Posted: 20 Jan 2019 03:20 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2019-01-21 06:20
พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ
รายงานพิเศษตอนที่ 2 สำรวจสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า หลังเข้าสู่ช่วงเจรจาสันติภาพ พิจารณาผลกระทบในมิติต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวิถีชีวิตของประชากรตามแนวชายแดน พูดคุยกับภาคประชาสังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาสันติภาพ เริ่มต้นจากรัฐมอญ มุมมองต่อการหยุดยิง กระบวนการเจรจาสันติภาพ และการคลี่คลายความขัดแย้ง
พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) ต่อสู้กับรัฐบาลพม่ามาตั้งแต่ปี 1958 เคยลงนามหยุดยิง 2 ฝ่ายในปี 1995 ต่อมาในเดือนสิงหาคมปี 2009 ประกาศไม่ยอมแปรสภาพเป็นกองกำลัง BGF ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพพม่า ก่อนลงนามหยุดยิง 2 ฝ่ายอีกครั้งในปี 2012 และเพิ่งตัดสินใจเข้าร่วมลงนามหยุดยิงระดับประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่าในปี 2018
เกือบ 1 ปีที่เข้าร่วมในกระบวนการเจรจาสันติภาพ ข้อเสนอเรื่องเขตปกครองตัวเอง 21 แห่งของพรรครัฐมอญใหม่ยังไม่ถูกหยิบยกเพื่อหารือกับรัฐบาลพม่า สถานการณ์เริ่มไม่นิ่งยิ่งขึ้น เมื่อผู้นำกองทัพพม่าประกาศปัดตก “สิทธิการแยกตัว" และต้องมี "กองทัพเดียว" กลุ่มชาติพันธุ์ระงับช่องการเจรจาสองกลุ่ม ขณะที่น้ำเสียงของพรรครัฐมอญใหม่ ดูเหมือนไม่อาจยอมรับเงื่อนไข "กองทัพเดียว" เช่นกัน
นอกจากนี้พื้นที่ควบคุมของพรรครัฐมอญใหม่ยังคงทับซ้อนกับทั้งรัฐบาลพม่า และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นโดยเฉพาะกับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ทำให้แม้ลงนาม NCA แต่ในรอบปี 2018 ก็ยังมีปัญหาการปะทะย่อยให้เห็น
ไม่เฉพาะแนวรบด้านการเมือง ในด้านวัฒนธรรม พรรครัฐมอญใหม่ก่อตั้ง "โรงเรียนแห่งชาติมอญ" (Mon National School) มาตั้งแต่ปี 1972 ปัจจุบันมีทั้งหมด 270 แห่ง ทั้งปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา แม้ไม่ได้จัดหลักสูตรการศึกษาแบบเอกเทศทั้งหมด แต่ยังคงสอนภาษามอญ ควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์มอญ และวิชาการเมืองการปกครอง โดยนักเรียนจากโรงเรียนแห่งชาติมอญสามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของรัฐบาลพม่าได้ด้วย
รัฐมอญ: การต่อสู้และเส้นทางเจรจาสันติภาพ
เริ่มต้นที่รัฐมอญ ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี หากใช้ด่านเจดีย์สามองค์เป็นหมุดหมาย ทางทิศใต้จากด่านเจดีย์สามองค์ไม่กี่กิโลเมตรก็คือหมู่บ้านบ่อญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ปกครองสำคัญของพรรครัฐมอญใหม่
โดยที่พรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Party - NMSP) ซึ่งมีกองกำลังประจำการราว 800-1,000 นาย ลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่าเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2018 ซึ่งตรงกับ "วันสหภาพพม่า" โดยในโอกาสนี้ยังมีสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (Lahu Democratic Union - LDU) ร่วมลงนามอีกกลุ่มด้วย ทำให้ในปัจจุบันมีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์รวมแล้วจำนวน 10 กลุ่มที่ลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่า
แต่เดิมนั้นกลุ่มชาติพันธุ์มอญได้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพมาตั้งแต่ปี 1947 ในนามพรรคสหแนวร่วมมอญ (Mon United Front - MUF) นำโดยนายสเว จิน โดยพรรคสหแนวร่วมมอญเคลื่อนไหวใกล้ชิดกับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU)
อีก 10 ปีต่อมามีทหารมอญบางส่วนยอมมอบอาวุธให้กับรัฐบาลพม่า แลกกับข้อเสนอจัดตั้งรัฐมอญ แต่นายสเว จิน ไม่เห็นด้วยกับการวางอาวุธ ในปี 1958 จึงออกมาตั้งกลุ่มใหม่ภายใต้ชื่อพรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Party - NMSP) และปีกทางการทหารคือกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติมอญ (Mon National Liberation Army - MNLA)
พรรครัฐมอญใหม่เคยมีฐานที่มั่นสำคัญที่ด่านเจดีย์สามองค์ ชายแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นตลาดการค้าชายแดนที่สำคัญ แต่แล้วในเดือนมกราคมปี 1990 ก็สูญเสียพื้นที่ให้กับกองทัพพม่า ทำให้ชาวมอญหลายพันคนหนีภัยสงครามเข้ามาในฝั่งไทย ก่อนถูกผลักดันกลับไปตั้งค่ายผู้อพยพภายในประเทศ (IDPs) บริเวณบ้านฮะล็อคคะนี [1] ตรงข้าม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี โดยในปัจจุบันพรรครัฐมอญใหม่ยังคงควบคุมพื้นที่สำคัญใกล้ด่านเจดีย์สามองค์คือที่บ้านบ่อญี่ปุ่น และพื้นที่ตอนในของรัฐมอญ
แกะรอยสันติภาพพม่า (1) การเจรจาที่ชะงักงันและหมากกลยุทธศาสตร์, 7 ม.ค. 2561
ด่านเจดีย์สามองค์ หรือเมืองพญาตองซู (Payathonzu) ชุมทางการค้าสำคัญ ซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นของพรรครัฐมอญใหม่ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ปกครองของรัฐบาลพม่ามาตั้งแต่ปี 1990
ทหารกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติมอญ (MNLA) สวนสนามเนื่องในงานวันชาติมอญปีที่ 70 ที่หมู่บ้านบ่อญี่ปุ่น ใกล้ด่านเจดีย์สามองค์ เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2017 (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพโดย ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย)
พรรครัฐมอญใหม่ทำข้อตกลงหยุดยิง 2 ฝ่ายกับรัฐบาลทหารพม่าเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 1995 ต่อมาหลังจากพม่าจัดการลงประชามติรัฐธรรมนูญปี 2008 และเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนปี 2010 มีการขีดเส้นตายให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่ลงนามหยุดยิงเปลี่ยนสถานะไปเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force - BGF) ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพพม่า แต่พรรครัฐมอญใหม่แถลงในเดือนสิงหาคมปี 2009 ปฏิเสธที่จะเปลี่ยนสถานะไปเป็นกองกำลัง BGF อย่างไรก็ตามสถานการณ์ไม่ได้ตึงเครียดจนยกระดับไปสู่การทำสงครามแบบที่เกิดขึ้นกับอดีตกลุ่มหยุดยิงอย่าง กองทัพโกก้าง MNDAA, กองทัพกะเหรี่ยง DKBA หรือกองทัพกะฉิ่น KIO/KIA
จนกระทั่งหลังพม่าจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนปี 2010 และได้รัฐบาลกึ่งพลเรือน นำโดยประธานาธิบดีเต็งเส่ง จึงเริ่มมีการเจรจาสันติภาพอีกครั้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับพรรครัฐมอญใหม่ ในที่สุด กุมภาพันธ์ปี 2012 พรรครัฐมอญใหม่จึงลงนามในข้อตกลงหยุดยิง 2 ฝ่ายในระดับรัฐบาลท้องถิ่น ในเวลาต่อมาเมื่อรัฐบาลเต็งเส่งเชิญกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ (EAOs) เข้าร่วมเจรจาพหุภาคีเพื่อนำไปสู่การลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2015 แต่พรรครัฐมอญใหม่ตัดสินใจไม่ร่วมลงนาม [2]
นายหงสา รองประธานพรรครัฐมอญใหม่ กล่าวว่า แม้เขาจะเห็นด้วยกับถ้อยคำในข้อตกลง แต่เขาเองก็ไม่ต้องการให้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ถูกละเลย รวมทั้งกลุ่มที่ยังสู้รบกับกองทัพรัฐบาลพม่า เขาเชื่อว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะเกิดการหยุดยิงทั่วประเทศ ถ้ารัฐบาลพม่าไม่สามารถการันตีในด้านการเมืองและการทหาร รวมทั้งยังคงรบกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ลงนามในข้อตกลง NCA [3]
แม้พรรครัฐมอญใหม่จะไม่ได้ลงนาม NCA แต่ยังคงมีบทบาทเจรจาต่อรองกับรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ที่นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ร่วมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้ลงนามหยุดยิง NCA ในนามสภาสหพันธรัฐชาติสหภาพ (The United Nationalities Federal Council - UNFC) ซึ่งเป็นพันธมิตรของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ก่อตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2011
กระนั้น UNFC ลดความสำคัญลงหลังจากสมาชิกหลักอย่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ถอนตัวออกไปในปี 2014 และต่อมา 4 กองกำลังที่เป็นสมาชิก UNFC ได้แก่ กองทัพแห่งอิสรภาพกะฉิ่น KIO/KIA กองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA กองทัพโกก้าง MNDAA และ กองทัพตะอาง TNLA ก็ถอนตัวเช่นกันในปี 2017 เพื่อไปเข้าร่วมกับพันธมิตรฝ่ายเหนือ FPNCC อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับองค์กรแห่งชาติว้า WNO ที่ลาออกจาก UNFC ในปี 2017 หลังกองทัพสหรัฐว้า UWSA กดดัน
ในเดือนมีนาคม 2017 พรรครัฐมอญใหม่แถลงว่าจะลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ และเริ่มกระบวนการหารือกับสมาชิกพรรครัฐมอญใหม่ ผู้นำชุมชน และคณะสงฆ์ในรัฐมอญ [4] จนลงนามในเดือนกุมภาพันธ์ 2018
ร่วมลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ หวังพื้นที่พูดคุยการเมือง-กำหนดนโยบาย
นายเอ้ยมอญ กรรมการกลางบริหารพรรครัฐมอญใหม่
สภาพบ้านเรือนในหมู่บ้านที่พรรครัฐมอญใหม่ปกครอง โดยถนนที่ตัดผ่านหมู่บ้านเป็นเส้นทางเชื่อมชายแดนไทย-พม่า จากบ้านฮะล็อคคะนี ถึง ทางหลวงหมายเลข 8 เชื่อมอำเภอเย จังหวัดมะละแหม่ง รัฐมอญ (แฟ้มภาพปี 2015)
สวนยางพาราในพื้นที่บริหารของพรรครัฐมอญใหม่ ในเขตอำเภอเย จังหวัดมะละแหม่ง (แฟ้มภาพปี 2015)
สะพานคอนกรีตและถนนที่กำลังก่อสร้าง ตัดผ่านพื้นที่บริหารของพรรครัฐมอญใหม่ ในเขตอำเภอเย จังหวัดมะละแหม่ง (แฟ้มภาพปี 2015)
นายเอ้ยมอญ 1 ใน 7 กรรมการกลางบริหารพรรครัฐมอญใหม่ กล่าวถึงสาเหตุที่พรรคตัดสินใจลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศว่า "เพราะต้องการให้เกิดความสงบสุข และจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งพรรครัฐมอญใหม่และประชาชนชาวมอญในเมืองมอญ เพราะเมื่อลงนามเสร็จแล้วพวกเราสามารถพูดคุยเรื่องการเมือง รวมทั้งดำเนินนโยบายด้านสังคมและสวัสดิการให้กับประชาชนได้"
ในข้อเรียกร้องทางการเมืองของพรรครัฐมอญใหม่ มีข้อเสนอต่อรัฐบาลพม่าเพื่อจัดตั้งเขตปกครองตนเอง 21 แห่ง แต่ละแห่งมีรัศมี 5 ไมล์ (8 กิโลเมตร) โดยอยู่ในรัฐมอญ 18 แห่ง อยู่ในพื้นที่ทางตอนใต้ของรัฐกะเหรี่ยงติดต่อกับรัฐมอญ 3 แห่ง นายเอ้ยมอญกล่าวว่าจนถึงตอนนี้ทางพรรครัฐมอญใหม่ก็ยังไม่ได้นำเรื่องนี้ไปเจรจากับรัฐบาลพม่าเลย
สำหรับอนาคตของ UNFC แม้เหลือเพียงพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี KNPP เป็นแกนนำหลัก แต่สำหรับนายหงสา รองประธานพรรครัฐมอญใหม่ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธาน UNFC ด้วยก็ยังยืนยันว่าการดำรงอยู่ของ UNFC มีความสำคัญ เขาพยายามรักษาองค์กรเอาไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่ผ่านมา UNFC เคยสอบถามจุดยืนไปยังกรรมการกลางของพรรครัฐมอญใหม่ว่าจะลาออกจากกลุ่ม UNFC หรือไม่แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ [5]
ส่วนขั้นตอนที่ชะงักงันของการเจรจาสันติภาพ หลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU และสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS/SSA ประกาศในเดือนตุลาคม 2018 ถอนตัวชั่วคราวจากการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลพม่า หลังจากที่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่าคัดค้าน "สิทธิแยกตัว" ออกจากสหภาพของบรรดารัฐกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งยืนยันรูปแบบ "กองทัพเดียว" (Single Army) ซึ่งขัดกับรูปแบบ "กองทัพสหพันธรัฐ" (Federal Army) ที่กลุ่มชาติพันธุ์เสนอนั้น
นายเอ้ยมอญกล่าวว่า ในประเด็นเรื่อง "กองทัพเดียว" ที่ ผบ.สส.กองทัพพม่าเสนอ ไม่ใช่เรื่องที่ระบุไว้ในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ ดังนั้นเมื่อพูดเรื่องนี้ก็แน่นอนว่า หลายกลุ่มต้องไม่ยอม พรรครัฐมอญใหม่เองก็คงไม่ยอมเช่นกัน อีกทั้งรูปแบบของรัฐบาลพม่าก็ต้องเป็นประชาธิปไตยจริงๆ จะให้ทหารปกครองเหมือนในอดีต กลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มก็รับไม่ได้
หลังลงนาม NCA พรรครัฐมอญใหม่ตั้งเป้าหมายจัดประชุมกับประชาชนชาวมอญในหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องกำหนดรูปแบบธงชาติมอญ ธงประจำรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐมอญซึ่งปรับปรุงใหม่ในเดือนมิถุนายน 2018 แม้เป็นรูปหงส์บนพื้นสีแดงแล้ว แต่ก็ยังมีรูปแบบแตกต่างจากธงรูปหงส์บนพื้นสีแดงของพรรครัฐมอญใหม่
"ธงของพรรครัฐมอญใหม่นั้น ผืนธงต้องพื้นสีแดง ดาวสีฟ้า สีแดงคือเลือดเนื้อ ดาวสีฟ้าเป็นดาวใกล้กับดวงจันทร์ไม่โคจรไปไหนคือความมั่นคง หงส์เป็นสัญลักษณ์ของการก่อตั้งเมืองหงสาวดีตามที่มีตำนานพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่บริเวณนี้ และเห็นก้อนดินโผล่ขึ้นมาจากมหาสมุทร มีหงส์สองตัวบินร่อนอยู่ แต่ลงมาพักบนก้อนหินได้เพียงตัวเดียว หงส์อีกตัวจึงเกาะหลังหงส์ตัวที่เกาะบนก้อนหิน โดยพระพุทธเจ้าทรงทำนายว่าในอนาคตเมืองแห่งนี้จะมีความอุดมสมบูรณ์ หงส์จึงเป็นตัวแทนของคนมอญทั้งหมด" ผู้นำกลุ่มอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของประชาคมชาวมอญคนหนึ่งในอำเภอสังขละบุรีให้ข้อมูลเพิ่มเติม
พื้นที่ทับซ้อน มอญ-พม่า และ มอญ-กะเหรี่ยง
แม้กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่บริเวณชายแดนพม่าด้านทิศตะวันออกอย่างพรรครัฐมอญใหม่ NMSP และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU จะร่วมมือกันต่อต้านรัฐบาลพม่ามาโดยตลอดนับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราช แต่ภูมิศาสตร์ของพื้นที่เคลื่อนไหวของทั้งสองกลุ่มนั้นทับซ้อนกัน
เมื่อมองภาพใหญ่ พื้นที่ชายแดนด้านตะวันออกของพม่านับตั้งแต่ปี 1949 กลายเป็นฐานกำลังสำคัญของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ซึ่งแบ่งพื้นที่ควบคุมออกเป็น 7 จังหวัด และ 7 กองพลน้อย ครอบคลุมพื้นที่ที่รัฐบาลพม่ากำหนดให้เป็นรัฐกะเหรี่ยง ทับซ้อนกับภาคตะนาวศรี พื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐมอญ และพื้นที่ด้านตะวันออกของภาคพะโค
ต้องกล่าวด้วยว่า "รัฐมอญ" ที่รัฐบาลพม่าก่อตั้งนั้นเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญสหภาพพม่าปี 1974 ที่กำหนดให้ตอนเหนือของภาคตะนาวศรี (Tenasserim Division) เป็นรัฐมอญ [6] โดยปัจจุบันรัฐมอญแบ่งออกเป็น 2 จังหวัด ได้แก่ ทิศเหนือจากปากแม่น้ำสาละวินคือจังหวัดสะเทิม (Thaton) มี 4 อำเภอ และทิศใต้จากปากแม่น้ำสาละวิน คือจังหวัดมะละแหม่ง (Mawlamyine) มี 6 อำเภอ
7 เขตการปกครองที่ประกาศโดยสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง และพื้นที่ทับซ้อนกับรัฐมอญ (ที่มา: ดัดแปลงจาก Myanmar Information Management Unit (2016) และ Kim Jolliffe/The Asia Foundation (2016)
ป้อมจุดตรวจของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU บนถนนเส้นทางบ้านฮะล็อคคานี ถึง ทางหลวงหมายเลข 8 เชื่อมอำเภอเย จังหวัดมะละแหม่ง ทางตอนใต้ของรัฐมอญ ทั้งนี้แม้พื้นที่ดังกล่าวพรรครัฐมอญใหม่ NMSP จะควบคุมพื้นที่ได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ยังคงมีป้อมจุดตรวจของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU แทรกปะปนอยู่เป็นระยะ
เมื่อวางทาบกับเขตปกครองของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง จังหวัดสะเทิมของรัฐมอญนั้นทับซ้อนกับจังหวัดดูตะทู (Du Tha Htu) ในพื้นที่ของกองทัพกะเหรี่ยง KNLA กองพลน้อยที่ 1 ภายใต้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ส่วนจังหวัดมะละแหม่งของรัฐมอญก็ทับซ้อนกับพื้นที่ด้านตะวันตกของจังหวัดดูปลายา (Dooplaya) ในพื้นที่ของกองทัพกะเหรี่ยง KNLA กองพลน้อยที่ 6
กรณีของชายแดนไทย-พม่า ที่ด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งเป็นชุมทางการค้าสำคัญที่พรรครัฐมอญใหม่เคยควบคุมก็อยู่ในพื้นที่ตอนใต้ของจังหวัดกอกะเรก หรือจังหวัดดูปลายา รัฐกะเหรี่ยง ในปี 1988 เคยมีการปะทะกันเพื่อแย่งชิงพื้นที่พิพาทระหว่างพรรครัฐมอญใหม่กับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงด้วย แต่หลังจากเดือนมกราคมปี 1990 พื้นที่ด่านเจดีย์สามองค์ก็ถูกควบคุมโดยรัฐบาลพม่า ขณะที่พื้นที่รอบๆ ยังคงเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของทั้งพรรครัฐมอญใหม่ NMSP สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU และกองทัพกะเหรี่ยง DKBA ฯลฯ
ภายหลังลงนาม NCA และตลอดปี 2018 พรรครัฐมอญใหม่หลีกเลี่ยงการปะทะกับกองทัพพม่า โดยเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน ที่หมู่บ้านคานาลู อำเภอไจก์มะยอ จังหวัดมะละแหม่ง ในรัฐมอญ ทหารของพรรครัฐมอญใหม่ซึ่งประจำการอยู่ที่จุดตรวจในหมู่บ้านแห่งนี้มากว่า 3 ปี ได้ยอมถอนทหาร โดยทหารมอญตัดสินใจปลดธงชาติมอญ และส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้ใหญ่บ้าน ก่อนถอนทหารออกจากพื้นที่เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ [7] และมีทหารพม่าเข้ามาประจำการแทน
อย่างไรก็ดี ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2018 ทหารพรรครัฐมอญใหม่มีการปะทะย่อยๆ กับทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง 4 ครั้ง ได้แก่ บริเวณตอนใต้ของอำเภอเย จังหวัดเมาะละแหม่ง รัฐมอญ และในภาคตะนาวศรี
สาเหตุการปะทะมาจากพื้นที่ทับซ้อนที่อ้างสิทธิกันระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและพรรครัฐมอญใหม่ ในพื้นที่ป่าไม้บริเวณหมู่บ้านมานอ่อง (Mann Aung) อำเภอเย จังหวัดมะละแหม่ง หรือเป็นพื้นที่อำเภอวินเย (Win Ye) จังหวัดดูปลายา (Dooplaya District) ติดต่อกับอำเภอเลอโดะซอ (Ler Doh Soe) จังหวัดมะริด-ทวาย (Megui/Tavoy District) ตามนิยามของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง
ข้อพิพาทเกิดขึ้นในเดือนมกราคมปี 2018 ทหารกะเหรี่ยง KNLA กองพันที่ 16 กองพลน้อยที่ 6 อนุญาตให้ชาวบ้านและนักธุรกิจในพื้นที่ตัดไม้ขาย อย่างไรก็ตามพรรครัฐมอญใหม่ กองพันที่ 7 กลับมีนโยบายห้ามตัดไม้ ในวันที่ 13 มกราคม 2018 ทหารพรรครัฐมอญใหม่ กองพันที่ 7 จึงเข้าจับกุมคนงานตัดไม้ 48 ราย พร้อมยึดช้าง 2 เชือก และเลื่อยยนต์ 15 ปื้น มีการเรียกร้องค่าเสียหาย 50 ล้านจ๊าต (32,155 เหรียญสหรัฐ) จึงจะยอมปล่อยตัวคนงานและอุปกรณ์ ทำให้อดีตผู้ใหญ่บ้านมานอ่องและลูกบ้านเรี่ยไรเงิน 50 ล้านจ๊าตและเมื่อได้รับค่าเสียหายแล้ว ทหารมอญก็อนุญาตให้คนงานตัดไม้ที่เหลือ [8] แต่แล้วในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทหารพรรครัฐมอญใหม่ ก็เกิดปะทะกับทหารกะเหรี่ยง KNLA กองพันที่ 16 ทำให้เกิดการปะทะตามมาอีกหลายระลอกดังกล่าว
สถานการณ์ปะทะย่อยครั้งนี้ไม่ได้บานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ (inter-ethnic conflict) โดยทั้งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและพรรครัฐมอญใหม่ซึ่งมีความสัมพันธ์ในระดับผู้นำที่ใกล้ชิดพอสมควรได้ส่งตัวแทนมาเจรจาฉุกเฉินร่วมกัน
สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเสนอว่าในอนาคตควรจะมีการแบ่งเขตแดนพื้นที่ควบคุมระหว่างกองกำลังทั้ง 2 ฝ่ายหรือไม่ โดยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าพรรครัฐมอญใหม่ ยอมปล่อยตัวคนงานที่ถูกควบคุมตัว รวมทั้งอุปกรณ์ที่ยึดไว้
ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง (KHRG) มีข้อเสนอว่า แม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะลงนาม NCA แล้ว แต่การปะทะย่อยก็เกิดขึ้นเพราะทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้ตกลงกันในเรื่องเขตแดนให้แน่ชัด และปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนและทรัพยากรธรรมชาติก็จะเกิดขึ้นต่อไป โดย KHRG เสนอให้ทั้ง 2 ฝ่ายยึดหลักปฏิบัติทางทหารตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปะทะกันในอนาคต [9]
โรงเรียนและภาษามอญ: การต่อสู้เพื่อสิทธิด้านการศึกษา
"โรงเรียนแห่งชาติมอญ" (Mon National School) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในพื้นที่บริหารของพรรครัฐมอญใหม่ หมู่บ้านบ่อญี่ปุ่น ใกล้ด่านเจดีย์สามองค์ ภาพถ่ายเดือนพฤศจิกายน 2018 (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพโดย ดุลยภาค ปรีชารัชช)
"โรงเรียนแห่งชาติมอญ" ระดับอนุบาล ในพื้นที่บริหารของพรรครัฐมอญใหม่ (แฟ้มภาพปี 2015)
ภาพวาดพระเจ้าราชาธิราช (ครองราชย์ ค.ศ. 1368-1421) กษัตริย์ผู้รวบรวมอาณาจักรมอญให้เป็นปึกแผ่น ยังคงเป็นที่นับถือสักการะในหมู่ชุมชนชาวมอญที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพโดย ดุลยภาค ปรีชารัชช)
เยาวชนมอญยังคงเป็นกำลังสำคัญในการสืบทอดวัฒนธรรมและส่งต่ออุดมการณ์ความเป็นชาติ ในภาพเป็นนักเรียนมัธยมปลายที่ร่วมกิจกรรมวันชาติมอญปีที่ 68 ที่อำเภอเย จังหวัดมะละแหม่ง เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015
นอกจากแนวรบด้านการทหาร พรรครัฐมอญใหม่ยังให้ความสำคัญกับการสืบทอดวัฒนธรรมและภาษาผ่านการจัดการเรียนการสอน โดยนายเอ้ยมอญ กรรมการกลางบริหารพรรครัฐมอญใหม่ กล่าวว่า ในปี 1972 เป็นครั้งแรกที่พรรครัฐมอญใหม่ก่อตั้ง "โรงเรียนแห่งชาติมอญ" (Mon National School) เพื่อเปิดสอนภาษามอญตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา
การเรียนภาษามอญนับเป็นหัวใจสำคัญสำหรับโรงเรียนแห่งชาติมอญ เนื่องจากหลายสิบปีมานี้ทั้งพรรครัฐมอญใหม่และชุมชนชาวมอญต่างกลัวว่าเมื่อพม่าปกครองนานวันเข้า ภาษาพูดและภาษาเขียนของชนชาติมอญก็จะหาย ซึ่งจะทำให้ชนชาติมอญหายไปด้วย โดยทั้งพรรครัฐมอญใหม่และชุมชนชาวมอญจึงพยายามจัดการศึกษาด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แม้จะถูกแทรกแซงจากรัฐบาลพม่า แต่โรงเรียนแห่งชาติมอญก็อาศัยช่วงที่มีการเจรจาหยุดยิงหลังปี 1995 ขยายกิจการด้านการศึกษา จนถึงปัจจุบันนี้มี "โรงเรียนแห่งชาติมอญ" ทั้งสิ้น 270 แห่งทั่วรัฐมอญและในพื้นที่อื่นที่มีชุมชนชาวมอญ โดยโรงเรียนแห่งชาติมอญได้รับงบประมาณและการพัฒนาหลักสูตรจากพรรครัฐมอญใหม่ การช่วยเหลือของชุมชนที่ตั้งของโรงเรียนแห่งชาติมอญ รวมทั้งองค์กรการกุศลจากต่างประเทศ
โรงเรียนแห่งชาติมอญ จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในระบบ 10 เกรด หรือ 10 ชั้นปี แบบเดียวกับโรงเรียนของรัฐบาลพม่า โดยสอนทั้งภาษามอญ ภาษาพม่า และภาษาอังกฤษ ในระดับชั้นประถมศึกษา เมื่อเริ่มเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจะเริ่มใช้หลักสูตรของรัฐบาลพม่า แต่ก็ยังคงสอนภาษามอญควบคู่ เมื่อถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือชั้นปีที่ 7-9 จะเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์มอญ และชั้นปีที่ 9-10 จะเพิ่มวิชาการเมืองการปกครองเข้าไปเสริมในหลักสูตร
"นักเรียนต้องเรียนการเมืองว่ามอญปกครองมาอย่างไร พวกเขาก็จะได้เรียนได้รู้ประวัติศาสตร์ของตัวเอง รู้ว่าตัวเองมาจากไหน ชนชาติมอญเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมจึงสูญเสียบ้านเมือง" นายเอ้ยมอญกล่าว
หลักสูตรของโรงเรียนชนชาติมอญจะไม่ได้แยกเป็นเอกเทศจากหลักสูตรของรัฐบาลพม่า เพราะเมื่อนักเรียนจบการศึกษาชั้นปีที่ 10 จากโรงเรียนแห่งชาติมอญ ก็สามารถใช้วุฒิการศึกษาและเกรดเพื่อไปสมัครเข้ามหาวิทยาลัยในระบบการศึกษาของรัฐบาลพม่าได้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลกลางของพม่าเองก็พยายามเข้ามากำกับหลักสูตรการศึกษาผ่านระบบสอบเลื่อนชั้นโดยมีข้อเสนอให้นักเรียนในโรงเรียนแห่งชาติมอญตั้งแต่ชั้นปีที่ 8 ถึง 10 ต้องสอบเลื่อนชั้นด้วยข้อสอบของรัฐบาลพม่า พรรครัฐมอญใหม่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ มีการต่อรองจนเหลือการสอบเลื่อนชั้นสำหรับนักเรียนในโรงเรียนแห่งชาติมอญชั้นปีที่ 9 กับ 10 เท่านั้น
เมื่อเปรียบเทียบเป้าหมายด้านจัดการศึกษาของโรงเรียนแห่งชาติมอญ พรรครัฐมอญใหม่มีความแตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น โดยเฉพาะหลักสูตรของโรงเรียนภายใต้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงซึ่งงานวิจัยในปี 2014 พบว่าโรงเรียนกว่า 1,000 แห่งของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงที่พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของตัวเอง และใช้ภาษากะเหรี่ยงเป็นภาษาหลักนั้น มีผลทำให้นักเรียนที่จบการศึกษาไม่สามารถใช้ภาษาพม่าสื่อสารได้ดี รวมทั้งไม่สามารถเข้าสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษาของพม่าได้ และนักเรียนเหล่านี้ยังมีความรับรู้ทางอัตลักษณ์ว่าเป็นคนชาติกะเหรี่ยง มากกว่าที่จะเป็นพลเมืองพม่า [10]
ต่อปัญหาเรื่องอัตลักษณ์นั้น คุณวนา (นามสมมติ) หนึ่งในผู้นำกลุ่มอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ของประชาคมชาวมอญสังขละบุรี กล่าวถึงปัญหาอัตลักษณ์เสื่อมถอยที่เกิดขึ้นกับชาวมอญรุ่นลูกหลานว่า ในปัจจุบันผู้นำชุมชนชาวมอญทั้งในสังขละบุรีรวมทั้งรัฐมอญเป็นห่วงกันก็คือ เกรงว่าภาษาและวัฒนธรรมของชาวมอญจะสูญหาย
"อย่างลูกหลานชาวมอญในพม่า ถ้าเล่นอยู่กับเพื่อนฝูงก็จะพูดภาษาพม่า เวลาถามว่าเป็นลูกหลานชาวมอญไหม เขาก็บอกว่าเป็นลูกหลานชาวมอญ แต่การที่เขาอยู่ในพม่าทำให้เขาต้องพูดภาษาพม่าเป็นหลัก ส่วนเด็กที่อยู่ในเมืองไทยก็กังวลเหมือนกัน ถึงชาวมอญรุ่นผู้ใหญ่ในอำเภอสังขละบุรียังพูดภาษามอญอยู่ แต่พอเด็กออกไปข้างนอกบ้าน เจอเพื่อนฝูงก็พูดภาษาไทย การพูดภาษามอญในชีวิตประจำวันก็มีน้อยลง"
เธอหวังว่าหากสถานการณ์ในพม่ามีแนวโน้มเป็นประชาธิปไตยและมีสันติภาพมากขึ้น ก็ย่อมทำให้การทำงานด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวมอญสามารถทำได้เต็มที่
ขณะที่นายเอ้ยมอญ กรรมการกลางบริหารพรรครัฐมอญใหม่เห็นว่า เป้าหมายของพรรครัฐมอญใหม่ยังคงต้องการเห็นพม่าเป็นประชาธิปไตย และเป็นสหพันธรัฐที่กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิในการปกครองแท้จริง
"เราขอให้เกิดรัฐมอญที่มีความอิสระในการอนุรักษ์ภาษา วัฒนธรรม รวมทั้งการบริหารทรัพยากรธรรมชาติของเรา"
ผู้นำพรรครัฐมอญใหม่ผู้นี้ยังมีความหวังที่จะเห็นชาวมอญมีสิทธิในการปกครองตนเองอย่างเต็มที่ รวมไปถึงการกำหนดชื่อของรัฐมอญในอนาคต ที่ผ่านมาในหมู่ประชาชนชาวมอญมีกระแสเรียกร้องให้หวนกลับไปใช้ชื่อ "รามัญเทศะ" โดยนายเอ้ยมอญกล่าวด้วยว่ารัฐมอญจะใช้ชื่อรัฐใหม่แบบไหน ก็ขอให้ขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชนในรัฐมอญเป็นผู้กำหนด
อ้างอิง
[1] วันดี สันติวุฒิเมธี. "นักรบชายขอบ: การต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยชายแดนไทย-พม่า." นิตยสารสารคดี, มีนาคม 2543
[2] New Mon State Party, Myanmar Peace Monitor
[3] NMSP agrees with NCA but will not sign in October, BNI, 6 October 2015
[4] New Mon State Party Likely to Sign NCA, The Irrawaddy, 22 March 2017
[5] New Mon State Party Leader Frustrated With Peace Process 'Stalemate' But Hopeful, The Irrawaddy, 11 September 2018
[6] THE CONSTITUTION OF THE UNION OF BURMA (1974), Burma Library
[7] Myanmar’s Ethnic Armed Conflict in 2018: Unabated protracted war and heightened inter-ethnic armed confrontation, BNI/Shan Herald Agency for News, 14 December 2018
[8] Karen Human Rights Group News Bulletin, KHRG, September 15, 2018
[9] KHRG, Ibid.
[10] Marie Lall & Ashley South, Comparing Models of Non-state Ethnic Education in Myanmar: The Mon and Karen National Education Regimes, Journal of Contemporary Asia, Volume 44, 2014 - Issue 2 Pages 298-321
หมายเหตุ: ขอขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช ที่ช่วยเหลือประสานงานและร่วมลงพื้นที่ภาคสนามสำหรับรายงานข่าวชิ้นนี้
เกี่ยวกับภาพปก: เยาวชนชาวมอญ เข้าร่วมกิจกรรมวันชาติมอญปีที่ 68 ที่อำเภอเย จังหวัดมะละแหม่ง เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015
ข่าว
ต่างประเทศ
ความมั่นคง
พม่า
การเจรจาสันติภาพ
กองทัพพม่า
ประวัติศาสตร์
มอญ
ประวัติศาสตร์มอญ การปฏิรูปในพม่า
NCA
ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ
รัฐมอญ
พรรครัฐมอญใหม่
NMSP
สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง
KNU
รัฐกะเหรี่ยง
ชายแดนไทย-พม่า
กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์
แสดงความคิดเห็น