Posted: 23 Jun 2017 10:04 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ถึงแม้ว่าในเดือนแห่งไพรด์หรือ "ความทรนง" ของผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ เฟซบุ๊กจะเปิดให้มีการใช้ปุ่มรูปธงสีรุ้งในการแสดงความรู้สึกได้ แต่ปุ่มดังกล่าวนี้กลับไม่มีใช้ในหลายประเทศที่ส่วนมากเป็นประเทศที่มีกฎห้ามคนรักเพศเดียวกัน โดยเฟซบุ๊กก็ไม่ได้บอกถึงสาเหตุในเรื่องนี้ชัดเจน


ที่มาภาพ: pinknews.co.uk

23 มิ.ย. 2560 หลังจากเข้าสู่เดือนแห่งไพรด์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) เฟซบุ๊คก็มีการเพิ่มปุ่มโต้ตอบปุ่มใหม่คือปุ่มรูปธงสีรุ้ง หรือปุ่ม "ไพรด์" เข้าไปในหลายประเทศ ในบ้านเราก็สามารถได้รับปุ่มนี้มาใช้ด้วยกดไลก์เพจ LGBTQ@Facebook (https://www.facebook.com/LGBTQ/) อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตุว่าในบางประเทศที่มีกฎหมายห้ามคนรักเพศเดียวกันหรือต่อต้านความหลากหลายทางเพศจะไม่มีปุ่มนี้ให้ใช้ในเฟซบุ๊ก

ผู้ใช้เฟซบุ๊กในบางประเทศจะสามารถเพิ่มปุ่มธงสีรุ้งลงไปในปุ่มโต้ตอบทั่วไปที่เดิมทีมีการแสดงอารมณ์อย่างการกดไลก์ กดเลิฟ แสดงความเศร้า โกรธ หรือหัวเราะ ในฐานะที่เป็นเดือนแห่งไพรด์สำหรับชาว LGBTQ สาเหตุที่มีการจัดให้เดือน มิ.ย. เป็นเดือนแห่งไพรด์หรือ "ความทรนง" ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเนื่องจากเป็นการรำลึกถึงเดือนเดียวกับที่เกิด "เหตุจลาจลสโตนวอลล์" ในปี 2512

เหตุการณ์สโตนวอลล์มีความสำคัญในแง่ของการประท้วงและการต่อสู้ของชุมชน LGBTQ ที่แสดงความไม่พอใจเมื่อตำรวจบุกเข้าทลายชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในสโตนวอลล์อินน์ ตั้งอยู่ในรีนนิช วิลเลจ แมนฮันตัน รัฐนิวยอร์ก ซึ่งกฎหมายของสหรัฐฯ ในยุคสมัยนั้นยังเป็นระบบกฎหมายที่ต่อต้านคนรักเพศเดียวกัน ทำให้กลุ่ม LGBTQ ในยุคนั้นต้องพยายามแสวงหาชุมชนของตัวเองไปพร้อมๆ กับการต่อสู้ในเชิงขบวนการสิทธิพลเมือง เรียกร้องสิทธิและการยอมรับพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

การต่อสู้เหล่านี้เป็นจุดกำเนิดของการเดินขบวนอย่าง "ทรนง" ที่เรียกว่า "เกย์ไพรด์" ในหลายรัฐของสหรัฐฯ จนกระทั่งแพร่หลายไปทั่วและต่อมาได้รวมเอาผู้มีความหลากหลายทางเพศอื่นๆ จนกลายเป็น "LGBTQ ไพรด์" หนึ่งในบุคคลสำคัญที่เป็นตัวตั้งตัวตีของ "LGBTQ ไพรด์" คือ เบรนดา ฮาเวิร์ด หญิงผู้รักสองเพศที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น "แม่แห่งไพรด์"

อย่างไรก็ตามผู้ใช้เฟซบุ๊กในหลายประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีกฎหมายห้ามคนรักเพศเดียวกันพบว่าพวกเขาไม่สามารถใช้ปุ่มไพรด์ได้ อาทิเช่น ประเทศอียิปต์ ปาเลสไตน์ บาห์เรน เลบานอน สิงคโปร์ รัสเซีย และประเทศอื่นๆ

แต่ทางเฟซบุ๊กก็ไม่ได้บอกสาเหตุว่าทำไมพวกเขาถึงไม่ให้ผู้ใช้ในประเทศเหล่านี้มีการโต้ตอบด้วยปุ่มไพรด์ เท่าที่ทราบเฟซบุ๊กแค่พูดถึงปุ่มไพรด์นี้ในช่วงก่อนเปิดให้ใช้ว่า "ผู้คนในตลาดใหญ่ๆ ที่มีการเฉลิมฉลองไพรด์จะสามารถใช้ปุ่มโต้ตอบสีรุ้งได้ชั่วคราวในช่วงเดือนแห่งไพรด์"

เฟซบุ๊กอ้างอีกว่า "คุณสามารถกดไลก์เพจเพื่อเข้าถึงปุ่มแสดงการโต้ตอบได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนี้เป็นประสบการณ์ใหม่ที่พวกเรากำลังทดลองอยู่ ปุ่มโต้ตอบสีรุ้งจึงจะไม่ปรากฏให้ใช้ทุกที่" ในเรื่องนี้สื่อ LGBTQ พิงค์นิวส์บมองว่าเป็นการที่เฟซบุ๊กพยายามเลือกใช้คำอย่างระวัง และทำให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กบางส่วนประณามการตัดสินใจในครั้งนี้

มีผู้ใช้รายหนึ่งแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ในเพจ LGBTQ ของเฟซบุ๊กว่า รู้สึกเหมือนเฟซบุ๊กเองกำลังกลัวว่าจะสูญเสียผู้ใช้จำนวนหนึ่งที่เป็นพวกใจแคบเกลียดชัง LGBTQ ไป เลยต้องซ่อนด้วยการให้ไลก์เพจเพื่อที่จะไม่ให้พวกใจแคบเหล่านั้นรู้สึกไม่พอใจที่บังเอิญมาเห็นปุ่มธงสีรุ้ง

ผู้ใข้อีกรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า ทีตอนฮัลโลวีนก็ไม่ได้มีทุกคนที่เฉลิมฉลองฮัลโลวีน แต่ก็มีการดัดแปลงปุ่มโต้ตอบให้สะท้อนลักษณะแปลกประหลาดแบบฮัลโลวีน

บ้างก็บอกว่าเฟซบุ๊กคงจะพยายามเอาใจทั้งสองฝั่งเพื่อพยายามให้ได้แต่คำชมอย่าางเดียว

พิงค์นิวส์ระบุอีกว่าในสหรัฐฯ เองก็ดูเหมือนจะมีการพยายามลบเลือนประเด็น LGBTQ ทิ้งเช่นกัน



เรียบเรียงจาก

Facebook is hiding LGBT reactions in countries with homophobic laws, Pink News, 21-06-2017
http://www.pinknews.co.uk/2017/06/21/facebook-is-hiding-lgbt-reacts-in-countries-with-homophobic-laws/

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.