลายภูมิทัศน์กรุงเทพฯ แต่ข้อวิจารณ์เดียวกันกลับไปถูกใช้กับศาลาเฉลิมกรุง

กลุ่มอาคารศาลฎีกา คณะราษฎรสร้าง 2482 ระลึกการได้เอกราชทางการศาล เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับศาลาเฉลิมไทย เป็นคอนกรีตไม่ได้ประดับประดาแบบไทยประเพณี และยังมีสัญลักษณ์ต่างๆ เชื่อมคณะราษฎร เช่น การมีเสาหกต้นอ้างอิงถึงหลักหกประการของคณะราษฎร แต่ก็ถูกรื้อทิ้ง 2555 แทนที่ด้วยหลังใหม่ที่กลับไปสู่สถาปัตยกรรมแบบประเพณี หลังคาซ้อนชั้นยอดแหลมทรงจั่ว เปลี่ยนจากหลังคาตัดที่เป็นสมัยใหม่เป็นที่นิยมในสมัยคณะราษฎร แต่การรื้อและสร้างศาลใหม่ ไม่ไดมีแต่ฝ่ายที่ให้ความสำคัญกับคณะราษฎรเท่านั้นที่คัดค้านแม้แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจำนวนมากก็ไม่เห็นด้วยกับการรื้อ เนื่องจากตามโมเดล หลังใหม่จะมีความสูงมากกว่าพระบรมมหาราชวัง

ส่วนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภาพประติมากรรมนูนต่ำอยู่ที่ฐานอนุสาวรีย์ เล่าเรื่องไล่ตามเวลา อันแรก คณะราษฎรกำลังวางแผนทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตามด้วยภาพการเคลื่อนพลเข้าดำเนินการ ภาพประชาชนประกอบสัมมาอาชีพ ภาพประชาชนมีชีวิตในอุดมคติ พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ตรงกลางเป็นพานรัฐธรรมนูญ เป็นสัญลักษณ์ของการปกครองอันใหม่ เราอาจตีความได้ว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นทั้งสาเหตุและผลพวงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ความพิเศษหรือความประหลาดของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคือ ชื่อไม่ได้บ่งบอกเหตุการณ์เฉพาะ ไม่เชื่อมกับคณะราษฎร แต่เป็นชื่อของอุดมการณ์ทางการเมืองเฉยๆ แม้ว่าสัญลักษณ์ทั้งหมดเชื่อมกับ 24 มิถุนายน 2475 ทำให้มันเปิดโอกาสให้คนไปเชื่อมโยงอนุสาวรีย์นี้เข้ากับประชาธิปไตยในการตีความของตัวเองโดยไม่สัมพันธ์กับคณะราษฎรก็ได้

นอกจากนี้ มันเคยเกือบถูกรื้อตรงกลางแล้วแทนด้วยพระบรมราชานุสาวรีย์ของ ร.7 พระราชทานรัฐธรรมนูญแทน ให้มีลักษณะเป็นบิดาของประชาธิปไตย แต่สุดท้ายก็ไปตั้งที่รัฐสภา

ทำให้ความหมายของอนุสาวรีย์ไม่ได้นิ่ง ความหมายสามารถเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ได้ โดยเป็นไปตามกิจกรรมต่างๆ ที่นำอนุสาวรีย์ไปใช้งาน มันจึงมีทั้งความหมายที่เชื่อมโยงกับคณะราษฎร แต่เสื้อเหลืองที่ไม่หนุนคณะราษฎรก็ใช้ที่นี่เหมือนกัน

"มรดกคณะราษฎรด้านการปฏิรูปพุทธศาสนา"

สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา



การปกครองนั้นใช้อำนาจกองทัพ ข้าราชการอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องใช้อำนาจนำ ความจงรักภักดีของผู้ปกครองด้วย ศาสนาก็ถูกนำมาใช้สนับสนุนอุดมการณ์ของผู้ปกครอง ในอดีตตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีการตั้งศาสนาจักรหรือมหาเถรสมาคม รวบอำนาจสู่ส่วนกลางเหมือนระบบราชการ ถ้าพระสงฆ์กระด้างกระเดื่องก็ต้องถูกจัดการ เช่น ครูบาศรีวิชัย ช่วงรัชกาลที่ 6 มีการนำศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ปกติกษัตริย์แต่ละองค์จะสร้างวัดประจำรัชกาล แต่ ร.6 สร้างอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และวาทกรรมนี้มีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาอยู่ในการศึกษาแบบทางการ กลายเป็นความถูกต้อง ความจริงสูงสุดสำหรับอุดมการณ์นี้ พอเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรปฏิรูปศาสนา ผลของการปฏิรูปท้าทายอุดมการณ์นี้หรือไม่

จุดเริ่มคือ ปี 2477 มีคณะภิกษุหนุ่มชื่อ คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองสงฆ์จากแบบเดิมที่มีมหาเถรสมาคมเป็นแบบใหม่ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย โดยให้เหตุผลว่า ในวงการพระรู้สึกอึดอัดเพราะไม่มีความยุติธรรมระหว่างนิกาย พอบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงก็รู้สึกว่ามีเวทีจึงออกมาเรียกร้อง เรื่องนี้มีการหารือกับปรีดี พนมยงค์จนเกิดพ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.2484 มีการยกเลิกมหาเถร และตั้งระบบที่คล้ายประชาธิปไตยคือแบ่งอำนาจสามฝ่าย บริหาร นิติ ตุลาการ ในหมู่สงฆ์ แต่ที่มาของผู้เข้าตำแหน่ง สังฆนายก สังฆมนตรี สมาชิกสังฆสภามาจากการคัดเลือกโดยสมเด็จพระสังราชและรมว.ศึกษาธิการ แต่อย่างน้อยมีสภาสงฆ์และมีการถ่วงดุล คณะราษฎรต้องการให้คณะสงฆ์ปรับตัวให้เข้ากับการปกครองบ้านเมือง

ผลที่เกิดคือ มีองค์การเผยแพร่พุทธศาสนา โดยมีพระสงฆ์ที่จะเทศน์สอนชาวบ้านตีความพุทธศาสนาเข้ากับประชาธิปไตย คนมีบทบาทมากคือ ท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านเป็นผู้บรรยายให้ชาวบ้นาจนถึงพระธรรมทูตฟังเรื่องนี้ ตอนนั้นท่านตีความพุทธศาสนาเข้ากับประชาธิปไตย เสรีภาพ เสมอภาค ภารดรภาพ พูดเรื่องหลักการ โดยไม่พูดเรื่อง “คนดี” เลย แต่ตอนหลังที่พูดเรื่องเผด็จการโดยธรรม ท่านพูดถึงเรื่อง “คนดี” มาก

สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในโครงสร้างการปกครองสงฆ์ในเวลานั้นคือ พระพิมลธรรม ท่านส่งลูกศิษย์ไปเรียนอภิธรรม และวิปัสสนาที่พม่าแล้วนำกลับมาเผยแพร่ มันเป็นการขยายอำนาจการตีความคำสอนศาสนาไปสู่ฆราวาส ให้กลายเป็นคู่แข่งกับพระในการที่จะเชี่ยวชาญอภิธรรม ผู้หญิงก็ด้วยมีความเท่าเทียมกับพระมากขึ้นในการตีความพระพุทธศาสนาด้วย ในแง่นี้จึงเป็นท้าทายจารีตแบบเก่า พระพิมลธรรมสนิทปรีดีและจอมพล ป. สุดท้ายท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกจับศึกแล้วก็ขังคุก 5 ปี ท้ายที่สุดศาลฎีกาตัดสินว่าไม่ผิด แต่ก็ระบุทำนองว่า ในฐานะที่ท่านก็ศึกษาศาสนามาอย่างดีแล้วก็ถือเสียว่าเป็นกรรมเก่าก็แล้วกัน แต่ไม่คืนสมรณศักดิ์ หลัง 14 ตุลาฯ พระฝ่ายซ้ายเรียกร้องให้คืนสมรณศักดิ์พระพิมลธรรมในปี 2517 แล้วก็เรียกร้องให้ยกเลิกมหาเถรสมาคม หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ นำมหาเถรสมาคมกลับมาในปี 2505 และเรียกร้องให้มีการนำพ.ร.บ.สงฆ์ 2484 มาปรับปรุง โดยให้มีการเลือกตั้งสงฆ์มาอยู่ในสภา สมเด็นพระสังฆราชเป็นประมุขสูงสุดแต่ไม่มีอำนาจปกครอง น่าเสียดายที่มันถูกโค่น ถอนทิ้งตั้งแต่ยุคสฤษดิ์เป็นต้นมา

“ในมุมมองผม ถามว่าชนชั้นนำฝ่ายรัฐราชการ เขาสนใจให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไหม ผมว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ในอดีตสมัย ร.5 สมัยคณะราษฎร์ คณะสงฆ์ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างอำนาจนำทางวัฒนธรรม ปัญญาชนยังอยู่ในวงแคบ ชาวบ้านฟังพระมาก แต่ปัจจุบันเนติวิทย์ (หมายถึง เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) อาจเข้าถึงชาวบ้านได้มากกว่าพระ แต่เขาแค่ไม่ได้ต้องการให้คณะสงฆ์กระด้างกระเดื่องกับรัฐราชการ” สุรพศ กล่าว


"มรดกคณะราษฎรด้านสิทธิสตรี"

ชานันท์ ยอดหงษ์ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์


หากเราดูสมาชิกคณะราษฎรจะพบว่าทั้ง 115 คนเป็นชายทั้งหมด โดยเป็นทั้งทหารและพลเรือน จะเห็นได้ว่าทหารในสมัยนั้นก็มีบทบาทสร้างประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม คำถามที่สำคัญที่ดังขึ้นมากในช่วงหลังคือ ผู้หญิงหายไปไหน? ทำไมการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่มีผู้หญิงเลย เป็นเพราะผู้หญิงไม่มีบทบาทสำคัญนักหรือเพราะประวัติศาสตร์นิพนธ์ละเลยผู้หญิงไป และเน้นศึกษาที่เป็นส่วนบุคคล เช่น แต่งงานกับใคร เป็นภรรยาใคร

จนกระทั่งมีงานศึกษาพบว่า ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นเป็นยุคที่ผู้หญิงอ่านออกเขียนได้ และมีนิตยสารสตรีที่บทความแนววิพากษ์วิจารณ์มากมาย ทั้ง นิตยสารสตรีนิพนธ์ ปี 2458 สตรีสารปี 2465 และยังมี สตรีไทย สยามยุวดี ฯลฯ นิตยสารเหล่านี้มักตั้งคำถามถึงชนชั้นปกครองและระบอบการปกครองที่ไม่ศิวิไลซ์ นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างฎีกาของผู้หญิงถึงรัฐบาล โดยแจ้งว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งถูกทำร้ายโดยสามีเพราะสามีเริ่มเบื่อเมีย และสรุปว่าระบบผัวเดียวหลายเมียของชนชั้นสักดินาไทยเป็นบ่อเกิดความรุนแรงต่อผู้หญิง

กระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาชนจำนวนมากดีใจ มีการส่งจดหมายว่าจะสามารถร่วมพัฒนาประเทศได้อย่างไรบ้าง ช่วงกบฏบวรเดชประชาชนจำนวนมากก็จับอาวุธร่วมต่อสู้ด้วย เรียกว่าประชาชนพร้อมที่จะพัฒนาระบอบใหม่พร้อมกับคณะราษฎร มีกระทั่งผู้หญิงที่บริจาคแหวนแต่งงานให้เอาไปปราบกบฏบวรเดช

ความก้าวหน้าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศยังสังเกตเห็นได้จากมาตรา 4 ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกโดยคณะราษฎรซึ่งระบุว่า ราษฎรไม่ว่าเพศใดก็มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ เรื่องนี้ไม่มีการเลือกปฏิบัติเหมือนประเทศอื่นๆ ที่แม้เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยแล้วก็ไม่ให้สิทธิผู้หญิง เช่น สหรัฐอเมริกา ต้องมีการต่อสู้กันอีกนานกว่าผู้หญิงจะมีสิทธิเลือกตั้ง

ในส่วนสิทธิพลเมืองที่ผู้หญิงได้รับก็ได้เท่าเทียม ภายใต้หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ทำให้ผู้หญิงชายได้เรียนเท่ากัน ก่อนปี 2475 ถ้าผู้หญิงจะเรียนก็เพียงให้พออ่านออกเขียนได้ แต่พอเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นมีการเปิดให้เรียนได้เท่าๆ กัน เรื่องผัวเดียวหลายเมียนั้น ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองผู้ชายนิยมมีเมียมาก โดยเฉพาะชนชั้นศักดินานิยมมีเมียมากเพื่อเป็นการประกาศศักดา ผู้หญิงมองว่าเป็นการกดขี่ มีความพยายามเปลี่ยนแปลงร้องเรียนให้เห็นเป็นหลักฐานบ้างเช่นกัน แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มีการใช้กฎหมายว่าด้วยครอบครัว ให้ผู้หญิงมีอำนาจจัดทรัพย์สินของตนเองได้ ฟ้องหย่าได้ และผู้ชายเมื่อจดทะเบียนแล้วไม่สามารถจดซ้อนได้อีก ขณะที่ยุคจอมพล ป.ก็เร่งสร้างวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวด้วย

หากดูในด้านการประกอบอาชีพ ก่อนปี 2475 อาชีพครูนั้นก็เหมือน ตำรวจ ทหาร นั่นคือเป็นผู้ชายเสมอ โรงเรียนฝึกหัดครูมักเป็นผู้ชาย งบประมาณแผ่นดิน 39 ล้าน มีเพียง 2.9% ที่ทุ่มเทให้การศึกษา ซึ่งถือว่าน้อยมาก ในรายงานกระทรวงศึกษาสมัยนั้นบอกว่าเป็นการสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์มากสำหรับการจัดการศึกษาสำหรับผู้หญิง แต่ราชการชั้นเล็กๆ ก็พยายามร่างหลักสูตรสอนครูผู้หญิง นำไปสู่การผลิตครูผู้หญิงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มักถูกมองว่าเป็นคนรับใช้กระทรวงเท่านั้น เงินเดือนต่ำ จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการยกร่าง พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน 2479 ปรับปรุงอัตราเงินเดือนใหม่ยกระดับข้าราชการครูผู้หญิงให้เท่าครูผู้ชายทั้งหมด

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.