Me-Pride: ภูมิใจในความเป็นแอลจีบีที

Posted: 29 Jun 2017 07:01 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ไพรด์ ( Pride ) ไม่ใช่คำภาษาไทย แต่พักหลัง ๆ มา ดูเหมือนว่าคำ ๆ นี้กำลังใกล้ที่จะเป็นคำในภาษาไทยเข้าไปทุกที โดยเฉพาะในวงการ LGBTIQ ซึ่งก็ไม่ใช่คำภาษาไทยอีก ( และก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะเป็นคำในภาษาไทยอีกไม่นาน )

ไพรด์ แปลเป็นไทยว่า “ความภาคภูมิใจ ”

ในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปีเรามักจะได้ยินคำนี้บ่อยเป็นพิเศษในบริบทที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTIQ ( แอลจีบีทีไอคิว เป็นคำย่อมาจากคำในภาษาอังกฤษเต็ม ๆ ว่า Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, intersex, Queer หรือ เลสเบี้ยน,เกย์,ทรานสเจนเดอร์,อินเตอร์เซ็กส์ และเควียร์ แปลจากภาษาไทยที่ทับศัทพ์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยอีกทีว่า หญิงรักหญิง ชายรักชาย บุคคลข้ามเพศ บุคคลที่มีอวัยวะเพศกำกวม และ เควียร์ คำสุดท้ายแปลไม่ได้ ไม่มีคำศัพท์ มีแต่คำอธิบายว่าหมายถึง บุคคลที่ไม่ต้องการนิยามตนเองว่ามีเพศภาวะ เพศวิถีแบบใดแบบหนึ่ง เพราะเชื่อว่าเรื่องเพศวิถี และเพศภาวะ เป็นสิ่งที่ไม่อยู่นิ่งเปลี่ยนแปลงได้ตลอด )

ทำไมเราถึงได้ยินคำว่า “ไพรด์” บ่อย ๆ ในเดือนมิถุนายน เพราะ เดือนนี้เป็นเดือนที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์แอลจีบีทีไอคิวตะวันตก เนื่องจากเป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์ตำรวจเมืองนิวยอร์คบุกเข้าไปในบาร์ของโรงแรมชื่อสโตนวอลล์ในย่านกรีนิช วิลเลจ ของเมืองนิวยอร์ค ซึ่งเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ของ แอลจีบีที และได้เกิดการปะทะกันขึ้น โดยตำรวจได้ทำร้ายแอลจีบีทีที่อยู่ในบาร์หลายคนในช่วงเช้ามืดของวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2512 และนับจากนั้นเป็นต้นมาในเดือนมิถุนายนของทุก ๆ ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกาและเมืองใหญ่ ๆ หลายเมืองทั่วโลก จะมีการจัดงานเดินขบวนเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่แอลจีบีทีไอคิวถูกทำร้ายในครั้งนั้น และเฉลิมฉลองอย่างภาคภูมิใจในความเป็นแอลจีบีทีไอคิว เพื่อต่อสู้กับอคติและความรังเกียจกีดกันการไม่ยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแอลจีบีทีที่ยังมีอยู่ในสังคมทุก ๆ สังคม

อันที่จริงในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แอลจีบีทีในยุโรป อาจจะเน้นไปที่จี ( เกย์ ) มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ก็โดนจับเข้าค่ายกักกันของนาซีและถูกสังหาร เช่นเดียวกับชาวยิว ที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และโดยติดป้ายสัญลักษณ์สามเหลี่ยมสีชมพู เพื่อจัดประเภท แต่เรื่องราวของการทรมานและสังหารเกย์ในสงครามโลกครั้งที่สองอาจได้รับการรับรู้น้อยกว่าเหตุการณ์สโตนวอลล์ แต่ก็สรุปได้ว่า ทั้งสองเหตุการณ์นี้ล้วนเป็นเหตุการ์ในประวัติศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเกลียดชัง การเหยียดหยาม การทำร้ายแอลจีบีทีจนถึงชีวิต และความเกลียดชังรังเกียจการทำร้ายเหล่านี้ก็ยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ อย่างที่เราจะได้ยินข่าวบ่อย ๆ อย่างในกรณีนโยบายที่กีดกัน ไม่ยอมรับแอลจีบีทีในรัสเซีย หรือเชชเนีย จึงไม่น่าแปลกใจที่แอลจีบีทีในตะวันตก จะ “รู้สึก” มากขนาดไหนกับคำว่า “ไพร์ด” หรือ รู้สึก “ภาคภูมิใจ”ใน “ความเป็นแอลจีบีที” และภูมิใจใน “การต่อสู้เพื่อสิทธิของแอลจีบีที”

ที่ผ่านมาในเมืองไทยก็มีการจัดงาน “ไพรด์” มาแล้วหลายครั้ง นับตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการจัดในปี พ.ศ. 2542 ที่กรุงเทพ ฯ ( ห่างจากไพร์ดในอเมริกาถึง 30 ปีกันเลยทีเดียว ) อย่างไรก็ตามดูเหมือนงานไพร์ดของไทยแต่ละครั้งที่ผ่านมาอาจไม่ได้จัดตรงกับเดือนมิถุนายน เพราะหลาย ๆ ครั้ง มักจะไปอิงกับงานรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์บ้าง เพราะภาพของบุคคลรักเพศเดียวกัน โดยเฉพาะชายรักชาย หรือชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง บวกกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิของชายรักชาย และสาวประเภทสองหลายองค์กร เป็นองค์กรที่ทำงานในประเด็นสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงานด้านการป้องกันเอดส์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายโดยตรง ทำให้แทบทุกครั้ง “เนื้อหา” หรือ “แนวคิดหลัก” ของการจัดงานจะต้องมีการรณรงค์เรื่องการป้องกันเอชไอวี/เอดส์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเสมอ งานไพร์ดหลายครั้งจึงมักไปจัดในช่วงเดือนธันวาคม เนื่องจากวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันเอดส์โลก นอกจากนี้ในช่วงหลัง ๆ ขบวนการแอลจีบีทีก็ยังมีวาระให้จัดงานเฉลิมฉลองวันสีรุ้งอีกหลายครั้ง ทั้งวันที่ 29 พฤศจิกายน หรือวันที่เครือข่ายความหลากหลายทางเพศได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกรณีการต่อสู้เรื่องการเปลี่ยนคำที่ระบุในเอกสารสด. 43 และวันที่ 17 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันรณรงค์สากลแห่งการขจัดความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน

จากประสบการณ์ส่วนตัว ฉันเคยเข้าร่วมงานไพร์ดอยู่หลายครั้ง ( จำไม่ได้ว่ากี่ครั้ง ) เคยแม้กระทั่งร่วมประชุมเตรียมงานในบางปี ในฐานะตัวแทนองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิของบุคคลรักเพศเดียวกัน และเคยมีโอกาสเข้าร่วมงานไพร์ดในต่างประเทศอยู่ 2 ครั้ง เมื่อนานมาแล้ว ครั้งหนึ่งคือที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งงงานไพร์ดในครั้งนั้น เป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจ ในวันครอบรอบที่ฟิลิปปินส์ประกาศอิสรภาพจากการเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกาครบรอบร้อยปีพอดีด้วย และที่อัมสเตอร์ดัม ในปีที่อัมสเตอร์ดัมเป็นเจ้าภาพจัดงานเกย์เกมส์พอดีอีกเหมือนกัน

วัดจากความรู้สึกของตัวเอง ในบรรดางานไพร์ด ที่เคยไปร่วมมาทั้งหมด มีแค่ไม่กี่ครั้งที่ฉันในฐานะแอลจีบีทีคนหนึ่ง และนักกิจกรรมคนหนึงรู้สึก “ภูมิใจ” หรือ “อิน” กับบรรยากาศแห่งความภาคภูมิใจนี้จริง ๆ

งานไพร์ดที่ฉันรู้สึก “อิน” คืองานไพร์ดที่อัมสเตอร์ดัม และที่เชียงใหม่เนื่องในวาระวันรำลึกถึงเหตุการณ์ “เสาร์ซาวเอ็ด”หรือเหตุการณ์ที่กลุ่มการเมืองมาเฟียมาหาเรื่องปิดล้อมขบวนพาเหรดรณรงค์ของแอลจีบีทีที่พุทธสถานกลางเมืองเชียงใหม่ เพราะอ้างว่าเป็นการทำลายวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ทั้งที่ก่อนหน้านั้นองค์กรแอลจีบีทีก็เคยจัดงานรณรงค์ต่อต้านเอชไอวีมาแล้วหลายครั้ง

ในฐานะแอลจีบีทีคนหนึ่ง แน่นอนว่า ฉันชัดเจนยอมรับและรู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่ฉันเป็นเสมอ และก็ในฐานะแอลจีบีทีคนเดียวกันนี้นี่แหละ ฉันกลับไม่รู้สึกว่า ฉันภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของงานไพร์ดในประเทศไทยหลาย ๆ ครั้ง


ก็แปลกดี ที่อัมสเตอร์ดัม ฉันเป็นแค่คนดู เหมือนคนอื่น ๆ ท่ามกลางบรรยากาศที่สนุกสนานครื้นเครง อบอุ่น ทุก ๆ คนพากันมาจับจองที่นั่งริมถนน ริมคลองเพื่อที่จะได้เห็นขบวนเรือสีรุ้งจากองค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ ได้ชัดมากที่สุด แม้จะฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ด้วยภาษาที่แตกต่าง แต่ก็สัมผัสได้ถึง ความตั้งใจ ความภูมิใจในความเป็นแอลจีบีทีที่เรือแต่ละลำสื่อออกมาผ่านการตกแต่งประดับประดา การแต่งตัว การแสดงโชว์บนเรือ หรือป้ายต่าง ๆ ที่ติดตามลำเรือ

ในขณะที่อยู่เมืองไทย ในบ้านของตัวเองแท้ ๆ แถมยังอยู่ท่ามกลางคนรู้จัก คนกันเอง ที่สื่อสารด้วยภาษาของเราเองด้วยซ้ำ แต่ ฉันกลับรู้สึกแปลกแยก เพราะบรรยากาศรอบตัว คนบนถนน บนรถเมล์ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดงานยังคงส่งสายตาที่เต็มไปด้วยคำถาม ไม่เข้าใจว่าเราทำอะไร พวกนี้มาปิดถนนสีลมไปหนึ่งเลนให้รถติดเพื่ออะไร ทำไมมีผู้ชายแต่งตัวโป๊ ๆ มายืนเต้นบนรถ ฯลฯ พวกเขาไม่ได้ทั้งเข้าใจ และไม่ได้สนุกด้วย คนที่มาเดินในขบวนก็เช่นเดียวกัน ไม่แน่ใจว่าจะมีสักกี่คนที่มาเดินด้วยความภาคภูมิใจ เพื่อนหลายคนบอกว่า เดี๋ยวจะไปแอบ ๆ ยืนเชียร์อยู่ข้างถนนนะ เพราะถ้าไปเดินร่วมขบวน กลัวถูกถ่ายรูป ยังไม่ได้บอกที่บ้านว่าเป็นแอลจีบีที ส่วนน้อง ๆ หนุ่ม ๆ ที่ใส่ชุดเซ็กซี่หลายคนก็มาเพราะถูกเกณฑ์มา มาเดินโฆษณาให้กับบาร์ที่ตัวเองทำงาน

อยากรู้เหมือนกันว่าคำพูดที่ปรากฏอยู่บนป้ายผ้าหลากสีสันที่เราเขียนไปว่า เคารพในศักดิ์ศรี ความเท่าเทียม ตัวตนของเรา คนที่เดินผ่านไปผ่านมา เขาจะเข้าใจกับเราไหมว่า ทำไมเราต้องพูด ทำไมเราต้องภูมิใจ เราอยากได้รอยยิ้ม กำลังใจ เสียงเชียร์ เสียงปรบมือ และเหนืออื่นใด เราอยากได้ “ความเข้าใจ”

แต่...นอกจากพวกเรากันเอง และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติบางส่วนแล้ว เราไม่เคยแน่ใจว่า เราเคย...ได้ หรือได้รับในสิ่งเหล่านั้น แล้วพอวันรุ่งขึ้น เราก็จะเห็นภาพหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์กรอบเล็ก ๆ แค่เป็นภาพที่ดูมีสีสัน และรายงานว่า เมื่อวานมีการจัดกิจกรรมแบบนี้ขึ้นที่นั่นที่นี่....เท่านี้จบ

ในขณะที่ขบวนพาเหรดในงานไพร์ดของไทย มีแต่น้อง ๆ เกย์ กะเทยที่ทำงานสถานบริการที่ถูกเจ้าของสถานบริการเกณฑ์มา กับนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิแอลจีบีทีไม่กี่คนในประเทศไทยที่เปิดตัวได้ และกองเชียร์ที่ไม่อยากเปิดเผยตัวจำนวนหนึ่งซึ่งแฝงตัวเข้าไปปะปนกลืนไปกับคนที่เดินผ่านไปผ่านมา

มันทำให้ฉันนึกถึงงานไพร์ดที่อัมสเตอร์ดัมอีกครั้งว่า เมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้วนั้นขบวนพาเหรดของเขา มีทั้งขบวนเรือของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นแอลจีบีที เรือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีพนักงานเป็นเกย์ หรือสนับสนุนสิทธิของแอลจีบีที หลายขบวนพวกเขาก็นุ่งน้อยห่มน้อยเหมือนกัน แต่พวกเขามาพร้อมกับ “สาร” ที่ต้องการจะสื่อถึงสิทธิและเสรีภาพ และมาด้วยความภาคภูมิใจในความเป็นแอลจีบีทีของตนเองอย่างเต็มที่ คนที่มาชม ต้องแย่งกันมาจับจองที่นั่ง แน่นขนัดทั้งสองฝั่งคลอง ทั้งริมคลอง และในบ้านในละแวกนั้น ทุกคนมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส คอยส่งเสียงปรบมือเชียร์ ให้กำลังใจเต็มที่ ฉันคิดผู้ชมทุกคนที่นี่ ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นแอลจีบีที แต่ทุกคนต้อนรับ และสนับสนุนแอลจีบีที จากปฏิกิริยาที่พวกเขาแสดงออกมา บรรยากาศของงานมันจึงอบอวลไปด้วยพลังงานบวก ๆ ด้วยรอยยิ้ม มิตรภาพ และกำลังใจ ที่มันทำให้เรารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ภูมิใจ และเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่

ฉันอยากเห็นงานไพร์ดที่กรุงเทพ เป็นแบบงานไพร์ดที่อัมสเตอร์ดัม งานไพร์ดที่ไม่ได้มีแค่องค์กรแอลจีบีที และธุรกิจของเกย์ งานไพร์ดที่ได้รับการสนับสนุน ได้รับความร่วมมืออย่างเข้าใจจากหน่วยงานต่าง ๆ งานไพร์ดที่ใคร ๆ ก็อยากมาเข้าร่วม อยากมาเป็นสปอนเซอร์ เพื่อแสดงการสนับสนุน ให้กำลังใจกับบุคคลที่เป็นแอลจีบีที งานไพร์ดที่ทุกคนทุกเพศภาวะทุกเพศวิถีและทุกวัยสามารถสัมผัสได้ เข้าถึงได้

งานไพร์ดแบบนั้นสิ ถึงจะเป็นงานไพร์ดที่จะทำให้คนที่เป็นแอลจีบีที รู้สึกภาคภูมิใจอย่างแท้จริง

แต่ก็เถอะ...ถึงวันนี้จะสังคมไทยจะยังไปไม่ถึง บริบทที่จะส่งเสริมให้เกิดงานไพร์ดแบบนั้น

ฉันก็ยังภาคภูมิใจในสิ่งที่ฉันเป็นอยู่ดี และฉันก็จะพยายามทำสิ่งที่ทำอยู่ต่อไป เพื่อที่ว่าสักวัน....

“เธอ” อาจจะอยากมาเดินโบกธงสีรุ้งในงานไพร์ดกับฉันด้วยความรู้สึก “ภาคภูมิใจ” ในความเป็นแอลจีบีทีของเธอ...

หรือภูมิใจในความเป็นแอลจีบีทีของ “ฉัน” ที่เป็นเพื่อน...เป็นพี่...เป็นน้อง...เป็นลูก...หรือเป็นพ่อแม่ของเธอ

หรือเป็น...ใครก็ได้ ที่เธออาจจะรู้จัก หรือไม่รู้จักในสังคม ๆ นี้....สังคมที่มีเราอยู่ด้วยกัน

เขียนถึง “ความภาคภูมิใจ ในวัน และเดือนแห่งความภาคภูมิใจ ด้วยความภาคภูมิใจ”

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.