Posted: 27 Jun 2017 12:27 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

จะเป็นอย่างไรถ้าหากโซเชียลเน็ตเวิร์กพยายามตรวจสอบอารมณ์คุณผ่านสีหน้าหรือการพิมพ์ข้อความเพื่อนเสนอข้อมูลที่พวกเขาคิดเอาเองว่าคุณจะสนใจโดยดูจากอารมณ์นั้นๆ เมื่อไม่นานมานี้สื่อต่างชาติรายงานถึงเรื่องที่พวกเขาค้นพบการจดสิทธิบัตรของเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่สุ่มเสี่ยงต่อความเป็นส่วนตัว แต่ทางเฟซบุ๊กก็บอกว่าพวกเขาไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีจากแนวคิดในสิทธิบัตรนี้มาใช้ หรืออย่างน้อยก็ยังไม่ได้ทำ


27 มิ.ย. 2560 สื่อดิอินดิเพนเดนต์ รายงานว่า เฟซบุ๊คกำลังพิจารณาเรื่องการแอบดูผู้ใช้อย่างลับๆ และเก็บข้อมูลปฏิกิริยาของผู้ใช้ผ่านเว็บแคม และกล้องโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลดังกล่าวนี้ได้มาจากรายละเอียดการจดสิทธิบัตรที่เฟซบุ๊กจดไว้กับสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสหรัฐฯ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว

สิทธิบัตรดังกล่าวมีชื่อว่า "เทคนิคสำหรับการตรวจจับอารมณ์และการส่งถึงเนื้อหา" (Techniques for Emotion Detection And Content Delivery) โดยระบุถึงการที่บริษัทเฟซบุ๊กต้องการพัฒนาวิธีการตรวจจับอารมณ์ของผู้ใช้งาน รวมถึงมีการระบุประเภทของอารมณ์และประมวลผลเพื่อจัดหาข้อมูลเนื้อหาที่สอดรับกับอารมณ์ของผู้ใช้

ในสิทธิบัตรดังกล่าวยังมีภาพที่แสดงถึงผู้ใช้งานโทรศัพท์สมาร์ทโฟนถูกเก็บภาพจากกล้องโทรศัพท์มือถือหรือเทคโนโลยีเก็บภาพใดๆ ก็ตาม แล้วส่งผ่านไปยังระบบประมวลผลด้านการตรวจจับอารมณ์ ไปยังหน่วยความจำและการประมวลผลอื่นๆ โดยจะเก็บรวบรวมประเภทของการแสดงอารมณ์ความรู้สึกนั้นๆ ไว้ แล้วก็จัดหาเนื้อหาที่เหมาะสมตามอารมณ์ของผู้ใช้งาน

กล่าวอย่างย่อคือเฟซบุ๊กพยายามจะตรวจจับอารมณ์ผู้ใช้แล้วจัดหาเนื้อหาที่เหมาะสมกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ใช้ รวมถึงยังมีการเก็บข้อมูลอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นเอาไว้ด้วย ยกตัวอย่างเช่นถ้าเฟซบุ๊กตรวจจับได้ว่าเรายิ้มเมื่อมองรูปเพื่อนคนหนึ่ง ระบบการจัดเรียงข้อมูลของเฟซบุ๊กก็จะจดจำอารมณ์แบบนี้ไว้และทำให้รูปของเพื่อนเราปรากฏให้เราเห็นบ่อยครั้งขึ้น

อีกตัวอย่างหนึ่งที่มีการระบุไว้ในรายละเอียดการขอสิทธิบัตรคือถ้าหากผู้ใช้มองไปทางอื่นในขณะที่มีวิดีโอของลูกแมวเล่นอยู่เฟซบุ๊กจะไม่นำวิดีโอที่มีลักษณะคล้ายกันนี้มาเผยแพร่ในหน้าข่าวสารหรือฟีด (feed) ของผู้ใช้นั้นๆ

นอกจากนี้รายละเอียดสิทธิบัตรยังระบุถึงการนำมาใช้กับโฆษณาโดยระบุยกตัวอย่างว่าถ้าหากผู้ใช้รับชมโฆษณาเกี่ยวกับสก็อตช์วิสกี เฟซบุ๊กก็จะนำเสนอโฆษณาสก็อตช์วิสกีให้กับผู้ใช้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้สิทธิบัตรดังกล่าวยังระบุถึงรายละเอียดเรื่องการพยายามตรวจจับการลงน้ำหนักการพิมพ์ข้อความลงในโปรแกรมแช็ตส่งข้อความของพวกเขาเพื่อหาข้อมูลว่าผู้ส่งข้อความกำลังรู้สึกอย่างไรด้วย

สิทธิบัตรฉบับดังกล่าวนี้เฟซบุ๊กขอยื่นมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2557 และมีการตีพิมพ์เผยแพร่มาตั้งแต่ ส.ค. 2558 แล้วแต่สื่อบางแห่งเพิ่งพบเห็นสิทธิบัตรชิ้นนี้ ทางโฆษกของเฟซบุ๊กกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าพวกเขายื่นจดสิทธิบัตรในเรื่องเทคโนโลยีที่พวกเขาไม่เคยนำมาใช้จริง และไม่ควรตีความการจดสิทธิบัตรว่ามันบ่งบอกถึงแผนการในอนาคตของเฟซบุ๊ก

อย่างไรก็ตามเอกสารสิทธิบัตรก็ยังเผยให้เห็นถึงเรื่องที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องหนึ่งคือในปี 2557 เฟซบุ๊กเคยทดลองปรับเปลี่ยนหน้าข่าวสารที่เรียกว่านิวส์ฟีดของผู้ใช้หลายแสนคนอย่างลับๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองในเรื่องนี้ว่ามันจะส่งผลต่ออารมณ์ของผู้คนอย่างไรบ้าง ซึ่งทางเฟซบุ๊กยอมรับในเวลาต่อมาว่าพวกเขาไม่ได้สื่อสารเรื่องนี้ดีพอว่าทำไมต้องทำเช่นนี้และใช้วิธีการใด

เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมาเคยมีภาพของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กใช้เทปกาวปิดเว็บแคมโน็ตบุ๊กและไมโครโฟนของตัวเองไว้ทำให้ผู้คนพากันตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าเทคโนโลยีที่เฟซบุ๊กจดสิทธิบัตรไว้จะถูกนำมาใช้จริงหรือไม่



เรียบเรียงจาก

Facebook could secretly watch users through webcams, patent reveals, The Independent, 08-06-2017

http://www.independent.co.uk/life-style/gadgets-and-tech/news/facebook-plans-to-watch-users-through-webcams-spy-patent-application-social-media-a7779711.html

รายละเอียดสิทธิบัตร Techniques for Emotion Detection And Content Delivery, United States Patent and Trademark Office

http://pdfaiw.uspto.gov/.aiw?PageNum=0&docid=20150242679&IDKey=47BC4614A23D

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.