Posted: 22 Jan 2019 04:44 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2019-01-22 19:44


เสวนาหนังสือ 'ครอบครัวจินตกรรม: บทวิพากษ์ว่าด้วยชุมชน การปกครอง และรัฐ' มองชาติไทยผ่านอุปลักษณ์แบบครอบครัว ชี้การมีนามสกุลคือการจัดการโดยรัฐที่ตัดผู้หญิงออกจากระบบครอบครัว

22 ม.ค. 2562 สำนักพิมพ์ Illuminations Editions จัดงานเสวนาหนังสือ 'ครอบครัวจินตกรรม: บทวิพากษ์ว่าด้วยชุมชน การปกครอง และรัฐ' เมื่อวันที่18 ม.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้อง LA 707 ตึกศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) พูดคุยวิเคราะห์หนังสือดังกล่าวที่เขียนโดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา ร่วมกับ ภาคิน นิมมานนรวงศ์ พิพัฒน์ พสุธารชาติ และเก่งกิจ กิติเรียงลาภ

โดยงานเสวนานี้มีวิทยากรประกอบด้วย ยุกติ มุกดาวิจิตร โครงการบัณฑิตศึกษา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ ธนัย เจริญกุล นักศึกษาปริญญาเอก วิทยาลัยสหวิทยการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ชุติเดช เมธีชุติกุล นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

รับชมคลิปเสวนา



ครอบครัวในฐานะหน่วยที่รัฐขยายอำนาจเข้าไปกำกับ



“หนังสือเล่มนี้เป็นวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ไปเรื่อยๆ จนบทสุดท้ายน่าท้าทายมากในการอ่าน งานทั้งหมดชี้ให้เห็นประวัติศาสตร์การทำงานของรัฐ โดยบทความธเนศ แกนหลักของหนังสือ บทความภาคิน เป็นลักษณะงานประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่น่าสนใจ และบทความของเก่งกิจ ช่วยให้เข้าใจวิธีคิดของธเนศได้ชัดเจนขึ้น” คือคำอธิบายหนังสือเล่มนี้ของตามไท

ตามไท ชี้ว่า ประเด็นอันหนึ่งที่สำคัญคือธเนศได้ตั้งต้นจากประเด็นเรื่องความปรารถนาของรัฐที่จะเข้าไปควบคุมคนผ่านความสัมพันธ์ของครอบครัว ควบคุมผ่านอุปลักษณ์ของครอบครัว มองความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐผ่านสถานะครอบครัว และอีกวิธีคือการที่รัฐอาศัยหน่วยครอบครัวเป็นเครื่องมือขยายอำนาจเข้าไปกำกับชีวิตของประชาชน

ซึ่งตามไทชี้ว่าคล้ายงานของมิเชล ฟูโกต์ ที่กล่าวว่าอำนาจแพร่ไปหมดทุกทิศทาง และโดยกรณีนี้ผ่านครอบครัวเข้าไปแต่สำคัญคือประเด็นที่ธเนศย้ำว่า ประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิธีเดียวที่ใช้ทำความเข้าใจอดีต ซึ่งตามไทมองงานธเนศเป็นวงศาวิทยาไม่ใช่ประวัติศาสตร์ ซึ่งธเนศได้ศึกษาวงศาวิทยาของอำนาจรัฐผ่านความสัมพันธ์ครอบครัว อำนาจมีการทำงานเข้าไปถึงหน่วยปกติซึ่งเราคิดว่าปลอดจากอำนาจคือสถาบันครอบครัว


อำนาจรัฐที่แทรกซึมสู่ประชาชน รัฐในฐานะที่เป็น logic อย่างหนึ่ง


ตามไทกล่าวต่อว่า ส่วนถัดมาของภาคิน เป็นงานเชิงประวัติศาสตร์ งานเขาศึกษาเรื่องอำนาจรัฐที่เข้าไปแทรกแซงกำกับพลเมือง วิธีคิดเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน เริ่มเข้ามาจัดประเภทคนตั้งแต่เมื่อไหร่ ภาคินชี้ว่า มาตรฐานแยกผู้ใหญ่กับเด็กไม่เหมือนกันในแต่ละยุค ขึ้นกับความรู้ที่เข้ามากำกับ แต่ละยุคไม่ได้ใช้เกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่ง มันผสมทั้งลักษณะกายภาพและอื่นๆ

เมื่อรัฐเริ่มเปลี่ยนเป็นสมัยใหม่ หมวดหมู่ (category)ที่จัดระเบียบคนเปลี่ยน รัฐโบราณเวลาคุมคนไม่ต้องการรายละเอียด ต้องการรู้แค่ใครสังกัดใคร ไม่จำเป็นต้องมีนามสกุล บอกชื่อพ่อก็รู้แล้ว แต่รัฐสมัยใหม่เริ่มเมื่อไทยจ้างฝรั่งมาช่วยบริหารราชการในสมัย ร.4-ร.5 ฝรั่งบอกข้อมูลไม่พอ ต้องจัดเก็บใหม่หมด เพื่อจะจัดแยกประเภททุกอย่าง มันสำคัญที่จะเข้าใจว่ารัฐสมัยใหม่ทำงานแบบไหน

ดังนั้นการขยายอำนาจมาสู่ประชาชนไม่ได้เกิดขึ้นโดยใช้กำลังอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นจากการใช้ความรู้สร้างความเป็นsubject (อยู่ในสังกัด)อีกแบบหนึ่งให้กับพลเมือง ซึ่งงานนี้ส่วนผสมที่ดีระหว่างทฤษฎีกับข้อมูลเชิงประจักษ์

สุดท้ายงานของเก่งกิจนั้น ตามไทมองว่าคือตัวแนวคิดที่พูดทำให้เข้าใจว่าทำไมอ่านงานธเนศแล้วรัฐเป็นตัวร้ายตลอด คอยพยายามเข้ามากำกับตลอด เก่งกิจชี้ว่ารัฐไม่ใช่แค่กลไกอำนาจรัฐ แต่รัฐแทรกซึมทุกอย่าง ดังนั้นรัฐในความหมายธเนศ จึงหมายถึงสถาบันอะไรก็ตามที่ถอยห่างจากสถาบันสังคม แต่ขณะเดียวกันก็พยายามเข้าไปกำกับควบคุม รัฐไม่ใช่ตัวสถาบัน แต่รัฐคือ ตรรกะ (logic)อย่างหนึ่ง


ชาติไทยผ่านอุปลักษณ์แบบครอบครัว


ตามไทกล่าวว่า ถ้าตั้งต้นเรื่องชาติกับเรื่องรัฐ อย่างน้อยที่สุด ชื่อ ‘ครอบครัวจินตกรรม’ นั้นแน่นอนว่าล้อมากับชุมชนจินตกรรม ของเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) ที่ธเนศเสนอคือ เราจะไม่ปฏิเสธว่าชาตินิยมไทยก็เป็นชุมชนจินตกรรมแบบหนึ่ง แต่จินตภาพเกี่ยวกับความเป็นชุมชนของชาติไทยอาจไม่ได้อิงกับภาษาเช่นงานของแอนเดอร์สัส แต่อิงกับอุปลักษณ์ของครอบครัว

สิ่งที่แอนเดอร์สันถูกวิจารณ์บ่อยๆ คือแนวคิดหลายอย่างของเขามีรากฐานเรื่องชาติมาจากตะวันตก และไม่มีความเป็น spiritual (จิตวิญญาณ) มากนัก และวิธีจินตกรรมของแต่ละชาติไม่จำเป็นต้องใช้โมเดลเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเน้นเรื่องภาษา อาจมีโครงสร้างจินตกรรมของชาติในรูปแบบอื่นๆ แง่นี้งานนี้จึงเป็นตัวเปิดที่น่าสนใจที่เปิดเรื่องอุปลักษณ์ของครอบครัว และประเด็นอื่นที่เราอาจละเลยมา


เทคโนโลยีการปกครองของรัฐ


ตามไทระบุว่า ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างคือการสร้างรัฐ ปัญหาคือรัฐที่เราพูดถึงคืออะไร การสร้างรัฐ หมายถึงการที่สถาบันพระมหากษัตริย์สร้างรัฐหรือไม่ รัฐมักเกี่ยวพันกับสองสามเรื่อง เช่น การสร้างระบบราชการ สร้างกลไก ซึ่งมองรัฐเป็นก้อนเดียว แต่ข้อเสนอของ อ.ธเนศ ซึ่งได้มาจากงานของฟูโกต์คือ จริงๆ แล้วสิ่งที่น่าสนใจกว่ารัฐ (state) คือรัฐบาล (government) มันคือเทคนิคของอำนาจในการเข้าไปจัดการเรื่องต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่ในสเกลที่เสมอกัน รัฐอาจมีความสามารถในการพัฒนาบางพื้นที่ ในขณะที่บางพื้นที่รัฐก็เข้าไม่ถึงหรือไม่สนใจ ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นต้องศึกษารัฐเฉพาะในแง่ของกลไก แต่ดูการก่อตัวของเทคโนโลยีของการปกครองในด้านต่างๆ ถ้าพูดแบบฟูโกต์คือดูทั้งส่วนของความเป็นเหตุเป็นผลของการปกครอง (government rationality) และเทคโนโลยีของการปกครอง (technology of government) ซึ่งจะเห็นการทำงานของอำนาจได้แยกย่อยกว่า


นามสกุล: การจัดการโดยรัฐ ที่ตัดผู้หญิงออกจากระบบครอบครัว


ธนัยอธิบายว่า หลัง พ.ร.บ.ขนานนามสกุล พ.ศ.2456 นามสกุลก็ค่อยๆ มีการถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น นอกจากนี้ใน พ.ศ.2456 ยังเกิด พ.ร.บ.สัญชาติไทย ด้วย มันจึงเป็นทั้งการจัดระเบียบชื่อและสัญชาติ

ก่อนหน้านั้นนามสกุลถูกใช้เฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง และไม่แพร่หลาย นามสกุลเป็นการจัดการของรัฐที่ตัดให้คนอยู่แค่เฉพาะในความสัมพันธ์ทางสายเลือด แต่ก่อนเราเรียกชื่อ เป็นลูกของใคร บ้านอยู่ไหน ซึ่งยาวกว่าและไม่สะดวกในการบริหารจัดการ

ในฟิลิปปินส์ สเปนได้เข้ามาปกครองและใน พ.ศ.2392 จึงให้มีการใช้นามสกุล ทำแคตตาลอกนามสกุล 60,000 กว่าชื่อ เพื่อสะดวกในการจัดเก็บภาษี เกณฑ์ทหาร เบิกจ่ายเงิน จัดการคนท้องถิ่นที่เป็นฟิลิปปินส์

ปัญหาที่ตามมาคือผู้หญิงกลายเป็นคนที่ไม่มีนามสกุล กฎหมายระบุให้ใช้นามสกุลของผู้ชายเท่านั้น ใช้ตามครอบครัว ใช้ตามสามี ผู้หญิงจึงเหมือนไม่มีตัวตนในการสืบสายตระกูล หายไปจากระบบครอบครัว ไม่มีบทบาท เคยมีกรณีที่มีหญิงซึ่งครอบครัวตาย ไม่มีนามสกุลใช้จนต้องมาร้องเรียนเพื่อขอใช้นามสกุล


ระบบเครือญาติในมุมนักมานุษยวิทยา


ยุกติกล่าวว่า ธเนศพูดถึงครอบครัวในเชิงอุปลักษณ์ที่เอามาเปรียบเทียบกับการปกครองของรัฐสมัยใหม่ รวมทั้งใช้วิธีการบางอย่างในการปกครองครอบครัวด้วย โดยใช้วิธีการพูดที่เหลื่อมกันไปมา

โดยแง่หนึ่งหนังสือเล่มนี้ยังไปไม่สุดในแง่ที่ยังไม่ได้ถกเถียงกับแวดวงที่ศึกษาเรื่องนี้ในวงกว้างกว่านี้ ใน 3 ประเด็น คือ รัฐ ครอบครัว เด็ก นักมานุษยวิทยาสนใจเรื่องรัฐน้อยสุด

รัฐ ในความเข้าใจของตนมองว่าเป็นความสัมพันธ์อีกรูปแบบที่ไม่ตายตัว มานุษยวิทยาว่าด้วยการศึกษาเรื่องรัฐเป็นเรื่องใหม่ เกิดในยุค 70-80

นักมานุษยวิทยาอังกฤษศึกษาสังคมที่ไม่มีหน่วยการปกครองที่เรียกว่ารัฐในเมืองที่อังกฤษไปปกครองเพื่อจะได้เข้าใจว่าคนอยู่กันอย่างไร เขาพบว่าเมืองส่วนใหญ่เหล่านี้มีระบบการเมืองคือระบบเครือญาติ หรือในงานของเอมิล เดอร์ไคม์ (Emile Durkheim) เล่มสำคัญ อธิบายว่าเครือญาติเกิดขึ้นมาพราะเป็นระบบจัดประเภทคน ว่าใครสังกัดกับใคร

ยุกติเห็นว่า ที่น่าสนใจคือสังคมไทยสมัยก่อนที่จะมีนามสกุล มีการแบ่งประเภทคนอย่างไร ทั้งที่ไม่มีการแบ่งประเภทคนตามเครือญาติอย่างชัดเจน ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องประหลาดมากว่าจะมีวิธีจัดการอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าศึกษาต่อไป

ยุกติยกตัวอย่างกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มจัดประเภทคนด้วยนามสกุลมานานแล้ว เช่น ชาติพันธุ์ไตใช้นามสกุลทั้งในเชิงชนชั้นและในเชิงพิธีกรรรม ศาสนา และใช้ในเชิงชาติพันธุ์ ถ้านามสกุลนี้แสดงว่าคุณอยู่ชาติพันธุ์นี้

นอกจากนี้ยุกติยังกล่าวว่าจากงานที่ศึกษาพบว่า รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปลี่ยนมาเป็นรัฐสมัยใหม่ มักเปลี่ยนจากการที่ผู้หญิงมีอำนาจพอๆกับผู้ชาย มาเป็นผู้หญิงมีอำนาจน้อยกว่าผู้ชาย เป็นสังคมที่ชายเป็นใหญ่มากขึ้น


ภาพปกหนังสือ ครอบครัวจินตกรรมฯ อ่านรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/commerce/products/2099157650141226/



ความตอนหนึ่งจากหนังสือ ครอบครัวจินตกรรมฯ ที่เพจ ‎Illuminations Editions นำมาเผยแพร่ระบุว่า ครอบครัวมีบทบาทสำคัญมาก โดยเฉพาะระหว่างกระบวนการก่อสร้างรัฐสยามสมัยใหม่ กล่าวอีกทางหนึ่ง ครอบครัวกลายเป็นต้นแบบของรัฐประชาชาติ โดยที่ผู้ปกครองถูกแทนด้วยสัญญะของการเป็นพ่อ ดังนั้นรัฐประชาชาติจึงเป็น ‘ครอบครัวจินตกรรม’ มากกว่า ‘ชุมชนจินตกรรม’ ครั้นเมื่อหัวหน้าครอบครัวจำต้องรู้จักสมาชิกในครอบครัวของตน สมาชิกของครอบครัวจินตกรรมแต่ละคนจึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องถูกระบุตัวตนผ่านการมีนามสกุล อันเป็นกลไกสำคัญของในการบ่งบอกว่าเป็นใคร (identification)

เมื่อรัฐและครอบครัวเป็นทองแผ่นเดียวกัน การสอดส่องดูแลสมาชิกของรัฐผ่านการใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลภายในครอบครัวจึงเป็นวิธีการสอดส่องประชาชนที่ต้นทุนตำ่ โดยเฉพาะด้วยการใช้ประโยชน์จากเด็กในฐานะตัวแทนของการควบคุม เมื่อเด็กจำเป็นต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ เด็กจึงกลายเป็นซับเจค (subject) ของรัฐในขณะเดียวกันก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของครูผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐอีกทีหนึ่ง เมื่อคุณค่าของเด็กกลายเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับเด็กที่จะต่อรองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทางอารมณ์กับผู้ปกครอง อารมณ์ทำให้ชีวิตในครอบครัวไม่มีความมั่นคง ด้วยเหตุนี้ เด็กในฐานะ ‘ซับเจค’ ของรัฐจึงทำงานเป็น ‘ตัวแทน’ ของรัฐ และถูกใช้เพื่อควบคุมพฤติกรรมของพ่อแม่ผู้ปกครองของตนเอง

ข่าว
การเมือง
สังคม
วัฒนธรรม
การศึกษา
ครอบครัวจินตกรรม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตามไท ดิลกวิทยรัตน์
ธนัย เจริญกุล
รัฐ
ครอบครัว
เครือญาติ
ชุมชน
การปกครอง
สำนักพิมพ์ Illuminations Editions
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.