Posted: 22 Jan 2019 04:44 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2019-01-22 19:44


เวที ‘Thammasat Resolution Talk’ ชำแหละนโยบายแก้คอร์รัปชันไทยยังอ่อนแอ องค์กรตรวจสอบไร้อิสระ เกิดนวัตกรรมใหม่ในการทุจริต นักวิชาการมธ. ชวนออกแบบระบบที่รัดกุมและปฏิรูปทั้งกระบวนการ โดยใช้ประเทศอินโดนีเซียเป็นต้นแบบ ด้าน ‘บรรยง’ เสนอสโลแกนใหม่ โตไปไม่ยอมให้ใครโกง มองเลือกตั้งครั้งเดียวไม่แก้ปัญหา ขณะที่อาจารย์จุฬาฯ ปลุกสังคมสร้างวัฒนธรรมแสดงความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจ

22 ม.ค.2562 เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มธ., สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. จัดเวทีเสวนา Thammasat Resolution Talk “ตั้งโจทย์-ตอบอนาคต : วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง” ครั้งที่ 3 หัวข้อ “การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน” ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ ปัญหาการคอร์รัปชันจะลดลง ต่อสู้ทุจริตได้ดีกว่าระบอบเผด็จการหรืออำนาจนิยม โดยพบว่า 30 ประเทศแรกที่ดัชนีความโปร่งใสสูงสุด ส่วนใหญ่เป็นประเทศประชาธิปไตย ส่วนอันดับท้ายๆ ที่คอร์รัปชันยังสูง เช่น ในทวีปแอฟริกาหรือตะวันออกกลาง มีระบบการผูกขาดอำนาจทางการเมือง

ปัจจัยหลักที่การต่อต้านคอร์รัปชันของหลายประเทศประสบความสำเร็จ มาจากฉันทามติและการผนึกกำลังระหว่างภาคประชาชน สื่อ ภาคธุรกิจ และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เปลี่ยนระบบการเมืองเศรษฐกิจให้โปร่งใสและลดการผูกขาด ไม่ว่าชนชั้นนำกลุ่มใดขึ้นสู่อำนาจก็จะถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นด้วยมาตรฐานเดียวกัน ไม่สามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจโดยปราศจากความพร้อมรับผิด (accountability) ได้

“อินโดนีเซียเป็นตัวอย่างของประเทศที่เคยมีดัชนีความโปร่งใสตำ่มาก จนกระทั่งขึ้นมาอยู่ระดับกลางๆ เพราะทุกฝ่ายเห็นคุณค่าของการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนกับการต่อสู้คอร์รัปชันเป็นเรื่องเดียวกัน”

ส่วนประเทศที่ระบบอุปถัมภ์ฝังรากลึก เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ฯลฯ การแก้ปัญหายากกว่า จะต้องรอให้เกิดปัจจัยที่มากระทบอย่างรุนแรงจนทำให้สังคมร่วมกันเดินไปในเส้นทางใหม่ หรืออีกแนวทางคือสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมให้เข้มแข็งซึ่งต้องใช้เวลานาน

นอกจากนั้น ต้องออกแบบสถาบันตรวจสอบให้มีอำนาจและความอิสระ ปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง เปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะ แต่แนวทางนี้ยังเป็นจุดอ่อนของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งกำลังถูกจับตามองและตั้งข้อสงสัยต่อบทบาทและหน้าที่ จึงขาดแรงสนับสนุนจากภาคประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย

ผศ.ดร.ประจักษ์ เสนอให้ ป.ป.ช.นำบทเรียนจากต่างประเทศมาปรับใช้ โดยตรวจสอบทุกองค์กรที่ใช้งบประมาณและอำนาจสาธารณะอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในระยะยาว และปฏิรูประบบราชการ รัฐสภา กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมควบคู่กันไปด้วย

บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการคอร์รัปชันไม่ได้ลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้น ไม่ใช่สาเหตุจากการปฏิวัติเท่านั้น แต่นวัตกรรมคอร์รัปชันยังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ และเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงการคอร์รัปชันก็เพิ่มต่อไป

ปัจจุบันคอร์รัปชันแบ่งได้ 3 รูปแบบ 1.การใช้อำนาจรัฐแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ปล้นชิงทรัพยากร เช่นการออกโฉนด การโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.การทุจริตจากกฎระเบียบภาครัฐ เพื่อเปิดช่องให้มีการหยอดน้ำมันหรือจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา และ 3.การใช้เงินซื้อความได้เปรียบในการแข่งขันเพื่อผูกขาดตลาดหรือใช้งบประมาณที่สูงเกินจริง

“เราต้องเปลี่ยนจิตสำนึกของคนในสังคม การเป็นแค่คนดีไม่พอต้องคิดว่าเราคือผู้เสียหาย เปลี่ยนโครงการโตไปไม่โกงเป็นโตไปไม่ยอมให้ใครโกง หลอมรวมผลประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวม ถือเป็นหน้าที่ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้”

บรรยง เสนอสร้าง ‘ระบบนิเวศน์’ ใหม่เพื่อให้การคอร์รัปชันทำได้ยากและถูกตรวจพบง่ายกว่าเดิม ด้วยแนวคิด TEPP คือTransparency เปิดเผยโปร่งใส , Expertise ส่งเสริมให้ผู้เชี่ยวชาญติดตามตรวจสอบ, Participation ทุกภาคส่วนร่วม และ Publicประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสาร

ส่วนความหวังจากการเลือกตั้งครั้งใหม่นั้น มองว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ดีและต่อเนื่องเป็นส่วนสำคัญ แต่การเลือกตั้งครั้งเดียวจะไม่ช่วยอะไรมาก

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อุปสรรคของการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยคือการขาดวัฒนธรรมการแสดงความรับผิดชอบ (Accountability) ของผู้มีอำนาจ ทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ผล และถ้าต้องการแก้คอร์รัปชันได้ดีขึ้น จะพึ่งพาคนดีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำให้คนทุจริตเกิดความละอายใจ ด้วยการมีระบบที่โปร่งใส สังคมเข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงได้ง่าย เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายร่วมตรวจสอบ เช่น การเปิดเผยทรัพย์สินต่างๆ ป้องกันไม่ให้นักการเมืองหาข้ออ้างจากการกระทำของตนเองได้อีก

“โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้น สังคมควรกดดันให้ภาครัฐดำเนินการเรื่องนี้ต่อเนื่อง การคอร์รัปชันจะลดลงในอนาคต”

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการที่ปรึกษานิตยสารสารคดี กล่าวว่า ระบบตรวจสอบมีความสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันโดยมอง 3 ส่วนหลักคือองค์กรอิสระ สื่อมวลชน และภาคประชาชน ซึ่งในรัฐบาลประชาธิปไตยแม้ทุจริตแต่ระบบตรวจสอบช่วยควบคุมได้ เกิดความโปร่งใสและแรงกระเพื่อมของสังคม แต่การทำรัฐประหารมักอ้างเรื่องคอร์รัปชันซึ่งสุดท้ายสถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น องค์กรอิสระมีที่มาไม่โปร่งใสและโดนแทรกแซง ส่วนการใช้มาตรา 44 ให้ข้าราชการที่ถูกตรวจสอบหยุดทำงานถึง403 คน กลับไม่มีฝ่ายทหารเลย หลายๆ โครงการยังคงถูกตั้งคำถาม สื่อมวลชนก็ปิดกั้นตัวเองเพราะกลัวจะถูกคำสั่งคสช.หรือกสทช.

สิ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงก็คือประชาชน 2 กลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง คือกลุ่มที่เคยประท้วงรัฐบาลคอร์รัปชันแต่เมื่อรัฐบาลคสช.กลับเงียบหายไปและกลุ่มที่เรียกร้องประชาธิปไตยกลับมาพูดเรื่องคอรัปชั่นตอนนี้ แสดงว่าต่างฝ่ายล้วนนำปัญหาคอร์รัปชันมาเป็นเครื่องมือ

“ดังนั้น หากมองว่าอินโดนีเซียเป็นโมเดลที่ดี สังคมไทยก็ถึงเวลาต้องร่วมกันสนใจทั้งปัญหาประชาธิปไตยและคอร์รัปชันไปพร้อมๆ กัน” วันชัย ระบุ
ข่าว
การเมือง
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ธานี ชัยวัฒน์
ความรับผิดชอบ
บรรยง พงษ์พานิช
ประจักษ์ ก้องกีรติ
คอร์รัปชัน
เลือกตั้ง 62

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.