Posted: 26 Jun 2017 11:40 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ศ.ดร.พรรณี ชี้เมื่อแรงงานถูกทำให้ไม่มีประวัติศาสตร์ ก็ไม่ตระหนักในคุณค่าของตัวเอง ก็ไม่มีพลังเปลี่ยนแปลง แนะกรรมกรควรเริ่มบันทึกประวัติศาสตร์ พร้อมชี้ 'ไทยแลนด์ 4.0' ต้องอาศัยสังคมที่เป็นประชาธิปไตย-ระบบธรรมาภิบาล


เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถนนนิคมมักกะสัน แขวงมักกะสัน มีการบรรยายในหัวข้อ “แรงงานอยู่ตรงไหนในประวัติศาสตร์ชาติไทย” โดย ศ.ดร.พรรณี บัวเล็ก อาจารย์ประจำ คณะศิลปศาสตร์ หลักสูตรการบริหารการจัดการองค์การ มหาวิทยาลัยเกริก ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์สากล พร้อมด้วยผู้นำองค์กรที่มีส่วนร่วมก่อตั้งและสนับสนุนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยรวมอภิปราย ผู้ดำเนินรายการโดย ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน และผู้ริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย


ศ.ดร.พรรณี บัวเล็ก

ทำไมแรงงานไม่มีในประวัติศาสตร์?

ศ.ดร. พรรณี กล่าวว่า เนื่องจากผู้ที่บันทึกประศาสตร์ หรือบันทึกพงศาวดารได้ต้องเป็นชนชั้นสูงเท่านั้น ต้องเป็นพระมหากษัตริย์เท่านั้นจึงจะทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ได้ พระมหากษัตริย์ก็เห็นแต่ความสามารถ และบารมีของตน ทุกเรื่องที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ มันเต็มไปด้วยเหตุการณ์และบารมี ความศักดิ์สิทธิของชนชั้นสูง ประวัติศาสตร์จึงไม่มีพื้นที่สำหรับชนชั้นล่าง มีความพยายามของบางคน แม้แต่ใน ร.5 อย่าง ก.ศ.ร. กุหลาบ เริ่มท้าทาย ร.5 ด้วยคำถามว่า “ทำไมสามัญชนไม่มีประวัติศาสตร์” และพยายามพงศาวดารขึ้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จึงถูกลงโทษอย่างหนักโดยการตะพุ่นหญ้าให้ช้างกิน และเรียกกุหลาบ ว่า “นายกุ” ที่มาจากกุเรื่อง ในแนวคิดของชนชั้นสูงอย่าง ร. 5 รับอารยธรรมของตะวันตกมามากก็ยังไม่อนุญาตให้ชนชั้นสามัญบันทึกประวัติศาสตร์ ในสมัยก่อนแรงงานมีความหมายแต่ไม่ถูกบันทึกประวัติศาสตร์เพราะมันเป็นข้อห้ามของชนชั้นสูง เรื่องเล่าของชาวบ้านจึงเป็นในรูปแบบของตำนานต่างๆ บันทึกท้องถิ่น ซึ่งบันทึกเหล่านี้ไม่มีปรากฏในสถาบันการศึกษา หลักสูตรการศึกษา ตั้งแต่ยุค ร.5 เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้คนจงรักภักดีในสถาบันกษัตริย์ เรื่องของชนชั้นล่างเป็นเรื่องที่ไม่ต้องเอามาเรียนรู้ จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้เรียนเรื่องของชนชั้นล่าง ความพยายามที่จะรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ของชนชั้นล่างยังมีน้อย เพราะไม่มีบันทึก มีเป็นเพียงเรื่องเล่าของชาวบ้านในความทรงจำ แต่ในเรื่องของการเป็นเอกสารยังไม่มี


เมื่อถูกทำให้ไม่มีประวัติศาสตร์ ก็ไม่ตระหนักในคุณค่าของตัวเอง ก็ไม่มีพลังเปลี่ยนแปลง

ศ.ดร.พรรณี ชี้ด้วยว่า การที่ประวัติศาสตร์แรงงานไม่ถูกถ่ายทอด ทำให้ไม่เกิดการตระหนักในคุณค่าของตัวเราเองก็ไม่มีพลังในการเปลี่ยนแปลง ชีวิตเราก็ไม่เกิดการพัฒนา หรือไม่ก็กลืนตัวเราให้เป็นอีกชนชั้นหนึ่ง ตลอดมาพบการกลืนของชนชั้นซึ่งเข้าไปอยู่ในชนชั้นสูง เพราะวัฒนธรรมที่ไม่ถูกตอกย้ำจะทำให้มันอ่อนแอ ปัญหาที่สำคัญคือความรู้ชนชั้นสูงกับแรงงาน

ศ.ดร.พรรณี เสนอด้วยว่า การทำประวัติศาสตร์อาจทำทำเป็นกระบวนการ และบันทึกประวัติศาสตร์เพื่อให้เห็นคุณค่าของตน อาจเป็นการสัมภาษณ์แรงงานมาเขียนเป็นประวัติศาสตร์ แต่อาจมีความคลาดเคลื่อน หรือบิดเบือนได้ เพราะที่มามีจากหลายแหล่ง
ศักดินา กล่าวเสริมด้วยว่า เรื่องราวของแรงงานมันมีมาโดยตลอด แต่ประวัติศาสตร์ละเลย ถูกผูกขาดโดยชนชั้นสูง ทำให้เราขาดความภาคภูมิใจ การเห็นคุณค่าของคนงาน เราควรจะต้องมีข้อสรุปว่าเราควรจะทำกันเอง เป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำเป็นเรื่องเป็นราว มีการจัดระเบียบวิธีการวิจัย ทำให้เราสามารถที่จะทำ เราเห็นว่าเรามีศักยภาพที่จะทำ มีการสร้างกระบวนการบันทีก มีสำนึกร่วมกัน กรอบความคิดแต่ละช่วงที่เปลี่ยนไปก็มีผลต่อการมีอยู่ในประวัติศาสตร์ของคนงาน บางช่วงให้ความสำคัญก็ปรากฎ บางช่วงไม่ให้ความสำคัญก็ไม่ปรากฎ ต้องมีการถกเถียงกันไปเรื่อยๆ มีความขัดแย้งกันก็จะเห็นความเด่นชัด
ข้อสรุปจากเวทีนี้คือเรายังขาดประวัติศาสตร์ จึงทำให้เราขาดความภาคภูมิใจ ดังนั้นเราจึงควรเริ่มบันทึกประวัติศาสตร์ของแรงงานกัน
แรงงานในประวัติศาสตร์วิวัฒนาการอารยธรรมมนุษย์
ศ.ดร. พรรณี กล่าวว่า อยากเห็นการเติบโต และคงอยู่ของมูลนิธิ หรือองค์การอะไรก็ตามที่สนับสนุนผู้ใช้แรงงานให้อยู่ตลอดไป จริงแรงงานอยู่มาก่อนประวัติศาสตร์ไทยเสียอีก ถ้าพูดถึงวิวัฒนาการของมนุษย์เกิดมาจากการใช้แรงงาน ในยุคโบราณมนุษย์ยุคหินหากินด้วยการล่าสัตว์พึ่งพิงธรรมชาติ มนุษย์ยุคแรกยังไม่ใช้แรงงานวิวัฒนาการจึงยังมีไม่มาก ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคหินใหม่มนุษย์เริ่มใช้แรงงาน ปฏิวัติตัวเองจากการล่าสัตว์มาเข้าสู่กระบวนการผลิตเองเป็นใช้แรงงานครั้งแรก นับตั้งแต่นั้นถือเป็นการปฏิวัติครั้งแรกในโลก คือการไม่ใช้แรงงานมาสู่การใช้แรงงานในการผลิต เมื่อมีการผลิตก็จำเป็นจะต้องหาเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีประสิทธิภาพในการผลิต โดยใช้โลหะ โลหะนั้นคือเหล็กในการผลิต หลังจากการใช้เหล็กก่อให้เกิดผลผลิตจำนวนมาก สังคมก็กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น มนุษย์ก็สร้างตัวในการเป็นเมือง เมื่อมนุษย์สร้างตัวด้วยการเป็นเมือง (Civilization) และมนุษย์เริ่มใช้ตัวอักษรก็เข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ เพราะมีการบันทึก แต่จริงๆ ความจำเป็นในการใช้ตัวอักษรมาจากการบันทึกจำนวนของผลผลิตที่ได้มาแต่ละครั้ง และใช้ในการทำกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกันจำเป็นต้องใช้ตัวอักษรในการเป็นสื่อกลาง

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวต่อว่า การเป็นเมืองขนาดเล็กและขยายเป็นเมืองใหญ่มาจากจำนวนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนประวัติศาสตร์ไทยเริ่มขึ้นเมื่อมีเมืองเล็กๆเกิดขึ้นบริเวณสุวรรณภูมิ และเกิดชนชั้นนักรบ ไพร่ เข้าสู่การเป็นสังคมศักดินา แต่ในช่วงที่เป็นอาณาจักร ชนชั้นผู้นำถูกเพิ่มบทบาทขึ้นมาเรื่อยๆ ส่วนชนชั้นผู้ใช้แรงงานก็ลดบทบาทในสังคมลง ชนชั้นนำกลายเป็นผู้ตัดสินชะตาชีวิตในการอยู่ การเป็น การตาย นักรบกลายเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญ ชนชั้นแรงงานถูกลดบทบาทเป็นกลุ่มคนที่มีเพียงหน้าที่ แต่ไม่มีสิทธิ เมื่อการผลิตเพิ่มขึ้น ก็เกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากร แย่งชิงคน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ในยุคนี้แรงงานถูกลดค่าให้เหลือแค่ผู้ที่มีหน้าที่ และพันธกิจต่อมูลนายส่วนผู้ไม่มี พันธกิจหน้าที่สำคัญของไพร่คือเข้าร่วมสงคราม สองคือเป็นผู้ผลิต ต้องเสียส่วยสาอากร ต้องรับใช้มูลนาย ชนชั้นสูงถูกพัฒนาขึ้นไม่ได้เป็นเพียงผู้นำนักรบอีกต่อไป กลายเป็นชนชั้นผู้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นชนชั้นที่มีสิทธิในสังคม

เมื่อเข้าสู่สมัยการเปลี่ยนแปลงจากการผลิตเพื่อยังชีพไปสู่การผลิตเพื่อค้าขาย เมื่อชาวตะวันตกเข้ามาในช่วงสนธิสัญญาเบาริ่ง ตรงกับรัชสมัยร.4 ระบบไร่ก็ถูกล้มเลิก ในปีพ.ศ. 2448 การปลดปล่อยไพร่ทาสครั้งนี้เพื่อไปบุกเบิกที่นาทำมาหากิน ผลิตข่าวเพื่อส่งออก ซึ่งหวังที่จะหารายได้ภาษีจากการส่งออกข้าว แรงงานก็อยู่ระบบที่ หน้าที่ของแรงงานกลายเป็นหน้าที่ที่อยู่ในระบบการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ เป็นระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า ไพร่ก็เปลี่ยนสถานะไปเป็นชาวนา ส่วนกรรมกรแรกๆ เป็นชาวจีนที่เข้ามา เพื่ออำนวยความสะดวกให้การผลิตดำเนินไปได้
ไทยแลนด์ 4.0 ต้องอาศัยสังคมที่เป็นประชาธิปไตย-ระบบธรรมาภิบาล

ศ.ดร. พรรณี กล่าวว่า สังคมอุตสาหกรรมภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ การเข้ามาลงทุนของต่างชาติที่มีความมุ่งหวังคือแรงงานราคาถูก ต้องการหาตลาดระบายสินค้า ต้อการระบายทุน แรงงานจึงเป็นตัวกำหนดแนวทางการพัฒนาในสังคมอุตสาหกรรมแบบใหม่ ตามแบบแผนผนหรือโมเดลที่ประเทศมหาอำนาจ หรือบริษัทข้ามชาติวางแผนไว้ จนกระทั่งปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 สตาร์ทอัพ Creative Economy ก็หวังว่าเราจะรอดจากการขายแรงงานราคาถูกเข้าสู่การขายแรงงานสมอง เรื่องแบบนี้พูดได้แต่ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่าเพราะการที่จะหลุดพ้นไปสู่ Creative Economy หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มันต้องใช้ปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญคือต้องอาศัยสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ต้องอาศัยระบบธรรมาภิบาล ต้องอาศัย Civil society ประชารัฐไม่ได้หมายความว่ารัฐจะมาชี้นำประชาชน ตามหลักของ Civil Society คือประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมมีเสรีภาพ และแรงงานในสังคมต้องตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง หลุดพ้นจากอำนาจทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของพระเจ้า หรืออำนาจของชนชั้นปกครอง เช่นเดียวกับยุโรปที่เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม แบบมีการสร้างสรรค์ หลุดพ้นจากอำนาจ ชื่นชมในเสรีภาพ ตระหนักในคุณค่าของตนเอง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.