Posted: 29 Jun 2017 07:58 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

“...สภาวะปัจจุบัน มีการปะทะกันรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
......หวังว่าการปะทะกันระหว่างพลังเก่าและพลังใหม่ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย....”


รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด,23 มิ.ย.2560

จากการปาฐกถาของ รศ.ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่กล่าวว่า การเมือง การปกครองของไทย ตกอยู่ในอำนาจนำของชนชั้นนำภาครัฐ ( หรือที่ “ใบตองแห้ง” เคยให้คำจำกัดความกับคำว่า “ Deep State “ ของ เออ เชนี เมริโอ ว่า”รัฐพันลึก” และ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี๊ด มักจะเรียกกลุ่มนี้ว่า “กลุ่มพลังเก่า” )

นอกจากนี้ รศ.ดร.เสกสรรค์ยังทำนายการเมืองล่วงหน้าอีกว่า “ประเทศไทยจะตกอยู่ใต้อำนาจนำของกลุ่มชนชั้นนำภาครัฐนี้ อีกถึง 9 – 10 ปีเป็นอย่างน้อย” ซึ่งจากการทำนายประเด็นนี้เอง ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ สั่นสะเทือนต่อผู้สนใจการเมืองไทย ชนิดที่ว่าเกิด อาฟเตอร์ช๊อค ติดตามมาอีกหลายระลอกทั้งผู้เห็นด้วยและคัดค้าน แต่หากพิจารณาถึงปัจจัยหลักที่ รศ.ดร.เสกสรรค์ นำมาวิเคราะห์ฟันธงก็คือ การที่กลุ่มชนชั้นนำภาครัฐได้อาศัยวางกฎเกณฑ์ เงื่อนไขการสืบทอดอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว ก็เชื่อว่าทุกท่านก็คงเห็นคล้อยตามเช่นเดียวกับ รศ.ดร.เสกสรรค์ ส่วนผู้เขียนก็คงไม่วิพากษ์ถึงความเห็นของ รศ.ดร.เสกสรรค์ แต่ผู้เขียนสนใจว่า หากกลุ่มชนชั้นนำภาครัฐครองอำนาจนำยาวนานเช่นนั้นจริง กลุ่มพลังประชาธิปไตย (กลุ่มพลังใหม่) จะกำหนดแนวทางการต่อสู้กับ “ กลุ่มชนชั้นนำภาครัฐ”(พลังเก่า)นี้อย่างไร

รศ.ดร.เสกสรรค์ ได้ใช้คำว่า “อำนาจนำ” ( Hegemony) ซึ่งเป็นคำที่มาจากเจ้าทฤษฎีที่ชื่อ”อันโตนิโอ กรัมชี่” ดังนั้นผู้เขียนจึงใคร่จะนำแนวทางของกรัมชี่ มากำหนดเป็นยุทธศาสตร์กว้างๆ สำหรับใช้เป็นแนวทางในการต่อสู้ของกลุ่มพลังประชาธิปไตย(พลังใหม่) กับกลุ่มชนชั้นนำภาครัฐดู เผื่อผู้อ่านจะได้มีความหวังอยู่ที่ปลายอุโมงค์บ้าง

แนวคิดของกรัมชี่นั้น ต่อยอดมาจากแนวคิดของมาร์กซ์ โดยกรัมชี่ได้เสนอแยกโครงสร้างส่วนบนออกเป็นสองพื้นที่ คือพื้นที่ civil society กับพื้นที่ political society โดยโครงสร้างส่วนบนสองพื้นที่นี้เกี่ยวข้องกันในการทำภารกิจครอบงำสังคม(พื้นที่สังคมอุดมการณ์) และการควบคุมกำกับโดยตรง (พื้นที่สังคมการเมือง) โดยใช้อำนาจรัฐ ประเด็นหลักคือกรัมชี่นั้นเห็นต่างจากมาร์กซ์ เรื่องความขัดแย้งว่าไม่ใช่โครงสร้างพื้นฐานส่วนล่างที่จะก่อให้เกิดการขัดแย้งอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐตามที่มาร์กซ์เสนอ แต่เป็นโครงสร้างส่วนบนต่างหากที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจครอบงำของพื้นที่อุดมการณ์ (civil society) หลักของชนชั้นนำทางสังคมที่มีต่อส่วนต่างๆของสังคม และเห็นว่าการใช้กำลังอำนาจบังคับในพื้นที่สังคมการเมือง (political society) โดยอาศัยกลไกของรัฐนั้น หาใช่เป็นการทำให้เกิดการยอมรับจากฝ่ายที่ถูกปกครองไม่ ดังนั้นทั้งแนวคิดหรือจิตสำนึกในการอธิบายความเป็นไปของสังคม ซึ่งชนชั้นปกครองเป็นฝ่ายกำหนดจิตสำนึกนี้ จนกลายเป็นสามัญสำนึกของมวลชนเป็นปรัชญาของมวลชน ทำให้เกิดการยอมรับระบบศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและพฤติกรรมสังคม และกรัมชี่เห็นว่าโครงสร้างส่วนบนนี้เป็นปัจจัยสำคัญเป็นสิ่งที่มีพลวัตผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ได้มากกว่าโครงสร้างส่วนล่าง ดังนั้นกรัมชี่ จึงเห็นว่าอำนาจของจิตสำนึกและอุดมการณ์นั้นเป็นจุดสำคัญในการทำความเข้าใจกับการมีอำนาจครอบงำหรืออำนาจนำ (hegemony) เพราะอำนาจนำนี้ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ยอมรับด้วยความเต็มใจ และสมัครใจ มิใช่เพียงเพราะการถูกบังคับ (ชัยอนันต์ สมุทวณิช,รัฐ,2552,หน้า 61-62) กล่าวโดยสรุปการจะครองอำนาจนำได้นั้น จะต้องสามารถควบคุม “โครงสร้างอำนาจประวัติศาสตร์” กล่าวคือ การมีอำนาจนำต่อ ความสามารถทางความมั่นคงและเศรษฐกิจและมีอำนาจเชิงอุดมการณ์หรืออำนาจนำทางความคิด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตและพลังสังคม

กลุ่มพลังสังคม พอจะแยกได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มพลังสังคมชนชั้นปกครอง หรืออาจเรียกได้ว่า กลุ่มชนชั้นนำภาครัฐ (กลุ่มพลังเก่า/กลุ่มรัฐพันลึก) และกลุ่มพลังสังคมผู้ถูกกดขี่หรือกลุ่มพลังประชาธิปไตย/กลุ่มพลังใหม่ ทั้งสองกลุ่มต่างท้าทาย เพื่อแย่งชิงการสร้างดุลยภาพอำนาจ ในการครองอำนาจนำรัฐ ปัจจุบัน กลุ่มชนชั้นนำภาครัฐพยายามสร้างอำนาจนำระดับสูงสุด อันเป็นการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตน และกีดกันกลุ่มพลังประชาธิปไตยออกจากการมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยใช้กลไกรัฐ ในพื้นที่สังคมการเมือง (political society) จนได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 และยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนนี่แหละที่จะทำให้เกิดการกดขี่ทางชนชั้น จนเกิดความขัดแย้งขึ้นมาได้

สองสงครามใหญ่ของกลุ่มพลังประชาธิปไตย สงครามแรกคือ War of Position อันหมายถึงสงครามยึดพื้นที่สังคมการเมือง (political society) สงครามนี้กลุ่มพลังเก่าได้วางกฎเกณฑ์ อย่างรัดกุมเพื่อป้องกันการกลับมาของกลุ่มพลังประชาธิปไตยโดยเฉพาะ กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ฉะนั้นเพียงพรรคเพื่อไทยที่ประกาศตัวเป็นหัวหอกของพลังประชาธิปไตย คงยังไม่เพียงพอต่อการชนะศึกครั้งนี้ แต่จะต้องอาศัย ปัญญาชนอินทรีย์(Organic Intellectual) กลุ่มพลังสังคมประชาธิปไตยอื่น ที่อาจไม่ใช่นักการเมืองดั้งเดิมมาก่อน อาจจะเป็น กลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มสายอาชีพ กลุ่มผลประโยชน์ท้องถิ่นต่างๆ ต้องกระโดด เข้ามาสู่สงครามเลือกตั้งครั้งนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อาจจะเป็นกลุ่มที่อาสาเข้ามารักษานโยบายสำคัญที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เช่นกลุ่มพิทักษ์นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นต้น เพื่อแย่งชิงเป็นตัวแทนฝั่งพลังประชาธิปไตยในระบบบัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญ 2560

สงครามที่สอง คือ War of Movement หรือสงครามเพื่อยึดพื้นที่สังคมอุดมการณ์ ความคิด (civil society) สงครามนี้นอกจากจะต้องใช้ ปัญญาชนอินทรีย์ (Organic Intellectaul) จำนวนมากทุกกลุ่ม ทุกหมู่เหล่า และต้องอาศัยปัญญาชนอินทรีย์หรือปัญญาชนจัดตั้งนี้อย่างมาก และปัญญาชนนี้จะต้องมีต้นทุนทางสังคมสูง และค่อนข้างจะเป็นกลางทางการเมือง เช่นนักรัฐศาสตร์อย่าง ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักนิติศาสตร์อย่าง ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ สื่อมวลชนอย่าง สำนักข่าวอิศรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำสงครามใน Social media ฯลฯ และต้องไม่ใช่บุคคลลักษณะขาประจำ แต่เป็นบุคคลที่เมื่อออกมาแสดงความคิดเห็นแล้วทรงอิทธิพลต่อสังคมในวงกว้าง โดยปัญญาชนเหล่านี้จะออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สอดแทรกความคิดอุดมการณ์ ให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องมีกลยุทธ์ในการสร้างวาทกรรมทางการเมืองขึ้นมา เพื่อช่วงชิงอำนาจนำในพื้นที่สังคมอุดมการณ์ให้เกิดความชอบธรรมทางการเมืองให้กลุ่มพลังประชาธิปไตยในที่สุด ดังนั้นปัญญาชนชุดนี้จะต้องไม่ผลุบๆโผล่ๆแต่ต้องมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ โดยขยายฐานการต่อสู้ทางชนชั้นและสร้างแนวร่วมประชาชนที่มีจากผู้คนในกลุ่มต่างๆให้มากที่สุด

ความสามารถทางเศรษฐกิจ (การผลิต) นับเป็นจุดอ่อนสุดของ กลุ่มชนชั้นนำภาครัฐ เพราะความสามารถด้านนี้รัฐจะต้องปรับตัวตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของทุนนิยมโลก อันหมายถึงพลังภายนอก การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้งของไทยที่ผ่านมา พลังภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องมาโดยตลอด ปัจจุบันกลุ่มชนชั้นนำภาครัฐ ศ.ดร.สรชาติ บำรุงสุข ก็ได้สรุปชัดเจนเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า “ไทยได้ถูกปฏิเสธจากทุนนิยมโลกแล้วอย่างชัดเจน โดยจำเป็นต้องหันเข้าไปพึ่งพาจีน อันเป็นเดินตามรอยรัฐเมียนม่าร์เมื่อปี 2531 “ ซึ่งก็เป็นข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ไทยภายใต้การนำของชนชั้นนำภาครัฐไม่สามารถเชื่อมต่อกับทุนนิยมโลกได้ ซึ่งก็เป็นข้อได้เปรียบของกลุ่มพลังประชาธิปไตย

ดังนั้นแม้กลุ่มพลังประชาธิปไตย จะไม่ชนะการเลือกตั้ง เพื่อเข้าสู่พื้นที่สังคมการเมือง แต่กลุ่มพลังประชาธิปไตยหลายๆกลุ่มที่โดดเข้าสู่พื้นที่สังคมการเมืองมากๆ ก็จะส่งผลต่อชัยชนะเด็ดขาดของกลุ่มพลังเก่า ยิ่งสามารถเข้ายึดกุมพื้นที่ ความคิด อุดมการณ์ได้ และพยายามเชื่อมต่อพลังภายนอก (ทุนนิยมโลก) ให้ได้ เชื่อว่าระยะยาวก็จะเกิดความขัดแย้งที่รุนแรงเพราะกลุ่มพลังเก่าย่อมต้องรักษาผลประโยชน์ของตนและกดขี่ประชาชนที่เห็นต่างมากขึ้น เมื่อนั้นไตรภาคีอำนาจ (ศักดิภัท เชาวน์ลักษณ์สกุล,ปรองดอง,2560) ระหว่างพลังเก่า พลังใหม่และพลังภายนอก เกิดความสัมพันธ์ไม่ลงตัว ทำให้ขาดดุลยภาพพลังทางสังคมขึ้น......ฤาการปะทะกันระหว่างพลังเก่าและพลังใหม่ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย.

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.