Posted: 27 Jun 2017 11:03 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

27 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเหนือตอนบน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ยุติกระบวนการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ... ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ โดยเรียกร้องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุติกระบวนการแก้กฎหมายฉบับนี้ แล้วเริ่มต้นกระบวนการใหม่ ยุติการส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามตรวจสอบประชาชนทุกรูปแบบ แล้วเปิดเวทีรับฟังความเห็นก่อนการเริ่มต้นแก้กฎหมายโดยเฉพาะการมีความเห็นร่วมกันในเรื่องหลักการของกฎหมายก่อน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการให้ความเห็น การส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการแก้กฎหมาย และการเปิดกว้างให้รับรู้กระบวนการขั้นตอนต่างๆอย่างโปร่งใสต่อไป

รายละเอียดดังนี้ :


แถลงการณ์ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเหนือตอนบน (กป.อพช.)

เรื่อง ยุติกระบวนการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ... ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ

26 มิถุนายน 2560


คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเหนือตอนบน(กป.อพช.ภาคเหนือบน) ได้พิจารณาเห็นว่ากระบวนการที่รัฐบาลเร่งรัดในการปรับแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่กำลังดำเนินการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมอบหมายให้นายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานคณะกรรมการยกร่างแก้กฎหมายนั้น มีความเร่งรีบและไม่เปิดกว้างให้ประชาชนรับรู้ เพราะมีการปิดเป็นความลับไม่ให้มีการสื่อสารใดใด กระทั่งเมื่อร่างเสร็จแล้ว ต้องทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงได้นำไปรับฟังความเห็น ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแก้กฎหมายฉบับนี้ได้แสดงออกด้วยสัญลักษณ์การไม่ยอมรับกระบวนการแก้กฎหมายและการจัดเวทีรับฟังความเห็น 4 ภาค ทั้งนี้ กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมา เป็นกฎหมายที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนว่าได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทุกครั้งที่ไปรับบริการ ยกเว้นการจ่ายค่าธรรมเนียมครั้งละ 30 บาท รัฐบาลทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณประจำปีเป็นค่ารักษาให้ประชาชน โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ทำหน้าที่บริหารจัดการ มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานดูแลให้โรงพยาบาลปฏิบัติการรักษาประชาชนตามสิทธิที่ควรได้รับตามข้อกำหนดสิทธิประโยชน์ที่ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นกฎหมายที่ให้สิทธิและคุ้มครองสิทธิประชาชนด้านสุขภาพโดยแท้จริง

การดำเนินการแก้กฎหมายครั้งนี้ มุ่งเน้นการแก้เกี่ยวกับหน่วยงานรักษาให้ปฏิบัติงานได้คล่องตัวขึ้น ขณะเดียวกันมีความพยายามแก้ในเชิงที่ขัดแย้งกับหลักการเจตนารมณ์เดิมของกฎหมาย เช่น การเพิ่มจำนวนกรรมการที่มาจากภาคผู้ให้บริการ การเพิ่มสภาวิชาชีพจำนวนมาก ขณะที่คงจำนวนตัวแทนประชาชนและลดจำนวนผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ กรรมการฯเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดจำนวนงบประมาณและสิทธิประโยชน์ของประชาชน ควรมีตัวแทนของประชาชนมากกว่าผู้ให้บริการจึงจะสอดคล้องกับหลักการเป็นผู้สร้างหลักประกันให้ทุกคน ที่สำคัญควรเป็นการแก้เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์และความครอบคลุม โดยเฉพาะกรณีคนไทยที่ตกหล่น คนไทยรอพิสูจน์สถานะบุคคล ชนเผ่าพื้นเมือง ควรมีการแก้กฎหมายให้ครอบคลุมคนเหล่านี้ด้วย รวมถึงการรับประกันว่าประชาชนจะไม่ต้องจ่ายค่าบริการเมื่อไปรับบริการทุกครั้ง ส่วนที่ควรปรับเพิ่มเติมให้ชัดเจนขึ้นคือเรื่องการเพิ่มอำนาจให้กรรมการหลักประกันสุขภาพฯ สามารถจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ จำเป็นราคาสูงด้วยระบบการต่อรองราคาและจัดซื้อระดับประเทศที่ สปสช.ดำเนินการมาโดยตลอดที่สามารถประหยัดงบประมาณจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ควรปรับแก้เพื่อรับรองสิทธิประชาชนที่จะได้รับยาจำเป็นโดยเสมอภาคกัน

การแก้กฎหมายครั้งนี้มี สิ่งที่ควรปรับแก้แต่ไม่ทำ แต่มีการเพิ่มการแก้ไขในสิ่งที่ขัดเจตนารมณ์เดิม เมื่อกลุ่มประชาชนที่เข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพได้มีการเคลื่อนไหวแสดงสัญลักษณ์ไม่ยอมรับกระบวนการและเนื้อหาในการแก้กฎหมายที่ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและทุกภาคส่วนนั้น รัฐบาลยังไม่แสดงท่าทีที่จะพิจารณาทบทวนกระบวนการ นอกจากนี้โฆษกรัฐบาลได้แสดงท่าทีที่มีผลคุกคามโดยการอ้างว่าจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามประชาชนที่คัดค้านในพื้นที่ ทั้งนี้การคัดค้านกระบวนการแก้กฎหมายที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นเสรีภาพซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกทางความเห็น

กป.อพช.ภาคเหนือจึงขอให้ นายกรัฐมนตรียุติกระบวนการแก้กฎหมายฉบับนี้ แล้วเริ่มต้นกระบวนการใหม่ ยุติการส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามตรวจสอบประชาชนทุกรูปแบบ แล้วเปิดเวทีรับฟังความเห็นก่อนการเริ่มต้นแก้กฎหมายโดยเฉพาะการมีความเห็นร่วมกันในเรื่องหลักการของกฎหมายก่อน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการให้ความเห็น การส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการแก้กฎหมาย และการเปิดกว้างให้รับรู้กระบวนการขั้นตอนต่างๆอย่างโปร่งใสต่อไป

27 มิถุนายน 2560

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือตอนบน (กป.อพช.เหนือบน)

กลุ่มเขลางค์เพื่อการพัฒนา ลำปาง

กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ เชียงราย

กลุ่มดอยหมอกเพื่อการพัฒนา ลำปาง

กลุ่มรักษ์เชียงของ เชียงราย

กลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา เชียงราย

คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ภาคเหนือ(กพอ.ภาคเหนือ)

เครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบน

เครือข่ายทรัพยากรและเกษตรกรรมยั่งยืน น่าน

เครือข่ายที่ดิน จ.แพร่

โครงการจัดการลุ่มน้ำปิงตอนบน พะเยา

โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท ลำพูน

โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เชียงใหม่

โครงการฟื้นฟูชีวิตและวัฒนธรรม แม่ฮ่องสอน

โครงการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำแม่สอย เชียงใหม่

โครงการละครชุมชน เชียงใหม่

โครงการส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน น่าน

โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายท้องถิ่นและหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อการจัดการลุ่มน้ำอิงอย่างยั่งยืน ภายใต้องค์กรปฏิบัติการ คือ ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอป ประเทศไทย และ สถาบันความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อลุ่มน้ำโขงและอาเซียน (BALAD) พะเยา

ชมรมคริสเตียนเพื่อการพัฒนาในประเทศไทย เชียงใหม่

พันธกิจเอดส์ สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย เชียงใหม่

มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา พะเยา

มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ เชียงใหม่

มูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา เชียงราย

มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เชียงใหม่

มูลนิธิพัฒนาภูมิปัญญาชนเผ่าบนพื้นที่สูง เชียงใหม่

มูลนิธิพัฒนาสตรีภาคเหนือ เชียงใหม่

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ เชียงใหม่

มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เชียงใหม่

มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ เชียงใหม่

มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์ เชียงใหม่

มูลนิธิรักษ์ไทย พะเยา

มูลนิธิวายเอ็มซีเอเพื่อการพัฒนาภาคเหนือ เชียงใหม่

มูลนิธิไว เอ็ม ซี เอ กรุงเทพฯ สาขาพะเยา

มูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท เชียงใหม่

มูลนิธิสายสัมพันธ์ เชียงใหม่

มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว เชียงใหม่

มูลนิธิฮักเมืองน่าน น่าน

มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ เชียงใหม่

ศูนย์การเรียนรู้โจโก้ เชียงใหม่

ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง เชียงใหม่

ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดพะเยา พะเยา

ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน เชียงใหม่

ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น เชียงใหม่

สถาบันการจัดการทางสังคม น่าน

สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน น่าน

สถาบันพัฒนาและเสริมสร้างการเรียนรู้อย่างยั่งยืน น่าน

สถาบันร่วมเรียนรู้ ลำพูน

สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เชียงใหม่

สถาบันอ้อผญา แม่ฮ่องสอน

สมาคมชีวิตดี ลำปาง

สมาคมพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ ลำพูน

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ลำพูน

สมาคมวาย เอ็ม ซี เอ เชียงใหม่ สาขาลำพูน

สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย เชียงใหม่

สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม เชียงราย

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เชียงราย

สำนักข่าวเด็กและเยาวชน พะเยา

สิทธิชุมชนจังหวัดพะเยา พะเยา

โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เชียงใหม่

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ ภาคเหนือบน เชียงใหม่

ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เชียงใหม่

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.