Posted: 20 Jan 2019 11:26 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2019-01-21 14:26


สปสช.ร่วมกับสภาการพยาบาลลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นบริการตามมาตรา 18 (13) ในประเด็นเกี่ยวกับนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินและระบบปฐมภูมิที่เชื่อมโยงกับคลินิกหมอครอบครัว ด้านนายกสภาการพยาบาลกระตุ้นผู้ปฏิบัติงานบอกเล่าสภาพปัญหาหน้างานเพื่อจะได้หาแนวทางแก้ไข ส่วนเวทีต่อไปเตรียมลงพื้นที่ จ.นครปฐม 11-12 ก.พ. นี้

21 ม.ค.2562 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ สภาการพยาบาล จัดเวทีสื่อสารข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นผู้ให้บริการตามมาตรา 18 (13) ปีงบประมาณ 2562 ระหว่างวันที่ วันที่ 21-22 ม.ค. 2562 ที่ จ.บุรีรัมย์ โดยมีพยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นประมาณ 275 คน

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่าตามที่รัฐบาลมีนโยบายใหม่คือนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) และระบบบริการปฐมภูมิที่เชื่อมโยงกลไกคลินิกหมอครอบครัว (PCC) ทำให้มีผลกระทบและมีปัญหาที่เป็นข้อจำกัดต่อการปฏิบัติงานในพื้นที่เกี่ยวกับระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือปัญหาขัดข้องอื่นๆ อาทิ ด้านการคุ้มครองสิทธิผู้ให้บริการตามมาตรา 18 (4) และผู้รับบริการตามมาตรา 41, การบริการผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินตามนโยบาย UCEP และการบริการผู้ป่วยด้านสูติกรรม และการสนับสนุนระบบปฐมภูมิที่เชื่อมโยงกับคลินิกหมอครอบครัว

ด้วยเหตุนี้ สปสช.จึงร่วมกับสภาการพยาบาล จัดรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 18 (13) ขึ้น เพื่อรับฟังข้อมูลในบริบทของพื้นที่อย่างแท้จริงตลอดจนสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมกับองค์กรวิชาชีพพยาบาลในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ดีมากยิ่งขึ้น


รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล

ด้าน รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า จากการสังเกตเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาหลายครั้ง พบว่าในส่วนของผู้รับบริการมีความพึงพอใจที่ได้รับหลักประกันสุขภาพ แต่ภาพของผู้ให้บริการยังภาพไม่ชัด ตนจึงให้ความเห็นว่าจะสามารถรับฟังความคิดเห็นของผู้รับบริการแยกต่างหากได้หรือไม่ เพราะเรื่องบางเรื่อง สปสช.ไม่ได้กำหนดหัวข้อในการรับฟังแต่ฝั่งผู้ให้บริการอยากบอกเล่า และการรับฟังจากคนที่อยู่หน้างานจริงๆจะได้ประโยชน์มากขึ้น ขณะที่พยาบาลเป็นบุคลากรที่อยู่หน้างาน น่าจะเป็นผู้ที่บอกเล่าในรายละเอียดได้อย่างมาก ควรจะได้รับฟังจากคนกลุ่มนี้ ทาง สปสช.ได้ตอบรับและจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อจัดรับฟังความคิดเห็นเฉพาะของพยาบาล โดยเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาที่ กทม. และปีที่ผ่านมาได้จัดอีก 2 ครั้ง ที่ จ.น่าน และ จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 และจะจัดอีกครั้งที่ จ.นครปฐม ในวันที่ 11-12 ก.พ. 2562 ที่จะถึงนี้

สำหรับหัวข้อการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้คือเรื่องอุบัติเหตุฉุกเฉินและระบบบริการปฐมภูมิซึ่งเป็นนิวเคลียสของการบริการทุกระดับ ถือเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นและมีประเด็นปัญหาติดขัดในหลายเรื่องซึ่งหากไม่มารับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติก็คงไม่มีใครได้ยิน หรือได้ยินก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข การจัดให้มีโอกาสเช่นนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ผู้เข้าร่วมประชุมคือคนสำคัญที่จะบอกว่ามีประเด็นอะไรเกิดขึ้นเพื่อจะได้เห็นปัญหาและแนวทางแก้ไข

"ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่ควรหวงแหน เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน แต่จะทำอย่างไรถึงจะให้ได้ระบบที่ดีที่สุด ยั่งยืนที่สุด ผู้ให้บริการทุกคนได้รับการดูแล ขณะที่ผู้ปฏิบัติก็ต้องมีความสุขด้วย เชื่อว่าน้องพยาบาลทุกคนก็รักระบบหลักประกันสุขภาพและเห็นด้วยว่าเกิดประโยชน์ที่แท้จริงกับประชาชน เพียงแต่จะทำให้ดีกับทุกฝ่ายทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราจะคุยกันในช่วง 2 วันนี้ และสภาการพยาบาลจะสรุปข้อมูลจากการประชุมครั้งนี้ไปผนวกรวมกับข้อมูลที่ได้รับฟังความคิดเห็นครั้งก่อนๆ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป" นายกสภาการพยาบาล กล่าว
ข่าว
คุณภาพชีวิต
ทัศนา บุญทอง
สภาการพยาบาล
การุณย์ คุณติรานนท์
สปสช.


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.