ชาวชุมชนพาผู้ร่วมกิจกรรมทำขนมเรไร

Posted: 26 Jan 2019 06:02 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2019-01-26 21:02


สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา ชุมชนนางเลิ้ง เครือข่ายการศึกษานำเดินชุมชนนางเลิ้ง ดูเส้นทางวัฒนธรรมทั้งอาหาร วิถีชีวิต ดูสารคดีที่ทำโดยคนในพื้นที่ และหนังกรณีการไล่รื้อชุมชนศิลปินในอินเดีย สะท้อนเส้นทางความพยายามการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ส่งเสียงต่อภาครัฐ

26 ม.ค. 2562 สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) สสส. และสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส และชุมชนนางเลิ้ง เปิดพื้นที่ชุมชนย่านนางเลิ้งให้เป็นพื้นที่เรียนรู้แก่เยาวชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจ กิจกรรมประกอบด้วยการเดินพื้นที่ชุมชนย่านนางเลิ้ง หัดทำขนมไทย ขนมเรไร ขนมถ้วย ขนมเบื้องญวน และขนมผักกาดที่ตลาดนางเลิ้ง และเรียนรู้เกี่ยวกับละครชาตรี

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีจำนวนราว 20-30 คน มีทั้งนิสิต นักศึกษา สื่อมวลชน บุคคลทั่วไป เครือข่ายเรื่องการศึกษา รวมทั้งธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ และพรเทพ บูรณบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ที่ถูกให้ย้ายจากพื้นที่เมื่อเดือน เม.ย. ปีที่แล้ว ที่กล่าวว่ามาเพราะอยากร่วมฟังเรื่องการพัฒนาพื้นที่นางเลิ้งโดยชาวชุมชน ในวันที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีส้มจะขึ้นแถวๆ ชุมชน ทำให้มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางที่อยู่


ผู้ร่วมกิจกรรมดูสารคดีเรื่องอีเลิ้ง

ในช่วงบ่ายมีการฉายภาพยนตร์สองเรื่อง เรื่องแรกได้แก่สารคดีเรื่องอีเลิ้ง สารคดีเกี่ยวกับวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ของชุมชนผ่านปากของชาวชุมชน การเปลี่ยนแปลงในชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนที่เป็นศูนย์กลางความบันเทิงทั้งโรงหนังเฉลิมธานี ย่านที่มีชื่อเสียงด้านละครชาตรี แหล่งค้าบริการทางเพศ สารคดียังเล่าถึงชีวิตที่ทุกข์ยากในชุมชน อย่างกรณีที่เด็กสาวในชุมชนถูกข่มขืนตั้งแต่เด็ก รวมถึงประสบการณ์ ความทรงจำของคนในชุมชนต่อเหตุการณ์ทางการเมือง ทั้ง 14 ต.ค. 2516 การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.)

เรื่องที่สองคือภาพยนตร์เรื่อง Tomorrow We Disappear เกี่ยวกับชุมชนในนิคมกาฐปุตลี ชุมชนศิลปินพื้นบ้านประเทศอินเดีย ที่วันหนึ่ง ที่ดินชุมชนจำนวน 3,000 คนถูกซื้อไปโดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ชาวชุมชนจึงทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางออกให้กับความไม่มั่นคงทางที่อยู่ เนื่องด้วยข้อเสนอเรื่องที่อยู่ใหม่จากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่จะให้พวกเขาไปอยู่ที่แฟลตสูงหลายชั้นไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตศิลปิน เช่น มีศิลปินที่เลี้ยงชีพด้วยการเดินบนไม้ต่อขา มีหุ่นที่สูงกว่าสามเมตร จึงไม่สามารถอยู่ในอาคารเช่นนั้นได้ เรื่องราวในภาพยนตร์นำเสนอเส้นทางการเคลื่อนไหว ความพยายามในการส่งเสียงของคนในชุมชนให้ผู้มีอำนาจในภาครัฐได้ยิน สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของคนจำนวนหลักพันที่แม้จะเผชิญปัญหาเดียวกัน แต่ก็มีวิธีในการแก้ไขปัญหาไม่เหมือนกัน ทำให้ในชุมชนเองก็มีความร้าวฉานเมื่อมีปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงทางที่อยู่อาศัยเข้ามา

ชุมชนนางเลิ้งเป็นเขตที่จะมีการพัฒนาพื้นที่ตามแผนการสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีส้ม โดยโครงการได้วางแผนสร้างเส้นทางรถไฟตามแนวตะวันออกไปสู่ตะวันตก เริ่มต้นจากสถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แล้วสิ้นสุดที่เขตมีนบุรี ซึ่งสถานีหลานหลวงอันเป็นสถานีหนึ่งบนเส้นทางรถไฟในโครงการ ก็เป็นพื้นที่ซึ่งชุมชนนางเลิ้งตั้งอยู่
ข่าว
วัฒนธรรม
สิทธิมนุษยชน
นางเลิ้ง

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.