Posted: 28 Jan 2019 08:44 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2019-01-28 23:44


28 ม.ค.2562 เวลา 10.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ตัวแทนสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน(คปอ.) จำนวนกว่า 40 คน เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ สนช.ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ รวมทั้งเข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหากรณีอุทยานแห่งชาติไทรทองประกาศทับที่ทำกินชาวบ้านจนเป็นเหตุให้ชาวบ้านถูกดำเนินคดีจำนวน 14 รายภายใต้นโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช.

นางสาวนิตยา ม่วงกลาง ชาวบ้านซับหวาย ต.ห้วนแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้มีผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้แทนศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชัยภูมิเป็นผู้รับหนังสือ โดยในรายละเอียดมีข้อเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติออกไปก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปรับแก้เนื้อหาให้สามารถแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ..... อยู่ในชั้นกรรมาธิการฯ ที่มีนายสนิท อักษรแก้ว สนช. เป็นประธานกรรมาธิการฯ ก่อนหน้านี้คณะทำงานประชาชนเพื่อการอนุรักษ์และสิทธิมนุษยชน (คอส.) นำโดย นายบุญ แซ่จุง ก็เคยยื่นหนังสือขอให้ชะลอการพิจารณาไปก่อนเนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดย คอส.เคยเสนอร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ต่อ สนช. ซึ่งเป็นฉบับของประชาชนที่เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย ในขั้นตอนการพิจารณาต้องส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพิจารณาเพื่ออนุมัติ เนื่องจากเนื้อหาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน แต่เรื่องกลับไม่มีความคืบหน้าจนปัจจุบัน ขณะที่ร่างกฎหมายฉบับของคณะรัฐมนตรีกลับถูกส่งให้ สนช.พิจารณารับหลักการแล้วดังกล่าว

นอกจากข้อเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติดังกล่าว นิตยาระบุด้วยว่า ตัวแทนชาวบ้านได้เข้าร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิและตัวแทนศูนย์ดำรงธรรมเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหากรณีอุทยานแห่งชาติไทรทองประกาศทับที่ทำกินชาวบ้าน ตามที่มีมติในที่ประชุมเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2561 เห็นชอบในหลักการของแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม โดยให้อุทยานฯ ไทรทองเป็นเจ้าภาพหลักในการประสานงานผู้แทนฝ่ายเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. จังหวัด, อำเภอ, ท้องถิ่น รวมทั้งภาคประชาชนในการเข้ามาร่วมพัฒนาแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชน แต่ทางผู้ว่าฯ แจ้งว่ายังไม่ได้รับหนังสือมติที่ประชุมดังกล่าวจากทางอุทยานแห่งชาติไทรทองแต่อย่างใด

ทั้งนี้คณะทำงานจังหวัดชัยภูมิได้มีมติรับรองผู้เดือดร้อนจำนวน 187 ราย โดยจำแนกชาวบ้านที่อาศัยทำกินอยู่ก่อนปี 2545 จำนวน 145 รายและที่อาศัยทำกินระหว่างปี 2545 - 2557 อีกจำนวน 42 ราย รวมที่ดิน 47 แปลง ให้ กอ.รมน.จังหวัดชัยภูมิเป็นผู้ประสานคณะทำงาน 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ รวมทั้งชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อดำเนินการคัดกรองตามคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557

"หากแนวทางแก้ไขในส่วนของภาครัฐยังไม่มีความคืบหน้า และ พ.ร.บ.อุทยานฯ ก็ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติแบบนี้ คาดว่าปัญหาผลกระทบจะตามมาอีกมากมาย คนอยู่กับป่าไม่ได้อย่างยั่งยืน เพราะจะติดข้อกฎหมายมากมายที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เป็นเหตุให้คนต้องหลุดออกจากป่า กลายเป็นคนไร้ที่ทำกิน และจะถูกจับกุมดำเนินคดี" นิตยากล่าว



รายงานโดน ศรายุทธ ฤทธิพิณ


ความเห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชแห่งชาติ (23 ม.ค.2562)

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... และ ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. .... อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงได้มีความเห็นเพิ่มเติมต่อร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวไปยัง สนช. สรุปได้ดังนี้

1. ร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... ประเด็นที่ (1) การมีส่วนร่วมของประชาชนหรือชุมชนในท้องถิ่น เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... มีการปรับปรุงหลักการให้ดีขึ้นกว่าพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เนื่องจากการกำหนดเขต ขยายเขต หรือการเพิกถอนเขตพื้นที่อุทยานและพื้นที่อนุรักษ์ตามร่างมาตรา 28 ต่างก็ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและชุมชนที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี เห็นว่า ควรมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนด้วย นอกจากนี้ ร่างมาตรา 18 เกี่ยวกับการจัดทำแผนการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งยังคงเป็นอำนาจของหน่วยงานของรัฐและอธิบดี จึงเห็นควรให้กำหนดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของบุคคลหรือชุมชนท้องถิ่น และกำหนดแผนที่เหมาะสมในการร่วมกันบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติระหว่างรัฐและประชาชนด้วย

ประเด็นที่ (2) ความสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่น เห็นว่า ชุมชนเป็นหน่วยทางสังคมที่เข้มแข็งและมีบทบาทสำคัญในการจัดการและพัฒนาสิ่งแวดล้อม ร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... จึงควรกำหนดบทนิยามเกี่ยวกับชุมชนด้วย โดยควรที่จะให้บุคคลหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43

นอกจากนี้ ในส่วนของการคุ้มครอง บำรุง ดูแล และรักษาอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยพื้นที่ชายฝั่งและทะเลในการดำรงชีพ การมีบทบัญญัติห้ามเข้าไปกระทำการบางอย่างในเขตที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ก็ควรกำหนดบทยกเว้นไว้สำหรับกรณีดังกล่าวเป็นการเฉพาะ และควรกำหนดครอบคลุมไปถึงกรณีของบุคคลหรือชุมชนที่อยู่อาศัยหรือพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติในเขตพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหรือต่อมามีการขยายพื้นที่อุทยานแห่งชาติมาถึงด้วย

ประเด็นที่ (3) การสร้างความชัดเจนในเรื่องของการทำกินของบุคคลและชุมชนท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติ มีข้อสังเกตว่า ร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... มาตรา 63 วรรคสอง ที่กำหนดให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือจากปัญหาไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ความช่วยเหลือที่บุคคลหรือชุมชนที่อยู่อาศัยและดำรงชีวิตในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติจะได้รับนั้น เป็นสิทธิหรือประโยชน์ประเภทใด และจะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร

นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า ร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... มาตรา 63 ที่กำหนดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาตินั้น ปรากฏว่า เงื่อนไขที่กำหนดกรอบในการตราพระราชกฤษฎีกายังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการประกันสิทธิของบุคคลหรือชุมชนที่เป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ป่า

หากเป็นเพียงเกณฑ์การช่วยเหลือในเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกินซึ่งอยู่ในกรอบทางเศรษฐกิจ ขาดการคำนึงถึงหลักการส่งเสริมให้ชุมชนดั้งเดิมช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมอันเป็นมิติทางวัฒนธรรม จึงควรนำมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดกรอบพระราชกฤษฎีกาด้วย

2. ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. .... ประเด็นที่ (1) ร่างมาตรา 31 ถึงมาตรา 41 การจัดตั้งป่าชุมชน บัญญัติให้ชุมชนที่ประสงค์นำพื้นที่ป่ามาขอจัดตั้งป่าชุมชน ต้องยื่นแผนจัดการป่าชุมชนต่อคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดพิจารณาอนุญาตก่อนนั้น มีข้อกังวลว่า ชุมชน เช่น กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ชาวมันนิ อาจไม่มีโอกาสรับรู้ถึงวิธีการจัดทำแผนจัดการป่าชุมชนเสนอต่อรัฐก่อนใช้ประโยชน์ และอาจเป็นภาระมากเกินกว่าที่ชุมชนเหล่านั้นจะดำเนินการได้เอง

ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. .... จึงจำเป็นต้องมีวิธีการอำนวยความสะดวกให้แก่ชุมชนเหล่านั้น เช่น บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมป่าไม้ร่วมช่วยเหลือในการเขียนแผนโครงการของชุมชนในพื้นที่ ประเด็นที่ (2) ร่างมาตรา 44 หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน เห็นควรเพิ่มหน้าที่ในการติดตามและประเมินผลการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในป่าชุมชนด้วย

ประเด็นที่ (3) ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. .... บัญญัติให้มีการตราอนุบัญญัติหลายมาตราที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการควบคุมต่าง ๆ ซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น การออกข้อห้ามมิให้กระทำการในป่าชุมชน รวมถึงการกำหนดกฎระเบียบเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ โดยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบาย

ซึ่งมีสัดส่วนกรรมการจากหน่วยงานของรัฐมากกว่าชุมชน โดยไม่ได้กำหนดหลักประกันความเป็นธรรมของประชาชนในการจัดทำร่างอนุบัญญัติไว้ จึงเห็นว่า การออกกฎหมายลำดับรองควรเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง (เช่น กสม.) เข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อแสดงความคิดเห็นในการจัดทำร่างอนุบัญญัติเหล่านั้นด้วย

ประเด็นที่ (4) ร่างมาตรา 56 และมาตรา 57 การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทนหรือค่าบริการจากบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกและการรับเงินบริจาคจากบุคคลภายนอกของป่าชุมชน มีข้อสังเกตว่า เงินดังกล่าวไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินและให้ตกเป็นทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชน จึงเห็นควรบัญญัติให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน รายรับ - รายจ่ายของป่าชุมชนต่อสาธารณะด้วย เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.