Posted: 27 Jun 2017 11:11 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

‘สุธาชัย’ ชี้การกำเนิดของชนชั้นกลางและหนังสือพิมพ์ในสยามเป็นต้นทางการปฏิวัติ 2475 ย้ำกระแสประสวัติศาสตร์โลกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกโค่นล้ม การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นไม่ว่าจะมีคณะราษฎรหรือไม่


สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (คนขวา)

ในโอกาสครบรอบ 85 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ประชาธิปไตย รายงานการสัมมนาชิ้นนี้คือส่วนหนึ่งของการรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ในหัวข้อ ‘การเมืองกับประวัติศาสตร์-ประวัติศาสตร์กับการเมือง ตอน การเมืองในชีวิตประจำวัน (Politics of Everyday Life’ จัดโดยภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า

“จริงๆ แล้วผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องการลักหมุด ขโมยหมุด แต่ผมกลับคิดว่า มันชี้ว่า 85 ปีที่ผ่านมานี้ประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรยังไม่จบ มันอาจจะเชื่อมโยงกับการเมืองในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผมแปลกใจมากที่ว่ามีพวกอนุรักษ์นิยมที่ไม่ชอบระบบประชาธิปไตยที่มีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญที่เป็นแบบแผน เขาอธิบายว่าระบบนี้ไม่เหมาะสมกับประเทศไทยเพราะชาวบ้านยังไม่พร้อม แต่เขาพอใจมากกว่ากับระบบที่กองทัพยึดอำนาจ แล้วอ้างการปฏิรูปประเทศไปเรื่อยๆ แล้วก็ออกรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งที่ไม่ได้เป็นแบบแผนอะไรเลย เขาเห็นระบบแบบนี้เป็นความชอบธรรม หรืออย่างน้อยที่สุดก็ชอบธรรมกว่าระบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งและมีรัฐธรรมนูญเป็นแบบแผน แล้ว 85 ปีก็ยังเห็นว่าประชาชนยังไม่พร้อมอยู่นั่นเอง

“ดังนั้นมันเลยย้อนกลับไปสู่โจทย์เมื่อสักครู่นี้คือ ทำให้คณะราษฎรตกเป็นจำเลย เราคงทราบกันดีว่าคณะราษฎรตกเป็นจำเลยมาเป็นเวลาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชิงสุกก่อนห่ามทั้งๆ ที่ในหลวงจะพระราชทานอยู่แล้ว แล้วคณะราษฎรก็มายึดอำนาจ แต่ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมานี้มันบอกเราอยู่อย่างหนึ่งว่าคณะราษฎรเอาระบบการเมืองที่ไม่เหมาะสมนักมาสู่ประเทศไทย เป็นระบบการเมืองที่มันห่วย มันทุเรศ มันนำมาซึ่งนักการเมืองที่ทุจริต คำถามคือ มันจริงอย่างนั้นหรือเปล่า

“ผมจึงจะขอย้อนกลับไปเมื่อปี 2475 มาตั้งคำถามกันเสียใหม่ว่า ฐานะของการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือที่เราเรียกว่าการปฏิวัติในปีนั้น มันอยู่ตรงไหน โดยผมจะตั้งคำถามว่า ประเทศสยามเมื่อปี 2475 นั้นอยู่ตรงไหนในระบบการเมืองของโลก ดังนั้น ผมจะมอง 2475 ใหม่ในฐานะกระแสทางการเมืองช่วงหนึ่งที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมประเทศไทย การที่จะเข้าใจอย่างนี้ได้ หนึ่งเราต้องเข้าใจกระแสทางการเมืองโลกก่อน

“ผมคิดว่ากระแสทางการเมืองของโลกในขณะนั้นคือ 2475 ตรงกับปี 1932 ตรงกับกระแสการทำลายระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั่วโลก ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้คือก่อนปี 1914 จะพบว่ามันมีสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่หลายแห่ง แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มันถูกโค่นในเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี ต่อมาของรัสเซียก็ถูกโค่น ต่อมาตุรกีก็ถูกโค่น และการถูกโค่นของกษัตริย์เหล่านี้นำไปสู่สาธารณรัฐทั้งหมด หมายความว่าระบบการเมืองที่เคยเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรปมันถูกโค่นไปหมดแล้วอย่างน้อยที่สุดปี 1918 และท้ายที่สุดคือตุรกีปี 1923 ยิ่งกว่านั้นก็มีประเทศสเปนในปี 1931 คือก่อนการปฏิวัติ 2475 ในประเทศไทยเพียง 1 ปี

“ประเทศที่เหลือที่ยังมีระบบกษัตริย์อยู่ก็จะมีระบบสภา ระบบรัฐธรรมนูญ ทั้งในยุโรปและเอเชีย ในเอเชียนั้น ประเทศจีนปฏิวัติโค่นระบบกษัตริย์ไปแล้วตั้งแต่ปี 1911 ประเทศญี่ปุ่นแม้จะยังมีระบบกษัตริย์อยู่ แต่เขามีรัฐธรรมนูญและมีสภา สรุปคือฐานะของประเทศสยามเมื่อปี 2475 ที่มีสมบูรณาญาสิทธิราชย์และไม่มีสภา ไม่มีรัฐธรรมนูญ เป็นประเทศเดียวในโลกที่มีระบบการเมืองแบบนั้นในปีนั้น หมายความว่ามองดูทิศทางของประเทศนั้น สยามเป็นประเทศสุดท้ายที่มีระบบการเมืองล้าหลังที่สุด เป็นประเทศเดียวในโลกที่มีสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อปี 1932 อันนี้เป็นข้อที่หนึ่ง


“ย้อนกลับไปสู่คำถามที่ว่า อะไรเกิดขึ้นในไทยเมื่อปี 2475 ผมก็จะตอบว่า กระแสใหม่หรือกระแสลมประชาธิปไตยจากตะวันตกพัดเข้ามาสู่สังคมไทยแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าจะมีคณะราษฎรหรือไม่มีคณะราษฎร การเปลี่ยนแปลงชนิดนี้ก็ยังต้องเกิดขึ้น หรือพูดใหม่ว่าการปฏิวัติแบบนี้ต้องเกิดขึ้นวันยังค่ำตราบที่ชนชั้นนำไทยไม่ตระหนัก"

“ข้อที่สอง สังคมสยามก่อน 2475 เป็นอย่างไร สังคมสมัยนั้นเป็นแบบชนชั้น มีเจ้านายและขุนนางที่มีอภิสิทธิ์เหนือไพร่ สิทธิของชนชั้นขุนนางและเจ้านายมาจากไหน เราอาจจะนึกไม่ถึงว่ามันมาจากชาติกำเนิด หมายความว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเป็นความเหลื่อมล้ำโดยชาติกำเนิด คือเกิดมาแล้วก็เหลื่อมล้ำเลย คนที่เกิดมาเป็นไพร่กับคนที่เกิดมาในตระกูลขุนนางหรือคนที่เกิดมาในชนชั้นเจ้าก็ไม่เท่ากัน สิทธิของชนชั้นในสยามจึงเป็นสิทธิที่ได้มาโดยชาติกำเนิด แล้วการที่สยามไม่มีระบบตัวแทนเลย ไม่มีระบบผู้แทนที่มาจากชนชั้นอื่นเลย หมายความว่าชนชั้นสูงผูกขาดอำนาจทางการเมืองทั้งหมด ในทางกฎหมาย ชนชั้นสูงก็ผูกขาดอำนาจด้วย พวกเขามีอภิสิทธิ์ในการไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องถูกดำเนินคดีในศาลยุติธรรม และมีโภคทรัพย์ สรุปแล้วคือเมื่อระบบสังคมมันเหลื่อมล้ำ คำถามของเราคือว่าในเวลานั้นมีประเทศไหนในโลกบ้างที่ยังมีระบบสังคมแบบนี้ คำตอบคือ ไม่มีเลย

“เหตุการณ์ทั้งหมดน่าจะยังคงดำเนินต่อไปถ้ามันไม่เกิดชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางนี้มาจากไหน อันที่หนึ่งคือตั้งแต่สนธิสัญญาเบาว์ริงเป็นต้นมา สยามมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เกิดเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เกิดชนชั้นพ่อค้า ชนชั้นกลาง นอกจากนั้น ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมามีการปฏิรูประบบราชการ ก็เกิดเป็นข้าราชการสมัยใหม่ขึ้นมา เราจึงพบว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 สิ่งที่พัฒนาขึ้นมาก็คือเมืองสมัยใหม่ ซึ่งเป็นเมืองที่อาศัยของชนชั้นกลางหรือชนชั้นกรรมาชีพสมัยใหม่ โภคทรัพย์ในสังคมเริ่มกระจายไปอยู่ในมือชนชั้นกลาง แต่ปัญหาคือระบบมันเป็นระบบกึ่งศักดินา ชนชั้นศักดินากุมอำนาจ ชนชั้นกลางไม่มีบทบาททางการเมือง เราก็จะเห็นว่ามันมีแรงกดดันทางสังคม อย่างน้อยที่สุดก็มีการออกนอกอำนาจของชนชั้นกลาง

“พูดถึงลัทธิชาตินิยม ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าลัทธิชาตินิยมเกิดขึ้นทั่วเอเชีย มันเป็นชาตินิยมที่เข้าไปต่อสู้และวิพากษ์ระบบอาณานิคม ระบบชาตินิยมในไทยเราอธิบายกันว่าเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 6 แต่เราต้องเข้าใจว่าชาตินิยมของรัชกาลที่ 6 เป็นชาตินิยมชนชั้นสูง เป็นชาตินิยมที่เน้นเรื่องความภักดีมากกว่าความรักชาติบ้านเมือง ถ้าถามพระองค์ว่าชาติสยามคืออะไร พระองค์จะตอบว่าคุณลักษณะอันหนึ่งของชาติก็คือความภักดี ยิ่งกว่านั้นชาตินิยมของพระองค์ไม่มีผลกระทบกระจายไปสู่สังคมภายนอก เมื่อรัชกาลที่ 7 ขึ้นครองราชย์ พระองค์เลิกชาตินิยมของรัชกาลที่ 6 ทั้งหมด และไม่มีการรณรงค์เรื่องชาตินิยมใดๆ เลยในสมัยนั้น

“ปัญหาคือ เราต้องเข้าใจว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาชนชั้นนำของเราถูกส่งไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่เด็ก พวกเจ้านายจึงโตขึ้นมากับฝรั่ง ดังนั้น มันจึงไม่เกิดชาตินิยมในหมู่ชนชั้นนำที่ไปเรียนต่อเมืองนอก หรืออย่างน้อยที่สุด ความรู้สึกของชนชั้นนำสยามคือฝรั่งสามารถคุยได้ สามารถเจรจาต่อรองกันได้ ซึ่งอันนี้จะขัดกับหลักชาตินิยมของชนชั้นกลาง เพราะชนชั้นกลางจะต่อต้านฝรั่ง อย่างรัชกาลที่ 7 ที่ทราบกันดีคือพระองค์รู้ภาษาอังกฤษดีกว่าภาษาไทย พระองค์เขียนเป็นภาษาอังกฤษ และชนชั้นเจ้านายนั้นเวลาคุยกันส่วนตัวจะคุยเป็นภาษาอังกฤษบ้าง ภาษาฝรั่งเศสบ้าง ซึ่งอันนี้ขัดแย้งกับกระแสชาตินิยมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 2470 เป็นต้นมา คือชนชั้นนำของไทยนั้นไม่ชาตินิยมเลย

“เรื่องทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าไม่เกิดหนังสือพิมพ์ เราจะพบว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา มันเกิดหนังสือพิมพ์ขึ้น หนังสือพิมพ์เป็นพื้นที่ใหม่ที่ชนชั้นนำคุมไว้ได้ ในหนังสือพิมพ์จะเริ่มมีบทความหรือการเสนอความเห็น หรือพูดใหม่ว่าหนังสือพิมพ์เป็นหน้าต่างของชนชั้นกลาง สะท้อนความคิดของชนชั้นกลาง เป็นพื้นที่ที่ชนชั้นกลางจะได้มาเล่าเรื่องของตัวเอง ชนชั้นสูงก็เล่า แต่ชนชั้นสูงก็จะมีหนังสือพิมพ์ของพวกเขา ส่วนหนังสือพิมพ์ที่ออกมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 จนถึงต้นรัชกาลที่ 7 นั้น ส่วนมากเป็นหนังสือพิมพ์ของชนชั้นกลาง หนังสือพิมพ์เหล่านี้จะวิพากษ์ความเหลื่อมล้ำในสังคม เสนอแนวคิดใหม่ เสนอแนวคิดเรื่องรัฐสภา เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องชาตินิยม เรื่องการปฏิวัติในประเทศจีน แม้กระทั่งเรื่องระบบสาธารณรัฐ มันมากับหนังสือพิมพ์ทั้งนั้น มันจึงพบว่ากระแสเหล่านี้เองที่อยู่มานาน

“ย้อนกลับไปสู่คำถามที่ว่า อะไรเกิดขึ้นในไทยเมื่อปี 2475 ผมก็จะตอบว่า กระแสใหม่หรือกระแสลมประชาธิปไตยจากตะวันตกพัดเข้ามาสู่สังคมไทยแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าจะมีคณะราษฎรหรือไม่มีคณะราษฎร การเปลี่ยนแปลงชนิดนี้ก็ยังต้องเกิดขึ้น หรือพูดใหม่ว่าการปฏิวัติแบบนี้ต้องเกิดขึ้นวันยังค่ำตราบที่ชนชั้นนำไทยไม่ตระหนัก

“คราวนี้ถามว่าชนชั้นนำไทยตระหนักหรือเปล่า ผมคิดว่าไม่ตระหนักจนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ชนชั้นนำก็ยังคงคิดว่าระบบที่ดีที่สุดของประเทศไทยคือระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาชนของสยามนั้นไม่พร้อมเรื่อยมา ไม่พร้อมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึง 6 แล้วก็ยังไม่พร้อมจนรัชกาลที่ 7 ประชาชนสยามไม่มีการศึกษาหรือมีการศึกษาน้อย ดังนั้น ระบบเก่าที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ในมือพระมหากษัตริย์จึงเป็นระบบที่ดีอยู่แล้ว แต่ผมคิดว่าในหมู่ชนชั้นกลางนั้นไม่ใช่ ระบบประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้นโดยผ่านกระบวนการปฏิวัติเมื่อปี 2475

“ผมคิดตามมามากกว่านั้น ก็คือการที่อำนาจทางการเมืองกระจายจากชนชั้นสูงจำนวนน้อยนิดจำนวนหนึ่งไปสู่กลุ่มคนต่างๆ ในสังคมที่กว้างขวางมากขึ้นโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ผ่านกระบวนการที่ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วม ระบบกฎหมายที่เคยถูกผูกขาดการตีความหรือการใช้อยู่ในมือคนจำนวนหนึ่งก็ถูกสร้างเป็นระบบรัฐธรรมนูญที่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่แน่นอนชัดเจนว่าประชาชนอยู่ตรงไหน

“ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือมันทำลายระบบกึ่งศักดินา ทำลายเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เราจะพบว่ารัฐบาลหลัง 2475 มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจมากมายที่จะนำมาสู่การวางเงื่อนไขและการพัฒนามาสู่ระบบทุนนิยม อาจจะเหมือนการเกิดรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีการเกิดนโยบายการเงิน การคลัง การตั้งธนาคารชาติ อาจจะรวมถึงสมัยต่อมาที่มีการรวมกลุ่มในปลายสมัยจอมพล ป. ดังนั้น ผมจึงขอสรุปว่าการเมืองในประวัติศาสตร์ยังมีประเด็นต่างๆ ที่เรายังอาจไม่เข้าใจหรืออาจจะตอบไม่ได้อีกจำหนึ่ง และผมคิดว่าคำถามที่ผมอยากเสนอวันนี้ก็คือ เมื่อปี 2475 นั้นสังคมไทยอยู่ตรงไหน”

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.