Posted: 28 Jun 2017 05:35 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กรมสวัสดิการฯ จัดทำแผนร่วมมือกับกรมโรงงานฯ ตรวจ บ.ชำแหละสัตว์ปีกทั่วประเทศ ป้องกันอันตรายจากการทำงาน เริ่มตรวจ กทม.ทันที ตร.จ่อเรียกผู้เกี่ยวข้อง ปม นศ.ฝึกงานและคนงาน ตาย 5 ศพ บ่อบำบัด CPF รับทราบข้อหาเพิ่มเติม ยันไม่เลือกปฏิบัติบริษัทเล็กหรือใหญ่


28 มิ.ย. 2560 จากกรณีช่วงสายวันวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา เกิดเหตุเสียชีวิต 5 ราย ภายในบ่อบำบัดน้ำเสีย บริษัทผลิตอาหาร ของบริษัท ซีพีเอฟ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ภายในซ.บางนา-ตราด 20 ถ.บางนา-ตราด จากเหตุ นักศึกษาสัตวแพทย์ จุฬาฯ มาฝึกงานเกิดลื่นพลัดตกลงในบ่อบำบัดน้ำเสีย และมีพนักงานของบริษัทมาช่วยเหลือ 4 คน ซึ่งทั้งหมด 5 คนเสียชีวิต ประกอบด้วย 1. ปัณทิกา ตาสุวรรณ 23 ปี นักศึกษา ฝึกงานจากสัตวแพทย์จุฬาฯปี5 2.ลักษชนก แสนทวีสุข 24 ปี จนท. สิ่งแวดล้อมของบริษัท 3. พรศักดิ์ บุญบาล 40 ปี หัวหน้างานอนามัย 4. ชาญชัย พันธุนาคิน 42 ปี หัวหน้าหน่วยซ่อมบำรุง 5.ชาตรี สีสันดร 43 ปี เป็นคนงานรายวัน

วันนี้ (28 มิ.ย.60) รายงานข่าวจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แจ้งว่า สุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีนักศึกษาเข้าดูงานด้านสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบกิจการชำแหละสัตว์ปีกและตกลงไปในบ่อน้ำเสียจนเสียชีวิตพร้อมลูกจ้างที่เข้าให้ความช่วยเหลืออีก 4 คน ในเรื่องนี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ไม่อาจให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อีก จึงสั่งการให้ กสร. เข้าหารือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการประสบอันตรายจากการทำงานเพื่อไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก โดยนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ร่วมหารือและกำหนดแนวทางที่จะร่วมกันตรวจด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการชำแหละสัตว์ปีกทั่วประเทศ โดยจะเริ่มตรวจในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครในทันที สำหรับสถานประกอบกิจการชำแหละสัตว์ปีกในส่วนภูมิภาคจะได้มอบให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแต่ละจังหวัดร่วมหารือจัดทำแผนและเข้าดำเนินการตรวจสถานประกอบกิจการประเภทนี้ร่วมกันให้ครอบคลุมทั่วประเทศ หากพบจุดบกพร่องหรือไม่มีมาตรการป้องกันความปลอดภัยที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ให้ออกคำสั่งดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลสภาพปัญหาที่พบมาดำเนินการวิเคราะห์กำหนดเป็นแนวทางและวิธีการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุมิให้เกิดขึ้นอย่างถาวร ทั้งนี้จะได้บูรณาการความร่วมมือตรวจสถานประกอบกิจการประเภทอื่นๆ อย่างต่อเนื่องร่วมกันเพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามโครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) ต่อไป

สุเมธ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุบัติเหตุจากการทำงานสามารถป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ หากมีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการพึงให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ค่าใช้จ่ายจากการนำระบบความปลอดภัยเข้ามาใช้ในความเป็นจริงแล้วจะมีอัตราต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียเนื่องจากการรักษาพยาบาลของพนักงานที่เป็นโรค หรือจากอุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นจากความไม่ปลอดภัยจากการทำงาน จึงขอฝากให้ทุกสถานประกอบการคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการของตน ป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุหรือความสูญเสียต่อชีวิตของลูกจ้างและทรัพย์สินของสถานประกอบกิจการ
ตร.จ่อเรียกผู้เกี่ยวข้องรับทราบข้อหาเพิ่มเติม ยันไม่เลือกปฏิบัติบริษัทเล็กหรือใหญ่
วานนี้ (27 มิ.ย.60) สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีเหตุพลัดตกบ่อบำบัดน้ำเสียบริษัทซีพีเอฟ มีผู้เสียชีวิต 5 ศพว่า หลังตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหา กระทำการโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายกับนายปรีชา ตามพร หัวหน้าส่วนดูแลบ่อบำบัด บริษัท CPF ก่อนจะปล่อยตัว พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม โดยยังไม่สามารถเปิดเผยจำนวนหรือรายละเอียดตัวบุคคลได้

นอกจากนี้จะเรียกบิดามารดาของนิสิตผู้เสียชีวิตมาสอบสวนเพิ่มเติม เพื่อสอบถามในประเด็นที่เจ้าหน้าที่สงสัย และอยู่ระหว่างประสานสอบปากคำเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ ว่าพร้อมมาให้การที่ สน.บางนา หรือจะให้เข้าไปสอบถามที่กรมฯเมื่อใด แม้จุดเกิดเหตุไม่มีกล้องวงจรปิด ก็ไม่มีผลต่อรูปคดี เพราะตำรวจมีพยานหลักฐานที่ใช้ในการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดี

กรณีวิพากษ์วิจารณ์ว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทขนาดใหญ่อาจใช้อิทธิพลทำให้ข้อเท็จจริงในวันเกิดเหตุผิดเพี้ยนไปจนส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินคดีได้ ขอยืนยันว่า ตำรวจจะดำเนินการกับผู้กระทำความผิดโดยไม่เลือกปฏิบัติ หากมีพยานหลักฐานชัดเจจะดำเนินคดีทันที แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับบริษัทดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลต่างๆอาจทำให้เกิดความเสียหายกับบริษัทนั้นๆได้ นอกจากนี้จะมีการหารือกับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียในลักษณะดังกล่าวอีก

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.