Posted: 25 Jun 2017 04:36 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ 2560 “ประชาธิปไตย กลไกตลาด รัฐ และทุน” สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เผยสถิติ “ประชาธิปไตยกินได้” รัฐบาลพลเรือนสร้างสวัสดิการให้คนธรรมดามากกว่าช่วงเผด็จการ แต่ก็ต้องระวังความไม่เข้าใจข้อจำกัดของประชาธิปไตย-ที่จะส่งผลทำลายประชาธิปไตย แนะทั้งสองฝ่ายเหลือง-แดง อยากกลับสู่ประชาธิปไตยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และเข้าใจความคับข้องใจของกันและกัน แทนที่จะหาวิธีแบ่งเขาแบ่งเราแบบที่เกิดขึ้นในหมู่ปัญญาชนทั้ง 2 ฝ่ายที่มักมีถ้อยคำเหน็บแนมกระทบกระแทก
เสนอการปรับปรุงทิศทางและบทบาทรัฐไทยอย่างน้อย 4 ทิศทาง “ให้ท้องถิ่นตัดสินใจ” “ให้สังคมช่วยลงทุน” “ให้ธุรกิจมีส่วนร่วม” “ให้ภาครัฐปรับบทบาทตัวเอง” เผยมิติความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทุนใหญ่ผูกขาด และที่น่ากลัวทุนโลกาภิวัตน์ก็คือทุนชาติ ที่แทรกแซงรัฐอย่างไม่เกรงใจ
พร้อมแนะปรับทิศทางทุนนิยมไทย ลด "ทุนนิยมโดยรัฐ" และ "ทุนนิยมพวกพ้อง" หันมาส่งเสริม "ทุนนิยมผู้ประกอบการ" และ "ทุนนิยมธุรกิจใหญ่ที่มีนวัตกรรม" สร้างเศรษฐกิจ-การเมืองที่โปร่งใส ใช้รัฐวิสาหกิจเท่าที่จำเป็น ใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาด ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ
“รัฐและทุน เศรษฐกิจและประชาธิปไตย มีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง เราอยากเห็นเศรษฐกิจเปิด อยากสืบสานปณิธานท่านอาจารย์ปรีดี อยากเห็นการเมืองเป็นประชาธิปไตย ถ้าเราจะแกะปมด้านการเมือง เราต้องแกะปมเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ถ้าเราจะแกะปมเศรษฐกิจก็ต้องแกะปมการเมืองไปพร้อมกัน โจทย์นี้จึงเป็นโจทย์ที่ยากที่ต้องการ การรวมพลังกันของภาคสังคมทั้งหมด ไม่ใช่การแบ่งแยกพวกเรา ซึ่งมีกำลังความสามารถน้อยอยู่แล้ว ให้แตกแยกไปเรื่อยๆ เพื่อนำประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ”

000


เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ มีการแสดงปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2560 ครบรอบ 82 ปี การอภิวัฒน์สยาม หัวข้อ “ประชาธิปไตย กลไกตลาด รัฐ และทุน” โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

โดยตอนหนึ่งของปาฐกถา สมเกียรติชวนหาทางออกกลับไปสู่ประชาธิปไตย ชี้ว่าผ่านมา 85 ปี ยังห่างไกลจากความฝันของปรีดี พนมยงค์และคณะราษฎรอยู่มาก การเมืองถดถอยเคยเป็นประชาธิปไตยหลายครั้ง แต่ก็กลับอยู่สู่ระบบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยซ้ำแล้วซ้ำอีก เศรษฐกิจมีปัญหาต่อไปจะมีปัญหามากขึ้น ยิ่งเข้าสู่สังคมสูงวัย

ทั้งนี้เมื่อใดที่การเมืองมีปัญหา ย่อมส่งผลต่อสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพราะทั้ง 2 ส่วนนี้ ต่างมีความสัมพันธ์กันอย่างหนาแน่น เพราะการเมืองแบบประชาธิปไตยที่เป็นระบบการปกครองจากโครงสร้างส่วนบน เพื่อตอบสนองต่อโครงสร้างส่วนล่าง เมื่อประชาชนเดือดร้อน จำเป็นต้องพึ่งพาระบบการเมือง

พร้อมชี้เผยสถิติ “ประชาธิปไตยกินได้” รัฐบาลช่วงประชาธิปไตยสร้างสวัสดิการให้กับคนธรรมดามากกว่ารัฐบาลเผด็จการ เช่น ช่วงรัฐบาลประชาธิปไตย มีนโยบายทั้งสวัสดิการแรงงาน บำเหน็จบำนาญ การศึกษา ประกันสังคมต่างๆ กองทุนเงินทดแทน การรักษาพยาบาล แต่หากเป็นช่วงรัฐบาลเผด็จการ อาจมีนโยบายพวกนี้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสวัสดิการเพื่อข้าราชการ หรือหรือถึงขึ้นลดสวัสดิการเพื่อประชาชนของประเทศก็มี และหากมองเฉพาะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็มีนโยบายเพื่อประชาชนให้เห็นบ้าง คือ นโยบายอุดหนุนเด็กแรกเกิด และอาจจะมีอีก 1-2 นโยบายออกตามมาทีหลัง แต่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญ เมื่อเทียบกับยุคประชาธิปไตย ที่ให้สวัสดิการประชาชนมากกว่า จึงถือว่าประชาธิปไตยทำให้ประชาชนกินได้

แต่ทั้งนี้ ประชาชนเองต้องเข้าใจระบอบประชาธิปไตย และต้องระวังความไม่เข้าใจข้อจำกัดของประชาธิปไตย มิฉะนั้นจะส่งผลกลับไปทำลายประชาธิปไตย

พร้อมเสนอทางออกถ้าจะกลับเข้าสู่ประชาธิปไตย ทหารกลับกรมกอง 2 สีเสื้อ เหลือ-แดง ควรต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจ ความคับข้องใจของอีกฝ่าย เช่น เสื้อเหลือง ควรเรียนรู้ว่าคนเสื้อแดงคับข้องใจจากการไม่ได้รับความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม การถูกปฏิบัติสองมาตรฐาน

ในเวลาเดียวกันคนเสื้อแดงควรเข้าใจคนเสื้อเหลืองว่าเขาไม่อยากเห็นการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของเสียงข้างมาก ชี้สังคมไทยมีโครงสร้างเหลื่อมล้ำสูง คนมีโอกาสจะโหวตแบบคนเสื้อแดงมากกว่าแบบคนเสื้อเหลือง คนเสื้อเหลืองมีแนวโน้มเป็นเสียงข้างน้อยยาวนาน เพราะฉะนั้นความขับค้องใจคือ เลือกตั้งกี่ครั้งเขาก็ไม่ชนะ ถ้าเสียงข้างมากไปใช้อำนาจไม่เป็นธรรมกลายเป็นทรราชเสียงข้างมาก คนที่รู้ว่าสู้ไม่ได้ในระบบก็จะหันไปใช้วิธีล้มโต๊ะ ถ้าทั้งสองฝ่ายอยากกลับไปสู่ประชาธิปไตยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ และเข้าใจความคับข้องใจของกันและกัน แทนที่จะหาวิธีแบ่งแยกพวกเราพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเกิดขึ้นมากโดยเฉพาะในกลุ่มปัญญาชนของทั้งสองฝ่าย มักมีถ้อยคำเหน็บแนมกระทบกระแทกคนอีกฝั่ง

ถ้าทั้งสองฝั่งอยากเห็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ต้องเข้าใจ ให้เกียรติ และเห็นอกเห็นใจคนที่มีความคิดต่างทางการเมืองต่างจากตนมากขึ้น และหา "จุดร่วม" ร่วมกันเพื่อกลับเข้าสู่ประชาธิปไตย และสร้างประชาธิปไตยในรูปแบบที่สมบูรณ์มากขึ้น

"ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาเปลี่ยนเข้าสู่ประชาธิปไตยไม่ได้ เราเคยผ่าน 14 ตุลา พฤษภา 35 แต่ปัญหาใหญ่กว่าคือการรักษาประชาธิปไตย" สมเกียรติ กล่าวตอนหนึ่ง


ในช่วงท้ายเขากล่าวว่า วัตถุประสงค์ของปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เชื่อว่าถ้านายปรีดี มีชีวิตอยู่ถึงทุกวันนี้นายปรีดีคงเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยไม่สามารถไปถึงจุดเป้าหมายได้ เพราะการจัดความสามารถของไทยโดย WEF โดยด้านที่ต่ำเห็นเด่นชัด คือ กฎกติกาของภาครัฐ ทำให้อันดับคุณภาพของรัฐบาลไทยต่ำกว่าคุณภาพของรัฐบาลมาเลเซีย จีน แม้กระทั่งแอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รัฐไทยไม่มีความสามารถมากมายอย่างที่เราคาดหวังได้

“รัฐไทยอาจจะมีความสามารถมากพอที่จะละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน จับประชาชนไปปรับทัศนคติได้ แต่รัฐไทยกระจอกเกินไปที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศได้"

เพราะรัฐไทยรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมากเหลือเกิน แต่เมื่อรวมศูนย์ในเวลาเดียวกัน ก็กลับทำงานแยกส่วนกัน เป็นแท่งๆ กระทรวงใครกระทรวงมัน กรมใคร กรมมัน หรือแม้แต่กองใครกองมัน ไม่ทำงานแบบเชื่อมโยงกัน แนวคิดแบบ One size fits all ที่ออกจากกรุงเทพ แต่กลับใช้ทั่วประเทศ และมีแนวโน้มไม่เปิดกว้างให้เอกชนและสังคมมีส่วนร่วม ในขณะเดียวกันรัฐพยายามรวบอำนาจเข้ามา ข้าราชการกลับมีคุณภาพน้อยลงทุกที


ข้อเสนอของสมเกียรติเสนอการปรับปรุงทิศทางและบทบาทรัฐไทยอย่างน้อย 4 ทิศทาง คือ 1. “ให้ท้องถิ่นตัดสินใจ” ถ้ารัฐส่วนใดไม่สามารถบริหารได้ ต้องกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่น 2. “ให้สังคมช่วยลงทุน” เปิดส่วนร่วมให้สังคมมีบทบาทร่วมแก้ไขปัญหาให้ดียิ่งขึ้น3. “ให้ธุรกิจมีส่วนร่วม” โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม 4. “ให้ภาครัฐปรับบทบาทตัวเอง” โดยลดบทบาทผู้เล่นควบกรรมการ แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค

ทั้งนี้ประเทศไทยมีแนวโน้มเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหลายมิติ มิติแรก ความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายได้ เมื่อดูการถือครองที่ดินก็จะเห็นความเหลื่อมล้ำสูง มิติที่ 2 ยังเป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากผลตอบแทนของทุน เงินทุน และความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากแรงงานและค่าจ้างแรงงาน คือในขณะที่ผลตอบแทนของทุนเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด แต่ผลตอบแทนจากค่าจ้างแรงงานเกิดขึ้นน้อยมาก และยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างทุนใหญ่และทุนเล็ก ถ้าดูข้อมูลตลาดหลักทรัพย์บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ 100 แห่ง มีกำไร 2.7 แสนล้านบาท และในปีนี้แค่ไตรมาสแรกก็ได้กำไรก้าวกระโดด และบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ 10 แห่งแรกทำกำไรได้ 50% ของทั้งหมด และบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยอยู่ในสาขาธุรกิจผูกขาด หรือกึ่งผูกขาด หรือได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐประเภทใดประเภทหนึ่ง ในความรู้สึกของผมที่น่ากลัวกว่าทุนโลกาภิวัตน์ก็คือทุนชาติ

ปรับทิศทางทุนนิยมไทย เพราะทุนนิยมมีหลายประเภท แต่ไทยมี "ทุนนิยมโดยรัฐ" และ "ทุนนิยมพวกพ้องมาก" โดยเสนอให้ส่งเสริม "ทุนนิยมผู้ประกอบการ" และ "ทุนนิยมธุรกิจใหญ่ที่มีนวัตกรรม" สร้างเศรษฐกิจ-การเมืองที่โปร่งใส ใช้รัฐวิสาหกิจเท่าที่จำเป็น ใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาด ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ

ปรับความร่วมมือของรัฐและทุน ปรับจากความร่วมมือเพื่อ "แบ่งเค้ก" สู่ "ขยายเค้ก"ปรับจากร่วมงานกับ "เจ้าสัว" สู่ร่วมงานกับ "องค์กรตัวแทนธุรกิจ" ปรับจากรัฐ "ขอเงิน" มาสู่ "ขอคำแนะนำ" จากเอกชน และให้สังคมตรวจสอบความร่วมมือของรัฐและทุน

รัฐและทุน เศรษฐกิจและประชาธิปไตย มีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง เราอยากเห็นเศรษฐกิจเปิด อยากสืบสานปณิธานท่านอาจารย์ปรีดี อยากเห็นการเมืองเป็นประชาธิปไตย ถ้าเราจะแกะปมด้านการเมือง เราต้องแกะปมเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ถ้าเราจะแกะปมเศรษฐกิจก็ต้องแกะปมการเมืองไปพร้อมกัน โจทย์จึงเป็นโจทย์ที่ยาก ที่ต้องการ การรวมพลังกันของภาคสังคมทั้งหมด ไม่ใช่การแบ่งแยกพวกเรา ซึ่งมีกำลังความสามารถน้อยอยู่แล้ว ให้แตกแยกไปเรื่อยๆ เพื่อนำประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.