Posted: 23 Jun 2017 08:47 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

'กนกรัตน์' เปรียบเทียบ 85 ปีหลังปฏิวัติฝรั่งเศสกับ 85 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประชาธิปไตยไม่ใช่การก้าวไปข้างหน้าแบบเส้นตรง สังคมไทยยังไม่เชื่อว่าทุกฝ่ายจะอยู่ร่วมกันได้ ยังต้องหาระบบที่จะจัดการความขัดแย้งเช่นที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นหลัง 1986 การกำจัดอีกฝ่ายมีต้นทุนที่แพงเกินไปและสังคมไทยต้องเรียนรู้สิ่งนี้


กนกรัตน์ เลิศชูสกุล (คนกลาง)

วันนี้เป็นวันครบรอบ 85 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ประชาธิปไตย รายงานการสัมมนาชิ้นนี้คือส่วนหนึ่งของการรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ในหัวข้อ ‘การเมืองกับประวัติศาสตร์-ประวัติศาสตร์กับการเมือง ตอน การเมืองในชีวิตประจำวัน (Politics of Everyday Life’ จัดโดยภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล จากรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในวิทยากรที่บรรยายในครั้งนี้ โดยเธอทำการเปรียบเทียบ 85 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กับการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 หรือ พ.ศ.2332

“ดิฉันอยากจะชวนทำความเข้าใจ 2475 ผ่านการใช้ Comparative Historical Analysis เวลาที่เราอยากจะเห็นภาพ 85 ปีของพัฒนาการการเมืองไทยบนประชาธิปไตยไทยหลัง 2475 เรามีวิธีอย่างไรบ้างในการทำความเข้าใจ นอกจากการกลับไปดูประวัติศาสตร์ของเราเอง

“อยากลองไล่ดูว่า ถ้านับจำนวนปีที่เป็นประชาธิปไตยกับปีที่เป็นระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจนิยมแบบอ่อนหรือเป็นเผด็จการทหาร ลองบวกลบเล่นๆ ว่าเราก้าวหน้า ถอยหลัง ขนาดไหน 85 ปี เราได้ลบ 8 คือเอาประชาธิปไตยเป็นปีบวก แล้วเอาปีเผด็จการเป็นปีลบ จริงๆ ไม่เลวนะ เพราะดิฉันจะพาไปดูต่อว่า แล้ว 85 ปีหลังปฏิวัติ 1789 ของฝรั่งเศส ถ้าเทียบแล้ว เราจะเข้าใจการเมืองไทยผ่านการทำความเข้าใจ 85 ปีหลัง 1789 ในฝรั่งเศสได้อย่างไรบ้าง

“อาจมีรายละเอียดหลายอย่างที่เปรียบเทียบกันไม่ได้ ทั้งในเชิงเงื่อนไขทางการเมือง แล้วก็การเติบโตของพลังทางการเมืองต่างๆ ก่อน 1789 และ 2475 เราดูของไทยก่อน หลัง 2475 ไทยเป็นประชาธิปไตยประมาณ 6 ปี หลังจากนั้นก็เป็นจอมพล ป. หลังจากนั้นก็เป็นสฤษดิ์ ถนอม ประภาส อยู่ 15 ปี แล้วก็เป็นประชาธิปไตยตอนช่วง 14 ตุลาถึง 6 ตุลา 3 ปี แล้วหลังจากนั้นก็เป็นเปรม ประชาธิปไตยครึ่งใบ 12 ปี แล้วจากนั้นเป็นชาติชาย 3 ปี จากนั้นเป็นรัฐประหาร 1 ปี แล้วก็เป็นประชาธิปไตยรัฐบาลผสม 7 ปี เป็นพรรคไทยรักไทย 9 ปี จากนั้นรัฐประหาร 2549 เป็นเผด็จการไป 2 ปี ประชาธิปไตยตอนช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง 6 ปี และรัฐประหารอีก 3 ปี

“หลายคนอาจจะรู้สึกอึดอัด โดยเฉพาะฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตยอาจจะพร่ำบ่นว่า ทำไมการเมืองไทยวกเวียนไปมาอยู่กับการก้าวหน้าไปเป็นประชาธิปไตยบ้าง แล้วก็มีการรัฐประหารอยู่ตลอดเวลาในช่วง 85 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่พลังอนุรักษ์นิยมและคนจำนวนมากในกรุงเทพฯ ที่คิดว่าสนับสนุนสถาบันและขบวนการทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเติบโตมากขึ้น ขณะเดียวกันก็พยายามอธิบายว่า ประชาธิปไตยอาจจะไม่เหมาะกับประเทศเราจริงๆ มันอาจจะไม่ระบอบที่เหมาะสมกับการจัดการความขัดแย้ง

“ในการอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ดิฉันจะลองใช้ Comparative Historical Analysis อยากลองเปรียบเทียบดูว่า 85 ปีหลังปฏิวัติ 1789 กับ 85 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เรากับเขาเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และจะช่วยให้เราเข้าใจการเมืองไทยที่เผชิญกันอยู่ในปัจจุบันได้อย่างไร

“เหตุผลที่เลือกฝรั่งเศสเนื่องจากเป็นประเทศที่มีพัฒนาการประชาธิปไตย การเปลี่ยนผ่านการเมืองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชไปสู่อย่างอื่น มีความน่าสนใจคือไม่ได้มีพัฒนาการเป็นแบบเส้นตรง คือไม่ใช่หลังจากสมบูรณาญาสิทธิราชแล้วเป็นประชาธิปไตย เมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศที่นักประชาธิปไตยอาจจะมีมายาคติว่า หลังการเปลี่ยนแปลงแล้ว ทุกคนตระหนักถึงประชาธิปไตย แล้วเราก็มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เคสฝรั่งเศสน่าสนใจเพราะมีความเปลี่ยนแปลงแบบสวิงมากๆ คือเปลี่ยนจากขั้วหนึ่งไปยังอีกขั้วหนึ่ง ซึ่งอาจจะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่า ปัญหาที่เราเผชิญอยู่คืออะไร

“หลัง 1789 ฝรั่งเศสเต็มไปด้วยความวุ่นวาย หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยกลุ่มคนหลายกลุ่มที่ไม่พอใจระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เต็มไปด้วยความวุ่นวายของกลุ่มปฏิวัติในการจัดการหรือขจัดพลังอนุรักษ์นิยมปีกต่างๆ โดยเฉพาะปีกสุดขั้วของฝ่ายสนับสนุนการปฏิวัติ สนับสนุนการใช้ความรุนแรงกำจัดฝ่ายที่ตนระแวงว่าจะเป็นปีกอนุรักษ์นิยม รวมทั้งปีกที่สนับสนุนการปฏิวัติ แต่อาจจะไม่เห็นด้วยกับวิธีการสุดขั้ว จนนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า The Reign of Terror ทำให้เกิดการฆ่คนไปกว่า 25,000 คนในฝรั่งเศส

ดังนั้น จะเห็นว่าหลัง 1789 ทันที ฝรั่งเศสไม่ได้นำไปสู่ประชาธิปไตย แต่สุดท้ายหลังจากที่ The Reign of Terror จบลง ฝรั่งเศสก็ต้องพบกับปัญหารัฐบาลที่ค่อนข้างอ่อนแอ เกิดปัญหาความวุ่นวายมากมาย ซึ่งท้ายที่สุดนำไปสู่การยึดอำนาจโดยรัฐบาลทหารของนโปเลียน โบนาปาร์ต หรือนโปเลียนที่ 1 จะเห็นว่าหลัง 1789 หรือ 10 ปีหลังปฏิวัติ ฝรั่งเศสหันไปหาเผด็จการทหารเพื่อจัดการกับความวุ่นวายทางการเมือง

“แล้วหลังจากนโปเลียน โบนาปาร์ตพ่ายแพ้สงครามกับรัสเซียหลังครองอำนาจอยู่ 15 ปี ฝรั่งเศสก็ไม่ได้หันไปหาประชาธิปไตย แต่กลับไปฟื้นฟูระบอบกษัตริย์โดยนำราชวงศ์บอร์บอนกลับมา ครั้งนี้มีลักษณะเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่แบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน แต่เป็นลักษณะแบบที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรปเป็นกันคือหลังจากที่นโปเลียนแพ้สงคราม มีการเซ็นต์สนธิสัญญาเวียนนา กษัตริย์ในประเทศอื่นๆ ก็กลัวการกลับมาของระบอบทหารจึงรื้อฟื้นกษัตริย์ขึ้นมาในฝรั่งเศส ในฝรั่งเศสเอง พวกชนชั้นนำก็เบื่อหน่ายกับความวุ่นวายและสงคราม ชนชั้นสูงก็ไม่ชอบการปฏิวัติ คนธรรมดาเองก็ไม่อยากได้การปฏิวัติแบบ 1789 อีกที่ Radical มาก มีการใช้ความรุนแรง เต็มไปด้วยความวุ่นวาย จะเห็นว่าในช่วงเวลาหลาย 10 ปี หลังปฏิวัติ 1789 ฝรั่งเศสเองก็ไม่ได้ไปในแนวทางประชาธิปไตย

“16 ปี ภายใต้ราชวงศ์บอร์บอนก็มีกระแสความไม่พอใจอย่างต่อเนื่องต่อระบอบกษัตริย์ที่ถูกรื้อฟื้นกลับมา เพราะกษัตริย์ต่างก็พยายามรวบอำนาจและลดทอนอำนาจของรัฐสภา จนนำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งที่ 2 คุณจะเห็นว่าไม่ได้จบที่ 1789 แต่มีการปฏิวัติโดยขบวนการแรงงาน กลุ่มคนที่ไม่พอใจสถาบันกษัตริย์อีกครั้งในปี 1830 รวมทั้งหลังจาก 1830 อีก 20 ปีให้หลังฝรั่งเศสก็ยังเต็มไปด้วยความวุ่นวายทางการเมือง การต่อสู้กันของทั้งปีกอนุรักษ์นิยม ปีกเสรีนิยม และขบวนการต่างๆ มากมาย เป็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มอำนาจใหม่ที่มีความหลากหลายมากขึ้น มีสำนึกทางการเมืองอย่างหลากหลาย

“เช่นในปี 1830 เป็นการปฏิวัติขับไล่ราชวงศ์บอร์บอน แต่ก็ไม่ใช่ไปสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นการนำราชวงศ์โรแลงมา เป็นกษัตริย์ที่มีแนวทางเสรีนิยมกว่า เป็นกษัตริย์ที่เป็นสมาชิกในการปฏิวัติ 1789 อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ได้จบลง ยังเกิดการลุกขึ้นของประชาชนกลุ่มต่างๆ อีกหลายระลอก ไม่ว่าจะเป็นการลุกขึ้นมาต่อต้านระบอบกษัตริย์ในอีก 2 ปีต่อมาหรือปี 1832 ซึ่งก็เป็นการปฏิวัติที่ล้มเหลวในการล้มระบอบกษัตริย์ คุณเห็นภาพแล้วจะรู้ว่าการต่อสู้ของเหลือง-แดงมันน้อยมากเมื่อเทียบกับการลุกขึ้นมาปฏิวัติครั้งที่ 2 ของฝรั่งเศส

“ความสำเร็จจริงๆ เกิดขึ้นเมื่อปี 1848 มีการลุกขึ้นมาปฏิวัติ ซึ่งจริงๆ เป็นระลอกทั่วยุโรป ไม่ใช่ฝรั่งเศสประเทศเดียว แต่เป็นการปฏิวัติที่ประสบความสำเร็จในการล้มระบอบกษัตริย์ มีการก่อตั้งสาธารณรัฐหรือรัฐที่ไม่มีกษัตริย์เป็นครั้งที่ 2 หลังจาก 1789 มีการจัดตั้งรัฐบาล ครั้งนี้มีการขยายสิทธิทางการเมือง มีการพูดถึงโครงการช่วยเหลือความยากจน เปรียบเทียบช่วง 1830-1871 ในฝรั่งเศสจะตรงกับช่วง 2535-2560 ของไทย คือหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งแรกมาระยะหนึ่งที่นานมาก พอถึงช่วงนี้ มันเกิดความตื่นตัวของคนหลากหลายกลุ่มมาก มันลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างรุนแรงในหลากหลายปีกในฝรั่งเศส


"การจะเกิดระบบนี้ได้ (Cohabitation) มันผ่านกระบวนการในการเรียนรู้ว่าการจะขจัดอีกฝ่ายออกไปจากสังคม มันมีต้นทุนที่แพงมากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ ระบบรัฐสภาสมัยใหม่จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ Accommodate การต่อรองทางอำนาจของแต่ละกลุ่มและการสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นมามีอำนาจ คือถ้าเราเข้าใจกระบวนการในการคลี่คลายความขัดแย้งของพลังกลุ่มต่างๆ เราก็จะค่อยๆ เข้าใจว่า เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร"

“ในช่วง 1848 หลังจากล้มสถาบันกษัตริย์ได้เป็นครั้งที่ 2 มีการจัดตั้ง National Workshop หรือโครงการเพื่อคนจน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้นำไปสู่ประชาธิปไตย แต่ยิ่งทำให้ปีกอนุรักษ์นิยมหวาดกลัวการลุกขึ้นมาของคนจน ของชนชั้นแรงงาน และพยายามโต้กลับ รักษาอำนาจความเป็นระเบียบแบบที่คุ้นเคย ผลการเลือกตั้งหลัง 1848 ฝ่ายที่ชนะคือปีกอนุรักษ์นิยม นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลแบบอนุรักษ์นิยม ผลที่ตามมาคือมีการลุกขึ้นมาของขบวนการแรงงานและชนชั้นแรงงานในช่วงปลายปี 1848 แต่ก็ถูกปราบอย่างราบคาบ

“คุณคิดดู มาถึงจุดนี้ใกล้จะ 85 ปีแล้วหลังปฏิวัติ 1789 ฝรั่งเศสยังเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเผชิญอยู่ในสังคมไทยตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องที่มันน่ากลัว น่าผิดหวัง ที่เราเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 85 ปีแล้วยังไม่ถึงไหน ท่ามกลางความวุ่นวายที่ขบวนการแรงงานลุกขึ้นมาก่อกบฏและถูกปราบอย่างราบคาบในปี 1848 แทนที่ฝรั่งเศสจะไปสู่ประชาธิปไตย ไม่ใช่ แต่คนส่วนใหญ่เบื่อความวุ่นวาย ความขัดแย้ง เบื่อสงครามกลางเมือง สังคมฝรั่งเศสหันไปหานโปเลียนที่ 3 หลานของนโปเลียนที่ 1 คือไม่เอากษัตริย์ แต่ก็ไม่อยากได้การปกครองแบบคณะปฏิวัติ 1789 และ 1848

“ผลที่ตามมาทำให้นโปเลียนที่ 3 ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นประธานธิบดี ครองอำนาจอยู่ 22 ปี ถ้าเปรียบเทียบกับไทย 3 ปีก่อนที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ถ้าเปรียบกับฝรั่งเศสคือนำไปสู่ Law and Order และยอมอยู่ภายใต้การปกครองของคนคนเดียว 22 ปี จุดจบของนโปเลียนที่ 3 คือทำสงครามกับเยอรมนีและพ่ายแพ้ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังความพ่ายแพ้คือการลุกขึ้นมาของขบวนการแรงงานและชนชั้นกลางระดับล่าง ยึดปารีสหรือปารีส คอมมูน แต่ยึดได้ไม่กี่เดือนก็ถูกปราบ มีการตายไป 20,000 กว่าคนในปารีส

“ปารีส คอมมูน คือจุดตัดเมื่อเปรียบเทียบ 85 ปีกับการเมืองไทย หลัง 85 ปีของการปฏิวัติฝรั่งเศสจบลงด้วยโศกนาฏกรรมของผู้คนที่เข้ายึดปารีสเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย

“จากภาพพัฒนาการทางการเมืองของฝรั่งเศสมาถึงจุดนี้ มันเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ชนชั้นนำเองก็ยังไม่ยอมรับและให้พื้นที่ทางการเมืองกับชนชั้นล่าง ชนชั้นกลางเองก็ละทิ้งชนชั้นแรงงานและหันไปสนับสนุนระบอบที่ช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเมือง จะเห็นได้ว่า 8 ทศวรรษหลัง 1789 ฝรั่งเศสยังวนเวียนอยู่กับวงจรการเปลี่ยนแปลงจากถอนรากถอนโคนไปถึงการโหยหาสายประนีประนอม แต่สุดท้ายก็พบว่ามีข้อจำกัด จึงหันหลังและพยายามกลับมาเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนอีก จากนั้นก็ถูกโต้กลับโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมและพยายามรื้อฟื้นอำนาจของตนเองกลับมา วนเวียนแบบนี้หลายรอบ

“เพราะฉะนั้นถ้าดู 80 ปีฝรั่งเศส แล้วเราลองมาดูว่าในฝรั่งเศสหลัง 80 ปีนั้นนำไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร พัฒนาการประชาธิปไตยฝรั่งเศสสมัยใหม่แบบที่เรารู้จักกัน จริงๆ เป็นเรื่องใหม่มาก เพิ่งเกิดปี 1986 เป็นระบอบที่เรียกว่า Cohabitation คือประธานาธิบดีมีอำนาจดูแลเรื่องต่างประเทศ ความมั่นคง นายกรัฐมนตรีดูนโยบายภายในประเทศ การแบ่งแยกอำนาจแบบนี้ ประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีอาจมาจากคนละพรรคกัน ส่วนใหญ่ประธานาธิบดีจะมาจากฝ่ายสังคมนิยม นายกรัฐมนตรีมาจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมบ้าง แล้วก็ยอมอยู่ร่วมกัน ทั้งที่เกลียดกัน

“ระบบที่ทั้งสองฝ่ายยอมอยู่ร่วมกันและแบ่งอำนาจกันเพิ่งเกิดขึ้นในปี 1986 ก่อนหน้านั้น ฝรั่งเศสเต็มไปด้วยความวุ่นวาย คือหลังจากปารีส คอมมูน ก็มีความพยายามสร้างกลไกในการดุลอำนาจระหว่างปีกอนุรักษ์นิยมหลายๆ ปี เริ่มมีระบบรัฐสภาที่เป็นกลไกถ่วงดุล ตรวจสอบกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังเป็นรัฐบาลแบบเผด็จการ หรือแม้แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบอบที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นก็ยังถูกครอบงำโดยชาร์ล เดอ โกล์ คือประธานาธิบดีมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ควบคุมทุกอย่าง

“ก่อน 1986 ยังเป็นวงจรที่ฝรั่งเศสต้องเจอเดดล็อกทางการเมืองหลายรุ่น แล้วจะแก้ไขเดดล็อกทางการเมืองเล่านั้นโดยการโหยหาวีรบุรุษทางการเมือง เช่น ชาร์ล เดอ โกล์ หรือทหารหลายๆ ปีกเพื่อช่วยแก้ไขวิกฤต ประชาธิปไตยเสรีนิยมเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่มาก จุดเปลี่ยนนี้เกิดขึ้นช่วงที่ฟรังซัวส์ มิสเตอร์รองด์เป็นผู้นำจากฝ่ายซ้าย แล้วก็ยอมลดอำนาจของตนเองโดยการยอมรับนายกรัฐมนตรีจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมเพื่อแก้ปัญหาเดดล็อกทางการเมืองและเป็นยุทธศาสตร์ในการสู้ทางการเมืองในระยะยาว คือให้นายกรัฐมนตรีจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมดำเนินนโยบาย และให้ประชาชนเป็นคนตัดสินเองว่าไม่พอใจและแพ้การเลือกตั้งในครั้งต่อมา

“เราจะเห็นว่า หลังจาก 1986 จะเห็นการสลับขั้ว ชนะ-แพ้ตลอดเวลาระหว่างสังคมนิยมและอนุรักษ์นิยม พูดง่ายๆ คือการยอมให้มีการแบ่งแยกอำนาจและอยู่ร่วมกันได้ของปีกการเมืองที่มีความคิดและฐานผลประโยชน์ที่แตกต่างกันมาก เป็นปรากฏกการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในฝรั่งเศสในช่วงหลังสงครามครั้งที่ 2 ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมานาน

“จากจุดนี้เราเรียนรู้อะไรบ้าง ดิฉันมีข้อสรุปสองสามข้อ ประเด็นแรกคือประชาธิปไตยไม่ได้พัฒนาเป็นเส้นตรงหรือไม่ได้เติบโตแบบก้าวไปข้างหน้าอย่างเดียว แต่พัฒนาการทางการเมืองในฝรั่งเศสทำให้เราเห็นว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองทางการเมือง เราต้องเผชิญกับอำนาจของระบอบเก่าที่ยังคงดำรงอยู่และเราต้องเผชิญกับการต่อสู้กันของอำนาจกลุ่มต่างๆ ถ้าถามว่าเราอยู่ตรงไหนในการเมืองฝรั่งเศส ดิฉันมองว่า เราอยู่ในศตวรรษที่ 19 ของฝรั่งเศส แน่นอน เงื่อนไขรายละเอียดอาจจะต่างกัน แต่ถ้าเทียบในเรื่องช่วงเวลา เรายังมาไม่ถึงครึ่งของพัฒนาการประชาธิปไตยในฝรั่งเศส เรายังไม่ผ่านความขัดแย้งถึงจุดแตกหักทางการเมือง เรายังต้องผ่านวงจรทางการเมืองที่ทุกปีกยังไม่เชื่อว่าเราจะอยู่ร่วมกันได้ ทุกปีกยังเชื่อว่าทางออกทางการเมืองคือการขจัดฝ่ายตรงข้ามให้หมดไปจากสังคม ในขณะที่ปีกอนุรักษ์นิยมและระบอบเก่าก็ยังพยายามทวงคืนอำนาจและใช้วิธีแก้ไขปัญหาด้วยการจัดการฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายสังคมนิยม

“ขณะที่ฝ่ายเสรีนิยม สังคมนิยม ก็เชื่อว่าเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาคือเราต้องจัดการและล้มระบอบเก่าให้ได้ ซึ่งนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส ทั้งสองฝ่ายและหลายๆ ฝ่ายยังมองไม่เห็นวิธีการอยู่ร่วมกันได้แบบเท่าเทียมกัน โดยการสร้างระบบ Cohabitation การจะเกิดระบบนี้ได้ มันผ่านกระบวนการในการเรียนรู้ว่าการจะขจัดอีกฝ่ายออกไปจากสังคม มันมีต้นทุนที่แพงมากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ ระบบรัฐสภาสมัยใหม่จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ Accommodate การต่อรองทางอำนาจของแต่ละกลุ่มและการสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นมามีอำนาจ คือถ้าเราเข้าใจกระบวนการในการคลี่คลายความขัดแย้งของพลังกลุ่มต่างๆ เราก็จะค่อยๆ เข้าใจว่า เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

“ดิฉันมีข้อความมาบอกเพื่อนนักประชาธิปไตยของดิฉันที่รู้สึกอึดอัดทางการเมือง อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคม ที่จะเป็นสังคมที่ดีขึ้น เป็นเสรีมากขึ้น ทุกคนมีสิทธิ มีเสียงในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เราคงต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยเป็นการต่อสู้ตลอดชีวิต ประชาธิปไตยคงไม่เกิดขึ้นในชั่วข้ามวันข้ามคืน

“ขณะเดียวกันดิฉันก็มีข้อความสำหรับเพื่อนๆ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือชนชั้นกลางที่สนับสนุนแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมและเชื่อว่าการสนับสนุนรัฐประหารและรัฐบาลทหารเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการสร้างสังคมที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นสังคมที่สงบ โดยการจำกัดพื้นที่ทางความคิดของคนที่คิดต่างและเชื่อในแนวทางเศรษฐกิจ-สังคมที่ต่างออกไปว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในระยะยาว และเป็นเรื่องที่ยิ่งจะเป็นไปไม่ได้เมื่อประชาธิปไตยพัฒนาผ่านวงจรการเปลี่ยนผ่านหลายต่อหลายครั้ง เพราะมันมีกระบวนการในการสร้างจิตสำนึกในการลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของคนกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลายแบบที่เราเห็นในการเมือง 85 ปีหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส”

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.