สกต. ขอ ส.ป.ก. แก้ปัญหาอย่างเป็นธรรม หลังเตรียมไถพืชผลเกษตรชุมชนก้าวใหม่ เพื่อจัดสรรที่ดินใหม่

Posted: 28 Jun 2017 05:10 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ออกจดหมายเปิดผนึกหลังทราบข่าวว่า ส.ป.ก. เตรียมจัดสรรที่ดินตามแนวทางของ คทช. โดยเตรียมไถดันทำลายพืชผลการเกษตร ของเกษตรกรในพื้นที่ปฎิรูปที่ดินป่าไสท้อน และป่าคลองโซง ขอการแก้ปัญหาต้องไม่กระทบกับชีวิตของเกษตรกร


เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2560 สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ได้ออกจดหมายเปิดผนึก เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการจัดระเบียบการใช้ที่ดินของรัฐ ตามแนวทางของ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ( คทช. ) ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัดสุราษฎร์ธานี

สืบเนืองจากเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560 ธราดล วัชราวิวัฒน์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเจ้าหน้าที่กรมชลประทานได้เข้าไปในพื้นที่แปลง 1,700 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนต่างๆ (อดีตที่ตั้งของบริษัทรวมชัยบุรีปาล์มทอง) เพื่อชี้แจงนโยบายโครงการสำรวจพื้นที่เพื่อจัดหาหรือพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรโดยวิธีการขุดสระน้ำขนาดใหญ่ จำนวนประมาณ 300ไร่ และกำหนดแผนผัง รวมทั้งกำหนดขนาดแปลงที่ดินในโครงการจัดสรรที่ดินใหม่ สำหรับเป็นที่ดินทำการเกษตร ครอบครัวละ 5ไร่ และที่อยู่อาศัย ครอบครัวละ 1 ไร่ (5+1)โดยผู้ได้รับการจัดสรรต้องผ่านคุณสมบัติตามระเบียบของ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)

จากแนวทางการจัดระเบียบที่ดิน ดังกล่าวของ ส.ป.ก.ส่งผลทำให้ต้องบุกเบิกพื้นที่สร้างถนนซอยสายใหม่ทั้งหมด 14 ซอย แต่ละซอย กว้าง 6 เมตร จึงไปทับซ้อนทำลายแปลงเกษตรที่เกษตรกรได้ปลูกสร้างพืชผลต่างๆไว้ และได้รับผลผลิตแล้วทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ทางการเกษตรเพราะการรื้อแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบันทิ้ง และจัดทำแผนผังใหม่

โดยการวางแผนผังถนนซอยใหม่ การตัดซอยใหม่ ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่มีฐานะยากจนอยู่แล้ว จะต้องถูกทำลายพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชยืนต้นที่ปลูกสร้างมานาน และเพิ่งเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียง 3 ปี ซึ่งจะส่งผลกระทบให้สูญเสียรายได้ทั้งหมดที่เคยได้รับจากการขายผลผลิตทางการเกษตร

ล่าสุด คณะกรรมการชุมชนน้ำแดง ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนพันธมิตรของสหพันธเกษตรกรภาคใต้ ที่อยู่ในพื้นที่ 1,700 ไร่ ได้รับแจ้งจากทหารช่างว่า ปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สั่งให้ไถดันทำลายพืชผลทางการเกษตรและไม้ยืนต้น ของชาวบ้านในแปลง 1,700 ไร่ให้หมด ยกเว้นยางพารา และยกเว้นปาล์มใหญ่หลังแคมป์บริษัทฯ ซึ่งเป็นปาล์มที่บริษัทปลูกไว้ 50 ไร่

ทางสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้เห็นว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก ทั้งยังเห็นว่าเป็นวิธีการแก้ไขปัญหา และวางแผนการจัดสรรที่ดินใหม่ที่ไม่ได้คำนึงถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่เคยมีมากับรัฐบาลก่อนหน้า จึงมีข้อเสนอว่า

1.การแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร ให้ยึดหลัก การมีส่วนร่วมของเกษตรกร, ต้องเคารพสภาพความเป็นจริง และเคารพประวัติความเป็นมาของพื้นที่หรือ ความเป็นมาของ ที่ดินแปลงนั้นๆ ด้วย

2.การดำเนินงานของ ส.ป.ก. และ คทช. เพื่อปฏิรูปที่ดิน หรือจัดระเบียบที่ดิน ต้องไม่ทำลายพืชผลทางการเกษตรทุกชนิดของเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะของผู้ที่เป็นสมาชิกของ ชุมชนก้าวใหม่ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) และพันธมิตร คือ กลุ่มร้อยดวงใจ และกลุ่มอิสระ (ถ้าหากสมาชิกกลุ่มอื่นๆ ยินยอม ก็ไม่เป็นเหตุให้มาทำลายผลอาสินของสมาชิก สกต.และพันธมิตร)

3.จากการจัดผังแบ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์ในที่ดิน ขอเสนอให้ใช้แผนผังและแนวถนน/ซอย เดิมที่ได้มีการสำรวจการถือครองในช่วงปี พ.ศ. 2556 เพื่อลดปัญหาผลกระทบกับผลอาสินของเกษตรกรที่ได้ปลูกสร้างอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ เพียงแต่ให้ทำการปรับปรุงถนน/ ซอยเดิม ให้สามารถใช้ได้ทุกฤดูกาล

4. การคัดเลือกเกษตรกรผู้ที่จะได้รับสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดินควรพิจารณาบุคคลที่อยู่อาศัยและถือครองทำประโยชน์ทางการเกษตรในที่ดินนั้นด้วยเหตุผลความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ตาม ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2535 ซึ่งเกษตรกรที่อยู่อาศัยทำประโยชน์ในพื้นที่อยู่แล้วนั้น มีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลการสำรวจการถือครองของ ส.ป.ก. อยู่แล้ว เพราะ ส.ป.ก.ได้เคย ประกาศให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนตามประกาศจังหวัด ลงวันที่ 27 มีนาคม 2560 และขอให้ผู้ครอบครองเดิมเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในที่ดินแปลงเดิมของตนเองที่ได้ทำประโยชน์มาก่อนหน้านี้เป็นลำดับแรก ทั้งนี้หลังจากผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว

5.เนื่องจากพื้นที่แปลงบริษัท รวมชัยบุรีปาล์มทอง จำกัด(อดีต) สามารถจัดสรรได้ 209 แปลง รองรับได้ 209 ครอบครัวเท่านั้น แต่เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แปลงรวมชัยบุรีปาล์มทอง 1,700 ไร่ ได้เสนอบัญชีรายชื่อภายหลังจากคัดเลือกกันเองแล้ว เหลือจำนวน 420 ราย ไปยัง ส.ป.ก. ดังนั้นจะมีครอบครัวเกษตรกร จำนวน 211 ราย ที่ไม่มีพื้นที่รองรับ จึงใคร่ขอเสนอว่า เกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามระเบียบของ ส.ป.ก.แต่ไม่สามารถจัดสรรพื้นที่ในแปลง 1,700 ไร่ รองรับได้ทั่วถึง เพราะมีพื้นที่ไม่เพียงพอ จึงขอให้ ส.ป.ก. นำที่ดินแปลงอื่นที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งอยู่ภายใต้ คำสั่งที่ 36/2559 เช่นพื้นที่แปลง บริษัทปาล์มไทยการเกษตร จำกัด (ประมาณ 2,435ไร่)มาจัดสรรรองรับให้กับเกษตรกรที่ตกค้างจากการจัดสรรในแปลง 1,700 ไร่

6.ขอให้แก้ไขระเบียบการจัดที่ดินให้เกษตรกร ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ( คทช.จังหวัดสุราษฎร์ธานี ) ให้มีความเป็นธรรม อาทิเช่นในประเด็น

6.1 การตัดสิทธิของเกษตรกรในการได้รับการจัดสรรที่ดิน ด้วยเหตุว่ามีที่ดินเพียงประมาณ 1 ไร่ เพื่ออยู่อาศัย ระเบียบข้อนี้ซึ่งมาจากมติ คทช.จะต้องยกเลิก

6.2 การจัดสรรที่ดิน โดยคำนึงถึงคนดั้งเดิมในท้องถิ่นเป็นอันดับแรก (จัดแบบเวียนก้นหอย) ซึ่งแท้ที่จริงต้องคำนึงถึงฐานะ ความยากจน ความจำเป็นที่จะต้องใช้ที่ดินทำการเกษตรเพื่อประทังชีวิต

6.3 การกำหนดฐานรายได้ของผู้ที่จะได้รับการจัดสรรที่ดิน โดยยึดถือตามการกำหนดเส้นความยากจนของคนไทย 2,399 บาท/คน/เดือน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง คือ ต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำมาก ดังนั้นผู้ที่มีรายได้เพียงแค่ 2,399 บาท/คน/เดือน คงไม่อาจมีชีวิตรอดอยู่ได้จนถึงวันได้รับการจัดสรรที่ดินจาก ส.ป.ก.

7. ขอให้เกษตรกรในพื้นที่ ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการปฏิรูปที่ดิน โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาร่วมระหว่างรัฐกับประชาชนเพื่อกำหนดแนวทางและแผนปฏิบัติงานในการปฏิรูปที่ดินให้กับ “สถาบันเกษตรกร” ในพื้นที่แปลง บริษัท รวมชัยบุรีปาล์มทอง จำกัด(ในอดีต) และเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาให้ตรงกับสภาพความเป็นจริง

ความเป็นมาของชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว

เนื่องจากการแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ป่าไสท้อนและป่าคลองโซง เขตพื้นที่หมู่ที่ 5 ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อยาวนานหลายรัฐบาล ปัญหาดังกล่าวก็คงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันโดยในส่วนของ “ชุมชนก้าวใหม่” ที่ได้อยู่อาศัยในพื้นที่นี้ เป็นระยะเวลา 9 ปี มาแล้วนั้น ได้ถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินโดยการปลูกพืชยืนต้นต่างๆ รวมถึงพืชเศรษฐกิจ อาทิเช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และ ไม้ผล เต็มพื้นที่และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตขายสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้แล้ว ทั้งนี้ ตามขนาดการถือครองที่ดินที่ได้มีการเดินนำสำรวจการถือครอง และรังวัดแนวเขตแต่ละแปลงโดยช่างรังวัดจาก ส.ป.ก. ในปี 2556

การเข้าถึงที่ดิน และเริ่มต้นทำมาหากินในพื้นที่ ส.ป.ก. ดังกล่าวข้างต้น สืบเนื่องมาจากเคยได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำกินในเขตที่ดินของรัฐ ตามวิถีชีวิตปกติของเกษตรกร จนกว่าการดำเนินคดีฟ้องขับไล่นายทุนและบริษัทฯ จะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2552 วันที่ 11 มีนาคม 2552 โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธาน

อนึ่ง ชุมชนก้าวใหม่ ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน ให้เป็นพื้นที่นำร่องในการบริหารจัดการที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2553

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.