Posted: 28 Jun 2017 10:58 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ตัวแทนประชาชน 6 จังหวัด ประมาณ 30 คน ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลพร้อมนำเสนอผลวิจัยโลหะหนักในตะกอนดิน เรียกร้องมาตรการควบคุมมลพิษเร่งด่วน เผยเดือดร้อนหนักปัญหาไม่คลี่คลาย หน่วยงานท้องถิ่นไม่ขยับ


28 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี ตัวแทนมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) พร้อมด้วยตัวแทนประชาชนจาก 6 จังหวัด ประมาณ 30 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือและนำเสนอผลการศึกษาการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในตะกอนดินของแหล่งน้ำผิวดินใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมใน 8 จังหวัด รวมทั้งเรียกร้องต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ดำเนินมาตรการอย่างเร่งด่วนในการควบคุมมลพิษและลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเสี่ยงทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน จากกรณีที่มูลนิธิบูรณะนิเวศได้เปิดเผยผลการศึกษาการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในตะกอนดินของแหล่งน้ำผิวดินใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมใน 8 จังหวัดของประเทศไทย ไปก่อนหน้านี้ โดยมีตัวแทนรัฐบาล ตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม และตัวแทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมารับหนังสือและรับฟังการนำเสนอ

โดยเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วันนี้ (28 มิ.ย.60) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) พร้อมด้วยตัวแทนประชาชนจากจังหวัดเลย สระบุรี ขอนแก่น ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง ประมาณ 30 คน ได้นำเสนอเปิดเผยผลการศึกษาการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในตะกอนดินของแหล่งน้ำผิวดินใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมใน 8 จังหวัดของประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิบูรณะนิเวศกับผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมอาร์นิกาและมหาวิทยาลัยเคมีและเทคโนโลยีแห่งกรุงปราก สาธารณรัฐเชก

ทั้งนี้ ผลการศึกษาแต่ละพื้นที่ใน 8 จังหวัด พบสารโลหะหนักหลายสารสูงเกิน "เกณฑ์คุณภาพตะกอนดินในแหล่งน้ำผิวดินเพื่อคุ้มครองสัตว์หน้าดิน" ตาม (ร่าง) ประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่องเกณฑ์คุณภาพตะกอนดินในแหล่งน้ำจืด และในจำนวนนี้ มี 4 จังหวัดที่มีค่าโลหะหนักหลายอย่างสูงในระดับที่รัฐควรมีมาตรการจัดการโดยด่วน จึงได้เรียกร้องเร่งด่วนต่อรัฐบาลจำนวน 5 ข้อได้แก่


1. พื้นที่ในเขตพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีการสะสมของสารโลหะหนักในปริมาณสูง จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง เลย ปราจีนบุรี และสมุทรสาคร ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการอย่างเร่งด่วนเพื่อควบคุมมลพิษและลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมให้ได้ อันจะช่วยลดความเสี่ยงทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนที่อาศัยอยู่ ตลอดจนขอให้มีการสำรวจเชิงระบาดวิทยาเกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษต่อประชาชน โดยเฉพาะต่อเด็กและสตรี และมีโครงการเฝ้าระวังความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

2. พื้นที่ที่มีการสะสมของสารโลหะหนักในอีก 4 จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สระบุรี และขอนแก่น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม เช่น การศึกษาสารโลหะหนักในตะกอนดิน คุณภาพอากาศ และสารมลพิษอื่นๆ ที่อาจปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม รวมถึงควรจะมีการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชนด้วย เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันปัญหาไม่ให้มีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

3. สำหรับพื้นที่ที่รัฐบาลมีนโยบายขยายอุตสาหกรรมเพิ่มเติม อาทิเช่น จังหวัดระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระบุรี และขอนแก่น ขอให้รัฐบาลดำเนินการศึกษาศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับมลพิษก่อนดำเนินการขยายพื้นที่อุตสาหกรรม รวมถึงความเหมาะสมของรูปแบบเศรษฐกิจที่จะส่งเสริมเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่

4. ขอให้มีการปฏิรูประบบการจัดการมลพิษอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อให้สามารถควบคุมและจัดการปัญหามลพิษอุตสาหกรรมได้จริงจังและมีประสิทธิภาพมากขึ้นตั้งแต่ต้นทางของปัญหา โดยการพิจารณานำหลักการสำคัญๆ มาใช้ในการปฏิรูป อาทิเช่น หลักป้องกันปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน หลักความรับผิดชอบของผู้ก่อมลพิษ และหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปฏิรูปในประเด็นต่อไปนี้

- การปรับปรุงระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)

- การตรากฎหมายใหม่ว่าด้วยทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษในสิ่งแวดล้อม (PRTR) ซึ่งประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมได้ใช้กฎหมายนี้ไม่น้อยกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และสามารถแก้ปัญหามลพิษได้สำเร็จในหลายประเทศ

- การช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเมื่อจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

- การจัดทำแนวกันชนและแนวป้องกันด้านสิ่งแวดล้อมภายในขอบเขตรั้วของโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแนวกันชนหรือแนวป้องกันระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชน และ/หรือระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมกับพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม

- การปรับปรุงและการแยกอำนาจหน้าที่ออกจากหน่วยงานเดียวกันระหว่างอำนาจในการกำกับดูแลด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อม กับอำนาจในการอนุมัติให้จัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรม

5. สำหรับพื้นที่ที่ประชาชนได้มีการร้องเรียนให้หน่วยงานราชการแก้ปัญหา โดยปัญหายังคงดำรงอยู่ ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนผู้ร้องเรียน ขึ้นมาสำรวจและแก้ปัญหาร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อลดความขัดแย้งและเป็นการสร้างความร่วมมือของทุกฝ่ายในการคุ้มครองสุขภาพ การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ทั้ง 8 จังหวัด

โดยปัจจุบันชุมชนหลายแห่งต้องประสบความเดือดร้อนจากมลพิษอุตสาหกรรม และมีความวิตกอย่างมากถึงความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมต่อสุขภาพ โดยเฉพาะแหล่งน้ำต่างๆ ที่จะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ว่าตะมีการปนเปื้อนสารอันตรายหรือไม่ มากน้อยเพียงใด เป็นอันตรายต่อสุขภาพในระดัลใด โดยต้องการมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนจากภาครัฐ

นอกจากนี้ ตัวแทนประชาชนที่มาร่วมนำเสนอยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเดือดร้อนในพื้นที่ต่างๆ อาทิ

- ตัวแทนประชาชนจากพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ได้ให้ข้อมูลว่า หน่วยงานราชการในท้องถิ่นบางแห่งขาดความเข้มงวดในการปฏิบัติงาน ซึ่งเห็นว่าจนเป็นปัจจัยสำคัญที่ซ้ำเติมให้สถานการณ์ปัญหามลพิษในพื้นที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

- ตัวแทนประชาชนจากพื้นที่ อ.บ้านแลง จ.ระยอง ได้ให้ข้อมูลว่า นอกจากปัญหามลพิษแล้ว ในพื้นที่ของตนยังประสบปัญหาการรุกพื้นที่สาธารณะ โดย บ.ไออาร์พีซี (บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)) ได้นำพื้นที่รวมทั้งสาธารณะประมาณ 200 ไร่ ไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม

- ตัวแทนประชาชนจากพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ได้ให้ข้อมูลว่า แม้ปัจจุปันจะมีการปิดเหมือง แต่สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ยังคงอยู่ ประชาชนที่ต่อสู้เรียกร้องเพื่อปกป้องชุมชนของตนยังคงถูกดำเนินคดีอีกกว่า 30 คดี

- ตัวแทนประชาชนจากพื้นที่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ได้ให้ข้อมูลและร้องเรียนถึงปัญหากลิ่นเหม็นจากโรงงาน แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการจะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบ แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่ เป็นต้น

ด้านตัวแทนรัฐบาลและตัวแทนหน่วยงานราชการที่มาร่วมรับฟังการนำเสนอ ได้ระบุว่า ปัญหาและข้อมูลทั้งหมดที่ถูกนำเสนอในวันนี้ จะถูกส่งไปยัง 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งได้ให้คำมั่นว่า ปัญหาทั้งหมดจะได้รับการดำเนินการแก้ไข ไม่ถูกละเลย เพียงแต่บางปัญหาอาจจะสามารถดำเนินการได้ในทันที ขณะที่บางปัญหาต้องใช้เวลาในการดำเนินการ

อนึ่ง การศึกษาการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในตะกอนดินของแหล่งน้ำผิวดินใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมใน 8 จังหวัดดังกล่าว เป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิบูรณะนิเวศ สมาคมอาร์นิก้า และมหาวิทยาลัยเคมีและเทคโนโลยีแห่งกรุงปราก สาธารณรัฐเชก ภายใต้โครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองในการเฝ้าระวังมลพิษอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนทุนจากสหภาพยุโรป (EU) โดยได้ดำเนินโครงการศึกษาการปนเปื้อนสารโลหะหนักในตะกอนดินของแหล่งน้ำผิวดินบริเวณพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 8 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดเลย ขอนแก่น สระบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และระยอง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยมีการศึกษาตัวอย่างตะกอนดินทั้งหมด 95 ตัวอย่าง แบ่งตามประเภทของการเก็บตัวอย่าง ได้แก่ ตะกอนดินในแหล่งน้ำผิวดิน 93 ตัวอย่าง และตะกอนดินชายฝั่งทะเล 2 ตัวอย่าง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับและขอบเขตการปนเปื้อนของสารโลหะหนักสำคัญๆ ได้แก่ สารหนู (As) ปรอท (Hg) สังกะสี (Zn) แคดเมียม (Cd) ทองแดง (Cu) นิกเกิล (Ni) โครเมียม (Cr) และตะกั่ว (Pb) ที่สะสมอยู่ในตะกอนดินของแหล่งน้ำผิวดินในเขตพัฒนาอุตสาหกรรม และเพื่อประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารเหล่านี้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.