Posted: 28 Jan 2019 08:26 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2019-01-28 23:26


ใบตองแห้ง

ทันทีที่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง นักการเมืองต้องปิดการสื่อสารทางเฟสบุ๊ค ทวีตเตอร์ เพราะเกรงจะผิดระเบียบ กกต. ที่สั่งให้ต้องขออนุญาตก่อน

ช่างย้อนแย้งน่าสังเวชเสียกระไร เพราะก่อนหน้านี้ ทุกคนทุกพรรครณรงค์หาเสียง แสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ แต่พอมีพระราชกฤษฎีกา ว่าจะมีการเลือกตั้งไปสู่ประชาธิปไตย กลับถูกระเบียบ กกต.จำกัดสิทธิเสรีภาพ ใช้โซเชี่ยลไม่ได้ กลัวทำอะไรก็ผิด

นี่เป็นวิธีคิดอะไร วิธีคิดเจ้าขุนมูลนาย ครูใหญ่ ครูผู้ปกครอง มองประชาชนเป็นเด็กอมมือ มองนักการเมืองเป็นผู้ร้าย ต้องเข้มงวดกวดขัน วางกฎหยุมหยิม ตรวจเสื้อผ้าหน้าผม คุมความประพฤติ จนกระดิกไม่ได้

ทั้งที่การเลือกตั้งคือการแข่งขันเสรี ซึ่งถ้าว่าถึงการหาเสียงออนไลน์ กกต.ก็มีหน้าที่แค่ดูค่าใช้จ่าย ถ้ามีใครให้ร้ายป้ายสี เดี๋ยวก็มีพรรคคู่แข่งมาฟ้องเอง

แต่นี่อะไร ประธาน กกต.ต้องยกโขยงเจ้าหน้าที่ไปตั้งวอร์รูม คอยสอดส่องการแสดงความคิดเห็น ไม่เว้นแม้กองเชียร์แต่ละฝ่าย ทั้งที่เป็นปกติในโลกโซเชี่ยล ที่ต้องมีประชดประเทียดเสียดสีล้อเลียน พาดพิงกันทั่วไป แต่ท่านจะให้ทุกคนพับเพียบ? นักการเมืองมากดไลก์กดแชร์ก็ผิด อาจโดนใบแดงได้

ข้อกำหนดให้นักการเมืองต้องยืนยันตัวตน ก็พอเข้าใจ ท่านบอกว่าเกรงจะมีคนแอบอ้าง อวตาร สวมรอย แต่พอไปวางระเบียบ กลับจุกจิกหยุมหยิม ต้องรอสมัครรับเลือกตั้งแล้วไปขอใบอนุญาตยังกะทำใบขับขี่ ทั้งที่มีและใช้เฟสบุ๊คมาแต่ไหนแต่ไร

เราอยู่ในโลกยุค 4.0 แต่มี กกต. 0.4 ที่ไม่เข้าใจเสรีภาพในการสื่อสาร จะเข้ามาคุมทุกอย่าง กระทั่งวางโบรชัวร์ไว้ในที่สาธารณะก็ไม่ได้ (ผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาดมั้ง แต่ทำไมห้างแจกใบปลิวได้)

กกต.ไม่ให้หาเสียงทางวิทยุโทรทัศน์ กกต.จัดให้พรรคละ 10 นาที สถาบันการศึกษา องค์กรวิชาชีพ จัดดีเบตได้ แต่ต้องยึดหลักความเท่าเทียม นี่ กกต.จะบังคับให้ทุกคน “เป็นกลาง” โดยไม่คำนึงถึงเสรีภาพ จัดดีเบตใครจะจัด 70-80 พรรค เขาก็ต้องเลือกพรรคตัวเก็งที่ประชาชนสนใจ คุณกำหนดอย่างนี้ในทางปฏิบัติก็จะไม่มีใครจัดเลย

กกต.ยังห้ามเจ้าของกิจการวิทยุโทรทัศน์ นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร สื่อมวลชน ใช้ความสามารถหรือวิชาชีพ เอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

ถามหน่อยสิครับ คนเหล่านี้ไม่มีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น เหตุผลที่จะเชียร์จะนิยมพรรคหนึ่งพรรคใดเลยหรือ ทำไมเขาต้องเป็นกลาง คุณไปเอาหลักการมาจากไหนว่าสื่อต้องเป็นกลาง การเลือกตั้งในระบอบเสรีประชาธิปไตยทั่วโลก สื่อเลือกข้างได้ทั้งนั้น เว้นแต่สื่อรัฐ ที่ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน

กกต.ไม่ลืมตาดูเลยหรือว่าทีวีดิจิตอลทุกวันนี้เป็นเอกชน ซื้อใบอนุญาตจาก กสทช. ทุกช่องมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น ขอเพียงอย่าบิดเบือน ทุกช่องมีเสรีภาพที่จะรับโฆษณาพรรคการเมือง ขอเพียงแจ้งค่าใช้จ่ายกับ กกต.

การตั้งกฎกติกาหยุมหยิมนี้ไม่ใช่แค่ความไม่เข้าใจ แต่สะท้อนทัศนะ “ขุนนาง” เจ้าขุนมูลนายผู้มาดูแลการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนผู้โง่เขลา ซึ่งผิดเพี้ยนมาตั้งแต่มี กกต.ในรัฐธรรมนูญ 2540 ใหม่ๆ เราตั้ง กกต.เป็นองค์กรอิสระมาดูแลเลือกตั้งแทนมหาดไทย แต่ไปๆ มาๆ ก็ถูกครอบงำด้วยความคิดจารีต เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต้องมี “มหาเทพ” มาตัดสินการแสดงเจตจำนงของประชาชน มิใช่ด้วยกระบวนการยุติธรรม แต่ด้วยความเชื่อ มหาเทพ 5 ตน 7 ตน “เชื่อได้ว่าทุจริต” ก็แจกใบแดงให้คนที่ประชาชนเลือกมาเป็นแสนคะแนน หนำซ้ำต่อมายังยุบพรรคได้ ตามหลักเหมาเข่ง ผิดคนเดียวประหารชีวิตเจ็ดชั่วโคตร

กกต.ไทยที่เอาต้นแบบมาจากอินเดีย มี 2 คน เจ้าหน้าที่ร้อยกว่าคน จึงกลายเป็นองค์กรใหญ่โต มีข้าราชการเป็นพันๆ ใช้งบประจำปีละ 2 พันล้าน มีเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งค่ารับรองสองแสนกว่า ใหญ่โตที่สุดในโลก มีอำนาจเหนือ กกต.ชาติใดในโลก แล้วก็ต้องหางานให้ตัวเองทำ ตามทัศนะของรัฐราชการและคนชั้นกลางระดับบน ที่เชื่อว่า “ยิ่งบ้าจี้ยิ่งศักดิ์สิทธิ์” ไม่ต่างอะไรกับครูจับผิดเสื้อผ้า จับเด็กตัดผม ยิ่งแก่กล้าศีลธรรม

ปัญหาก็คือ กกต.ศักดิ์สิทธิ์จริงไหม เพราะทีนายก อบจ.ได้ ม.44 คืนตำแหน่ง ไปชูป้ายให้ผู้สมัครพรรคสี่รัฐมนตรี กกต.มีปัญญาสอบสวนผู้ใช้ ม.44 หรือเปล่า ว่าไม่เป็นกลางทางการเมือง

กกต.จะให้ประชาชนเชื่อว่าเป็นมหาเทพได้อย่างไร เพราะท่านไม่ได้ผุดมาจากดอกบัวที่ไหน ท่านได้เป็น กกต.ด้วยมติ สนช.ที่คณะรัฐประหารตั้ง ไม่ต่างอะไรกับ ป.ป.ช.ที่ถูกครหาว่าเป็นเพียง “เด็กหน้าห้อง” ของ “กระบวนการยุติธรรมแบบป้อมๆ” นั่นเอง



เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวสดออนไลน์ https://www.khaosod.co.th/hot-topics/news_2135809

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.