Posted: 28 Jun 2017 08:16 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กลุ่มต่อต้านการผูกขาดในเกาหลีใต้กล่าวแสดงความกังวลเรื่องที่บริษัทไอทียักษ์ใหญ่เก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้และนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจรวมถึงผูกขาดความเป็นเจ้าของข้อมูลเหล่านั้น โดยมองว่าเป็นการเข้ามาอาศัยโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่ประชาชนประเทศนั้นๆ จ่ายภาษีเอาไปใช้ฟรีๆ



อินเทอร์เน็ตคาเฟหรือพีซีบังในเกาหลีใต้ (ที่มาของภาพ: Ss이준 (lhj8396)/Wikipedia)

28 มิ.ย. 2560 คณะกรรมการด้านการค้าที่เป็นธรรมของเกาหลีใต้หรือเอฟทีซี (Fair Trade Commission - FTC) เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (26 มิ.ย.) ว่าพวกเขาจะเพิ่มการตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารอย่างกูเกิลและเฟซบุ๊กมากขึ้น เนื่องจากกังวลเรื่องการเก็บข้อมูลและใช้ข้อมูลของบริษัทไอทีเหล่านี้ โดยมีเป้าหมายต้องการจำกัดการผูกขาดการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่หรือ "บิ๊กดาตา" (Big Data)

นิคเคอิเอเชียนรีวิวระบุว่ากูเกิลเป็นบริษัทที่ใช้การเก็บข้อมูลจำนวนมากและหลากหลายในระดับบิ๊กดาตาเพื่อให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลแก่ทั้งบรรษัทและลูกค้าในระดับตัวบุคคล หมายความว่ากูเกิลเองก็เก็บข้อมูลจากผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลถึง 1,900 ล้านราย แล้วนำไปวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของพวกเขา

เรื่องนี้ทำให้ ยูยังอ็ก ผู้อำนวยการเอฟทีซีทีกล่าวว่าทางเอฟทีซีมีความสนใจตลาดไอที่ที่กำลังเติบโตขึ้นและกำลังศึกษากรณีต่างๆ ในประเทศอื่น รวมถึงจะทำงานค้นคว้ามากกว่านี้เพื่อที่จะไม่ให้พวกเขาเองถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง

ก่อนหน้านี้ คิมซังโจ ประธานเอฟทีซีเคยวิจารณ์บริษัทไอทีต่างชาติว่าเข้ามาอาศัยหาผลประโยชน์จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของประเทศของพวกเขาฟรีๆ ทั้งๆ ที่อินเทอร์เน็ตเหล่านี้มาจากภาษีของประชาชน แต่บริษัทไอทีเหล่านี้กลับมาเก็บข้อมูลเอาจากประชาชนพวกเขาโดยไม่ต้องจ่ายอะไรเลย นอกจากนี้ยังบอกว่าการพัฒนาเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วในยุคนี้ถือเป็น "การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4" ที่ผู้มาก่อนจะกวาดตลาดไปหมดเหลือให้คนที่มาทีหลังน้อยมาก

ไม่เพียงแค่เกาหลีใต้เท่านั้น รัฐบาลญี่ปุ่นก็เคยประกาศว่าจะมีการพิจารณาเรื่องสถานะทางการตลาดของบริษัทไอทีเหล่านี้เนื่องจากการเก็บข้อมูลและผูกขาดข้อมูลที่เก็บเอาไว้ฝ่ายเดียวของพวกเขาละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด โดยพยายามหาทางไม่ให้บริษัทเหล่านี้มีเอกสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลบิ๊กดาตาแต่ฝ่ายเดียว

ทางการจีนก็เริ่มออกกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ฉบับใหม่เมื่อต้นเดือน มิ.ย. ที่ควบคุมเรื่องการเก็บข้อมูล ทำให้บริษัทต่างชาติต้องเตรียมรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายนี้ เนื้อหาสำคัญของกฎหมายใหม่ระบุให้บริษัทต่างชาติต้องเก็บข้อมูลผู้ใช้ไว้ภายในจีนเท่านั้นและต้องขออนุญาตก่อนถ้าหากจะมีการส่งข้อมูลของผู้ใช้ออกไปในต่างประเทศ

นิคเคอิเอเชียนรีวิวระบุว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทำให้บริษัทไอทีเหล่านี้พัฒนาการนำข้อมูลผู้ใช้งานเพื่อปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการได้ แต่ก็มีข้อเสียตรงที่นั่นหมายความว่าบริษัทเหล่านี้มักจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของผู้ใช้งานไปด้วย ส่งผลทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองในระบบตลาดลดลง

ทางกูเกิลเองก็มีการพยายามปรับตัวรับกับการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้นนี้ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บข้อมูลของพวกเขาอย่างมีความระมัดระวังขึ้น โดยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาบอกว่าภายในปีนี้พวกเขาจะเลิกสแกนเนื้อหาอีเมลที่ส่งผ่าน Gmail เพื่อนำไปใช้ในการเลือกเผยแพร่โฆษณาแก่ผู้ใช้งาน นั่นหมายความว่าก่อนหน้านี้กูเกิลเคยสแกนเนื้อหาอีเมลของผู้ใช้มาก่อนเพื่อควานหาโฆษณาที่พวกเขาคิดเอาเองว่าจะเข้ากับผู้ใช้โดยพิจารณาจากเนื้อหาอีเมล

นอกจากประเด็นเรื่องการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานเอาไปใช้ทำการตลาดแล้วยังมีประเด็นที่กูเกิลเคยถูกรัฐบาลอินโดนีเซียกล่าวหาเรื่องจ่ายภาษีไม่ครบแต่ก็มีการเจรจาตกลงกับรัฐบาลสำเร็จแล้ว ทางการไทยเองก็กำลังออกกฏหนักขึ้นในเรื่องการเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยี

เรียบเรียงจาก

South Korean antitrust agency moving to control Google, Facebook, Nikkei Asian Review, 26-07-2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.