Posted: 27 Jan 2019 11:23 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2019-01-28 02:23


นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์

โครงการบันทึก 6 ตุลา เป็นหอจดหมายเหตุยุคใหม่ที่กำลังฟื้นฝอยหาตะเข็บโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของชาติไทย ด้วยการรวบรวมหลักฐาน คำให้การ ความทรงจำต่างๆ ที่รัฐไทยไม่อยากให้พูดถึง ประชาชนทั่วไปก็จำมันไม่ค่อยได้แจ่มชัด ประชาไทนำเสนอให้เห็นเส้นทางการสืบค้นรวบรวมข้อมูลที่น่าตื่นเต้นพอๆ กับข้อมูลที่ได้มา


เว็บไซต์วิกิพีเดีย (เข้าถึงเมื่อ 20 ม.ค.2562)

ภาพชายถูกแขวนคอและถูกฟาดด้วยเก้าอี้ดูจะเป็นสัญลักษณ์ความโหดร้ายของสังคมไทยในนาม “เหตุการณ์ 6 ตุลา” ล่าสุด มันปรากฏตัวอย่างทรงพลังในฉากหลังของมิวสิควิดีโอเพลงแร๊พร่วมสมัย - ประเทศกูมี

แต่เอาเข้าจริงแล้ว เรารู้จักมันแค่ไหนทั้งด้านกว้างและด้านลึก

ภาพด้านบนนี้มาจากวิกิพีเดีย แหล่งสืบค้นแรกๆ ที่ผู้คนจะเข้าถึงเรื่องราวของเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่แค่เพียงข้อมูลเบื้องต้นก็ผิดเสียแล้ว

คนที่ถูกแขวนคอไม่ใช่ วิชิตชัย อมรกุล นิสิตชั้นปี 2 รัฐศาสตร์ จุฬาฯ (ภาพวิชิตชัยถูกแขวนคอนั้นเป็นอีกภาพหนึ่ง)

เราจดจำเช่นนี้มาหลายสิบปี และนั่นเป็นเพียงตัวอย่างเดียวของความทรงจำที่ผิดเพี้ยน แหว่งวิ่น กระทั่งเพิ่งมีการเปิดเผยข้อมูลว่าเขาไม่ใช่วิชิตชัย โดยโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ เมื่อเร็วๆ นี้เอง

ถ้าไม่นับเว็บไซต์ 2519.net ที่รวบรวมเรื่อง 6 ตุลาโดยกลุ่มตุลาธรรม ซึ่งตัวเว็บไม่ได้เคลื่อนไหวมาหลายปีแล้ว เว็บไซต์บันทึก 6 ตุลาก็นับเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ อัพเดทที่สุดในปัจจุบัน
4 ทศวรรษผ่าน จึงเริ่มรวบรวมข้อมูล

จุดเริ่มต้นของโครงการบันทึก 6 ตุลาเกิดขึ้นในปีที่เหตุการณ์ผ่านมานาน 4 ทศวรรษ เมื่อมีผู้ตระหนักว่าข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้มีน้อยเหลือเกิน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตซึ่งเรามักมองเห็นเป็น “ตัวเลขกลมๆ” จากนั้นจึงมีคณะบุคคลลงเรี่ยวแรงแสวงหาจิ๊กซอว์มาต่อภาพโศกนาฏกรรมนี้ทีละชิ้น และยังหาอยู่จนปัจจุบัน

ผู้ริเริ่มหลักคือ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ธงชัย วินิจจะกูล อดีตนักศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์และปัจจุบันเป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา ส่วนผู้เก็บข้อมูลหลักในโครงการคือ ภัทรภร ภู่ทอง, นฤมล กระจ่างดารารัตน์, ธนาพล อิ๋วสกุล


เว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา

โครงการนี้มีช่องทางหลักคือ เว็บไซต์และเฟสบุ๊คที่จะเผยแพร่ข้อมูล ข้อเท็จจริง รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาในด้านต่างๆ เช่น ภาพหนังสือพิมพ์หลายหัวในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2519 คลิปวิดีโอ คลิปเสียงในวันเกิดเหตุ และเอกสารบางส่วนที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน เช่น เอกสารชันสูตรพลิกศพ เอกสารคำให้การของพยานฝ่ายโจทก์

อาจกล่าวได้ว่านี่คือทำงานเชิงจดหมายเหตุ

“เวลาพูดถึงจดหมายเหตุ คนไทยจะคิดถึงหอจดหมายเหตุแห่งชาติซึ่งเป็นที่เก็บเอกสาร แต่ในที่นี้หมายถึงการทำงานเชิงข้อมูล การเก็บเอกสาร หาเอกสารใหม่เพิ่ม จำแนกข้อมูล ทำงานเชิงวิชาการ ค้นคว้าวิจัย นำเอกสารที่มีอยู่ออกสู่สาธารณะแบบเข้าใจง่าย เช่น ทำหนัง จัดสัมมนา หรือสนับสนุนให้คนอื่นทำกิจกรรมเกี่ยวกับ 6 ตุลาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อเผชิญหน้ากับการทำให้ลืม” ภัทรภร ภู่ทอง กล่าว

ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกันถือได้ว่าเป็นคนแรกที่ค้นพบเอกสารสำคัญของเหตุการณ์ซึ่งนอนฝุ่นจับอยู่ในหอจดหมายเหตุของสำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว เขาเล่าให้ฟังว่า กว่าจะได้เข้าไปดูเอกสารเหล่านั้นมีความยากลำบาก ต้องทำจดหมายขออนุญาตและรออนุมัติยาวนาน ยิ่งเมื่อเป็นประเด็นที่อ่อนไหวก็ยิ่งตรวจสอบหลายขั้นตอน แต่ในที่สุดก็ได้รับอนุญาตให้เข้าไปดูเอกสาร แม้ไม่ได้รับอนุญาตให้คัดลอกแต่เขาก็ทำการคัดลอกไว้ในแบบที่พอทำได้

“เมื่อ 20 ปีที่แล้วเทคโนโลยียังไม่ดีขนาดนี้ ต้องใช้วิธีคัดมือ ถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์ม เอาไปล้าง อัด สแกน จำนวนเอกสารมีเป็น 10,000 ชิ้น บางอย่างไม่จำเป็นก็ไม่เอา เช่น เอกสารพิมพ์ลายนิ้วมือของคนกว่า 3,000 คน แต่พวกคำให้การพยานฝ่ายโจทย์ เอกสารชันสูตรพลิกศพ พวกนี้เราก็อปปี้มาหมด ตอนหลังพอทำโครงการนี้ เทคโนโลยีดีขึ้น เราก็กลับไปถ่ายรูปทั้งหมดอีกครั้งและได้เผยแพร่ลงในเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา” ธนาพลกล่าว

ส่วนที่มีความสำคัญไม่แพ้กันของเว็บไซต์นี้คือ การทำงานเกี่ยวกับ “ความทรงจำ” เน้นการสัมภาษณ์ครอบครัวและผู้ใกล้ชิดของเหยื่อ พยายามรวบรวมภาพถ่ายของเหตุการณ์ที่ยังกระจัดกระจายและซ่อนตัวอยู่อีกมาก

“เป้าหมายคืออยากให้สาธารณะรู้จักคนที่ตายไปแล้ว ตอนที่มีชีวิตเขาเป็นคนแบบไหน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีความฝัน มีอุดมการณ์ยังไง ทำไมวันนั้นถึงไปอยู่ในเหตุการณ์ เมื่อเขาเสียชีวิตครอบครัวต้องเผชิญอะไรบ้าง อยากเรียกร้องอะไรไหม ถ้าคนๆ นี้มีชีวิตอยู่เขาจะเป็นยังไง เราถามคำถามนี้เพราะอยากให้คนเห็นว่ามันไม่ใช่แค่การสูญเสียคนคนหนึ่ง แต่สูญเสียคนที่อาจทำประโยชน์ให้กับสังคม คนที่มีจิตใจคิดถึงความเป็นธรรม ความเท่าเทียมของมนุษย์ และการทำความรู้จักผู้เสียชีวิตก็คือการเคารพศักดิ์ศรีของพวกเขา ” ภัทรภรกล่าว

ลำพังแค่ตัวหนังสือที่ถอดมาจากปากคำของครอบครัวหรือเพื่อนสนิทก็อาจทรงพลังมากพอให้เสียน้ำตา แต่ภัทรภรย้ำว่ารูปถ่ายของเหยื่อก็สำคัญ การได้มองรูปถ่ายเป็นการทำความรู้จักผ่านแววตา ใบหน้าของคนที่เคยมีเลือดเนื้อ เพื่อย้ำเตือนว่าพวกเขามีตัวตน ไม่ใช่เพียงภาพมัวหม่นเลือนรางที่เราจินตนาการไม่ออก


วิมลวรรณ รุ่งทองใบสุรีย์ ภาพจากเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา

วิมลวรรณ รุ่งทองใบสุรีย์ ขณะเสียชีวิตเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะพยาบาลศาสตร์ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี อายุ 20 ปี เป็นลูกสาวคนโตของครอบครัวใหญ่ วันที่ 6 ตุลาคม 2519 วิมลวรรณถูกยิงในแม่น้ำเจ้าพระยาขณะพยายามว่ายน้ำออกจากธรรมศาสตร์

ทัศนีย์ ศรีจันทร์ เพื่อนสนิทเล่าว่า เวลาประมาณเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม เสียงปืนดังขึ้นตลอด รู้ว่าคงไม่ปลอดภัยแล้ว และต้องหนีลงน้ำ โดยมีเพื่อนที่เป็นการ์ดจากรามคำแห่งที่ช่วยเหลือพวกเธอให้หนีลงไปทีละคน

“วิมลวรรณเขาบอกว่า เขาเป็นคนแม่กลอง ชีวิตผูกพันอยู่กับน้ำมาตลอด อาบน้ำก็อาบในแม่น้ำแม่กลอง ว่ายน้ำได้ ไม่ต้องห่วง เขาดูแลตัวเองได้ เขาก็เลยลงไปก่อน พวกเราก็เดินตาม ในระหว่างที่กำลังเดินเลาะกำแพงของธรรมศาสตร์ มีเสียงตำรวจน้ำตะโกนบอกว่านักศึกษาธรรมศาสตร์ที่หนีออกนั้นให้กลับขึ้นฝั่งเดี๋ยวนี้ ไม่งั้นจะยิง พวกเรากลัวกันมาก มีเพื่อนนักศึกษาชายถอดเสื้อ บอกไปว่า พวกเรายอมแพ้แล้วนะ ไม่ทันขาดคำ แป๊บเดียวเสียงปืนดังมาหนึ่งนัด มีเสียงตะโกนว่ามีคนถูกยิง”

“จากนั้นตัวพี่ถูกนำไปขังรวมกันกับเพื่อนๆ อีกประมาณสามพันคนที่บางเขน แล้วก็ได้ข่าวตรงนั้นเองว่า เพื่อนที่ถูกยิงนั้นคือวิมลวรรณซึ่งไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลศิริราช หลังจากที่พวกเรากลับเข้ามาเรียนหนังสือแล้ว สิ่งหนึ่งที่พวกเราไม่เคยลืมกันเลยคือการเยี่ยมเยียนครอบครัวเพื่อนๆ ที่สูญเสียไป เรายังเคยไปขุดลอกท้องร่องที่บ้านวิมลวรรณที่เป็นสวนมะพร้าว ทำอย่างไรก็ได้ให้แม่เขารู้สึกดี”

“ถ้ายังอยู่ถึงตอนนี้ก็คงเกษียณอายุราชการปีนี้ เราเชื่อว่าเขาคงเป็นพยาบาลที่ดี หรือไม่ก็จะเป็นอาจารย์พยาบาลที่สามารถสอนลูกศิษย์ให้เป็นคนดีต่อไปได้ และที่สำคัญ เขาคงเป็นลูกที่ดีเหมือนที่แม่เขาคาดหวัง” ทัศนีย์เล่า
ความรู้สึกผิดและความเงียบงันจากผู้รอดชีวิต

ภาพชายผู้ถูกแขวนคอ โดย นีล ยูเลวิช

ภาพโด่งดังอย่างภาพชายผู้ถูกแขวนคอ เป็นภาพของนีล ยูเลวิช ผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากชุดภาพถ่ายเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าชายคนนั้นเป็นใคร มีเพียงพยานที่เห็นเหตุการณ์ระบุไว้เพียงว่า “เหยื่ออายุ 20-21 ปี ท่าทางเป็นนักศึกษา”

ภัทรภรตั้งคำถามว่าหากเป็นนักศึกษาจริง ทำไมไม่มีเพื่อนออกมาประกาศว่าเป็นเพื่อนกับชายคนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม จากการทำข้อมูล 6 ตุลาที่ผ่านมาเธอพบข้อสังเกตที่น่าประหลาดใจว่า แทบไม่มีใครออกมาประกาศว่าคนที่เสียชีวิตเป็นเพื่อน ถ้าไม่ได้ไปเจอและขอสัมภาษณ์เอง พวกเขาจำนวนมากก็อาจไม่ออกมาพูด

หรือมันคือความรู้สึกผิดจนไม่อยากพูดถึง?

ในหนังสือ ‘6 ตุลา ลืมไม่ได้จำไม่ลง’ เขียนโดยธงชัย วินิจจะกุล กล่าวถึงเรื่องความเงียบนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“...แม้ว่าสถานการณ์การเมืองและวาทกรรมการสังหารหมู่ 6 ตุลาจะเปลี่ยนแปลงไป กลับกลายเป็นว่าทั้งผู้ก่อกรรมทำเข็ญและเหยื่อของเหตุการณ์ต่างรู้สึกอิหลักอิเหลื่อและทุกข์ทนจากบาดแผลไปในทางที่แตกต่างกัน ส่งผลให้เป็นการยากที่พวกเขาจะทลายกำแพงแห่งความเงียบงันที่ตนเองสร้างขึ้นได้

ส่วนประชาชนมากกว่า 3,000 คนส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจำต้องหาที่หลบภัยด้วยการเข้าร่วมกับ พคท. ในเขตป่าเขา แต่ พคท. และขบวนการฝ่ายซ้ายทั้งหมดล่มสลายลงในต้นทศวรรษ 1980 หากมองย้อนกลับไป แน่นอนว่า พคท. มีบทบาทสำคัญในการบ่มเพาะแนวคิดสุดขั้วไม่ประนีประนอมมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในขบวนการนักศึกษา

นักศึกษาส่วนใหญ่พบว่าหลังการล่มสลายของ พคท. พวกเขาเพิ่งอายุ 20 กว่าๆ แต่พ่ายแพ้สงครามประวัติศาสตร์มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกคือในเมืองที่จบลงด้วยการที่เพื่อนๆ ของพวกเขาถูกสังหารหมู่ อีกครั้งคือสงครามในป่าเขาที่จบลงด้วยการสูญสิ้นศรัทธา จะไม่ให้พวกเขารู้สึกขยะแขยงตัวเอง อับอายขายหน้า และละอายต่อความผิดพลาดถึงขั้นหายนะที่กระทำลงไปได้ย่างไร แล้วจากนั้นยังต้องวอนขอความปรานีจากรัฐซึ่งพวกเขาหยามเหยียดมาก่อน หลายคนตัดสินใจฆ่าตัวตาย

ความจริงที่ว่าการเสียสละอย่างที่ถูกมองในตอนนั้นว่าเป็นไปเพื่ออุดมคติอันสูงส่ง ก็ไม่มีน้ำหนักที่จะคานความจริงอีกข้อที่ว่า หากเพื่อนๆ เหล่านั้นรอดชีวิตในเช้าวันพุธนั้นมาได้ พวกเขาจะได้รับโอกาสในชีวิตอีกครั้งหนึ่งเช่นเดียวกับอดีตฝ่ายซ้ายที่ยังมีชีวิตอยู่จนทุกวันนี้ ดังนั้น การสังหารหมู่ไม่ใช่หัวข้อที่อดีตฝ่ายซ้ายสามารถพูดถึงได้โดยปราศจากการสะท้อนย้อนคิดถึงภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางศีลธรรมอันรบกวนติจใจนี้ได้

และระดับความรุนแรงเป็นผลมาจากความจงเกลียดจงชังกันอย่างเข้มข้นที่หล่อเลี้ยงเรื่อยมา ทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายเองก็แสดงความเป็นอริไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แม้ฝ่ายซ้ายไม่เคยคุกคามในทางปฏิบัติจริงเลยก็ตาม แต่หมายความว่าอดีตฝ่ายซ้ายจำนวนมากยังรู้สึกว่าตนเองมีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น…”

นี่อาจพอเป็นคำตอบได้ส่วนหนึ่งว่า ทำไมการพูดถึงรายละเอียดของคนที่ตายดูเหมือนเพิ่งเริ่มเก็บข้อมูลกันในปี 2539 ที่มีการจัดรำลึกครบรอบ 20 ปีนี่เอง
ทะลุเวลา ตามหาญาติ

‘เวลา’ ดูจะเป็นปฏิปักษ์สำคัญของการเก็บข้อมูล ผ่านมา 40 ปี ทีมงานเริ่มต้นจากตรงไหน?

นักวิจัยได้ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเอกสารชันสูตรพลิกศพ แล้วจึงส่งจดหมายหรือโทรไปตามข้อมูลที่ได้ บางส่วนก็โชคดีที่มีคนช่วยตามหาญาติหรือเพื่อนของผู้เสียชีวิตให้

ภัทรภร ภู่ทอง

มีประมาณ 10 กว่าคนที่โครงการได้รับการแนะนำจากอดีตนักศึกษาในยุค 6 ตุลา ส่วนจดหมายที่ส่งไปโดยใช้ที่อยู่จากเอกสารชันสูตรพลิกศพนั้นส่งไป 36 ฉบับมีคนโทรกลับมา 4 คน และมีจดหมายตีกลับจำนวนมาก แน่ล่ะ 40 ปีแล้ว บ้านบางหลังก็ไม่มีอยู่บนถนนสายนั้นแล้ว

ภัทรภรมีโอกาสคุยกับบุรุษไปรษณีย์หลายคนที่หาบ้านเลขที่ตามจดหมายไม่พบ บ้างกลายเป็นโกดังเก็บของ บ้างเปลี่ยนเจ้าของบ้าน แต่เมื่อไปรษณีย์รู้ว่าเธอกำลังตามหาครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ไปรษณีย์ทุกคนก็เต็มใจที่จะช่วยหาเพราะรู้ว่ามีความสำคัญมาก

สำหรับญาติคนแรกที่โทรกลับมา เป็นพี่สาวของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงที่เสียชีวิต จดหมายถูกส่งไปที่บ้านเก่าที่ให้คนอื่นเช่า คำพูดแรกของพี่สาวคนนั้นคือ “ทำไมเพิ่งติดต่อมา”

คนที่สองที่โทรมาอยู่ที่เพชรบุรี ญาติคนนั้นเล่าว่าเรียนที่รามคำแหงกับผู้เสียชีวิตด้วย รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแต่ไม่อยากให้สัมภาษณ์ จากนั้นแนะนำให้ไปพบพี่สาวของผู้ตาย พี่สาวไม่อยากเล่า บอกให้ไปคุยกับน้องสาว คำตอบของน้องสาวคือ ไม่ต้องการพูดเรื่องนี้และไม่อยากให้ติดต่อมาอีก

“เขาพูดประมาณว่าอย่ามาเซ้าซี้ คุณไม่รู้หรอกว่าครอบครัวเราเจออะไรมาบ้าง คิดว่าช่วงหลังจากที่พี่ชายเขาเสียชีวิต อาจมีหลายคนไปด่าครอบครัวเขา เป็นคอมมิวนิสต์ หรือตำรวจอาจไปหาที่บ้านด้วยความกลัวทำให้ครอบครัวรู้สึกไม่อยากยุ่งเกี่ยวแล้ว” ภัทรภรกล่าว
รูปถ่าย...จากช่างภาพ จากทหาร จากซาเล้ง

ชุดภาพสีจากแฟรงค์ ลอมบาร์ด

ชุดภาพถ่ายของเหตุการณ์ 6 ตุลามาจากหลายแหล่ง

ชุดภาพของ แฟรงค์ ลอมบาร์ด อดีตนักข่าวของสถานีวิทยุนิวซีแลนด์ ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ภัทรภรได้พบแฟรงค์โดยการแนะนำของเพื่อนละแวกบ้าน เธอบอกว่าแฟรงค์อายุกว่าเจ็ดสิบปี พำนักอยู่ลำพังในอาคารชุดกลางเมือง แม้จะได้ภาพมาตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอ แต่หลังจากนั้นก็ยังไปเจอและนั่งคุยเป็นการส่วนตัวกับแฟรงค์อีกเป็นระยะจนถึงปัจจุบัน

ชุดภาพของ ปฐมพร ศรีมันตะ เป็นชุดภาพขนาดใหญ่ มีหลายจุดที่เกิดเหตุ ทีมงานได้รับภาพชุดนี้เพราะเพื่อนแจ้งว่าปฐมพรเป็นผู้ครอบครองภาพดังกล่าว ปฐมพรสนใจประเด็นประวัติศาสตร์การเมือง และมีเอกสาร ภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องหลายชุด เขาบอกว่าได้ภาพถ่ายชุดนี้มาจากร้านของเก่าซึ่งได้มาจากซาเล้งที่เอามาขายต่อ ดูจากมุมกล้องแล้วน่าจะเป็นการถ่ายจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ

ฟังดูเหลือเชื่อ แต่ก็เป็นไปแล้ว จากจากภาพถ่ายที่ผ่านมือมาหลายทอด ตอนนี้ทุกคนสามารถเห็นภาพเหล่านั้นได้เพียงคลิ๊กเดียว

“เราได้เจออะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เราถึงได้สนุกกับการทำงาน มันเหมือนเป็นนักสืบ” ภัทรภรเล่า

ยังมีชุดภาพการชันสูตรพลิกศพที่โครงการฯ ได้รับบริจาคมาจากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ในเวลานั้นเขารู้ดีว่าการตายเหล่านี้เป็นการตายที่ไม่ธรรมดาจึงเก็บภาพไว้ 40 ปีโดยที่ไม่มีใครรู้ จนกระทั่งทางโครงการฯ ติดต่อไป แต่เนื่องจากผู้บริจาคยังมีความกังวลเรื่องความละเอียดอ่อนของประเด็นนี้ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ไม่อาจวางใจได้ในปัจจุบัน ทำให้โครงการฯ ยังไม่นำภาพชุดนี้เผยแพร่ในเว็บไซต์
ความผิดปกติของเอกสารชันสูตรพลิกศพ

“บ้านเรายังมีเอกสารที่ยังไม่ได้ถูกเผยแพร่ซึ่งสะท้อนถึงความรุนแรงของรัฐอีกมาก ต้องตามหาต่อไป” ภัทรภรย้ำ

การปกปิดข้อมูลดูจะเป็นเรื่องปกติของรัฐตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เอกสารชันสูตรพลิกศพทำให้เห็นร่องรอยการปกปิดบางอย่างเช่นกัน เช่น แบบฟอร์มที่ใช้ควรต้องมีข้อมูลของคนมารับศพ ข้อมูลของพยาน หรือข้อมูลของคนที่เกี่ยวข้องกับศพมากกว่านี้แต่กลับไม่ปรากฏ หรือการเขียนว่าตายเพราะสะเก็ดระเบิด นั่นหมายความว่ามีการใช้ระเบิดหรือไม่ หรือการไม่บอกว่าตายด้วยกระสุนอะไร ทั้งที่เมื่อเห็นกระสุนปืนจะบอกชนิดของปืนได้

นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบเอกสารชันสูตรพลิกศพของโรงพยาบาลศิริราชกับโรงพยาบาลตำรวจจะพบว่า โรงพยาบาลศิริราชบรรยายลักษณะผู้ตายโดยละเอียด เช่น เป็นเพศชาย ผมหยิก ร่างสันทัด ผิวคล้ำ ใส่เสื้อสีนี้ กางเกงสีนี้ จนทำให้ตามหาชื่อคนที่ถูกแขวนคอได้เพิ่มอีกคนหนึ่งจากเอกสารชันสูตรฯ นี้

ขณะที่โรงพยาบาลตำรวจเขียนสาเหตุการตายสั้นๆ ว่า “ถูกยิง” ไม่บอกรายละเอียดใดๆ แม้กระทั่งว่าถูกยิงกี่นัด การเขียนให้ละเอียดเช่นการถูกยิงเข้าจากด้านหลัง อาจทำให้ตีความได้ว่ามากขึ้นเป็นการยิงคนที่กำลังหลบหนีอยู่ เป็นต้น

ภาพโดย กิตติยา อรอินทร์
สิ่งที่ไม่อาจกู้คืน การทำลายเอกสารอายุเกิน 25 ปี

“ผมคิดว่าศพน่าจะมากกว่า 70 ศพ” เป็นคำพูดของนายตำรวจคนหนึ่งซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับเอกสาร 6 ตุลา ซึ่งพูดคุยแบบ ‘ออฟ เดอะ เรคคอร์ด’ ให้นักวิจัยฟัง

หากเราสำรวจตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ เว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา ระบุว่า นักศึกษาและประชาชนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 41 คน ฝ่ายเจ้าพนักงานและฝ่ายขวาเสียชีวิตทั้งหมด 5 คน แม้ว่าผู้วิจัยย้ำว่าเอกสารชันสูตรปรากฏแค่ 46 ศพ แต่ตำรวจผู้นั้นก็ยังยืนยันว่า “คิดว่ามันน่าจะมากกว่านั้น” แต่เมื่อถามหาเอกสารหลักฐาน ตำรวจคนดังกล่าวกลับบอกว่า “ไม่รู้เหมือนกัน อาจจะโดนทำลายไปแล้ว”

เช่นเดียวกับที่โรงพยาบาลศิริราชซึ่งจะเก็บเอกสารไว้ 25 ปีแล้วทำลายทิ้ง แต่โชคดีที่เอกสารเกี่ยวกับคดี 6 ตุลาเป็นชุดที่ย้ายไปอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อัยการสูงสุด กระนั้นก็ตาม เหตุที่เกิดนอกเหนือจากวันที่ 6 ตุลาก็ไม่ถูกรวมอยู่ด้วย เช่น กรณีช่างไฟฟ้า 2 คนที่ถูกแขวนคอที่นครปฐม

“เราเคยไปตามเอกสารคดีช่างไฟฟ้า ไปประมาณ 5 โรงพัก โรงพักนั้นบอกให้ไปโรงพักนี้ โรงพักนี้บอกให้ไปโรงพักนั้น เราไปโรงพักในอำเภอเมืองทุกที่แล้ว เขาบอกว่าเอกสารจะเก็บไว้ 25 ปี หลังจากนั้นก็จะทำลายเอกสาร” ภัทรภรกล่าว


ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 ระบุว่า ทุกปีปฏิทิน (เริ่มวันที่ 1 มกราคมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี) ส่วนราชการจะต้องส่งหนังสือที่มีอายุครบ 25 ปีนับจากวันที่ได้จัดทำขึ้น ที่เก็บไว้ ณ ส่วนราชการ ให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร พร้อมทั้งบัญชีส่งมอบ ยกเว้นหนังสือที่ต้องสงวนเป็นความลับ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ และหนังสือที่มีกฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบที่ออกใช้เป็นการทั่วไปกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ส่วนหนังสือที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทุกสาขาวิชา และมีคุณค่าต่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ให้เก็บไว้เป็นหลักฐานสําคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติตลอดไป หรือตามที่สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมกําหนด
ข้อต่อที่ลืมนึกถึง ป่อเต็กตึ๊ง-ร่วมกตัญญู

การเคลื่อนย้ายศพโดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู ภาพจากเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและมูลนิธิร่วมกตัญญูมีส่วนช่วยในการลำเลียงคนเจ็บและคนเสียชีวิต ผู้เก็บข้อมูลมีโอกาสได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ร่วมกตัญญู 2 คนซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงศพไปสถาบันนิติเวช แต่ทั้งคู่ขอไม่ให้เปิดชื่อเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย พวกเขายืนยันว่าเวลาจะลำเลียงศพ รถของมูลนิธิจะออกจากจุดเกิดเหตุไม่ได้จนกว่าตำรวจจะมาเซ็นเอกสารอนุญาต เพราะฉะนั้นมูลนิธิต้องมีเอกสารบันทึกว่าวันนี้เก็บศพกี่ศพ เอาคนเจ็บกี่คนไปโรงพยาบาล

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังถ่ายรูปคนเจ็บ คนเสียชีวิต และรูปเหตุการณ์ไว้หลายรูป ซึ่งจะทำให้เห็นสเกลความรุนแรง กระทั่งสามารถใช้ในงานวิจัยมานุษยวิทยาหรือประวัติศาสตร์ได้

เป็นที่น่าเสียดายสำหรับสังคมไทยที่หลังปี 2535 มูลนิธิร่วมกตัญญูทำลายเอกสารไปแล้ว เพราะต้องย้ายสำนักงานจากคลองเตยไปบางพลี

“เรารู้สึกเสียดายและเจ็บใจมากๆ ถ้าหากบ้านเรามีวัฒนธรรมจดหมายเหตุ ใครรู้ว่ามีเอกสารสำคัญก็ส่งให้จัดเก็บ เราก็อาจได้เห็นเอกสารพวกนั้นแล้ว เช่นเดียวกันคนทำงานด้านจดหมายเหตุเองก็ไม่ได้นึกว่ามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกตัญญูจะเกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมืองได้ ไม่ค่อยมีใครเชื่อมโยงในรายละเอียดแบบนี้ ดังนั้น ถ้าไม่มีวัฒนธรรมจดหมายเหตุ มันจะไม่สามารถทำความเข้าใจอดีตได้สักเท่าไร” ภัทรภรกล่าว

ส่วนที่ป่อเต็กตึ๊งมีเอกสารเกี่ยวกับการทำงานช่วง 6 ตุลาเช่นกัน เวลารับศพไม่มีญาติมาจะต้องมีการบันทึกไว้ แต่มูลนิธิฯ ไม่ให้นักวิจัยเข้าถึงเอกสารเพราะไม่ได้เป็นญาติกับผู้ตาย อีกทั้งมองว่าสิ่งที่โครงการกำลังทำเป็นเรื่องการเมือง “เราไม่อยากยุ่งกับการเมือง”

อย่างไรก็ดี การพูดคุยกับพยานหลายคนทำให้นักจัยมีความสงสัยมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกรณีตำรวจที่บอกว่ามีคนตายมากกว่า 70 ศพ กรณีพยานคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นนักศึกษาในเหตุการณ์แต่ออกมาจากการชุมนุมก่อนและนั่งรถเมล์กลับบ้าน ระหว่างทางเขาเห็นคนถูกแขวนคอเป็นสิบๆ คน กรณีคนในกลุ่มกระทิงแดงคนหนึ่งที่อยุธยาระบุเช่นกันว่า “เห็นคนถูกแขวนเป็นสิบคน”

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้นักวิจัยอย่างภัทรภรนำฟุตเทจและรูปถ่ายที่มีมาเรียงกันเพื่อดูอย่างละเอียด จนทำให้พบข้อมูลใหม่ว่า คนถูกแขวนคอมีจำนวน(อย่างน้อย) 5 คน จากตอนแรกที่เชื่อว่ามีอยู่เพียง 2 คน (อ่านที่นี่)
ฝ่ายรัฐที่เสียชีวิตเป็น ‘เหยื่อ’ หรือไม่

ควรจะนับฝ่ายรัฐที่เสียชีวิต 5 คน เป็นเหยื่อในความรุนแรง 6 ตุลาหรือเปล่า? โดยส่วนใหญ่แล้วมักไม่นับ แต่ก็มีข้อถกเถียงเพราะมีเงื่อนไข สภาพแวดล้อมที่ผลักให้เขาต้องทำแบบนั้น

พวงทอง ภวัครพันธุ์

พวงทอง ภวัครพันธุ์ ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ต้องแยกแยะข้อเท็จจริงพื้นฐานให้ได้ก่อนว่าการเสียชีวิตของสองฝ่ายมีสาเหตุที่แตกต่างกันอย่างไร ฝ่ายนักศึกษาประชาชน​เสียชีวิตเพราะถูกล้อมปราบด้วยกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธหนักและมวลชนฝ่ายขวาหลายร้อยคน พวกเขาชุมนุมกันอย่างสงบในมหาวิทยาลัย จริงอยูที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายขวาเสียชีวิตจากการถูกยิงจากการ์ดของนักศึกษาแต่เพราะการ์ดพยายามสกัดกั้นไม่ให้ฝ่ายแรกบุกเข้ามาธรรมศาสตร์ พวกเขาเสี่ยงชีวิตตนเองเพื่อปกป้องเพื่อนนับพันคนที่อยู่ในมหาวิทยาลัย

ในขณะที่นักศึกษาประชาชน​ที่เสียชีวิต ครอบครัวของพวกเขาไม่เคยได้รับความยุติธรรม และยังถูกประณามว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ขายชาติ หนักแผ่นดินต่อเนื่องอีกหลายปี เจ้าหน้าที่และมวลชนฝ่ายขวาได้รับการยกย่องว่าเสียสละชีวิตทำหน้าที่ปกป้องสถาบันหลักของชาติ ได้รับพระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติ

“อย่างไรเสีย เจ้าหน้าที่และฝ่ายขวาก็คือเหยื่อของการปลุกระดมให้เกลียดชังเช่นกัน” พวงทองบอกว่าเธอไม่ชอบประโยคนี้นัก ฉะนั้นขอแก้ใหม่ให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยมองว่าพวกเขาคือ “ผลพวง” หรือผลงานของการปลุกระดมฯ และอาจจะเป็นผู้สร้างหรือผู้ผลิตซ้ำความเกลียดชังดังกล่าวด้วยก็ได้

“ยกตัวอย่างที่ไกลตัวแต่สุดโต่งสักหน่อย หากเราเอาเจ้าหน้าที่และฝ่ายขวามารวมกับคนที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการสังหารหมู่ของพวกเขาเอง ก็คงไม่ต่างกับการบอกว่าบรรดาทหารนาซีที่เสียชีวิตจากกองกำลังชาวยิวที่พยายามปกป้องตนเอง ก็สมควรได้รับการเรียกขานว่าเป็นเหยื่อด้วยเช่นกัน ถ้าคุณเสนอแบบนี้ คุณไม่คิดว่ามันน่าหัวเราะเยาะอย่างนั้นหรือ” พวงทองกล่าว
ต้องทำความเข้าใจฝ่ายผู้กระทำด้วย

แถวลูกเสือชาวบ้านขณะปกป้องวัดบวรนิเวศวิหาร

ไม่ว่าเราจะนับฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายขวาที่เสียชีวิตอย่างไร แต่ผู้ทำข้อมูลมีความเห็นโดยส่วนตัวว่า เราควรต้องศึกษาความทรงจำประสบการณ์ของฝ่ายขวา เจ้าหน้าที่รัฐตัวเล็กตัวน้อย เพื่อทำความเข้าใจว่ามีเงื่อนไขหรือสภาพการณ์อะไรทำให้คนเหล่านี้ตัดสินใจลุกขึ้นมาฆ่าคน

เธอเห็นว่าถ้าปราศจากการทำความเข้าใจเรื่องพวกนี้ เราจะไม่สามารถทำความเข้าใจความรุนแรงของวันนั้นได้เลย และยังเห็นว่าสามารถศึกษาฝ่ายผู้กระทำได้ แต่จะไม่จัดให้คนเหล่านี้อยู่ในประเภทของ ‘เหยื่อ 6 ตุลา’

คำถามอาจมีต่อไปว่า นั่นจะเป็นการสร้าง ‘ความเข้าใจได้’ ในการกระทำของพวกเขาไหม?

ภัทรภรตอบคำถามนี้ด้วยการยกตัวอย่างการสัมภาษณ์กลุ่มกระทิงแดงคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์

“เขาพูดว่าที่ผ่านมาเขาเสียใจ และน้ำตาคลอขณะพูด ผมทำตัวไม่ดี เป็นคนไม่ดี ทุกวันนี้ก็เสียใจ หลังจากนั้นผมก็ไปบวช แล้วผมก็ใช้ชีวิตโดยการไม่ทำร้ายคนอื่นอีก”

“เมื่อมีคำพูดแบบนี้ออกมา คนที่เป็นฝ่ายเหยื่อก็อาจจะโกรธและคิดว่าการที่เราเอาประสบการณ์ของผู้กระทำมาเปิดเผยต่อสาธารณะนั้นกำลังแก้ตัวให้กับการกระทำที่เลวร้ายมากในอดีตของพวกเขา เราควบคุมความคิดของคนอ่านไม่ได้ แต่เราเพียงจะอธิบายว่าคนเราเปลี่ยนแปลงกันได้ภายในช่วง 40 ปี วันหนึ่งคุณอาจคิดว่าคอมมิวนิสต์ต้องถูกกำจัด แต่เมื่อเวลาผ่านไป 40 ปี คนๆ นั้นเติบโตขึ้น แต่งงาน มีลูก เห็นความสำคัญของชีวิตมากขึ้นก็อาจเปลี่ยนความคิดได้ว่าถึงเป็นคอมมิวนิสต์ก็เป็นคน ความเปลี่ยนแปลงแบบนี้เราจะดีลกับมันยังไง ไม่ว่าจะเกลียดกันอย่างไร ไม่ว่าเขาเป็นคนชั่วคนเลวอย่างไร คุณก็ยังจะต้องอยู่ในสังคมเดียวกันกับคนๆ นั้น” ภัทรภรกล่าว

“สิ่งที่เราสนใจคือ เงื่อนไข สภาพแวดล้อมและสถานการณ์ให้คนเลือกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเลือกใช้ความรุนแรง เราคิดว่า การทำความเข้าใจอย่างนี้จะนำไปสู่การป้องกันความรุนแรงได้” ภัทรภรกล่าว

งานศึกษาเกี่ยวกับ 6 ตุลาไม่ว่าจะเป็นของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อ.เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน อ.ธงชัย วินิจจะกุล ทำให้เราเห็นโครงสร้าง สภาพสังคมการเมืองที่ส่งผลต่อการเกิดความรุนแรงของ 6 ตุลา แต่สิ่งที่หายไปคือ ความรุนแรงของ 6 ตุลามันเปลี่ยนแปลงหรือส่งผลกระทบต่อคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างไร เกิดอะไรขึ้นกับความหวาดกลัวที่ครอบงำคนจำนวนมากในสังคมหรือความเงียบของคนในสังคม และนั่นคือสิ่งที่เธออยากทำ

“ที่สำคัญ มันต้องรีบทำก่อนที่หลักฐานหรือความทรงจำจะหายไป” นักสืบประวัติศาสตร์คนเดิมกล่าว


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.