อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

Posted: 29 Jan 2019 08:12 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2019-01-29 23:12


ในเวทีเสวนา “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญกับการเมืองไทย” ศรันย์ สมันตรัฐ กณิษฐ์ วิเศษสิงห์ และสรัญญา แก้วประเสริฐ ชวนพิจารณาสถาปัตยกรรมคณะราษฎรและความเป็นสมัยใหม่ในสังคมไทย และความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการทำลายความทรงจำทางประวัติศาสตร์ กรณีการหายไปของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่หลักสี่

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2562 กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จัดงานเสวนาประวัติศาสตร์ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญกับการเมืองไทย” ณ บริเวณข้างเจดีย์ขาว วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน วิทยากรประกอบด้วย ผศ. ดร. ศรันย์ สมันตรัฐ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกณิษฐ์ วิเศษสิงห์ นิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ดร.สรัญญา แก้วประเสริฐ เป็นผู้ดำเนินรายการ
สถาปัตยกรรมแบบคณะราษฎรและความเป็นสมัยใหม่ในสังคมไทย

สรัญญา แก้วประเสริฐ ผู้ดำเนินรายการตั้งข้อสังเกตว่าสถาปัตยกรรมแบบคณะราษฎรนั้นมีลักษณะเฉพาะตัว คือเน้นความเป็นสามัญชน ความเรียบง่าย มักใช้เส้นตรงและเส้นโค้งเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่นอาคารบนถนนราชดำเนิน โดยอาคารเหล่านี้ส่วนมากออกแบบโดยจิตรเสน อภัยวงศ์ ส่วนอนุสาวรีย์ปราบกบฏ หรืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้ออกแบบโดยจิตรเสน ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน

ขณะที่ศรันย์ สมันตรัฐ เริ่มต้นนำเสนอว่า "ส่วนตัวผมสนใจเรื่องการอ่านภูมิทัศน์...ก็คือสนใจคำว่า concept นั่นแหละ เพียงแต่ว่ามองคอนเซ็ปต์ในฐานะที่ว่ามองเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกที่มนุษย์เราสร้างขึ้น มันจะมีความคิดอัดอยู่ แฝงอยู่เสมอ”

ศรันย์กล่าวต่อว่า โดยการอ่านภูมิทัศน์นั้นเกี่ยวโยงกับสามสิ่ง คือมนุษย์ สถานที่ และเงื่อนไขที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์และสถานที่ เช่นในกรณีของสถาปัตยกรรมคณะราษฎร ถ้าหากมองในภาพรวมแล้วอาจจะมองได้ว่าเงื่อนไขนั้นคือการแย่งชิงความหมายกันระหว่างสองฝ่าย

สำหรับอนุสาวรีย์ปราบกบฏ หรืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้น ศรันย์มองว่ารูปแบบของตัวสถาปัตยกรรมเกิดขึ้นจากชัยชนะในการต่อสู้กันทางอำนาจ โดยหลังจากเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช ได้มีการสร้างเมรุขึ้นที่ท้องสนามหลวงสำหรับทำพิธีฌาปนกิจศพผู้เสียชีวิตทั้ง 17 คน ซึ่งถือเป็นการจัดพิธีศพสามัญชนบนท้องสนามหลวงเป็นครั้งแรก โดยศรันย์กล่าวว่า รองศาสตราจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่ารูปแบบของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญอาจจะขยายมาจากเสาเทินพานรัฐธรรมนูญที่ใจกลางเมรุที่ท้องสนามหลวงในครั้งนั้น ซึ่งศรันย์กล่าวว่าเป็น “เมรุอันแรกของประชาชน”

ในส่วนของวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน หรือชื่อเดิมว่าวัดประชาธิปไตยนั้น ศรันย์กล่าวว่าตัวเจดีย์นั้นมีปล้องไฉนทั้งหมดหกปล้อง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ามาจากหลัก 6 ประการของคณะราษฎรคือ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา โดยส่วนใหญ่ปล้องไฉนของเจดีย์จะมีจำนวนเป็นเลขคี่ แต่ที่นี่มีหก ซึ่งศรันย์กล่าวว่า “เป็นลักษณะของการถ่ายทอดทางสัญลักษณ์” นอกจากนี้ ศรันย์ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า หน้าบรรณของวัดพระศรีมหาธาตุทำเป็นรูปอรุณเทพบุตร ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในภูมิภาคนี้ นอกจากที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งอาจสื่อถึงรุ่งอรุณของประชาธิปไตย อันเป็นความหวังของประเทศ

กณิษฐ์ วิเศษสิงห์ กล่าวว่า ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คติในการออกแบบสถาปัตยกรรมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยเริ่มมีการนำความเป็นสมัยใหม่เข้ามา แต่ก็ยังคงความเป็นจารีตไปด้วยพร้อมกัน ซึ่งกนิษฐ์ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับหลักการปกครองของคณะราษฎร ซึ่งเน้นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยกนิษฐ์กล่าวว่า “อำนาจต้องมีการคานกัน ดังนั้นความเป็นสมัยใหม่กับความเป็นจารีตก็ต้องอยู่คู่กัน” อนุสาวรีย์ต่าง ๆ จึงเริ่มมีความเป็นสมัยใหม่กับความเป็นจารีตรวมกัน
ความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการทำลายความทรงจำทางประวัติศาสตร์

ศรันย์กล่าวว่า “การวาดลงไป กับการใช้ยางลบออกมา มันเป็นเงื่อนไขที่ทางฝ่ายจารีตนิยมทำกับสถานที่ต่างๆ” โดยยกตัวอย่างของอาคารศาลฎีกาเดิม ซึ่งถึงแม้ว่าผังเมืองจะกำหนดให้ย้ายหน่วยงานราชการออกจากเกาะรัตนโกสินทร์ แต่อาคารของหน่วยงานอื่นๆถูกนำไปใช้งานในจุดประสงค์อื่น เช่นอาคารกระทรวงพาณิชย์กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งการทำลายอาคารศาลฎีกานั้น ศรันย์กล่าวว่าเป็นความตั้งใจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงสัญญะ โดยเปลี่ยนแปลงรหัสที่ฝังอยู่ในสถาปัตยกรรม

ในส่วนของหมุดคณะราษฎรและอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญซึ่งหายไปนั้น กณิษฐ์กล่าวว่า การลบประวัติศาสตร์นั้นมีมาอย่างยาวนาน ความทรงจำถึงวีรกรรมของคณะราษฎรก็ถูกลบเช่นเดียวกัน ทั้งในทางรูปธรรมและนามธรรม โดยยกตัวอย่างโรงเรียนเตรียมอุดม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะนโยบายการศึกษาของคณะราษฎร แต่ประวัติของโรงเรียนกลับมักพูดถึงแต่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ในฐานะผู้ก่อตั้ง ซึ่งกณิษฐ์มองว่าเป็นการตั้งใจลบประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะหลังจากคณะราษฏรหมดอำนาจ ความพยายามในการลบอำนาจคณะราษฎรมีเพิ่มขึ้น เช่นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็มีความพยายามจะทำลายหมุดคณะราษฏรเช่นกัน กณิษฐ์กล่าวว่า ในฐานะนักประวัติศาสตร์ การลบประวัติศาสตร์ถือเป็นเรื่องที่ผิดมาก การที่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหายไปนั้นถือเป็นการทำลายประวัติศาสตร์อย่างมาก เนื่องจากอนุสาวรีย์นี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าเหตุใดพื้นที่บริเวณนั้นจึงชื่อแขวงอนุสาวรีย์ วัดพระศรีมหาธาตุตั้งมาได้อย่างไร และกบฏบวรเดชและคณะราษฏรสู้กันได้อย่างไร ถึงแม้ว่าประวัติศาสตร์จะจบไปแล้ว แต่เราก็ยังเรียนรู้จากมัน นอกจากนี้กณิษฐ์ยังได้เสนอว่าอย่างน้อยถ้าจะย้าย ก็ขอให้ย้ายมาที่วัดพระศรีมหาธาตุ

สรัญญาได้กล่าวเสริมว่า เคยมีการจะทุบทำลายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถนนราชดำเนินมาแล้วในสมัยของจอมพลถนอม กิตติขจร แต่ก็ถูกคัดค้าน โดยสรัญญามองว่า สิ่งที่คณะราษฎรสร้างไว้เป็นสิ่งที่แตกกระจายได้ง่ายมาก และถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหวสำหรับผู้ที่ต้องการลบประวัติศาสตร์หน้านี้ออกไป

ส่วนในมุมมองของย์ศรันย์ ชีวิต สถานที่ เวลาและเงื่อนไขทางสังคมเป็นหน่วยเดียวกัน ดังนั้น การพรากสถานที่จึงเป็นการพรากชีวิต และการพรากชีวิตจึงเป็นการพรากเงื่อนไขความทรงจำ เขากล่าวด้วยว่า “ผมคิดว่าการพรากแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิต เวลา สถานที่หรือความทรงจำที่ปัจจุบันนี้มันเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นการแสดงออกของการใช้อำนาจนิยม แต่ในความรุนแรงที่ผมคิดว่าเลวร้ายที่สุดเลยคือมันพรากเอาญาณวิทยา...คือการให้เหตุผล คือ basic ของมนุษย์ที่จะเข้าถึงหลักหกประการได้ คุณต้องมีการให้เหตุผล อันนี้คือคุณจะมาขโมยการให้เหตุผลของเยาวชน คุณกำลังขโมยการให้เหตุผลของผู้คน...ในความคิดผม ผมคิดว่ามันรุนแรงมาก”
ข่าว
การเมือง
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
หลักสี่
ประวัติศาสตร์
คณะราษฎร
เสวนา
กณิษฐ์ วิเศษสิงห์
สรัญญา แก้วประเสริฐ
ศรันย์ สมันตรัฐ
อนุสาวรีย์หลักสี่
อนุสาวรีย์ปราบกบฏ
สถาปัตยกรรม

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.