Posted: 29 Jun 2017 12:37 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

Waging Nonviolence นำเสนอเรื่องราวของกลุ่มนักโทษหญิงในสหรัฐฯ ที่ประสบความสำเร็จในการอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลและให้ผู้คุมปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเป็นมนุษย์มากขึ้น ถึงแม้ว่าข้อเรียกร้องของพวกเธอจะไม่ได้ตามเป้าทั้งหมดและเรือนจำเอกชนที่หากำไรจากความเจ็บปวดของนักโทษผู้อพยพจะยังจำกัดการเข้าเยี่ยมก็ตาม


Adelanto Detention Facility รัฐแคลิฟอเนีย (ที่มา: Google Maps)

29 มิ.ย. 2560 มีผู้หญิง 33 รายที่ถูกจับกุมและคุมขังโดยสำนักบังคับใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร (ICE) ของสหรัฐฯ โดยมีการคุมขังพวกเธอที่เรือนจำอเดลันโต เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา พวกเธอทำการอดอาหารประท้วงสภาพชีวิตที่ย่ำแย่ในเรือนจำรวมถึงนโยบายของเรือนจำที่กีดกันไม่ให้พวกเธอได้พบกับลูกๆ หรือคนที่เธอรัก

เรือนจำอเดลันโดสามารถจุนักโทษได้ 1,940 ราย นับเป็นเรือนจำของเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ผู้ดูแลคือบริษัท จีอีโอกรุ๊ป (GEO Group) เรือนจำแห่งนี้จะได้รับเงินจาก ICE ตามจำนวนนักโทษ 111 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน (ราว 3,700-3,800 บาท) สำหรับการคุมขังนักโทษ 975 รายแรก ถ้าหากมีนักโทษอยู่มากกว่า 975 ราย GEO จะได้รับเงินตามจำนวนนักโทษรายหลังจากนั้นในอัตราที่น้อยลงคือ 50 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน ในอัตราเช่นนี้ทำให้ GEO ได้รับเงินสนับสนุนอย่างน้อย 40 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 1,360 ล้านบาท)

องค์กรด้านสิทธิผู้อพยพอย่างองค์กรชุมชนริเริ่มเพื่อคนเข้าเมืองที่ถูกคุมขัง (CIVIC) และเครือข่ายดีเทนชันวอทช์ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์เรือนจำอเดลันโตในเรื่องการละเมิดสิทธินักโทษอย่างเป็นระบบและเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในเรือนจำ

นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2560 จนถึงตอนนี้มีผู้เสียชีวิตในเรือนจำอเดลันโตแล้ว 3 ราย นอกจากนี้ยังมีการละเลยไม่ให้นักโทษได้รับการรักษาทางการแพทย์รวมถึงมีการลงโทษนักโทษที่พยายามเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ กรณีดังกล่าวนี้เกิดขึ้นกับผู้ต้องขังหญิงที่อดอาหารประท้วงชื่อ นอร์มา กูเทียเรซ ผู้มีอาการเส้นเลือดในสมองแตกหลายแห่งแต่แทนที่เธอจะได้รับการรักษาทางการแพทย์ เธอกลับถูกจับไปขังเดี่ยว

ทาง CIVIC และองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ตรวจพบว่าเรือนจำอเดลันโตมักจะล้มเหลวเรื่องการดูแลผู้ต้องขังให้ได้รับการรักษาทางแพทย์อย่างทันท่วงที มีการประวิงเวลาผู้ที่เรียกร้องรับการรักษา ให้ยาผู้ป่วยทางจิตมากเกินไป มีการใช้ล่ามกุญแจมือเวลาพบกับจิตแพทย์ ไม่มีการดูแลรักษากรณีผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง บางครั้งก็ปฏิเสธไม่ให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์หรือตรวจวินิจฉัยโรคผิดในกรณีผู้ป่วยที่อาการหนักหรือมีโรคร้ายแรง

หนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้ต้องขังหญิงของเรือนจำอเดลันโตคือการเรียกร้องการดูแลรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เรือนจำปฏิบัติกับพวกเขาอย่างเคารพในความเป็นคนมากขึ้น เรียกร้องให้ยกเลิกค่าการประกันตัวที่สูงมากอย่างไม่มีเหตุผล และขอให้พวกเธอได้พบกับลูกๆ และครอบครัวอีกครั้ง ซารา ซัลซิโด หนึ่งในผู้ต้องขังที่อดอาหารประท้วงบอกกับผู้ร่วมก่อตั้ง CIVIC ว่า "พวกเราต้องการให้พวกเขาพูดกับพวกเราเหมือนกับเราเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สัตว์ พวกเราไม่ต้องการถูกสบถด่าทอหรือแสดงความไม่เคารพในความเป็นคนของพวกเรา"

นี้ไม่ใช่การอดอาหารประท้วงเป็นครั้งแรกในอเดลันโต ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการอดอาหารประท้วงของนักโทษชายที่ต้องการประท้วงสภาพที่ย่ำแย่ในคุกเช่นกัน นักโทษเหล่านี้เป็นผู้ลี้ภัยที่มาพร้อมกับขบวนคาราวานจากประเทศลาตินอเมริกาหลายประเทศอย่าง เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส และกัวเตมาลา พวกเขายื่นขอเป็นผู้ลี้ภัยที่พรมแดนสหรัฐฯ แต่กลับถูกจับกุมและส่งตัวไปที่อเดลันโต

การประท้วงของนักโทษชายเริ่มต้นในวันที่ 12 มิ.ย. ด้วยการที่นักโทษทั้ง 9 ราย ล็อกแขนกันไว้ไม่ยอมกลับไปที่เตียงนอนเพื่อให้มีการนับตัวผู้ต้องขัง ทำให้ผู้คุมฉีดสเปรย์พริกไทยใส่พวกเขาแล้วก็จับพวกเขาไปขังเดี่ยว มีนักกิจกรรมบอกว่าผู้คุมยังได้ทุบตีนักโทษด้วยซึ่งทางเจ้าหน้าที่ ICE แก้ต่างว่าพวกเขาแค่ "ใช้กำลังตามจำเป็น" หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ก็เริ่มมีนักโทษ 6 รายอดอาหารประท้วง

กลุ่มนักโทษชายมีข้อเรียกร้อง 9 ประการคือ ต้องการให้มีการประกันตัวอย่างเป็นธรรมกับผู้ต้องขังทุกคน ต้องการที่สถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ต้องการเสื้อผ้านักโทษใหม่โดยเฉพาะกางเกงในแทนการใส่ของเดิมที่คนอื่นเคยใส่มาแล้ว ขอเวลาทำกิจกรรมทางศาสนามากขึ้น ขอให้เอกสารต่างๆ มีภาษาของพวกเขาอยู่ด้วย ขอเข้าถึงน้ำสะอาดได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขออาหารที่ดีขึ้นและเลิกนำข้าวของเครื่องใช้ของพวกเขาไปทิ้ง

คริสตินา แมนส์ฟิลด์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหนึ่งในผู้อำนวยการบริหารของ CIVIC กล่าวว่า กลุ่มนักโทษหญิงรับรู้เรื่องราวการต่อสู้ของคนในเรือนจำชายก็พยายามไม่ให้ถูกโต้ตอบจากผู้คุมด้วยวิธีการเดียวกันจึงขอให้นำชื่อของพวกเธอเผยแพร่ต่อสาธารณะ แมนส์ฟิลดืบอกอีกว่าผู้หญิงเหล่านี้เริ่มประท้วงต่อต้านหลังจากที่พวกเธอถูกคุมขังมาเป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้ว

การประท้วงของนักโทษหญิงเริ่มต้นด้วยการที่นักโทษ 33 ราย ปฏิเสธไม่กินอาหารเช้า มีนักโทษหญิงแจ้งแมนส์ฟิลด์ว่าผู้คุมข่มขู่พวกเธอว่าจะใช้สเปรย์พริกไทย จับพวกเธอไปขังเดี่ยว และยึดข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของพวกเธอถ้าหากพวกเธอยังปฏิเสธอาหารอีก

อย่างไรก็ตามหลังการประท้วงของพวกเธอก็ทำให้ในช่วงบ่ายวันนั้นมีการนำตัวนักโทษหญิง 20 รายที่เคถูกปฏิเสธบริการทางการแพทย์มาก่อนไปพบกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายแพทย์ กลุ่มผู้คุมยอมตกลงว่าจะปฏิบัติกับพวกเธอด้วยความเคารพในความเป็นมนุษย์และเคารพในเสรีภาพทางศาสนาของพวกเธอ อย่างไรก็ตามทาง ICE ก็บอกว่าพวกเธอไม่สามารถควบคุมอะไรในเรื่องการประกันตัวได้ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิที่คอยกำกับดูแล ICE อยู่มีอำนาจในการสั่งปล่อยตัวอย่างมีเงื่อนไขหรือทำทัณฑ์บนไว้แทนวิธีการประกันตัว

ถึงแม้ว่าหลังจากวันนั้นดูเหมือนทุกอย่างจะเป็นไปได้ด้วยดี ข้อเรียกร้องบางส่วนของนักโทษได้รับการตอบสนอง ไม่มีรายงานว่าพวกเธอถูกลงโทษแก้แค้น เย็นวันนั้นพวกเธอกลับไปกินอาหารเย็นตามปกติ แต่ก็ต้องระวังว่าอเดลันโตและบริษัท GEO อาจจะเตรียมพร้อมปราบผู้ประท้วงในเรือนจำอีก

หนึ่งสัปดาห์หลังจากการประท้วงของนักโทษหญิงและสองสัปดาห์หลังจากการประท้วงของนักโทษชาย องค์กร CIVIC และเหล่าทนายกับผู้นำศาสนามากกว่า 60 คนเดินทางยาวไกลจากตัวเมืองลอสแองเจลิส 85 ไมล์ไปเยี่ยมพวกเขาที่เรือนจำ มีการทำพิธีสวดภาวนาร่วมกันของคนต่างศาสนา 5 นาที หลังจากพวกเขาลงจากรถ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ของ GEO โต้ตอบด้วยการไม่ยอมให้ผู้เดินทางมาเยี่ยมเข้าไปเยี่ยม แต่ยังสั่งปิดล็อกเรือนจำและสั่งให้ทนายความและครอบครัวของนักโทษที่มารออยู๋ก่อนล่วงหน้าแล้วกลับไปด้วย

แม้ว่าหลักการมาตรฐานของ ICE ในระดับรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะสั่งให้เรือนจำต้องเปิดรับการเข้าเยี่ยมนักโทษจากทนายความตลอด 24 ชั่วโมง แต่ทนายความ และเจ้าหน้าที่จาก CIVIC ก็ถูกปฏิเสธไมให้เข้าเยี่ยมนักโทษ 14 คน ที่เป็นลูกความของพวกเขาแม้ว่าจะได้รับการอนุญาตจาก ICE แล้ว นอกจากนี้ทนายความรายอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มที่นั่งรถจากลอสแองเจลิสพากันไปเยี่ยมก็ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าพบนักโทษด้วย

คริสตินา ฟิอาลโย ทนายความและผู้ร่วมก่อตั้ง CIVIC กล่าวว่าเมื่อพวกเขาเห็นการข่มเหงรังแกในเรือนจำ เธอรู้สึกว่าพวกเขามีหน้าที่ทางจริยธรรมที่ต้องช่วยเปล่งเสียงและยืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันร่วมกับผู้อยู่ในเรือนจำ ฟิอาลโยบอกอีกว่าการที่พวกเธอถูกขัดขวางไม่ให้เข้าเยี่ยมนั้นถือเป็นการที่บังคับให้พวกเขาต้องเลือกว่าจะอ้างใช้สิทธิในการการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ หรือเลือกที่จะเข้าเยี่ยมเพื่อนหรือลูกความในเรือนจำ นี่ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลมีสิทธิจะบีบให้เราเลือกแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง



เรียบเรียงจาก

‘We are humans, not animals’ — women in California’s largest immigrant prison hold hunger strike, Waging Nonviolence, 23-06-2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.