Posted: 28 Jun 2017 10:05 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ไทยยังอยู่ เทียร์ 2 เฝ้าระวัง ประยุทธ์ ยังไม่พอใจ อยากให้ดีขึ้น ระบุที่ผ่านมารัฐบาลทำงานเต็มที่ ในการปราบปรามการค้ามนุษย์ กต.ยัน 11 ข้อท้วงติง เป็นสิ่งที่ไทยแก้ไขอยู่ กระทรวงแรงงาน ย้ำ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ใหม่ ลดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน



28 มิ.ย. 2560 เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา เวลา 10.30 น. (เวลาท้องถิ่นกรุงวอชิงตัน) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี ค.ศ. 2017 ในปีนี้ ประเทศไทยได้รับการจัดสถานะให้อยู่ใน Tier 2 Watch List เช่นเดียวกับปี 2559

รัฐบาลไทยยืนยันความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อไป รวมทั้งจะร่วมมือกับฝ่ายต่าง ๆ ที่ให้ความสนใจกับการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงและสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพการทำงานในเรื่องดังกล่าวให้เกิดผลสำเร็จที่สมบูรณ์ขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองต่อการประเมินใด ๆ แต่เป็นไปเพื่อปกป้องคุ้มครองชาวไทยและชาวต่างชาติในไทย ซึ่งเสมอกันด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และธำรงไว้ซึ่งหลักการด้านมนุษยธรรมที่ไทยยึดถือตลอดมา

เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ ระบุอีกว่า อนึ่ง การที่สหรัฐอเมริกาคงสถานะประเทศไทยที่ Tier 2 Watch List ไม่สะท้อนและไม่สอดคล้องต่อความพยายามอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ทางการไทยได้สร้างขึ้นในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ การดำเนินคดีผู้กระทำผิดและเจ้าหน้าที่ผู้ทุจริต การป้องกันผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อ การคุ้มครองเหยื่อและพยาน และการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ

ประยุทธ์ ยังไม่พอใจ อยากให้ดีขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ถึงรายงานการค้ามนุษย์ (TIP Report) ดังกล่าวด้วยว่า แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะทำงานอย่างเต็มที่ ในการปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่ในเมื่อได้อันดับเท่าเดิม ก็เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่เรื่องคดีความ ที่จะต้องติดตามผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มาดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด รวมถึง การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ ป้องกันผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อ คุ้มครองเหยื่อและพยาน และการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในและนอกประเทศ


“วันนี้ ถือว่าดีขึ้นจากในอดีตที่ไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะลำดับตอนนี้ไม่ได้แย่ลงจากเดิม เป้าหมาย เราก็ต้องทำให้ดีขึ้น เพราะตอนนี้ผมและรัฐบาลก็ยังไม่พอใจ อยากให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

กต.ยัน 11 ข้อท้วงติง เป็นสิ่งที่ไทยแก้ไขอยู่

ขณะที่ บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีนี้อีกว่า ว่า ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ มอบนโยบายเรื่องการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งทุกหน่วยงานแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังทุกมิติ ยืนยันว่ารัฐบาลยังคงมุ่งมั่นแก้ปัญหานี้ต่อไปด้วยความร่วมมือที่ดีจากทุกฝ่าย

ส่วนข้อท้วงติงของสหรัฐที่ให้ไทยปรับปรุงแก้ไขทั้ง 11 ข้อ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ทั้ง 11 ข้อเป็นสิ่งที่ไทยแก้ไขอยู่ ยอมรับว่าแต่ละเรื่องแต่ละมาตรการจะต้องใช้เวลาเพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม และไทยยืนยันว่าดำเนินการมาตรการต่าง ๆ ทั้งการปรับปรุงกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิด รวมทั้งการดูแลคุ้มครองเหยื่อและพยานตามหลักสากล

เมื่อถามถึงการที่ไทยยังถูกจัดอันดับค้ามนุษย์ในเทียร์ 2.5 อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการส่งออกหรือไม่ บุษฎี กล่าวว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อต่างประเทศ เพราะการจัดทำรายงานค้ามนุษย์ดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะแต่ละประเทศ และเป็นกฎหมายภายในของสหรัฐที่ต้องจัดทำรายงานเพื่อส่งให้สภาต่อไป

ส่วนข้อสังเกตการจัดอันดับในเทียร์ 2.5 ของไทยมีนัยทางการเมืองที่ไทยใกล้ชิดกับจีนหรือไม่ ในขณะที่จีนตกมาอยู่ในเทียร์ 3 โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไม่น่ามีนัยทางการเมือง และคงไม่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมโยงกับจีน

เมื่อถามย้ำถึงความกดดันต่อรายงานค้ามนุษย์ที่ไทยถูกจัดอันดับ 2.5 เป็นปีที่ 2 ซึ่งตามหลักหากยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตามเกณฑ์ ไทยจะถูกลดอันดับมาที่เทียร์ 3 ทันที นางสาวบุษฎีกล่าวว่า การประเมินของสหรัฐจะไม่นำผลการดำเนินการปีอื่นมาพิจารณา แต่จะพิจารณาปีต่อปี ขณะนี้ยังไม่สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ล่วงหน้าได้ แต่เชื่อว่าใน 1 ปีนี้ไทยยังมีเวลาที่จะแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่และจริงจัง ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

กระทรวงแรงงาน ย้ำ พ.ร.ก.ใหม่ ลดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

วานนี้ (27 มิ.ย.60) รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานระบุว่า อนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เป็นการรวมกฎหมาย 2 ฉบับไว้เป็นฉบับเดียวคือ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และ พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 ซึ่งสืบเนื่องมาจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับยังไม่ครอบคลุมการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ กล่าวคือยังมีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของนายจ้างและผู้ได้รับใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทยไม่ชัดเจนและไม่ครอบคลุมความเสียหายที่เกิดจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบดังกล่าว ขาดกลไกการร้องทุกข์ ให้แก่คนต่างด้าวและผู้เกี่ยวข้องที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ขาดมาตรการทางปกครองเพื่อกำหนดโทษทางปกครองแก่นายจ้างที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้ ไม่มีบทบัญญัติรองรับการขึ้นทะเบียนตัวแทนนายจ้างและตัวแทนคนต่างด้าว เพื่อควบคุมผู้ประกอบอาชีพในการดำเนินการยื่นคำขอและเอกสารแทนนายจ้างและคนต่างด้าว ไม่มีบทกำหนดโทษสำหรับบุคคลที่ยึดใบอนุญาตทำงานหรือเอกสารสำคัญประจำตัวของคนต่างด้าวไว้ ทั้งยัง ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและมีอัตราโทษที่ต่ำกว่าบทกำหนดโทษในกฎหมายอื่นซึ่งมีความผิดในลักษณะเดียวกัน จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อเติมช่องว่างของกฎหมายที่มีอยู่เดิมให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศและแก้ไขปัญหาการจัดระเบียบการทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทยที่อาจนำไปสู่การกระทำอันเป็นการค้ามนุษย์ได้ ทั้งยังอาจสุ่มเสี่ยงต่อการปฏิบัติผิดมาตรฐานสากล ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง

วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้มีผลดีทั้งต่อนายจ้าง ลูกจ้างต่างด้าว ภาครัฐ และภาคประชาสังคม โดยภาครัฐจะสามารถจัดระเบียบและให้ความคุ้มครองแก่แรงงานต่างด้าวให้มีความเหมาะสม เป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถควบคุมการประกอบธุรกิจการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศและควบคุมการทำงานของคนต่างด้าวเพื่อจัดระเบียบป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานได้ ขณะที่นายจ้างหรือสถานประกอบการก็ได้คนต่างด้าวมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีคุณภาพตามความต้องการ สามารถตรวจสอบคนต่างด้าวได้หากประสบปัญหา และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ป้องกันการหลอกลวงจากระบบสายนายหน้าเถื่อน และเสียค่าใช้จ่ายอย่างไม่เป็นธรรม สามารถเข้าถึงระบบข้อมูลภาครัฐเพื่อจะได้จำนวนแรงงานตามความต้องการและมีการควบคุมประเภทงาน นายจ้าง ณ ท้องที่และเงื่อนไขตามที่ได้รับอนุญาตเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงาน แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ขณะเดียวกันลูกจ้างคนต่างด้าวและบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของนายจ้างอย่างไม่เป็นธรรมก็จะได้รับความคุ้มครอง

นอกจากนี้ยังมีกลไกการร้องทุกข์และการเข้าถึงช่องทางการร้องทุกข์สำหรับคนต่างด้าวและผู้เกี่ยวข้องซึ่งได้รับความเสียหายจากการที่นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมาย รวมทั้งมีการกำหนดช่องทางให้คนต่างด้าวสามารถเข้าถึงสิทธิได้โดยตรงและได้รับประโยชน์จากการได้รับสวัสดิการ การประกันสังคม การประกันสุขภาพ การศึกษา และสังคม เพื่อสามารถทำงานอยู่ในประเทศไทยได้อย่างปกติสุข ส่วนภาคประชาสังคมจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักมาตรฐานสากล มีกลไกให้หน่วยงานภาคเอกชน และ NGO ในพื้นที่เข้ามาร่วมดำเนินการและมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ซึ่งหากมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและทั่วถึงจะแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการทำประมงผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิผลและจะทำให้การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ

ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักข่าวไทย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.