ภาพ ติดตั้งจุดอ้างอิงบนแผนที่ในเมืองของตัวเอง
Posted: 27 Jan 2019 09:40 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2019-01-28 00:40
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงาน
ปัจจุบันเมืองต่าง ๆ ของไทยมีความเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การส่งเสริมให้เมืองมีความปลอดภัยและมีความพลวัตต่อการเปลี่ยนแปลงให้ได้มากที่สุดนั้น จำเป็นที่หน่วยงานระดับท้องถิ่นและระดับประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับนโยบายเหล่านี้ รวมถึงการวางแผนเพื่อส่งเสริมเมืองพลวัตให้เป็นไปอย่างมีส่วนร่วมและทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤติต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
ในประเทศที่มีความเสี่ยงและประชากรส่วนใหญ่ยังมีรายได้น้อยหรือปานกลาง อีกทั้งมีความไม่เท่าเทียมอยู่ การวางแผนเมืองอย่างมีส่วนร่วมยังถือว่าเป็นเรื่องท้าทายมาก หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจะยังขาดเครื่องมือและขีดความสามารถในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนทุกคน ความท้าทายสำคัญคือ การสื่อสารข้อมูลถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งสามารถเตรียมการ วางแผนเพื่อปรับตัวไว้ล่วงหน้า แทนที่จะเป็นการรับมืออย่างเดียว
คณะวิจัยจากหน่วยวิจัยอนาคตเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้พัฒนาชุดเครื่องมือ “กินดี..อยู่ดี” เพื่อใช้ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น และมีเป้าหมายในการช่วยให้เกิดความตระหนักรู้ถึงสินทรัพย์ที่มีในชุมชนว่าจะช่วยสร้างความพลวัตรองรับภาวะวิกฤติในอนาคตทั้งระดับส่วนตัวและระดับส่วนรวมได้หรือไม่ โดยจำลองภาวะวิกฤติทางภูมิอากาศและวิกฤติเศรษฐกิจ
ล่าสุดหน่วยวิจัยอนาคตเมืองฯ ได้ร่วมกับ Internation Institute for Environment and Development (IIED) สหราชอาณาจักร ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาเครือข่ายวิจัยนานาชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการ “การวางแผนเพื่อเมืองนิเวศและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความพลวัตของภุมิอากาศ: การเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อการวางแผนอย่างมีส่วนร่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล” เพื่อนำเสนอองค์ความรู้จากงานวิจัย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้นำหรือตัวแทนชุมชนเครือข่าย โดยใช้เครื่องมือกินดีอยู่ดีในการส่งเสริมการวางแผนเมืองอย่างมีส่วนร่วม
“ทีมวิจัยเราสนใจการพัฒนาเมืองแบบมีส่วนร่วม จึงจำเป็นต้องมีเครือข่ายจำนวนมากเพื่อที่จะตอบโจทย์ท้องถิ่นและเขตที่ดูแลได้ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ และอยากให้เห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ฝนตกหนักนอกฤดูและถี่ขึ้น จะจัดการแบบเดิม ๆ หรือร่วมกันวางแผนหากเกิดบ่อยขึ้นในอนาคต เพราะจะกระทบต่อน้ำท่วม น้ำแล้ง การกัดเซาะของน้ำทะเล ฯลฯ โดยการออกแบบที่อยู่อาศัย สินทรัพย์ การออมทรัพย์ และการมีส่วนร่วมอย่างไรทั้งในระดับเมืองและระดับชุมชน” ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวระหว่างการเสวนา “การพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วมและสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต”
ความท้าทายของงานนี้ คือการทำให้เป็นระบบมากขึ้น อาจต้องมีการวางแผนยุทธศาสตร์ งบประมาณ และความร่วมมืออย่างจริงจัง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลง อาชีพ ความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย และทำให้เป็นระบบในระดับพื้นที่ มีตัวแทนจากสถาบันการศึกษาและวัดเข้าร่วม เพราะแต่ละพื้นที่มีปัญหาและทางแก้ต่างกัน จึงต้องหาจิ๊กซอว์เพื่อหาทางออกที่เป็นระบบ การตอบโจทย์ภาพใหญ่อาจไม่เหมาะกับทุกชุมชน ดังนั้นงานเชิงพื้นที่จึงจำเป็นมาก ทั้งนี้ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในต่างประเทศจะทำไม่ได้ในระดับประเทศ ต้องลงไปทำในระดับเมืองหรือชุมชน เพราะมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับคนและหน่วยงานต่าง ๆ หลายมิติ
“เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ ส่งผลกระทบเยอะมากต่อคนในชุมชน ผู้มีรายได้น้อย ภาครัฐยังมีการสื่อสารไม่เพียงพอ ขาดกลไกการจัดการหรือการเตรียมการจัดการจัดพื้นที่ เราควรจะหาจุดร่วมในการใช้ทรัพยากรและสินทรัพย์เพื่อการปรับตัวและการจัดการวิกฤติที่จะเกิดขึ้นอย่างไร และต้องวางแผนต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อสร้างความยั่งยืนของชุมชน คำถามคือ จะรับมือในการปรับตัวอย่างไรทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ มีการปรับตัวร่วมกันหรือไม่ ถ้าไม่ก็จะทะเลาะกันหรือปรับตัวได้ไม่ดี อย่างไรก็ตาม เราค่อนข้างมีปัญหาในการรับมือระยะยาว ถ้าเหตุการณ์รุนแรงกว่าเดิม หรือไม่รุนแรงแต่เกิดนานและส่งผลกระทบระยะยาวทั้งต่อชีวิตและรายจ่าย เราจะทำอย่างไร ดังนั้นการถอดประสบการณ์จริงของคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการวางแผนและผังเมือง”
ขณะที่ ชนิสรา ละอองดี ผู้นำชุมชนศิรินทร์และเพื่อน เขตภาษีเจริญ บอกว่าเราต้องร่วมกันทำงานเพื่อเอาตัวรอดจากปัญหา และจัดตั้งชุมชนตามระเบียบของกรุงเทพมหานครเพื่อให้ได้รับการหนุนเสริมอย่างถูกต้อง วางแผนดูแลตัวเอง บ้าน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงกับหน่วยงานทั้งในและนอกพื้นที่ในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง หลังติดเกาะน้ำท่วมใหญ่อยู่ 22 วันเราตระหนักว่าเป็นปัญหาต่อเนื่อง มีขยะจำนวนมหาศาลที่ขนออกไม่ได้ จึงจัดการคัดแยก กำจัด แปรรูปขยะให้เกิดเป็นของที่ใช้ประโยชน์หรือขายได้
“เราใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในทั้งองค์กรและชุมชน เดินตามรอยพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะเป็นเรื่องเดียวที่ทำให้คนหาเช้ากินค่ำไม่ร่ำรวยและชุมชนอยู่ได้ ช่วยลดรายจ่ายและหาทางเพิ่มรายได้ ทำในสิ่งที่เราผลิตเองได้ในครัวเรือนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด เช่น น้ำยาอเนกประสงค์จากสับปะรดและแชมพูมะกรูดออร์แกนิก โดยยึดหลักต้องมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ‘ยิ่งใช้ยิ่งจัดการสิ่งแวดล้อม’ รวมถึงการเอาตัวรอดจากวิกฤติน้ำท่วม หนุนเสริมชาวบ้านให้ออกกำลังกายและเล่นกีฬาหลังพบว่าคนอายุ 40 ปีขึ้นไปเริ่มเป็นโรคไม่ติดต่อมากขึ้น”
ภาณุวัฒน อ่อนเทศ หัวหน้ากลุ่มงานแผนงานและประเมินผล กองนโยบายและแผนงาน สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การสร้างการมีส่วนร่วมโดยตรงกับชุมชนจำเป็นต้องพึ่งพาผู้นำชุมชนเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาชุมชน กายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และอนามัย-จิตใจ ใช้ความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมและดูแลสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและสภาอุตสาหกรรม เช่น การจัดการขยะในทะเล การจัดการขยะของเขตคลองเตยที่ให้นำขยะอันตรายไปทิ้งในปั๊มน้ำมัน โครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว เป็นต้น
เช่นเดียวกับ เสริมสุข นพพันธ์ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาภูมิอากาศ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม ที่กล่าวว่าสิ่งสำคัญพื้นฐานและเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาเมือง คือ การมีส่วนร่วม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจากพฤติกรรมของมนุษย์หรือจากอุตสาหกรรมส่งผลให้ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ทำให้โลกร้อนและส่งผลต่อการเกิดน้ำท่วมน้ำแล้ง กรุงเทพฯ มีตึกในเมืองสูงเป็น “เกาะความร้อน” (Heat Island) เราจะต้องพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ระบบจราจร หาเชื้อเพลิงทางเลือก เช่น ไบโอดีเซลจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในอาคาร มีการกำจัดขยะและน้ำเสีย เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
“เราได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการเป็นเมืองปลอดภัย น่าอยู่ และยั่งยืนสำหรับทุกคน ต้องช่วยกันจัดทำแผนรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและน้ำท่วม เรามีแผนภาคขนส่งที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขยายเส้นทางจักรยาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพิ่มสัญญาณไฟจราจรให้รถวิ่งคล่องตัวมากขึ้น ขณะที่ตึกสำนักงานต่าง ๆ ควรใช้อุปกรณ์ที่ลดการใช้พลังงาน ซึ่งในปีนี้เราจะมีกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง ในวันที่ 30 มีนาคม 2562 เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้ทุกคนมีจิตสำนึกเดียวกันในการบรรเทาภาวะโลกร้อน รวมถึงการวางผังเมืองสีเขียว เพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะ ปลูกต้นไม้ตามแนวกำแพง พื้นที่รกร้างหรือไม่มีเจ้าของ และการฟื้นฟูป่าชายเลนโดยเฉพาะชายฝั่งบางขุนเทียน”
ด้าน อ.ศุภกร ชินวรรโณ อดีตผู้ประสานงานชุดโครงการวิจัยการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สกว. จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อเสนอแนะว่าเราจำเป็นต้องมีการจัดการในทิศทางที่เหมาะสม และมีผลสืบเนื่องทั้งภาพใหญ่และภาพเล็ก ผังเมืองใหม่จะนำมาซึ่งอะไรบ้าง จะถูกผลักดัน โยกย้าย หรือสร้างชุมชนใหม่ หรือการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างไร ส่วนต่าง ๆ ของเมืองเปิดหรือมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างไร สิ่งสำคัญคือเราต้องตระหนักว่าถ้าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในทิศทางเดียว เปลี่ยนกลับไม่ได้แล้วเราจะทำอย่างไร บางครั้งเราพูดเรื่องโลกร้อนกันในเชิงนามธรรมมาก จึงต้องตระหนักว่าหมายถึงอะไรสำหรับชุมชน และจะผลักดันให้เกิดการจัดการอย่างไร
“การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บที่มาจากแมลง อันเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ฝนตกมากขึ้น เช่น ทำให้เกิดการระบาดของไข้เลือดออก แสดงให้เห็นว่าพ้นที่นี้ค่อนข้างไวต่อการแพร่ระบาด และมีความหนาแน่นของประชากร ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องใหญ่และมีโอกาสแพร่ระบาดมากขึ้นในอนาคตหรือไม่ เราต้องคิดใหม่ทำใหม่ว่าจะวางแผนและผังเมืองอย่างไร เมื่อฝนตกหนักน้ำรอการระบายจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงมากขึ้นหรือไม่ การที่เราแก้ปัญหาเรื่องหนึ่งแต่อาจเกิดผลเสียต่อเรื่องอื่น ๆ ก็ได้”
ท้ายสุดนี้โครงการวิจัยได้ให้ข้อเสนอทางนโยบาย 4 ประการ ได้แก่ 1) หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นต้องบูรณาการกลยุทธ์การปรับตัวด้านภูมิอากาศที่เกิดจากประสบการณ์ของชุมชนไปสู่ระดับเมือง 2) ชุดเครื่องมือสามารถนำไปใช้กับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือองค์กรชุมชน เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนกับหน่วยงานท้องถิ่นในบริบทเมือง โดยระบุความเสี่ยงและประเภทของสินทรัพย์ที่จะใช้ในการวางแผนและปรับตัวกับความเสี่ยง 3) บูรณาการโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐร่วมกับโครงการที่ริเริ่มโดยชุมชนที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงวิธีการทำงานของชุมชน เพื่อการใช้ประโยชน์สูงสุดต่อสินทรัพย์ทางสังคมและกายภาพที่มีอยู่ในชุมชน และ 4) ภาครัฐควรสนับสนุนนโยบายที่ส่งเสริมการเข้าถึงสินทรัพย์หรือโครงการที่ก่อให้เกิดผลตอบแทนที่ดีต่อสินทรัพย์ชุมชน อันจะนำไปสู่การเพิ่มสินทรัพย์ด้านอื่น ๆ ด้วย
[full-post]
แสดงความคิดเห็น