Posted: 24 Jan 2019 11:48 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2019-01-25 14:48


มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาคเปิดเผยสถานการณ์รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครอบปี 2561 ทั้งสิ้น 4,545 ราย หนักสุดคืออาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ร้องเรียน 1,505 ราย เป็นเรื่องโฆษณาหลอกลวง เกินจริง ใช้แล้วเกิดอันตราย อีก 930 ราย ร้องเรียนรถโดยสาธารณะ ในจำนวนนี้รถตู้ถูกร้องเรียนมากสุด 313 ราย รองลงมารถทัวร์โดยสาร 217 ราย

25 ม.ค. 2562 เมื่อวานนี้ (24 ม.ค.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) รายงานสถานการณ์ผู้บริโภคประจำปี 2561 โดย มพบ. และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค ได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียน จำนวน 4,545 เรื่อง

เรื่องที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ เรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีผู้ร้องเรียน 1,505 ราย คิดเป็นร้อยละ 33.11 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด รองลงมาคือ บริการสาธารณะ มีผู้ร้องเรียน 930 ราย คิดเป็นร้อยละ 20.46 และอันดับที่สาม บริการสุขภาพและสาธารณสุข มีผู้ร้องเรียน 705 ราย คิดเป็นร้อยละ 15.51

เมื่อแยกย่อยลงไปในแต่ละหมวดจะพบว่า ปัญหาอันดับหนึ่งของหมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (1,505 ราย) คือ เรื่องโฆษณาอันเป็นเท็จหรือหลอกลวง ที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามาถึง 372 ราย โดยมักเป็นโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายและอาหารเสริม เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Facebook รวมถึงสื่อหลัก โดยเฉพาะช่องเคเบิ้ลและวิทยุท้องถิ่น โดยใช้ข้อความโฆษณาที่ชวนเชื่อ เกินจริง ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีบางกรณีที่ใช้ผลิตภัณฑ์แล้วพบว่าทำให้เกิดอันตราย เช่น ครีมทาผิวขาว ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก เป็นต้น

ส่วนหมวดบริการสาธารณะ (930 ราย) ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการขนส่งทางบกมากที่สุด โดยมักเป็นเรื่องการชดเชยเยียวยาอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ และพฤติกรรมของพนักงานที่ไม่เหมาะสม เช่น พูดจาไม่สุดภาพ สูบบุหรี่ขณะขับรถ ขับรถวาดเสียว คุยโทรศัพท์ขณะขับรถโดยไม่ใช้สมอลล์ทอล์ก เป็นต้น ประเภทของรถที่ได้รับการร้องเรียนค่อนข้างมากมี 4 ประเภท คือ รถตู้โดยสาร 313 ราย รถทัวร์โดยสาร 217 ราย รถรับส่งนักเรียน 130 ราย และรถเมล์/รถโดยสารระหว่างจังหวัด 117 รายตามลำดับ

สำหรับหมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข (705 ราย) นั้น ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นการปรึกษา เรื่องการย้าย/ สอบถามสิทธิ สิทธิประโยชน์ต่างๆ 600 ราย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่รู้สิทธิต่างๆ ของตัวเองเท่าที่ควร และกลุ่มผู้บริโภคที่ประสบปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข คือ ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง
เพราะนอกจากปัญหาการไม่รู้สิทธิแล้ว สิทธิบัตรทองยังเป็นกลุ่มที่มีการร้องเรียนในด้านต่างๆ เข้ามามากที่สุด เช่น ไม่ได้รับความสะดวกตามสมควร/ไม่ได้รับการปฏิบัติตามสิทธิ ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล และถูกเรียกเก็บเงินจากการใช้สิทธิกองทุนฉุกเฉิน เป็นต้น ดังนั้นภาครัฐจึงควรเข้าไปให้คำแนะนำและให้ความรู้แก่ผู้บริโภคอย่างทั่วถึง รวมทั้งให้บริการแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม
ข่าว
สังคม
คุณภาพชีวิต
สิทธิผู้บริโภค
นโยบายสาธารณสุข
เครื่องสำอาง
ยา
รถโดยสารสาธารณะ
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.