Posted: 29 Jun 2017 06:25 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

อธิบดีกรมธนารักษ์ แจงแผนโครงการก่อสร้าง 'หอชมเมืองกรุงเทพฯ' ระบุเอกชนเป็นผู้ลงทุน 4.62 พันล้านบาท ชี้ไม่ใช่โครงการเชิงพาณิชย์ ดำเนินงาน 'ประชารัฐ' ร่วมมือของหลายภาคส่วนและขั้นตอนของกฎหมายร่วมลงทุน จึงไม่ต้องเปิดประมูล รมว.การคลัง ระบุเป็นที่ดินตาบอด ซึ่งใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้มาก

29 มิ.ย. 2560 จากกรณี เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติให้ยกเว้นโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุ เลขที่ทะเบียน กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้ โดยไม่ใช้วิธีประมูลตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

ล่าสุดวันนี้ (29 มิ.ย.60) อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินตาบอด ซึ่งใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้มาก แต่ทางมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความน่าสนใจ

“เราพิจารณาแล้วว่าโครงการนี้เป็นเรื่องที่ดิน เพราะโครงการก็เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และหากมีการเปิดประมูลเพื่อหาเอกชนมาพัฒนาพื้นที่ ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครสนใจหรือไม่ เนื่องจากมูลค่าโครงการที่ค่อนข้างสูง รวมทั้งไม่รู้ว่าทำแล้วจะคุ้มทุนหรือไม่ และก็ไม่ได้มีการใช้เงินงบประมาณดำเนินการเลย โดยแผนการการก่อสร้างก็จะทำเป็นหอสูง ชั้นบนสุดจะเป็นโถงเพื่อจัดแสดงเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับศาสตร์ของพระราชา และพื้นที่ให้ความรู้ โดยจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมแนวคิดของพระราชา โดยทราบว่าจะมีการเก็บค่าเข้าชมด้วย” อภิศักดิ์ กล่าว

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า กระบวนการหลังจากนี้กรมธนารักษ์ จะต้องเร่งทำสัญญาเช่าที่ดินกับมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อให้กระบวนการในการพัฒนาพื้นที่เดินหน้าต่อไปได้ สำหรับสาเหตุที่โครงการนี้ต้องเสนอเข้า PPP เพราะเป็นเอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ของรัฐ และมีวงเงินลงทุน 1-5 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขของ PPP



ข่าวกรมธนารักษ์ รายงานว่า พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ขอชี้แจงกรณีข้อวิจารณ์โครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ตามที่สื่อมวลชนและสื่อโซเชียลมีเดียตั้งข้อสังเกตและวิจารณ์ กรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้โครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูล ในประเด็นดังนี้

ประเด็นที่ 1 ที่มาและความจำเป็นของโครงการดังกล่าวมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด เหตุใดจึงต้องอนุมัติงบประมาณจำนวนมาก

คำชี้แจง

ปี 2558 กรมธนารักษ์มีนโยบายจัดทำโครงการเทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเพื่อน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชาเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับประชาชนคนไทย บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.3275 แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 4 - 2 - 34 ไร่

ภาคเอกชน (บริษัทเอกชนและสถาบันการเงิน 50 องค์กร) มีความประสงค์ที่จะทำโครงการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกรมธนารักษ์ โดยรวมตัวกันจัดตั้งเป็นมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานครมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสร้างหอชมเมือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการรวมใจของคนไทยทั้งประเทศ (The Unity Tower) มูลค่าโครงการ 4.62 พันล้านบาท

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้โครงการนี้เป็นโครงการการตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้ปรัชญาแห่ง "ศาสตร์พระราชา" ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญเพื่อมุ่งเน้นที่จะน้อมนำไปสู่การปฏิบัติ การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมในทุกระดับด้วยการสร้างกลไกขับเคลื่อนในรูปแบบ "ประชารัฐ"

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 และวันที่ 29 มีนาคม 2560 คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเห็นชอบรูปแบบโครงการ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรียกเว้นให้โครงการสามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชน โดยไม่ต้องประมูล ตามประกาศคณะกรรมการฯ ข้อ 24

เมื่อ 27 มิถุนายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเว้นให้โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร บนที่ดินราชพัสดุสามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูล โดยเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้าง มูลค่า 4.62 พันล้านบาท ทั้งนี้ รายได้จากการดำเนินงานหลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปสนับสนุนกิจการสาธารณกุศล และโครงการของหน่วยงานต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ การศึกษา คุณภาพชีวิตของประชาชน

ประเด็นที่ 2 ข้อมูลการก่อสร้างไม่ระบุชัดเจนว่าเป็นของรัฐหรือหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ รวมทั้งข้อมูลการนำเสนอข่าวของสื่อมีความคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะกรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบงบประมาณ 7.6 พันล้านบาท จากเดิมที่เสนองบประมาณเพียง 4.6 พันล้านบาท

คำชี้แจง

เอกชนเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้าง มูลค่า 4.62 พันล้านบาท

ประเด็นที่ 3 การไม่ใช้วิธีประมูลงานเป็นการแสดงถึงความไม่โปร่งใสในการก่อสร้างหรือไม่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการทุจริตหรือเอื้อประโยชน์ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

คำชี้แจง

เนื่องจากโครงการมีลักษณะเชิงสังคมไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ประกอบกับ เป็นการดำเนินงานประชารัฐ ตามแนวนโยบายประชารัฐที่เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนและขั้นตอนของกฎหมายร่วมลงทุน จึงนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโดยไม่ต้องใช้วิธีการประมูล อันจะสามารถสนับสนุนการเผยแพร่ถึงการน้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" มาใช้ในการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้ง จะเป็นสถานที่ ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีความโดดเด่นของเอกลักษณ์ไทย และเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งยุคที่จะเป็น New Global Destination ที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและส่งผลเกื้อหนุนต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจภายในประเทศและรายได้จากการดำเนินงานหลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปสนับสนุนกิจการสาธารณกุศล ซึ่งโครงการได้มีเงื่อนไข ให้มูลนิธิฯ จะวางข้อกำหนดให้ชัดเจนว่าจะนำเงินดังกล่าวสนับสนุนโครงการและหน่วยงานต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ การศึกษา คุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามนโยบายของรัฐบาล "ไทยแลนด์ 4.0" โดยใช้เทคโนโลยีและความรู้ขั้นสูงทั้งทางด้านการออกแบบ วิศวกรรมและการบริหารจัดการที่ล้ำสมัย ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการก่อสร้างอาคารสูงด้วยหลักการ Zero Discharge และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้นักเรียนนิสิต นักศึกษาเข้าร่วมเรียนรู้ในขั้นตอนการก่อสร้าง เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.