Posted: 26 Jun 2017 10:40 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ภาคีเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนงานด้านชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 37 องค์กร ออกจดหมายเปิดผนึก ถึง พล.อ.ประยุทธ์ ร้องยุติกระบวนการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แนะเริ่มกระบวนการทำความที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างสมดุล และยกเลิกการเก็บการร่วมจ่าย


26 มิ.ย. 2560 ภาคีเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนงานด้านชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 37 องค์กร ออกจดหมายเปิดผนึก ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. เรื่อง ขอให้ยุติกระบวนการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยให้ยุติกระบวนการที่เหลือทั้งหมด และเริ่มกระบวนการทำความ เข้าใจเนื้อหาในการแก้ไข รับฟังความคิดเห็นที่กว้างขวาง และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างสมดุล
ภาคีเครือข่ายฯ ดังกล่าว ยังเสนอให้การแก้ไขกฎหมายยึดหลักการดังต่อไปนี้ แก้แล้วประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรเป็นที่ตั้ง ยกเลิกการเก็บการร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการ หรือในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ ให้ใช้ข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ในการแก้กฎหมาย ควรสนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมต่อการกระจายบุคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และจัดสมดุล โครงสร้างการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

รายชื่อภาคีเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนงานด้านชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 37 องค์กร ประกอบด้วย 1. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) 2. มูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์ (พชช.) 3. สมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ (สสช.) 4. สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท./IMPECT) 5. มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม (IPF) 6. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเครือข่ายชาติพันธุ์และผู้มีปัญหาสถานะ และสมาชิก 15 ศูนย์(เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน) 7. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น 8. เครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดเชียงราย 9. เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย 10. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย 11. เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง (คชส.) 12. เครือข่ายลีซู (Lisu) แห่งประเทศไทย 13. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ (เครือข่ายแรงงานนอกระบบ) 14. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน-คชส. 15. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.เชียงราย 16. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) 17. องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ (ประเทศไทย) 18. คริสตจักรภาค 11 สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย 19. คริสตจักรภาค 16 สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย 20. สถาบันไทใหญ่ศึกษา (วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน) 21. โครงการพัฒนาการเกษตรและการศึกษาอาข่า

22. มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง 23. สมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชาวอาข่า เชียงราย (AFECT) 24. มูลนิธิภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองบนพื้นที่สูง (IKAP) 25. ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) 26. มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) 27. องค์การพัฒนาอาชีพนานาเผ่าลุ่มน้ำฝาง (CICT) 28. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (KNCE) 29. มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ สำนักงานภาคเหนือ 30. มูลนิธิศึกษาวัฒนธรรมและการพัฒนาชาวเขาภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 31. สมาคมปกะเกอญอเพื่อการพัฒนาที่ยันยืน 32. เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ 33. ศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑลเชียงใหม่ 34. ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน 35. มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.) 36. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ 37. มูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทย (ภวส.)

รายละเอียดจดหมาย :

ศูนย์ประสานงานภาคีเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนงานด้านชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์
76/52 หมู่บ้านคำหยาดฟ้า ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

22 มิถุนายน 2560

เรื่อง ขอให้ยุติกระบวนการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เรียน นายกรัฐมนตรี(พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา)


จากการติดตามการคัดค้านของประชาชนในการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่ง เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนงานด้านชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ 37 องค์กร ร่วมกับเครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้ศึกษากฎหมายดังกล่าว พบว่า ร่างกฎหมายที่ได้รับการแก้ไขขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข ในการลดความเหลื่อมล้ำด้านบริการสาธารณสุข แนวโน้มเปิดโอกาสให้มีการร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการ หรือในแต่ครั้งในการใช้บริการ ขาดความครอบคลุมถึงบุคคลที่เป็นคนไทยรอพิสูจน์สถานะ คนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจ ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่มีความสมดุลในคณะกรรมการแก้ไขกฎหมาย ประชาชนไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ที่สำคัญไม่มีคำตอบ ว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของกฎหมายให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพราะหลักการและเหตุผลของการแก้กฎหมายไม่ชัดเจนว่าจะเกิดประโยชน์อย่างไรกับประชาชน แต่เจาะจงว่าจะแก้มาตราไหนอย่างไรบ้าง พร้อมขอเสนอให้การแก้ไขกฎหมายยึดหลักการดังต่อไปนี้

1. การแก้ไขกฎหมายควรยึดหลักการ แก้แล้วประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรเป็นที่ตั้ง เช่น ควรมีการแก้ไขมาตรา 9 มาตรา 10 เพื่อรับรองสิทธิประชาชนด้านบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานเดียวสำหรับทุกคนและมีคุณภาพ ยอมรับว่าสิทธิด้านสุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนเป็นมนุษย์ควรได้รับเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่ภายใต้กองทุนใด ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายสมทบด้านสุขภาพและให้นำเงินสมทบส่วนสุขภาพของผู้ประกันตนไปเพิ่มในสัดส่วนของบำนาญชราภาพเพื่อที่จะทำให้ผู้ประกันตนมีความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิตมากขึ้น รวมถึงครอบคลุมกลุ่มคนไทย(บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ คนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจด้วย

2. ยกเลิกการเก็บการร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการ หรือในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ เพราะการแก้ไขไม่ได้ยกเลิกการร่วมจ่าย ประชาชนมีโอกาสร่วมจ่ายเมื่อมีการไปใช้บริการ เนื่องจากการแก้ไขมีการเพิ่มเติมสัดส่วนกรรมการจากสถานพยาบาลที่มีแนวโน้มเห็นด้วยกับการร่วมจ่าย และการแยกแยะคนจนผ่านระบบขึ้นทะเบียนคนจน ซึ่งการเก็บเงิน ณ จุดบริการ ทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงบริการ หลายมาตรฐาน ความขัดแย้ง แต่รัฐบาลควรมีแนวทางในการเก็บเงินก่อนป่วยในรูปแบบภาษี หรือสนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบุหรี่และแอลกอฮอล์ น้ำตาล หรือภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น กำไรในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Capital Gain) เพราะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นของทุกคน คนชั้นกลางก็มีสิทธิล้มละลายได้ถ้าต้องจ่ายค่ารักษาบริการสุขภาพราคาแพงด้วยตนเอง

3. ให้ใช้ข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ในการแก้กฎหมาย (Evidence Based) เช่น ควรแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้ สปสช. สามารถจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง โดยในปัจจุบัน สปสช. จัดซื้อยารวมสำหรับโครงการพิเศษเพียงร้อยละ 4.9 ของการจัดซื้อยา ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณในรอบ 10 ปีได้เกือบ50,000 ล้านบาท เพราะหากไม่แก้กฎหมายให้สามารถจัดซื้อได้ รัฐบาลจะนำเงินปี ละ 5,000 ล้านบาทมาจากไหน ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ หรือนี่คือหลุมพรางให้เกิดการร่วมจ่ายของประชาชนในส่วนค่ายาเมื่อไปโรงพยาบาล

4. การแก้กฎหมาย ควรสนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมต่อการกระจายบุคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยการไม่ควรมีการแยกเงินเดือนและค่าตอบแทนของบุคลากรข้าราชการสาธารณสุขออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เพราะจะส่งผลเกิดปัญหาการกระจุกตัวของบุคลากรในเขตเมืองหรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่เกิดขึ้น ยังส่งผลกระทบทำให้โรงพยาบาลต่างๆไม่สามารถจัดจ้างลูกจ้างพนักงานเพิ่มเติมได้ จะเห็นว่ายิ่งจะทำให้เกิดปัญหาการกระจายบุคลากรที่ไม่เป็นธรรมต่อหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลต่อไปไม่สิ้นสุด

5. การจัดสมดุล โครงสร้างการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การแก้ไขกระทำโดยเพิ่มสัดส่วนผู้ประกอบวิชาชีพมากขึ้นทั้งสองคณะ ทั้งที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรเพิ่มสัดส่วนผู้รับบริการให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดความสมดุล และตัดสัดส่วนกรรมการหน่วยงานรัฐที่มีความเกี่ยวข้องน้อย ส่วนคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข ควรมีสัดส่วนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน มาตรา 50 (5) ตัดคณะกรรมการด้านวิชาชีพที่ซ้ำซ้อนกัน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งสองคณะเป็นไปมีประสิทธิภาพ และเพิ่มสมดุล ของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการจำกัดปริมาณคณะกรรมการในจำนวนที่เหมาะสมครบองค์ประกอบตามแนวทางมาตรา 77 รัฐธรรมนูญปี 2560

ท้ายที่สุดนี้ ขอเรียกร้องให้ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยุติกระบวนการที่เหลือทั้งหมด และเริ่มกระบวนการทำความ เข้าใจเนื้อหาในการแก้ไข รับฟังความคิดเห็นที่กว้างขวาง และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างสมดุล

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้

เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนงานด้านชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.