Posted: 27 Jun 2017 11:09 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


เมื่อสองอาทิตย์ที่แล้ว ข้าพเจ้าได้รับจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยส่งจ่าหัวมาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ถึงข้าพเจ้า โดยแจ้งว่าข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในผู้มีเกียรติประจำปีนี้ที่จะได้เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองวันประกาศอิสรภาพครบรอบ 241 ปีของประเทศนั้น ซึ่งงานเฉลิมฉลองจะจัดขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน ณ โรงแรม อินเตอร์คอนติเนล กรุงเทพมหานคร

สำหรับข้าพเจ้า นักศึกษาธรรมดาคนหนึ่งย่อมเป็นเกียรติอย่างสูง

อย่างไรก็ดี การถูกเชิญไปก็ทำให้ข้าพเจ้ามีคำถามว่า เหตุที่ข้าพเจ้าได้รับเชิญนั้นเพราะอะไร ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ต่างอะไรกับนิสิตนักศึกษาคนอื่นๆหรอก หากแต่ข้าพเจ้าพยายามคิดให้เป็นตัวของตัวเอง และเมื่อเกิดความคิดเช่นนั้นก็ทำให้รณรงค์ขับเคลื่อนให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นในระบบการศึกษาของไทยที่เน่าเฟะ สังคมมหาวิทยาลัย และสังคมระดับประเทศชาติ อันเป็นสิ่งที่พลเมืองพึงจะทำอยู่แล้ว ดังนั้นการได้รับเชิญในครั้งนี้ก็คงจะเป็นเพราะทางสหรัฐอเมริกาเห็นความสำคัญของประชาธิปไตยไทยว่าสำคัญ เห็นว่าเยาวชนและประชาชนที่หวงแหนและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่สำคัญ สมดังที่บรรดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้สร้างประเทศขึ้นบนการถ่วงดุลและแบ่งแยกอำนาจ และสิทธิเสรีภาพในการคิดและแสดงออก ซึ่งจะมีก็เฉพาะในสังคมประชาธิปไตยเท่านั้นที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ ในฐานะที่ได้รณรงค์เคลื่อนไหวมาย่อมปีติยินดีที่ได้รับเชิญ สหรัฐอเมริกามีนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองและเสรีภาพจำนวนมากมาย เช่น ตั้งแต่โทมัส เจฟฟอร์สัน โทมัส เพน (ผู้เขียน Rights of Man)จนถึง ยูจีน เดบบ์ (Eugene V. Debs) เอเลนอร์ รูสเวล เฮเลน เคเลอร์ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ และโรซ่า พารค์ ฯลฯ ดังนั้นการที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานอิสรภาพโดยประเทศที่ก่อเกิดนักคิด นักต่อสู้และผู้นำที่สรรเสริญสิทธิเสรีภาพย่อมทำให้นักศึกษาผู้ศรัทธาในประชาธิปไตยคนนี้ย่อมปีติอย่างหาที่สุดมิได้

ทว่า เมื่อคิดหลายๆครั้งแล้ว ข้าพเจ้ากลับรู้สึกถึงความขัดแย้งกันเกิดขึ้นของบทบาทสหรัฐอเมริกา 1) สหรัฐอเมริกาเชิญข้าพเจ้าไปในฐานะที่เป็นนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย เหมือนที่บรรดาผู้ก่อตั้งประเทศของเขาเห็นความสำคัญแล้ว แล้วเหตุใด 2) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัล ทรัมป์ ถึงเชิญพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช ไปเยี่ยมทำเนียบขาวเล่า มันขัดแย้งกันไหม ถ้าสหรัฐอเมริกาห่วงใยสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยแท้จริงแล้ว จะยินดีจับมือกับผู้นำเผด็จการที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน จับกุมขังคนคิดแตกต่าง ทำลายสิ่งแวดล้อมทรัพยากรในชาติ ทำลายกระบวนการตรวจสอบไม่มีหลักธรรมาภิบาล ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นในสาธารณะของคนที่คิดต่างและในพื้นทีทางวิชาการได้อย่างไร โดยที่การมาของคณะรัฐประหารกว่าสามปีแล้วก็พิสูจน์ว่าได้กัดกร่อนทำลายประชาธิปไตยทั้งในเชิงรูปแบบและเนื้อหาสาระ ทำไมสหรัฐอเมริกาถึงไม่มีท่าทีต่อเรื่องนี้ในสมัยประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ไม่ตักเตือนในสิ่งที่คณะรัฐประหารย่ำยีคนในชาติ ซึ่งสำหรับชาวสหรัฐอเมริกาเองก็คงรู้ว่า สิทธิเสรีภาพมีความหมายกับพวกเขามากแค่ไหน เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาพลเมืองและประเทชาติ (ดังที่มีวลีว่า " (เสรีภาพหรือความตาย) "และในคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา) ประชาชนคนไทยก็ไม่ต่างกับคนอเมริกัน ควรได้สิทธิและเสรีภาพนี้

เมื่อข้าพเจ้าได้รับเลือกให้เป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ข้าพเจ้าได้แถลงวิสัยทัศน์ไว้ในตอนหนึ่งว่า ข้าพเจ้าจะเป็นประธานสภานิสิต เป็นผู้นำองค์การนักศึกษาที่แตกต่างกับที่แล้วมา ข้าพเจ้าจะกู้ศรัทธาว่า คนที่เล่นการเมืองนั้นสามารถสร้างความหวังได้จริงๆ ข้าพเจ้าจะเป็นผู้นิยมในระบอบประชาธิปไตยและสังคมเสรีอย่างไม่ปิดบัง ข้าพเจ้าจะมีความกล้าหาญทางจริยธรรมในยุคสมัยที่การทำตามๆกันเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด สำหรับข้าพเจ้า การแสดงออกในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่พึงกระทำ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น

ข้าพเจ้าจะมีความสุขใจได้อย่างไรเมื่อข้าพเจ้าเฉลิมฉลองในขณะที่เพื่อนนักเรียนนักศึกษา และเพื่อนๆคนไทยด้วยกันยังไม่ได้รับความเป็นธรรม และไม่สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้จริงๆ กรณีการเรียกร้องให้เปิดเผยกรณีรถไฟไทย-จีน น่าจะเป็นตัวอย่างได้ดีถึงความไม่โปร่งใสและความเผด็จการของคณะรัฐประหาร ซึ่งจะทำลายอนาคตทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ของคนไทยในรุ่นปัจจุบันและอนาคต

ท้ายที่สุด ข้าพเจ้าขอขอบคุณท่านเอกอัครราชทูตกลิน ที เดวีส์ ที่เชิญข้าพเจ้าไปงาน มีจดหมายตอบกลับข้าพเจ้ากรณีเรื่องสนธิสัญญาปารีสโดยจะส่งความเห็นของสภานิสิตไปยังทำเนียบขาว และมีอัธยาศัยไมตรีต่อประเทศไทย หลายครั้งท่านได้แสดงจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตยสิทธิเสรีภาพอย่างแจ้งชัด เจ้าหน้าที่ของสถานทูตอเมริกาท่านอื่นๆด้วย ข้าพเจ้าหวังว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เขียนนี้จะส่งไปถึงท่านประธานาธิบดีประกอบการพิจารณาในการเชิญพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปที่ทำเนียบขาว ข้าพเจ้าไม่มีเจตนาร้ายใดๆต่อสหรัฐอเมริกา ในระบอบประชาธิปไตย เสียงทุกเสียงสำคัญ ข้าพเจ้าคาดหวังว่านี่จะเป็นเสียงหนึ่งที่ท่านจะรับฟังเหตุผลทั้งหมดนี้ที่นิสิตคนหนึ่งจำต้องปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในงานฉลองวันประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาด้วยความหวังดี ข้าพเจ้าหวังว่าสหรัฐอเมริกาจะคิดถึงสิทธิเสรีภาพของคนไทยที่ถูกลิดรอน และฟื้นฟูแสดงจุดยืนอย่างแจ้งชัดในการส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศไทย เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน อย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ ในการนำสังคมทั้งสองไปสู่สังคมที่ทุกคนมีสิทธิ อิสรภาพและความสุขแห่งชีวิตของแต่ละบุคคล



เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.