Posted: 26 Jun 2017 06:45 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

แอมเนสตี้และ ICJ ออกแถลงการณ์วันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานสากล ติงไทยให้คำมั่นสัญญาป้องกันและปราบปรามการทรมานบนเวทีนานาชาติแต่ไม่ปฏิบัติตาม พร้อมวิดีโอคลิปวงคุย พ.ร.บ. (ป้องกันและต่อต้านการทรมานฯ) ยังไม่มี ความยุติธรรมยังไม่มา.....

26 มิ.ย. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ออกแถลงการณ์ร่วม แสดงความยินดีที่ไทยให้คำมั่นสัญญาในเวทีนานาชาติว่าจะป้องกันและปราบปรามการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศ เนื่องใน "วันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานสากล" หรือ "วันต่อต้านการทรมานสากล" ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี และในโอกาสใกล้ครบรอบ 10 ปีที่ไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ
อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้และ ICJ พบว่าคำมั่นสัญญาต่างๆ ของทางการไทยเป็นเพียงเอกสารที่ยังไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติจริงแต่อย่างใด โดยเฉพาะการผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย (พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย) ซึ่งถูกทำให้ล่าช้าซ้ำแล้วซ้ำอีก

"ปัจจุบัน มีการใช้กฎหมายและคำสั่งต่างๆ ที่เปิดช่องให้ประชาชนถูกทหารควบคุมตัวได้โดยไม่มีคำสั่งศาล ไม่สามารถเข้าถึงทนาย ครอบครัว หรือความช่วยเหลือทางการแพทย์ได้นานถึงหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งข้อมูลของเราพบว่าการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐมักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว" ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผย

การทรมานโดยเจ้าหน้าที่ในประเทศไทยแทบจะไม่ได้รับการสอบสวนอย่างทันท่วงที อิสระ และเป็นกลางตามมาตรฐานระหว่างประเทศ มีการลอยนวบพ้นผิดมากมาย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เสียหาย ญาติของผู้เสียหาย และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการทรมานยังถูกคุกคามทางกฎหมายจากการฟ้องร้องหมิ่นประมาทอีกด้วย

แอมเนสตี้พร้อมกับ ICJ เรียกร้องให้ทางการไทยผ่าน พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย สอบสวนการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างอิสระ โปร่งใส และเป็นกลาง นำตัวผู้กระทำผิดควรถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมในศาลพลเรือน ตลอดจนกำหนดกลไกป้องกันการทรมานระดับประเทศ และอนุญาตให้คณะกรรมการต่อต้านการทรมานระหว่างประเทศเข้าตรวจเยี่ยมด้วย



เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ฯ และองค์กรพันธมิตรจัดวงเสวนาหัวข้อ พ.ร.บ. (ป้องกันและต่อต้านการทรมานฯ) ยังไม่มี ความยุติธรรมยังไม่มา..... โดยสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส มูลนิธิประสานวัฒนธรรม อิสมะแอ เต๊ะ ประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี สมศักดิ์ ชื่นจิตร บิดาของผู้ที่กล่าวอ้างว่าถูกทรมาน และวิลาวัล เกิดแก้ว น้องสาวของผู้ที่กล่าวอ้างว่าถูกทรมาน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.