Posted: 26 Jun 2017 09:33 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เนื่องในวันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานสากล ชี้ความพยายามในการป้องกัน การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และการเยียวยาผู้เสียหายของรัฐไทยไม่ประสบผลสำเร็จทั้งเชิงโครงสร้างทางกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ


26 มิ.ย. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เนื่องในวันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานสากล ระบุว่า ความพยายามในการป้องกันการทรมาน การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และการเยียวยาผู้เสียหายของรัฐไทยไม่ประสบผลสำเร็จทั้งเชิงโครงสร้างทางกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกร้องด้วยว่า รัฐไทยต้องยกเลิกการบังคับใช้และแก้ไขกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ถูกคุมขังว่าจะถูกทรมานและยกเว้นการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายโดยศาล รวมถึงกฎหมายที่ยกเว้นความรับผิดของผู้กระทำการทรมาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ.ร.บ.กฎอัยการศึก 2457 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ต้องสอบสวนโดยพลันต่อข้อร้องเรียนว่ามีการทรมาน โดยหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง ให้ความคุ้มครองพยานและผู้ร้องเรียนโดยสุจริตว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น รวมถึงกำหนดมาตรการเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานอย่างมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งต้องเร่งดำเนินการออกกฎหมายภายในให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี รวมถึงเร่งดำเนินการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (OPCAT) เพื่อให้มีกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (National Prevention Mechanism) ในการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว

รายละเอียดแถลงการณ์ : 

แถลงการณ์เนื่องในวันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานสากล
โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

วันที่ 26 มิถุนายน 2560


ความพยายามในการต่อต้านการทรมานระดับสากลของรัฐไทย เริ่มขึ้นในวันที่ 2 ตุลาคม 2550 เมื่อรัฐไทยภาคยานุวัติเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) และนับแต่อนุสัญญา มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 รัฐไทยมีหน้าที่ต้องปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการทั้งด้านบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ ให้สอดคล้องกับข้อบังคับในอนุสัญญาฯ ซึ่งรวมถึงการบัญญัติให้การทรมานเป็นความผิดอาญาโดยกฎหมายภายในประเทศ กำหนดกลไกการสืบสวนและดำเนินคดีเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด และกำหนดมาตรการเยียวแก่ผู้เสียหายจากการทรมาน

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่าน นอกจากความล่าช้าในการอนุวัติการเพื่อให้มีกฎหมายภายในบังคับใช้เป็นการเฉพาะต่อการกระทำความผิดฐานทรมาน ในระยะสามปีที่ผ่านมา ภายหลังการรัฐประหาร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มาตรการทั้งด้านบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติของรัฐไทยภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกจากจะขัดขวางมิให้มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ประกาศและคำสั่งบางฉบับที่ออกในนาม คสช. ที่ออกตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ยังสร้างภาวะให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวด้วยอำนาจรัฐ เสี่ยงต่อการตกเป็นผู้เสียหายจากการทรมาน โดยไม่สามารถเรียกร้องให้มีการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการควบคุมตัว รวมถึงไม่อาจตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำสั่งที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวบุคคลไว้โดยไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการได้ไม่เกินเจ็ดวัน ไม่ได้พบญาติหรือทนายความ และไม่มีการตรวจสอบคำสั่งโดยองค์กรตุลาการ ทั้งการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ผ่านคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 กรณีนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้มีข้อสรุปเชิงเสนอแนะต่อประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 ให้ทบทวนและแก้ไขคำสั่งดังกล่าวให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้เกิดการควบคุมตัวไม่ชอบ แต่รัฐไทยยังคงใช้อำนาจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนเสี่ยงต่อการถูกทรมาน และปราศจากหลักประกันสิทธิและเสรีภาพ ยิ่งไปกว่านั้น รายงานผลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อข้อร้องเรียนผ่านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่ามีผู้ถูกกระทำทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐภายหลังการรัฐประหารในปี 2557 อย่างน้อย 14 กรณี ฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ยังระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีอุปสรรคเรื่องระยะเวลาในการเข้าถึงพยานหลักฐานและความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ข้อร้องเรียนว่ามีการทรมานภายหลังการรัฐประหารในกรณีของ กริชสุดา คุณะเสน สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน หรือจำเลยในคดีระเบิดราชประสงค์ ล้วนไม่ได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เป็นอิสระและเป็นกลาง รวมถึงในบางกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกลับข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีกับผู้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ความพยายามในการป้องกันการทรมาน การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และการเยียวยาผู้เสียหายของรัฐไทยไม่ประสบผลสำเร็จทั้งเชิงโครงสร้างทางกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ และเนื่องในวันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานสากล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อเรียกร้องต่อรัฐไทย ดังนี้

1. รัฐไทยต้องยกเลิกการบังคับใช้และแก้ไขกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ถูกคุมขังว่าจะถูกทรมานและยกเว้นการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายโดยศาล รวมถึงกฎหมายที่ยกเว้นความรับผิดของผู้กระทำการทรมาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559

2. รัฐไทยต้องทำการสอบสวนโดยพลันต่อข้อร้องเรียนว่ามีการทรมาน โดยหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง ให้ความคุ้มครองพยานและผู้ร้องเรียนโดยสุจริตว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น รวมถึงกำหนดมาตรการเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานอย่างมีประสิทธิภาพ

3. รัฐไทยต้องเร่งดำเนินการออกกฎหมายภายในให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี รวมถึงเร่งดำเนินการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (OPCAT) เพื่อให้มีกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (National Prevention Mechanism) ในการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.