ช่วงสองสามวันที่ผ่านมา (22-23 มิถุนายน) ตำรวจสันติบาลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “นายสั่งให้มาเยี่ยม” และขอร้องไม่ให้บุตรหลานของท่านเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในช่วงวันที่ 24 มิถุนายน นี้ เพราะเกรงว่าอาจจะเข้าร่วมกิจกรรมครบรอบ 85 ปี อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งกลัวว่าจะเป็นการชุมนุมทางการเมือง แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ากรุงเทพฯจริงๆในช่วงนี้ ก็ขอห้ามไม่ให้ไปที่อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า
ปรากฏการณ์เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าไปเยี่ยมพ่อแม่ผู้ปกครองนิสิตนักศึกษาพร้อมกันในหลายๆพื้นที่ เช่น นครสวรรค์ พัทลุง และอีกในหลายจังหวัดเกือบจะทั่วประเทศในครั้งนี้ ดูผิดแปลกไปมาก แม้ที่ผ่านมามีการเข้าเยี่ยมหรือบุกค้นบ้านของผู้นำนักศึกษาที่เคลื่อนไหวหรือสนใจประเด็นทางการเมือง เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจ หรือเรียกง่ายๆว่า “ปรับทัศนคติผ่านพ่อแม่” จนเกือบจะกลายเป็นเหตุการณ์ปกติที่เห็นได้ทั่วไปไปแล้วหลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557
แต่ปรากฏการณ์ในครั้งนี้กลับต่างไป เพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือห้ามเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมครบรอบ 85 ปี อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 และที่สำคัญคือในจำนวนทั้งหมดของนักศึกษาที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าไปเยี่ยมพ่อแม่ผู้ปกครองดังกล่าวนั้น บางคนเพียงเพราะแค่กดติดตามเพจอีเว้นท์เข้าร่วมกิจกรรมเท่านั้น บางคนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเคลื่อนไหวอะไรเลย (เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างว่าเพราะกดติดตามเพจอีเว้นท์เข้าร่วมกิจกรรม นายเลยให้มาเยี่ยมและปรามไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรม)
เมื่อผมลองทบทวนเพื่อจะอธิบาย “ความกลัว” จากปรากฏการณ์นี้ กลับพบว่ามีความเชื่อมโยงกันถึงการพยายามสร้างเงื่อนไขในทางจิตวิทยาแบบ “การวางเงื่อนไขแบบลงมือกระทำ” (Operant Conditioning) ซึ่งมีความหมายในเบื้องต้นคือ พฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้รับอิทธิพลจากผลที่เกิดตามมา ตัวอย่างคือ สุนัขเรียนรู้ที่จะยกขาหน้า ถ้ามันได้รับผลที่ตามมาอย่างแน่นอน เช่น ได้รับอาหารทุกครั้งที่มันยกขาหน้า ทำนองเดียวกันกับแมวน้ำที่สามารถเรียนรู้ที่จะทำให้ลูกบอลอยู่บนจมูกของมัน ถ้าผลที่ตามมาของพฤติกรรมนี้คือปลาทูคำโตแสนอร่อย
ซึ่งในปรากฏการณ์เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงพยายามเข้าไปเยี่ยมพ่อแม่ผู้ปกครองนิสิตนักศึกษาพร้อมกันในหลายๆ พื้นที่นี้นอกจากจะ “ปรับทัศนคติผ่านพ่อแม่ เรื่องครบรอบ 85 ปี อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 เสียใหม่” แล้ว ยังเป็นการพยายามสร้าง “การวางเงื่อนไขแบบลงมือกระทำ” โดยมีผลที่ตามมาของพฤติกรรมในกรณีนี้คือ “ความปลอดภัย” เรียกง่ายๆว่า ซื้อเอง ชงเอง กินเอง เลยทีเดียว กล่าวคือ สร้างความกลัว ความเชื่อ และความปลอดภัย ทำให้อย่างครบวงจร หากเชื่อฟังในสิ่งที่นายสั่งมา
สกินเนอร์ (B.F.Skinner) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เชื่อว่าเราจะเข้าใจและควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า เรารู้เงื่อนไขของการเสริมแรงเพียงใด และบุคคลจะแสดงพฤติกรรมเช่นใดขึ้นอยู่กับว่าเขาได้รับผลเช่นไรในอดีต ดังนั้น ถ้าเรารู้เงื่อนไขของการเสริมแรงของบุคคลเหล่านั้นได้ก็จะสามารถจูงใจได้
โดยพฤติกรรมแบบลงมือกระทำ (Operant Behavior) เป็นพฤติกรรมโดยส่วนใหญ่ของมนุษย์ และกระทำต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่างโดยตั้งใจและมีเจตนาจะกระทำนั้นเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “การวางเงื่อนไขเพื่อเป็นเครื่องมือ” (Instrumental Conditional)
หากผู้มีอำนาจในปัจจุบันอยากจะสร้าง “อนาคต” แบบที่ตนอยากให้เป็น และหากบุคคลจะแสดงพฤติกรรมเช่นใดขึ้นอยู่กับว่าเขาได้รับผลเช่นไรในอดีต เป็นจริงอย่างที่สกินเนอร์กล่าวอ้าง ก็จำเป็นที่จะต้องพยายามวางเงื่อนไขบางอย่างเพื่อเป็นเครื่องมือในการ “ดัดพฤติกรรม” กลุ่มคนที่เชื่องได้ยากที่สุดในปัจจุบันดีๆ ซึ่งหวังว่าคงจะทำให้เกิดอนาคตในแบบที่ตนต้องการได้ โดยการกระทำที่คิดว่าง่ายที่สุด คือ “การดัดพฤติกรรมผ่านพ่อแม่” ดังเช่นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้
ผมนั่งคิดทบทวนตัวเองอยู่พักใหญ่ๆ น้ำตาแทบจะไหลออกมาด้วยความอึดอัด วัยของพวกเราตอนนี้ (ผมตอนนี้แค่ 21 ปี) ควรได้เรียนรู้ ปลดปล่อยความคิดออกมา และน่าจะได้สร้างสรรค์อะไรออกมามากกว่านี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง …ไม่เลย…ไม่ได้เป็นอย่างภาพฝัน
“อยู่ๆไปเถอะ” คือคำตอบที่ได้จากเหล่าผู้ใหญ่ ที่อ้างว่าเคยเป็นเยาวชนอย่างเราๆมาก่อน เข้าใจพวกเราดี แต่ไม่เลย… ไม่อนุญาตให้เราคิด ไม่อนุญาตให้เราฝัน ประมวลความสำเร็จ ความผิดหวัง ความล้มเหลว และความแพ้-ชนะของตัวเอง แล้วมายัดเยียดความเป็นไปให้กับเรา มีบทบัญญัติว่าเราควรเป็นอย่างไรออกมาชัดเจน ตลกดี ตอนมัธยมผมอ่านนิยายเรื่อง แอนิมอล ฟาร์ม ก็เกิดคำถามว่า มันจะเกิดเรื่องอย่างในนิยายได้อย่างไรกัน? ตอนนี้ได้คำตอบแล้วว่า ก็คงเป็นแบบที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้นี่แหละ?
ย้อนนึกไปถึงเมื่อครั้งหนึ่งผมเคยถูกรังแกจาก “อำนาจเถื่อน” ของการเมืองท้องถิ่น จนตัดสินใจย้ายโรงเรียน เลยพอจะเข้าใจสภาวะการอึดอัด หวาดระแวง สับสน และเต็มไปด้วยคำถาม ที่ถามหรือพูดกับใครไม่ได้ เพราะตัวผมเองก็ไม่รู้ว่าพวกเขาเหล่านั้น “กลัวคำถาม” หรือ “กลัวคำตอบ” กันแน่ แต่ก็ต้องขอบคุณเขานะเพราะได้สร้าง “จุดตัดสินใจ” ให้ผมได้เป็นอย่างดี โชคดีหน่อยที่ผมบังเอิญได้หยิบมันมาเป็นพลัง แต่ก็ไม่คิดไม่ฝันว่าวันหนึ่ง “อำนาจเถื่อน” จะสามารถครองเมืองได้กว้างขวาง เฉกเช่นตอนนี้
ที่ผ่านมานักศึกษาอย่างพวกเราได้แต่ชวนเพื่อนๆพูดคุยโต้เถียงเรื่องแบบนี้กันมาโดยตลอด ทั้งวงเปิดและวงปิด ไม่ใช่เพื่อโน้มน้าวใจให้เชื่อตามผมอย่างสิ้นเชิง แต่เพื่อทบทวน และตอกย้ำ ถึงความเป็นมนุษย์ที่ทำกับเพื่อนมนุษย์ได้ลงคอ เราไม่เชื่อเรื่องความเป็นกลางที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่นนั่นหรอก เราเชื่อ “ความยุติธรรม” ต่างหาก ไม่ต้องมาปรับ “ทัศนคติ” ให้เสียเวลาหรอก
“อะไรก็เกิดขึ้นได้” กับสังคมที่คาดการณ์ความปลอดภัยอะไรไม่ได้เลยในการใช้ชีวิตแต่ละวัน เฉกเช่นปัจจุบันนี้ เหลือเพียงแต่ว่า เราเลือกจะ “สู้” หรือเราเลือกจะ “เชื่อง” กับอนาคตของพวกเราเอง…ที่เขาวางให้
ผมอยากเขียนจดหมายสักฉบับถึงตัวผมเองในอนาคตว่า…
“มึงไม่ต้องคิดไปถึงขั้นที่ว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อลูกหลานของเรา แต่เราต้องสร้างลูกหลานของเราเพื่อเปลี่ยนแปลงยุคของเขาเอง ให้เขามีที่ยืน และสร้างทางเลือกของเขาเอง มึงเป็นแค่กรณีศึกษาของเขาเท่านั้นเอง ไม่ต้องคิดว่าจะร่างกฎหมายหรือสร้างโลกเพื่อเขา โลกในจิตนาการของเขาสวยงามกว่าของมึงตอนแก่เยอะ”
ฝากถึงผมในอนาคต เพื่อเตือนสติไม่ให้หลงระเริงในอำนาจ หากวันหนึ่งอำนาจมันต้องอยู่ในมือผม จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ภาวนาอย่าให้อำนาจอยู่ในมือผมเลย หากอยู่แล้วผมจะต้องเป็นเหมือนผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราปัจจุบัน (2017)
23 มิถุนายน 2560
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เกี่ยวกับผู้เขียน: นลธวัช มะชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / สมาชิกกลุ่มลานยิ้ม (LANYIM creative group)
แสดงความคิดเห็น