Posted: 29 Jan 2019 06:15 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2019-01-29 21:15


ศรายุทธ ฤทธิพิณ สำนักข่าวปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน รายงาน

ศาลฎีกาพิพากษา ให้ นิด ต่อทุน พร้อมพวกรวม 31 คน ชาวชุมชนบ่อแก้ว จ.ชัยภูมิ ในฐานะจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ข้อหาบุกรุกเขตป่าสงวนฯ ด้านชาวชุมชนยันอยู่และทำกินในพื้นที่เดิม และจะต่อสู้เรียกร้องในสิทธิที่ดินให้คงอยู่ต่อไป ระบุไม่ได้รับความเป็นธรรมในการถือครองทำประโยชน์ รวมถึงทั้งการถูกฟ้องดำเนินคดี

29 ม.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เดินทางไปศาลจังหวัดภูเขียว จ.ชัยภูมิ เพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกาตามหมายนัด ในคดีที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ฟ้องขับไล่ นิด ต่อทุน จำเลยที่ 1 พร้อมพวกรวม 31 คน ข้อหาว่าจำเลยและบริวารได้กระทำการบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม

ต่อมาเวลาประมาณ 11.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกาสั่งให้จำเลย และบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ผลอาสิน ออกจากพื้นที่ ภายใน 30 วัน นับจากมีคำสั่งศาลฎีกา

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จำเลยและชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ยืนยันจะอยู่และทำกินในพื้นที่เดิม และจะต่อสู้เรียกร้องในสิทธิที่ดินให้คงอยู่ต่อไปเพื่อลูกหลาน เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมในการถือครองทำประโยชน์ รวมถึงทั้งการถูกฟ้องดำเนินคดี
ลำดับเหตุการณ์ที่มาของกรณีนี้ :


สำหรับกรณีนี้ ภายหลังจากที่ดินทำกินถูกประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม เมื่อปี 2516 จึงเป็นที่มาของพื้นที่พิพาทระหว่างที่ดินชาวบ้านกับสวนป่าคอนสาร(สวนป่ายูคาฯ) สืบเนื่องมานับแต่ปี พ.ศ. 2521 หลังจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.)ได้ดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร ตามเงื่อนไขการสัมปทานทำไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม เนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่

อย่างไรก็ตาม การปลูกสร้างสวนป่าไม่ได้ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย คือบริเวณป่าเหล่าไฮ่ แต่ อ.อ.ป.ได้นำไม้ยูคาลิปตัสเข้ามาปลูกทับที่ดินทำกินชาวบ้าน จนนำมาสู่ปัญหาส่งผลกระทบให้หลายครอบครัวถูกอพยพออกจากที่ทำกิน ชาวบ้านผู้ดือดร้อนกว่า 300 คน จึงได้ออกมาเคลื่อนไหว กลายเป็นข้อพิพาทและมีการบังคับ ข่มขู่ คุกคาม ระหว่าง อ.อ.ป.กับชาวบ้าน เรื่อยมา

ทว่าผลการต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมในสิทธิที่ดิน กลับกลายมาถูกฟ้องดำเนินคดี โดยที่มาของการถูกคดี หลังจากเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2552 ผู้เดือดร้อนได้ปฏิบัติการเข้ายึดที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมาได้ประมาณ 98 ไร่ และจัดตั้งชื่อว่าชุมชนบ่อแก้ว

เหตุแห่งการเข้ายึดที่ดินทำกินด้วยเพราะการดำเนินการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐเป็นไปอย่างล่าช้า ตามที่ชาวบ้านมีข้อเรียกร้อง และมีมติที่ประชุมร่วมกัน คือ ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาด,ให้จัดสรรที่ดินให้ผู้เดือดร้อนในรูปแบบโฉนดชุมชน และในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 ส.ค.52 อ.อ.ป.กลับเป็นโจทก์ยื่นฟ้องขับไล่นายนิด ต่อทุน และพวกรวม 31 คน ข้อกล่าวหาจำเลยได้กระทำการบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ จึงขอให้ศาลได้มีคำสั่งขับไล่ออกจากพื้นที่ พร้อมกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และไม้ผลไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้

และในวันที่ 28 เม.ย.53 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ที่ได้นำไปปลูกในพื้นที่พิพาทออกให้หมดภายใน 30 วัน

ต่อมาจำเลยได้อุทธรณ์ และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีไว้ชั่วคราว ในขณะเดียวกันโจทก์ยื่นคำให้การแก้อุทธรณ์และคัดค้านคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีชั่วคราว

และในวันที่ 13 ธ.ค. 2553 ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีการบังคับคดีชั่วคราวตามที่จำเลยยื่นคำร้อง และโจทก์ได้วางเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อติดหมายบังคับคดีในพื้นที่พิพาท ในวันเดียวกัน ทำให้ชาวบ้ายผู้เดือดร้อนต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม ด้วยการเดินเท้าจาก อ.คอนสาร ถึงกรุงเทพฯ ในระหว่างวันที่ 4 ก.พ. – 16 มี.ค. 54 ทำให้ชาวบ้านได้เคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งการให้ อ.อ.ป.ถอนการบังคับคดี และเร่งประกาศพื้นที่โฉนดชุมชนในพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร ตามที่ได้ผลักดันให้รัฐบาลสมัยนั้นมีมาตรการทางนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิที่ดิน

โดยมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 2 มี.ค.54 ผลการเจรจาระหว่างผู้แทนชาวบ้านกับ อ.อ.ป.นำมาสู่ข้อตกลง 3 ข้อคือ 1. อ.อ.ป.จะไม่เร่งรัดบังคับคดี 2. การนำพื้นที่จำนวนประมาณ 1,500 ไร่ ไปดำเนินการโฉนดชุมชน ให้ผู้แทน อ.อ.ป. สำนักนายกรัฐมนตรี และชาวบ้านผู้เดือดร้อน ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน และ 3.การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ให้นำข้อกำหนดของ อ.อ.ป.มาปรับปรุงให้เกิดการยอมรับร่วมกัน แต่การปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่โฉนดชุมชนให้แต่อย่างใด นอกจากจำนวนพื้นที่เดิม (ประมาณ 96 ไร่) ที่ชาวบ้านร่วมกันยึดเข้ามาได้ในวันที่ 17 ก.ค.52

จนกระทั่งในวันที่ 21 ธ.ค.54 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ต่อมาชาวบ้านผู้เดือดร้อนที่ตกเป็นจำเลยได้ฎีกา

แนวทางนโยบายที่ควรจะเป็นคุณและประโยชน์ต่อชาวบ้านที่เดือดร้อน แต่รัฐกลับเมินเฉย เหล่านี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ล่าช้าของภาครัฐ ไม่มีความจริงใจที่นำมาสู่การแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านด้วยความเป็นธรรมและถูกต้อง

รวมทั้งกรณีที่หัวหน้าคณะ คสช.มีนโยบายทวงคืนผืนป่า ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ส.ค.57 เจ้าหน้าที่ทหาร ป่าไม้ เข้ามาปิดประกาศคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 ให้ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว รื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ส่งผลให้ชาวบ้านต้องเดินทางเข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง รวมทั้งเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องว่าในพื้นที่พิพาทอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกันมาหลายรัฐบาล และเรียกร้องให้ยุติคำสั่งไล่รื้อ และนำเสนอแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยชุมชน โดยชาวบ้านในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ)ได้ร่วมกันผลักดันมาตั้งแต่ปี 2558

รวมทั้งช่วงระหว่างวันที่ 2 - 22 พ.ค.61 พีมูฟได้ร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหา กระทั่งได้มีการทำบันทึกข้อตกลง(MOU)ในการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างพีมูฟกับหน่วยงานภาครัฐ

ทว่าในทางปฎิบัติของรัฐบาล ยังไม่ดำเนินการใดๆที่เป็นจริงในการที่จะสามารถนำนโยบายมติ ที่ประชุมที่จะสามารถนำมาแถลงต่อศาล เพื่อพิจารณาในทางที่เป็นธรรมต่อชาวบ้านได้

เหล่านี้ชี้ให้เห็นได้ว่าเป็นความล่าช้า เมินเฉย ภาครัฐหาได้มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาตามที่ได้มีแนวทางและข้อตกลงร่วมกันอย่างเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งชาวบ้านผู้เดือดร้อนจะผลักดัน ทวงถาม ติดตาม เพี่อต่อสู้เรียกร้องในสิทธิที่ดินทางนโยบายกับภาครัฐต่อไป
ข่าว
สังคม
สิทธิมนุษยชน
คุณภาพชีวิต
สิ่งแวดล้อม
สิทธิที่ดินทำกิน
ชุมชนบ่อแก้ว
บุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติ
ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม
นิด ต่อทุน[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.