สิริพรรณระบุ ทั้งรัฐธรรมนูญ ส.ว. แต่งตั้ง เป็นอุปสรรคประชาธิปไตย จะเปลี่ยนผ่านได้ฝ่ายการเมืองควรร่วมมือกันเพื่อให้กองทัพไม่แทรกแซงทางการเมือง เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น นักกฎหมายชี้ สื่อสังคมออนไลน์เป็นพลังใหม่ของการต่อสู้ทางการเมือง ระบบประชาธิปไตยควรสามารถตรวจสอบและถ่วงดุลได้
จากซ้ายไปขวา: ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ชาติชาย ณ เชียงใหม่ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี มานพ ทิพย์โอสถ
สืบเนื่องจากงานเสวนา "ราชดำเนินเสวนา: 85 ปี ประชาธิปไตยจะไปไหนดี" ร่วมเสวนาโดย ศ.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย มานพ ทิพย์โอสถ บรรณาธิการหนังสือเบื้องแรกประชาธิปตัย
ชาติชายกล่าวว่า ประเทศไทยตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ คือ ไม่มั่นใจว่าจะหลุดพ้นออกไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้ ซึ่งโครงสร้างวัฒนธรรมเป็นลักษณะรัฐรวมศูนย์ และปัญหาความเฉื่อยจากภาครัฐที่มีอยู่สูงมาก จากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ไม่สามารถลดทอนปัญหาได้ เพราะไม่สามารถเปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาชน สังคมยังให้ความสำคัญเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถของผู้บริหาร อีกทั้งระบบอุปถันภ์ คือการต้องมีสังกัดว่าต้องเป็นคนของใคร และระบบสืบสถานะอย่างพรรคการเมืองหาคนมีอิทธิพลช่วย
สิริพรรณ กล่าวว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จในเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยมีปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การผนึกกำลังฝ่ายค้าน พลังฝ่ายค้านต้องร่วมมือกันในสังคม ยกตัวอย่างประเทศโปแลนด์ที่มีการร่วมมือจากสหภาพแรงงาน พรรคศาสนา และพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้ง 3 กลุ่มมีอุดมการณ์ ความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่มองอนาคตทางการเมืองว่าต้องการประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น ละเลยความบาดหมางและจุดยืนทางการเมืองในอดีต
สิริพรรณ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติล่าสุด ที่สามารถให้มีนายกคนนอกเข้ามาทำหน้าที่ซึ่งการเมืองหากไม่ผนึกกำลังสมาชิกวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดย คสช. ทำให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยยากขึ้น ทางออกที่นำเสนอจากประเทศที่เปลี่ยนผ่านได้สำเร็จมี 2 กรณี ได้แก่ การลุกฮือด้วยพลังประชาสังคมอย่างประเทศเกาหลีใต้ ปัจจัยบทบาทผู้นำทางการเมืองอย่างประเทศอินโดนีเซียที่ซูฮาร์โตปกครองด้วยระบบเผด็จการทหารมากว่า 20 ปี แต่เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำลงก็ถอยออกมาจากการปกครอง เพราะกองทัพเองก็ไม่สามารถบริหารงานทั้งหมดได้
สิริพรรณยังกล่าวอีกว่า สังคมไทยมีการรวมตัวของชนชั้นกลางส่วนบนและชนชั้นสูงส่งผลให้เกิดระบบการปกครองอำนาจนิยมแบบฟาสซิสม์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ของประเทศอิตาลี เพราะ ชนชั้นกลางมีพลังมากที่สุดในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจากสาเหตุดังกล่าวทำให้ประชาธิปไตยไทยยังไม่ชับเคลื่อนไปถึงไหน และทุกฝ่ายยอมรับรัฐธรรมนูญเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งในไทยรัฐธรรมนูญไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง เพราะมีกฎหมายสูงสุดถึง 3 อย่าง ได้แก่ รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2557 รัฐธรรมนูญฉบับประชามติปี 2560 และมาตรา 44 ซึ่งการเห็นพ้องตั้งแต่กระบวนการที่ได้มา และเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ
สิริพรรณ กล่าวทิ้งท้ายด้วย 2 เงื่อนไข หนึ่ง“กองทัพต้องอยู่ใต้พลเรือน” เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผู้นำกองทัพต้องยอมรับ ยกตัวอย่างประเทศอินโดนีเซียในการปกครองแบบเผด็จการทหาร เมื่อถึงภาวะวิกฤติ ทางผู้นำกองทัพ กล่าวว่า นี่คือจุดสุดท้ายของรัฐบาลทหาร เพราะการทำงานของทหารเป็นทวิภาระ ต้องจัดการภายในกองทัพและการบริหารประเทศไปพร้อมกันจนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจนล่มสลายในที่สุด ช่วงเดียวกับวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง สอง ทุกประเทศที่เปลี่ยนผ่านจัดเลือกตั้ง ภายใน 6-13 เดือนด้วยเหตุผลว่าจะทำให้เกิดประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น เช่น เกาหลีใต้เลือกตั้งหลังจากเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย 6 เดือน เป็นต้น
ปริญญากล่าวว่า ในปี 2557 ที่เกิดการรัฐประหาร ไทยได้รับการจัดลำดับความเป็นประชาธิปไตยอยู่ที่ 63 เกิดจากการเก็บสถิติตั้งแต่ปี 2556 ตามเกณฑ์ถือว่าเป็นกลุ่มปานกลาง ไม่ได้แย่มาก แต่ปัจจุบันอยู่ในกลุ่มเดียวกับเกาหลีเหนือ
ปริญญา กล่าวอีกว่าพลังของสื่อสังคมออนไลน์ก็เป็นพลังใหม่ของการต่อสู้ทางการเมือง และกล่าวถึงระบบอำนาจที่สามารถตรวจสอบและถ่วงดุล โดยให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจตรวจสอบศาล และศาลทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยทั้งนิติบัญญัติและบริหารมีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน จากที่กล่าวมาทั้งหมด แสดงถึงระบบประชาธิปไตยต้องการตรวจสอบและถ่วงดุลตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ
แสดงความคิดเห็น