เป็นครั้งแรกที่ปากีสถาน ประเทศที่มีภาพลักษณ์อนุรักษ์นิยมจัด ออกหนังสือเดินทางให้คนข้ามเพศโดยระบุเป็นเพศอื่นนอกเหนือจากชายหญิงได้ ในปากีสถานก็เป็นหนึ่งในประเทศเอเชียใต้ที่มีคนข้ามเพศที่เรียกว่า "ฮิจรา" อยู่จำนวนมาก พวกเธอมีความเกี่ยวโยงกับพิธีกรรมทางศาสนาแต่ก็ยังคงถูกกีดกันและถูกรังแกอยู่
26 มิ.ย. 2560 ถึงแม้ว่าปากีสถานจะเป็นหนึ่งในประเทศที่อนุรักษ์นิยมจัด มีหลายประเด็นที่พวกเขาล้าหลังไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ยังทำให้การรักเพศเดียวกันยังเป็นอาชญากรรม การปล่อยให้มีการแต่งงานกับเด็ก การพยายามทำให้การทำร้ายคู่รักเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตามเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วพวกเขาก็ทำเรื่องที่ดูก้าวหน้าผิดหูผิดตาอย่างการออกหนังสือเดินทางให้กับคนข้ามเพศ (Transgender) ระบุเป็นเพศอื่นนอกจากชายหรือหญิงได้
ผู้ที่ได้รับหนังสือเดินทางแบบดังกล่าวนี้เป็นคนแรกของปากีสถานคือ ฟาร์ซานา จาณ หญิงข้ามเพศและประธานของ "ทรานส์แอ็กชั่นปากีสถาน" องค์กรส่งเสริมสิทธิของชุมชนคนข้ามเพศในปากีสถาน เพจขององค์กรนี้โพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า ทางการปากีสถานออกหนังสือเดินทางที่ระบุเพศของเธอว่าเป็นเพศ "X" ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นการที่ทางการยอมรับเพศสภาพของคนข้ามเพศ และขอบคุณรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในที่รับฟังพวกเขา
สื่อ Vox ระบุว่านี่เป็นเรื่องน่าแปลกใจเนื่องจากปากีสถานเป็นประเทศที่คนข้ามเพศมักจะถูกใช้ความรุนแรงทำร้ายและตำรวจกับหมอก็มักจะปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลปากีสถานก็ดูจะก้าวหน้ามากขึ้นพอสมควรในเรื่องการยอมรับสิทธิของคนข้ามเพศ ในปี 2555 นักกิจกรรมที่เป็นคนข้ามเพศเอาชนะในการต่อสู้ทางกฎหมายทำให้รัฐบาลยอมระบุทางเลือกเพศแบบที่สามลงในบัตรประจำตัวประชาชนได้ และเมื่อต้นปีนี้ชุมชนคนข้ามเพศก็ได้รับการยอมรับในตัวตนมากขึ้นจากการที่จะมีการระบุตัวตนของพวกเขาในสำมะโนประชากรปี 2560 นอกจากนี้ยังมีแผนการสร้างมัสยิดที่เปิดกว้างกับคนทุกเพศสภาพและเพศวิธีในเมืองหลวงอิสลามาบัด
ในวัฒนธรรมเอเชียใต้จะมีการระบุถึงตัวตนหญิงข้ามเพศแบบหนึ่งคือฮิจรา (Hijra) ที่แยกออกเป็นเพศต่างหากไม่ใช่หญิงหรือชาย ตั้งแต่ยุคคริสตศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาก็มักจะมองว่าฮิจรานำมาซึ่งโชคดี และในศาสนาฮินดูก็เชื่อว่าพวกเธอมีอำนาจเชิงพิธีกรรมทางศาสนาถึงแม้ว่าฮิจราบางคนจะเป็นชาวมุสลิมโดยเฉพาะในปากีสถาน ไม่เพียงแค่ในปากีสถานเท่านั้น ประเทศอินเดีย เนปาล และบังกลาเทศก็ให้การยอมรับเพศสภาพของฮิจราเช่นกัน โดยที่อินเดียเคยเพิ่มทางเลือกของเพศพวกเธอไว้ในหนังสือเดินทางหรือเอกสารทางการอื่นๆ ก่อนหน้าปากีสถานแล้ว
แต่ถึงแม้ว่าฮิจราจะได้รับการยอมรับในระดับทางการ ในระดับสังคมทั่วไปของปากีสถานพวกเธอยังคงถูกข่มเหงรังแกจากตำรวจและถูกล่วงละเมิดทางเพศ แม้ว่าพวกเธอจะมีบทบาทสำคัญในพิธีการแต่งงานและพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ความสำคัญของพวกเธอบวกกับการกดดันจากนักกิจกรรมเพื่อคนข้ามเพศน่าจะมีส่วนทำให้รัฐบาลยอมรับตัวตนของคนข้ามเพศที่เคยเป็นกลุ่มประชากรชายขอบมาก่อน สื่อ NPR เคยระบุว่าในปากีสถานมีประชากรฮิจราอยู่ราว 50,000 คน
นอกจากอินเดีย เนปาล และปากีสถานแล้ว ยังมีเยอรมนีและนิวซีแลนด์ที่ให้การรับรองสถานะคนข้ามเพศหรือคนที่ระบุเป็นเพศอื่นนอกเหนือจากชายหญิงลงในหนังสือเดินทาง และอีกหลายประเทศที่อนุญาตให้เปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศในเอกสารทางกฎหมายได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองทางการแพทย์
Vox ระบุว่าน่าเสียดายที่ประเทศอย่างสหรัฐฯ ยังคงมีหนังสือเดินทางที่ยึดกับเพศแบบสองขั้วอย่างชายหญิง และสำหรับคนข้ามเพศที่ต้องการเปลี่ยนการระบุเพศตนเองจากชายเป็นหญิงหรือหญิงเป็นชายต้องอาศัยใบรับรองทางการแพทย์อ้างอิงเรื่องการแปลงเพศด้วย นั่นหมายความว่าในประเด็นเรื่องเพศหลากหลายแล้วปากีสถานก้าวหน้าออกนำสหรัฐฯ ไปแล้ว
เรียบเรียงจาก
Pakistan just issued its first passport with a transgender category, Vox, 23-06-2017
https://www.vox.com/world/2017/6/23/15861620/pakistan-transgender-passport-human-rights
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Hijra_(South_Asia)
แสดงความคิดเห็น