ที่มาภาพประกอบ: Nati Shohat/Flash 90

Posted: 25 Jan 2019 06:21 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2019-01-25 21:21


วาทกรรมหนึ่งที่มักจะอ้างใช้กีดกันผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยคือการนำโรคติดต่อเข้าไปสู่ประเทศที่รับพวกเขา แต่องค์การอนามัย (WHO) โลกเปิดเผยในรายงานเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าความจริงแล้วผู้อพยพไม่ได้นำโรคเข้ามาสู่ประเทศปลายทาง แต่เป็นปัญหาของประเทศปลายทางเองมากกว่าที่ระบบจัดการไม่ดีทำให้ผู้อพยพเองต่างหากที่เสี่ยงต่อโรคติดต่อหรือโรคเรื้อรังหลังเข้าประเทศแล้ว

องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยรายงานเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยมักจะมีสุขภาพทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดีในช่วงก่อนที่พวกเขาจะเดินทางออกจากประเทศต้นทาง แต่มีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคติดต่อหรือโรคเรื้อรังถ้าหากสภาพความเป็นอยู่ในประเทศปลายทางย่ำแย่หรือได้รับผลกระทบจากการปรับตัวกับวิถีชีวิตใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นผลกระทบมาจากการที่พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขในประเทศนั้นๆ ได้

"ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพมีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นโรคติดต่อเพราะว่าพวกเขาต้องเผชิญกับสภาพที่ต้องใกล้ชิดกับเชื้อโรค การขาดบริการสาธารณสุข การถูกขัดขวางบริการสาธารณสุข สภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดีในช่วงกระบวนการรอผ่านเข้าเมือง" WHO ระบุในรายงาน พวกเขาระบุอีกว่าประเทศที่ให้ที่พักพิงผู้อพยพควรจะคุ้มครองทางสาธารณสุขแก่ผู้อพยพจากความเสี่ยงด้านสุขภาพที่พวกเขาต้องเผชิญจากการเดินทางด้วย

สื่อคอมมอนดรีมส์ระบุว่าหลังจากที่ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเดินทางเข้าไปในประเทศตะวันตกแล้วพวกเขาก็ต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมแบบใหม่ในสังคม จากการที่ถูกกีดกันจากระบบสาธารณสุขแม้ว่าในประเทศนั้นจะมีบริการสาธารณสุขที่ดีมากกับประชากรในประเทศตัวเอง นอกจากนี้ พวกเขามักต้องเผชิญกับปัญหาอยู่ในภาวะความยากจนเป็นเวลานานทำให้พวกเขามีการขยับร่างกายน้อยลง กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพน้อยลงเมื่อเทียบกับที่พวกเขาเคยทำได้ในประเทศเดิม ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ทั้งโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดและมะเร็ง

WHO แก้ไขความเข้าใจผิดที่ผู้คนมักจะมองว่าผู้อพยพจะนำโรคติดต่อเข้ามาสู่พวกเขา โดยระบุว่าความเชื่อดังกล่าวไม่เป็นความจริง ในทางตรงกันข้าม มีความเสี่ยงน้อยมากที่ผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพทำให้โรคติดต่อไปสู่กลุ่มประชากรประเทศที่รับพวกเขา ในรายงานของ WHO ยังระบุอีกว่าผู้ลี้ภัยมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสอย่าง HIV+ เพิ่มขึ้นหลังจากที่เข้าไปสู่ประเทศใหม่แล้ว และมีโอกาสมากกว่าที่จะได้รับบาดเจ็บจากการทำงานเมื่อเทียบกับคนงานที่ไม่ใช่ผู้อพยพ นอกจากนั้นผู้ลี้ภัยและผู้อพยพที่เข้าสู่ประเทศใหม่ๆ มักจะมีภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลด้วย

เมื่อปี 2559 คณะกรรมาธิการ WHO ภูมิภาคยุโรปเคยวางแนวทางด้านสุขภาวะผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเอาไว้ ซึ่งประเทศในยุโรปก็สร้างความก้าวหน้าทางยุทธศาสตร์และการปฏิบัติการตรงจุดนี้ แต่ WHO ก็ยังระบุว่าควรมีการปรับปรุงระบบสาธารณสุขให้รองรับกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้อพยพมากขึ้น รวมถึงสร้างการเข้าถึงได้โดยคำนึงถึงเรื่องวัฒนธรรมของทางภาษาของกลุ่มลี้ภัยและผู้อพยพด้วย

ซุสซานา จากับ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคยุโรปของ WHO กล่าวว่า กลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเป็นกลุ่มที่เสี่ยงทางสุขภาวะและมีความจำเป็นที่จะทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทันท่วงทีเช่นเดียวกับคนอื่นๆ จากับบอกว่า "นี่เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการช่วยชีวิตคนและลดค่าใช้จ่ายในการรักษา รวมถึงเป็นการคุ้มครองสุขภาวะของประชากรผู้อาศัยในพื้นที่ด้วย"

เรียบเรียงจาก

Refugees Are Not Health Threat to Host Countries, WHO Study Finds. In Fact, It's the Opposite., Common Dreams, Jan. 21, 2019

Migrants and refugees at higher risk of developing ill health than host populations, reveals first-ever WHO report on the health of displaced people in Europe, WHO, Jan. 21, 2019
ข่าว
แรงงาน
สิทธิมนุษยชน
คุณภาพชีวิต
ต่างประเทศ
ผู้อพยพ
ผู้ลี้ภัย
สุขภาวะ
การเข้าถึงบริการสาธารณสุข
โรคติดต่อ
องค์การอนามัยโลก
ยุโรป

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.