Posted: 27 Jun 2017 10:22 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ศาลให้ฝากขังทนายประเวศ คดี ม.112 ต่อเป็นครั้งที่ 6 จนถึง 9 ก.ค.นี้ แม้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง อ้างเหตุกระทบสิทธิเสรีภาพและโอกาสต่อสู้คดีของผู้ต้องหา อีกทั้งยังไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานไม่ได้

27 มิ.ย. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอาญาพิจารณาคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.) ยื่นคำร้องฝากขัง ประเวศ ประภานุกูล อาชีพทนายความ ครั้งที่ 6 ต่อศาลในคดีที่ทนายประเวศถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 10 กรรม, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จำนวน 3 กรรม, และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว

ทั้งนี้วานนี้ (26มิ.ย.2560) ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ได้รับมอบอำนาจให้ยื่นคำร้องคัดค้านฝากขังแทนทนายประเวศ โดยระบุเหตุผลว่าพนักงานสอบสวนได้ถามคำให้การทนายประเวศไปจนเสร็จสิ้นแล้ว หากไม่ถูกขังระหว่างสอบสวนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ ส่วนของกลางในคดีซึ่งเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พนักงานสอบสวนได้ยึดไว้ในครอบครองหมดแล้วจึงไม่มีทางที่ทนายประเวศจะเข้าไปยุ่งเหยิงได้อีก นอกจากนั้นการตรวจสอบข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์และการตรวจสอบประวัติอาชญากรก็เป็นขั้นตอนติดต่อรับส่งเอกสารระหว่างพนักงานสอบสวนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท้าน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทนายประเวศอีกด้วย

อีกทั้งพยานบุคคลอีก 1 ปาก ที่พนักงานสอบสวนระบุว่ายังต้องทำการสอบสวน ทนายประเวศก็ไม่มีทางไปยุ่งเหยิงกับพยานได้แน่นอน

ตามเหตุผลข้างต้นจึงเห็นว่าหากทนายประเวศต้องถูกขังระหว่างสอบสวนย่อมเป็นการคุมขังเกินจำเป็น นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้วยังสร้างภาระเกินจำเป็น กระทบต่อการทำงานทนายความและสิทธิเสรีภาพและโอกาสในการสู้คดีของทนายประเวศเป็นอย่างมาก

ทนายประเวศ จึงเห็นว่าพนักงานสอบสวนไม่มีเหตุสุดวิสัยหรือความจำเป็นใด ที่จะขอให้ศาลออกหมายขังได้ หากขังไว้จะเกินความจำเป็นตามพฤติการณ์คดีและเพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปตามหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา ตามมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 จึงขอให้มีการไต่สวนพนักงานสอบสวนเพื่อให้มีการชี้แจงเหตุจำเป็น โดยแสดงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องประกอบการไต่สวนด้วยตาม ป.วิ อาญามาตรา 87

ต่อมาศาลมีคำสั่งว่า พนักงานสอบสวนได้มีการสรุปสำนวนคดีเสร็จสิ้นแล้ว แต่จำเป็นที่จะต้องยื่นเรื่อง เพื่อทำความเห็นทางคดีเสนอผู้บังคับบัญชา สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อมีคำสั่งต่อไปและยังคงมีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาคดีความมั่นคงของ สตช. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการอยู่ จึงมีความจำเป็นต้องฝากขังต่ออีก 12 วันตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.- 9ก.ค.2560 ตาม

คดีนี้ทนายประเวศถูกขังระหว่างการสอบสวนตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.2560 จนถึงปัจจุบันรวมแล้วเป็นเวลา 55 วัน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.