Posted: 26 Jun 2017 12:47 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

‘ธเนศ’ ย้ำ รัฐของไทยเป็นรัฐที่ไม่ได้อยู่เพื่อสังคม มุ่งใช้อำนาจผ่านระเบียบทางศีลธรรม มีลำดับชั้น ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างสถาบันรองรับ เน้นแต่ผู้นำที่มีบารมี


ในโอกาสครบรอบ 85 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ประชาธิปไตย รายงานการสัมมนาชิ้นนี้คือส่วนหนึ่งของการรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ในหัวข้อ ‘การเมืองกับประวัติศาสตร์-ประวัติศาสตร์กับการเมือง ตอน การเมืองในชีวิตประจำวัน (Politics of Everyday Life’ จัดโดยภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดีย์ พนมยงค์ กล่าวว่า

“ผมจะพยายามหาความหมายของประวัติศาสตร์ในแง่ของคนที่ต้องทำงานด้านนี้ คือนิยามของประวัติศาสตร์ทุกคนก็คงรู้ที่เป็นนิยามแบบท่องจำ แต่ผมจะพูดถึงในแง่ของคนที่ต้องใช้จริงๆ ผมใช้เวลากว่า 30 ปีกว่าจะสรุปได้ แล้วผมก็สรุปไว้ในหน้าสุดท้ายของบทความผมว่า สำหรับวิชารัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเมืองไทย รัฐศาสตร์จะยกระดับเป็นศาสตร์วิชาการที่มีน้ำยา หมายความว่ามีพลัง มีระบบ มีการอธิบาย แต่เวลาเอาไปโชว์ในเวทีอื่นนอกเมืองไทยจะไม่มีน้ำหนัก ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า รัฐศาสตร์ไทยนั้นขาดพันธมิตรที่ใกล้ชิดก็คือประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ไทยไม่มีประวัติศาสตร์ที่ลึก คือประวัติศาสตร์ที่ผ่านการค้นคว้าชั้นต้น ชั้นรอง ผ่านการตรวจสอบจนได้ข้อสรุปที่เป็นการตีความ เช่นเรื่อง 24 มิถุนายน 2475 จนตอนนี้ผ่านมา 85 ปี ประวัติศาสตร์นี้ยังคงดำเนินต่อไป มันยังไม่จบ แล้วมันเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ใหญ่มากของประเทศไทย

“ลองเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศส 1789 เขารบกันหลายรอบ แต่พอไปถามคนฝรั่งเศสทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านการเมืองว่า 1789 ล้มเหลวใช่ไหม มีคน React ต่อคำถามนี้ว่าเป็นคำถามที่ดีมาก หรือในวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันชาติอเมริกา มีคนอเมริกันลุกขึ้นมาถามเลยว่า ทำไมเจฟเฟอร์สันเขียนคำประกาศเอกราชว่าคนเราเกิดมามีสิทธิเท่าเทียมกัน มันไม่จริง มีคนถูกจับเข้าคุก ถูกซ้อม เพราะฉะนั้นคำประกาศเอกราชนี้มันใช้ไม่ได้ เพราะไม่เป็นความจริง คติเรื่องความเท่าเทียมกันหรือเสรีภาพมันไม่จริง มีการนำคนมาเป็นทาสตั้ง 4 ศตวรรษ ถึงจะมีการเลิกทาสแล้ว อีก 100 ปีก็ยังไม่ได้ให้เสรีภาพจริงๆ กับเขาจนถึงปี 1964 ฉะนั้น ประวัติศาสตร์ของอเมริกาจึงมีความไม่จริง

“แต่คนในอเมริกามองว่าพอโค่นล้มอำนาจกษัตริย์ได้แล้วก็ถือว่าประสบความสำเร็จ คืออำนาจกลับมาอยู่ที่ประชาชนเรียบร้อยแล้ว แต่หลังจากนั้นจะมีการนำมาบิดเบือนอย่างไรเขาถือว่าไม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 1776 และ 1789 เพราะฉะนั้นการเมืองมันเดินไปข้างหน้าแบบเป็นระบบได้ แต่การเมืองไทยไม่เดินเป็นระบบ มันวิ่งเป็นวัฏจักรวงกลม แล้วมันก็ย้อนมาอยู่ที่เก่า ไม่ได้ไปไหน ปัญหาของประวัติศาสตร์ไทยคือการที่เราไปเรียนตำราฝรั่ง ตำราของโลกที่เป็นสมัยใหม่ โลกสมัยใหม่ทั้งหลายมันเป็นโมเดลของตะวันตก

“เหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 มันเดินเป็นเส้นตรง นำไปสู่การสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายสิทธิ มันไม่กลับสู่อันเดิม ไม่ว่าจะดีเลวอย่างไรก็ไปของมันเรื่อยๆ มันไม่เคยเดินเป็นวงกลมเหมือนของเมืองไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การที่ประวัติศาสตร์เดินเป็นวงกลมไม่ได้หมายความว่ามันไม่ได้อยากเดินเป็นเส้นตรง แต่เป็นเพราะเงื่อนไขการสร้างสถาบันสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นระบบรัฐสภา รัฐธรรมนูญ กฎหมาย รวมไปถึงโรงเรียน มหาวิทยาลัย ระบบเศรษฐกิจ ระบบการค้า ทั้งหมดนี้ไปส่งเสริมความมั่นคง ประสิทธิภาพ และการเคลื่อนตัวของรัฐสมัยใหม่ ในขณะที่สังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดเหมือนกัน คือไม่มีการเคลื่อนตัวของสถาบัน ผมจึงคิดว่าสิ่งที่เรียกว่าสถาบันไม่ประสบความสำเร็จ ฉะนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือสร้างสถาบันใหม่หรือหน่วยงานใหม่ ซึ่งจะทำได้ก็ต้องสร้างระบบเศรษฐกิจก่อน เพราะระบบเศรษฐกิจเดิมทำไม่ได้


“รัฐของไทยเป็นรัฐที่ไม่ได้อยู่เพื่อสังคม แม้กระทั่งเส้นแบ่งระหว่างรัฐกับสังคมก็ยังเบลออยู่ บางช่วงมันเลยเข้ามาปะทะกัน คาบเกี่ยวกัน แย่งพื้นที่และอำนาจกัน ใครแพ้ก็ถอยแล้วต่างคนต่างก็ไปหาจุดหมายของตัวเองต่อไป ดังนั้น จุดหมายที่รัฐแบบไทยถนัดที่สุดคือการใช้อำนาจ โดยใช้อำนาจนี้ผ่านระเบียบทางศีลธรรมหรือ Moral Order"


“ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงในยุโรปและอเมริกามีสถาบันรองรับ คนที่เข้ามาแบบนอกระบบจึงไม่มีอะไรเอื้อต่อการมีความชอบธรรม แต่พอมาดูรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มันไม่ได้เกิดขึ้นโดยการมีสถาบันจริงๆ รองรับ มันก็เลยเปิดช่องให้ตัวคนเข้ามายึดอำนาจได้ แล้วก็สร้างหน่วยงานขึ้นมาเอง มันก็จะได้แต่งานของตัวเองที่เสริมสร้างเครือข่ายของตัวเองให้เข้มแข็งและอยู่ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ของไทยแทนที่รัฐจะเป็นสถาบัน รัฐเลยเป็น Agent ที่ประกอบไปด้วย Agent ของกลุ่มต่างๆ เข้ามารวมตัวกัน ทะเลาะกัน แย่งกัน กลุ่มไหนที่ได้เปรียบก็ชนะไป เพราะฉะนั้นตอนที่ฝรั่งเศสปฏิวัติมันจะเป็นไปตามสูตร Law and Order มีการสร้างกฎใหม่ๆ แต่ของไทยไม่มี เพราะว่า Law and Order ทำให้สังคมมีมาตรฐานและอิสระที่จะดำรงอยู่ได้และเสริมสร้างความมั่นคงของรัฐ

“รัฐของไทยเป็นรัฐที่ไม่ได้อยู่เพื่อสังคม แม้กระทั่งเส้นแบ่งระหว่างรัฐกับสังคมก็ยังเบลออยู่ บางช่วงมันเลยเข้ามาปะทะกัน คาบเกี่ยวกัน แย่งพื้นที่และอำนาจกัน ใครแพ้ก็ถอยแล้วต่างคนต่างก็ไปหาจุดหมายของตัวเองต่อไป ดังนั้น จุดหมายที่รัฐแบบไทยถนัดที่สุดคือการใช้อำนาจ โดยใช้อำนาจนี้ผ่านระเบียบทางศีลธรรมหรือ Moral Order ซึ่งเป็นเป้าหมายของผู้นำรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องไปสถาปนาศีลธรรมของตัวเอง เอาโมเดลของเยอรมันหรือของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกมาเพราะเชื่อว่าพลเมืองเขามีคุณภาพเพราะมีวัฒนธรรม ฉะนั้น ผู้นำทหารเลยต้องมีศีลธรรม แล้วศีลธรรมนี้มันก็แผ่กระจายออกไปในฐานะผู้ปกครอง พวกไพร่ทั้งหลายได้ซึมซับว่านี่คือบารมีที่คุณจะต้องยอม ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยั่งยืน คือการทำให้คนซึมซับความยิ่งใหญ่อลังการของตัวผู้นำ

“รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีการสร้างความประทับใจผ่านนาฏศิลป์ นาฏกรรม สุนทรียศาสตร์ ภาพวาด คติต่างๆ วรรณคดี เช่น ขุนช้างขุนแผน รามเกียรติ์ ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่ สิ่งพวกนี้สอนให้เรารู้ว่า เราอยู่ในช่วงไหนของสังคม Hierarchy ไหน คนไม่เท่ากัน คนต้องจงรักภักดี คนต้องเชื่อฟังผู้นำ อันนี้คือคำสอนทางศาสนาของรัฐที่ต้องทำต่อๆ กันมา คือในสังคมไทยเรารับมาจากต่างประเทศหลายเรื่อง แต่สิ่งที่เราไม่รับเลยคือคติพจน์แบบใหม่ ซึ่งก็คือวิธีคิดที่ทำให้ปัจเจกชนคนธรรมดาเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองจริงๆ เป็น Subject ที่เป็น I จริงๆ อยู่เหนือ Object ต่างๆ มันไม่เกิด คติพจน์เรื่อง Subject ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Subjectivism หรือ Subjectivity ซึ่งเป็นทฤษฎีพวก Post Modern เขาพูดเรื่อง Subject กันเยอะมาก เพราะว่าตัวละครเอกของเขาเป็น Subject แล้วตัวละครตัวนี้ผลักดันทุกอย่าง ในขณะที่ Subject ของเรามันยังเป็น Subject จริงๆ ในแบบโบราณก็คือ ข้าบ่าว สิ่งเหล่านี้ถูกประทับด้วยวรรณกรรมไปจนถึงปรัชญาต่างๆ ทางศาสนาก็จะเน้นหนักเรื่องความไม่เท่าเทียม

“ประวัติศาสตร์มันก็แปลก พูดง่ายๆ คือถ้าการเมืองหรือสังคมไม่เปลี่ยนไป ข้อมูลเดิมก็จะเหมือนเดิมตลอดเวลา คือไม่มีอะไรมากกว่านั้น แต่พอเหตุการณ์เปลี่ยน เราเห็นอะไรบางอย่างเกิดขึ้น เราก็มาคิดได้ว่า ถ้าเหตุการณ์เดิมมันเกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีที่แล้วมันจะเป็นอย่างไรบ้าง ผมก็เลยนึกถึงช่วงที่พันธมิตรชุมนุม มีหลายคนมากที่ไปช่วยกันเซ็นชื่อ มีทั้งอาจารย์รวมทั้งผมด้วย เซ็นเพื่อให้ไป Recall ทักษิณ ผมยังซีร็อกซ์เก็บไว้เลย เป็นคลื่นใหญ่มากที่พวกนักศึกษาออกมาคัดค้านรัฐบาล เสร็จแล้วผมก็มานั่งนึกว่า ตอน 2500 ก็เป็นคลื่นนักศึกษาจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ออกมาคัดค้านรัฐบาลจอมพล ป. เยอะที่สุด ในที่สุดก็นำไปสู่การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์

“ผมก็เลยตั้งคำถามว่า สองเหตุการณ์นี้มีอะไรที่คล้ายกันไหม ผมพยายามกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ 2500 ซึ่งเรารู้จักกันในนาม ‘เลือกตั้งสกปรก’ ปัญหาคือพอได้กลับไปหาหนังสืออ่านพบว่าหนังสือที่เขียนแบบมีหลักฐานจริงๆ เป็นเรื่องเป็นราวมีเพียงเล่มเดียวเท่านั้น มันเป็นไปได้อย่างไร เหตุการณ์ใหญ่ขนาดนี้ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมหาศาลมีคนศึกษาเพียงเล่มเดียว นอกนั้นส่วนใหญ่คือเขียนตามความรู้สึกเพราะเขาเขียนในช่วงที่เหตุการณ์จบไปแล้ว เพราะฉะนั้นทั้งหมดมันถูกกำกับไว้ด้วยความรู้สึกช่วงหลังเหตุการณ์รัฐประหาร เขาไม่สนใจไปหาแล้วว่าเลือกตั้งสกปรกมันสกปรกขนาดไหน เขาก็ค้นแค่หนังสือพิมพ์ 2-3 ฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับก็เป็นคำวิพากษ์วิจารณ์ของคอลัมนิสต์

“พอผมลองไปหาอ่านดูก็พบว่าช่วงก่อนยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ จอมพล ป. ร่วมมือกับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ฟ้องศาลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ แต่ว่าศาลไม่ใช่คนตัดสินเพราะเป็นการยึดอำนาจ ก็เลยจบไป เลยคิดว่าถ้ายังไม่ยึดอำนาจแล้วการตัดสินเกิดขึ้นก่อน จะเกิดอะไรขึ้น ประเด็นที่ผมจะพูดถึงคือ แล้วนักศึกษาจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ออกไปทำไม ผมบังเอิญอ่านเจอบันทึกของนักศึกษาธรรมศาสตร์คนหนึ่ง เขาเขียนบอกว่า ตอนที่จะออกไปประท้วงจอมพล ป. ฝ่ายจุฬาฯ เขาติดต่อมา ฝ่ายธรรมศาสตร์บอกว่ายังไม่ไป รอดูก่อน จนสุดท้ายพอมันผ่านไปเรื่อยๆ นักศึกษาก็เห็นใจเลยออกไปช่วย มันก็คล้ายๆ พันธมิตรนะ ประเด็นของผมที่น่าสนใจคือว่า หลังจากนั้นมาจนถึง กปปส. การออกมาประท้วงของชนชั้นกลาง นักศึกษา อาจารย์ มีผลต่อการเรียกรัฐประหาร

“ถ้าเราเริ่มวิเคราะห์จาก 2500 มันไม่ใช่เพราะรัฐบาลทุจริตอย่างเดียว แต่ว่ามันมีการเคลื่อนไหวของคนนอกรัฐบาล แล้วเป็นคนที่มีเสียง มีการยอมรับ คือนักการเมืองกับสื่อเป็นไม้เบื่อไม้เมากัน หนังสือพิมพ์ก็ด่าพวกนักการเมืองตลอดเวลาในคอลัมน์ พอมีใครโยนระเบิดเข้ามา พระเอกจริงๆ ก็ออกมา แล้วก็ออกมาด้วยการชูธงศีลธรรม เพราะเราไม่ใช่นักการเมือง เพราะเราเป็นคนมือสะอาด เพราะเราเป็นคนมีความรู้ ก็คือมันเป็นกลุ่มคนที่มาฐานะในสังคม คือคนที่มีฐานะในสังคมไทยเวลาพูดจะมีน้ำหนัก แล้วคนที่ออกมา เขาไม่พูดเรื่องการเมือง เขาแสดงอำนาจของบารมี ลองกลับไปดูป้ายประท้วง ไม่มีเลยเรื่องการเมืองหรือเรื่องประชาธิปไตย มันมีแต่เรื่องคุณธรรมความดี อีกฝ่ายก็ต้องเลว ลองเอาแผ่นป้ายของ กปปส. มาเรียงกันเลยมันก็จะเข้าล็อกอันนี้ชัดเลยว่านี่คือการเมืองของคุณธรรม หรือการเมืองของคนดี ตรงข้ามกับการเมืองของคนไม่ดี

“ถ้าหากการวิเคราะห์ที่ผมบอกเป็นจริงก็หมายความว่า สังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างสถาบัน ถ้าคุณไม่สร้างสถาบัน คุณก็สร้างประชาธิปไตยไม่ได้ เพราะมันต้องมีระบบ ทั้งระบบการเลือกตั้ง ระบบรัฐสภา ระบบพรรคการเมือง ถ้าคุณเชื่อผมและเชื่อประวัติศาสตร์ของเราทั้งภูมิภาคนี้ มันอยู่ด้วยการไม่อาศัยระบบ ไม่อาศัยสถาบัน แล้วมันอยู่ได้อย่างไร มันก็อาศัยตัวบุคคล อาศัยผู้นำ ซึ่งเป็นผู้นำที่สร้างความเป็นศูนย์กลางขึ้นมา ต้องมีอำนาจที่เป็นศูนย์กลางให้ได้ คุณต้องมีบารมีที่จะกระจายโภคทรัพย์แล้วใช้อำนาจเขกหัวใครก็ได้ เพราะฉะนั้นรัฐของเราเป็นรัฐที่อยู่ด้วยเซ็นเตอร์ต่างๆ หลายๆ เซ็นเตอร์แล้วแต่ละเซ็นเตอร์ก็ใช้อำนาจเองได้ ถ้าทุกเซ็นเตอร์รวมตัวกันได้ บอกว่าเราจะทำตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 อันนี้ถึงจะเกิดเป็นสถาบัน ฉะนั้น ถ้าคุณเชื่อประวัติศาสตร์ ก็ไปศึกษาว่าการสร้าง Agent แต่ละกลุ่มมันดำเนินการอย่างไร สร้างการเปลี่ยนแปลงมากเพียงใด คือการที่จะดำรงอยู่ได้ของรัฐไทยคือการต้องประสานกันระหว่าง Agent ทุกกลุ่ม ตกลงแล้วประชาชนอยู่ตรงไหน สังคมอยู่ตรงไหน นี่คือคำถามและปัญหา เพราะอย่างที่พูดไปตอนแรกว่าเส้นแบ่งมันเบลอ”

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.