สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

.
"พี่จิ้นจะขึ้นร้องเพลง 'ฝากนาม' ในงานนี้ อยากให้คุณหมอร้องเพลงด้วยสัก 1 เพลง"
.
ได้เลย - ผมนึกในใจ
.
ทำไมใจง่ายอย่างนั้น...
.
คงเพราะผมผูกพันกับพี่จิ้น กรรมาชน มาตั้งแต่เรียนมหิดลเมื่อปี 2517 กระมัง
.
ตอนบ่ายๆของทุกวันเรียน เมื่อผมเดินผ่านท้ายตึกเคมี ผมได้ยินเสียงซ้อมดนตรีของพี่ๆวงกรรมาชนดังลงมาจากชั้นบนเสมอ ผมเคยแวะขึ้นไปพูดคุยด้วย เจอพี่จิ้นทักทายเล่าเรื่องเพลงอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส
.
ต่อมา วงกรรมาชนเปิดแสดงต่อสาธารณชนครั้งแรกในวันที่ 14 ตุลาคม 2517 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมชมการแสดงด้วยความตื่นใจกับแนวเพลงที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน
.
หลังจากงานเปิดตัวนั้น วงกรรมาชนก็ได้รับการร้องขอ ให้ตระเวนเล่นในงานชุมนุมทางการเมือง ในมหาวิทยาลัย ในโรงงาน ในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ
.
ตลอดการชุมนุมทุกครั้งของปี 2519 ซึ่งสถานการณ์การเมืองกำลังตึงเครียด มีการปะทะกันบ่อยๆ และการก่อกวนจากกลุ่ม "กระทิงแดง" แต่วงกรรมาชนก็ไม่เคยถอย เป็นแถวหน้าบนเวทีอยู่เสมอ
.
หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพื่อนพ้องน้องพี่ชาวมหิดลหายหน้าไปจากมหาวิทยาลัย รวมทั้งพี่จิ้นด้วย
.
มหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2520 เต็มไปด้วยความเงียบเหงา กิจกรรมต่างๆของนักศึกษาถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ผมเรียนหนังสือ ควบคู่กับการพูดคุยกลุ่มเล็กๆกับเพื่อนนักกิจกรรมที่ยังอยู่ว่า เราจะเริ่มต้นทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง
.
แล้วโอกาสก็มาถึง คณะวิทยาศาสตร์ยอมให้นักศึกษาจัดงานลอยกระทงในเดือนพฤศจิกายน 2520 ที่ใต้ตึกฟิสิกส์ ซึ่งมีสระน้ำอยู่ด้านล่าง
.
กิจกรรมที่เราคิดว่าพอทำได้ไม่ยากคือ จัดร้องเพลง ปัญหาคือเพื่อนๆที่รวมกลุ่มกันนั้น พอมีคนเล่นกีตาร์และเป่าเมาท์ออร์แกนได้ แต่ไม่มีใครยอมเป็นนักร้อง ผมจึงถูกขอร้องแกมบังคับให้เป็นนักร้องจำเป็น เพราะนักร้องตัวจริงอย่างพี่จิ้นไม่อยู่เสียแล้ว
.
วงดนตรีจำเป็นที่มี 3 ชีวิตจึงเปิดการแสดงเพลงของกรรมาชนครั้งแรกหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาในคืนลอยกระทงปี 2520
.
หลังจากนั้น กิจกรรมนักศึกษาเริ่มทำได้มากขึ้น มีวงดนตรีใหม่ๆเกิดขึ้น หลายวง เช่น ประกายดาว และ ฟ้าใหม่ จากมหิดล, น้ำค้าง จากจุฬา, นฤคหิต จากเชียงใหม่
.
เมื่อพี่จิ้นคืนเมือง เราต่างมีหน้าที่การงานของตน ล่องลอยไปตามวงเวียนชีวิต พบปะกันบ้างตามงานของกลุ่มเพื่อนมหิดล ผมตามผลงานเพลงของพี่จิ้นตั้งแต่ 1000 ดาว, กรรมาชน รวมวง-แสดงสด จนถึง เพื่อมาตุภูมิ ซึ่งผมชอบทุกเพลง และที่ชอบร้องคลอตามเสมอ คือ คำสัญญา (แห่งเดือนตุลา) ซึ่งย้ำเตือนถึงเพื่อนผู้จากไป และความใฝ่ฝันในวัยเยาว์
.
หลังการรัฐประหารปี 2549 พี่จิ้นแต่งเพลงใหม่ออกมาอย่างพรั่งพรู เพราะพี่จิ้นเป็นคนซื่อตรงต่อความรู้สึกของตนเอง และต่อความรู้สึกของปวงชนผู้ด้อยโอกาส
.
นักสู้ธุลีดิน วันของเรา กำชัย และอีกหลายเพลง เป็นเพลงที่นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทุกรุ่น ทุกวัย ร้องตามด้วยความรู้สึกที่จุกแน่น จนเอ่อท้นท่วมจากดวงใจถึงดวงตา
.
โดยไม่ตั้งใจ คอนเสิร์ต "เพลงเมือง เพลงป่า เพลงประชาชน" ครั้งนี้ เหมือน งานรวมฮิตเพลงของพี่จิ้น กรรมาชน ซึ่งร้อยรัดดวงใจของผู้มาร่วมงาน ทั้ง คนที่มีบาดแผลและริ้วรอยแห่งประวัติศาสตร์เดือนตุลา และผู้ที่เพิ่งผ่านสมรภูมิเพื่อประชาธิปไตยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
.
ผมอยู่ร่วมงานคอนเสิร์ตตั้งแต่ต้นจนจบ สังเกตว่า ผู้มาร่วมชมดนตรี ต่างสนทนาปราศรัยต่อ ไม่ยอมแยกย้าย จนกระทั่งพลบค่ำ
.
บทสรุปในใจผมวันนั้น ระหว่างขับรถไปบนถนนรัชดาภิเษก และมีเสียงเพลงของจิ้น กรรมาชน ลอยมาเบาๆ คือ
.
เพลง "เพื่อชีวิต" หลายเพลง ของนักร้องหลายคน เลือนหายไปตามกาลเวลา และไม่มีใครอยากจดจำ
.
แต่เพลง "ประชาชน" ไม่ว่าเป็นเพลงเมือง หรือเพลงป่า จักถูกขับขานขึ้นมาทุกครั้ง เมื่อประชาชนกู่ร้องก้องดัง เพื่อสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในสังคม

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.