Posted: 23 Jan 2019 04:32 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2019-01-23 19:32


กาญจนพงศ์ รินสินธุ์ รายงาน

'Intelligenzia' จัดงานเปิดตัววารสาร บรรณาธิการแถลงต้องการสืบสานวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ยุค 14 ตุลาฯ และเปิดพื้นที่เสรีภาพทางความคิด หนึ่งในผู้เขียนบทความยันงานคนรุ่นใหม่ดีจริง ไม่อย่างนั้นคนรุ่นเก่าคงไม่เอาไปขอตำแหน่งทางวิชาการ

23 ม.ค. 2562 ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มนักศึกษาผู้จัดทำวารสารสังคมศาสตร์ Intelligenzia ได้จัดงานเปิดตัววารสารดังกล่าวเมื่อวานนี้ (22 ม.ค. 62) ซึ่งในงานมีเวทีพูดคุยของกลุ่มผู้จัดทำทั้งฝ่ายประชาสัมพันธ์และกองบรรณาธิการ อีกทั้งเวทีพูดคุยของบรรดาเจ้าของบทความในวารสารโดยเป็นการพูดคุยถึงที่มาที่ไป ทิศทาง และสิ่งที่จะต้องเพิ่มเติมลงไปเพื่อให้วารสาร Intelligenzia สามารถก้าวเดินได้อย่างต่อเนื่อง โดยมี สุรัตน์ สกุลคู บรรณาธิการวารสาร Intelligenzia เป็นผู้ดำเนินรายการพูดคุยตลอดงาน

บ.ก.Intelligenzia เกริ่นถึงจุดประสงค์ของการจัดทำวารสาร Intelligenzia คือต้องการสานต่อเจตนารมณ์ของสังคมศาสตร์ปริทัศน์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทอย่างมากในสมัย 14 ตุลา 16 วารสาร Intelligenzia ถือกำเนิดมาในฐานะวารสารของนักศึกษาเพื่อเป็นพื้นที่ซึ่งมีเสรีภาพทางความคิดให้แก่นักวิชาการ นักศึกษา และผู้ที่สนใจบริบททางการเมืองในปัจจุบัน นอกจากนี้ เหตุผลที่ทางผู้จัดทำกำหนดราคาวารสารเล่มละ 200 บาทก็เพราะว่าเป็นราคาที่ถูกเมื่อเทียบกับวารสารวิชาการหรือกึ่งวิชาการรายอื่น โดยจุดประสงค์ของการกำหนดราคาเช่นนี้ก็เพื่อให้ Intelligenzia เป็นวารสารที่ทุกคนสามารถซื้อได้


จักรพล ผลละออ ฝ่ายพิสูจน์อักษร

จักรพล ผลละออ ฝ่ายพิสูจน์อักษรกล่าวถึงการเกิดขึ้นของวารสารฝ่ายซ้ายในยุคเผด็จการว่า ในความเป็นจริง การจะนิยามความหมายของขวาหรือซ้ายในสังคมนั้นเป็นเรื่องที่ยังเป็นปัญหา เพราะรูปแบบการนิยามฝ่ายซ้ายในสังคมไทยปัจจุบันไม่ได้นิยามด้วยความหมายที่เป็นสากลแต่เป็นการนิยามถึงกลุ่มต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์แบบขวาโบราณ ส่วนวารสาร Intelligenzia แม้จะไม่ได้ดูเป็นฝ่ายซ้ายเท่าไหร่หากเทียบกับวารสารหรืองานเขียนในยุคสงครามเย็น แต่ในสถานการณ์เฉพาะหน้าตอนนี้ก็มองว่าเป็นฝ่ายซ้ายได้บ้าง ในแง่ที่ว่าวารสารฉบับนี้ไม่ได้มีจุดยืนแบบฝ่ายขวา ซึ่งการเกิดขึ้นของ Intelligenzia ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่นักศึกษาลุกขึ้นมาทำวารสาร นักศึกษาลุกขึ้นมาทำสื่อสวนกระแสคัดง้างกับการครอบงำของรัฐ แต่สิ่งที่ยังต้องระวังกันต่อคือความต่อเนื่องในการตีพิมพ์

ในแง่ของจุดเด่นและความแตกต่างของวารสารโดยนักศึกษาฉบับนี้ ชัยรัชต์ ลิ้มเจริญ ทีมงานวารสาร Intelligenzia ได้กล่าวว่าจุดเด่นของวารสารนี้ อยู่ที่จัดทำโดยนักศึกษา มุ่งเน้นที่การเข้าใจง่ายของเนื้อหา อย่างเช่นหัวข้อการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งภายใต้กติกาของ คสช. บทความของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นบทความกึ่งวิชาการที่มีเนื้อหาร่วมสมัยและเข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบัน


อ่านรายละเอียดหรือสั่งซื้อที่ https://www.facebook.com/commerce/products/1928247300628280/

สุรัตน์ กล่าวเสริมว่า เมื่อเขาอ่านวารสารในช่วงที่ยังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 เขาอ่านวารสารเหล่านั้นไม่เข้าใจจึงอยากให้มีวารสารที่อ่านง่าย ส่วนประเด็นความเปิดกว้างของวารสารนั้น ชัยรัชต์ได้กล่าวว่าวารสารมีการเปิดรับบทความจากสายวิชาการหลากหลาย ในขณะที่สุรัตน์ย้ำว่า แม้งานเขียนที่ส่งมาจะมีความหมิ่นเหม่ แต่ถ้าถกเถียงด้วยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และมีทฤษฎีทางสังคมศาสตร์รองรับ ก็จะเอามาลง

ส่วนหัวข้อแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองของคาร์ล มาร์กซ ในยุคปัจจุบันของ ใจ อึ๊งภากรณ์ แม้จะเป็นอีกบทความหนึ่งที่ภาษาเข้าถึงง่ายตามเป้าหมายของทางวารสาร แต่ จักรพงษ์ ก็แสดงความคิดเห็นไว้ว่าที่จริงแล้วเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการอธิบายเยอะ การสรุปเนื้อหาลงในวารสารเพียง 15 หน้าอาจเป็นปัญหาสำหรับผู้อ่านในการทำความเข้าใจ

ด้านการประชาสัมพันธ์ ศุภณัฐ กิ่งแก้ว ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า วารสารฉบับนี้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย เมื่อวารสารเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทางผู้จัดทำก็มีแผนที่จะขยายฐานการจำหน่ายไปยังร้านหนังสือ โดยให้ร้านเป็นแหล่งสั่งจองซึ่งจะเป็นการสะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ศุภณัฐยังฝากถึงเว็บไซต์ร้านหนังสือต่างๆ ว่า ต้องการความช่วยเหลืออย่างมากในการประชาสัมพันธ์เพราะกลุ่มผู้จัดทำซึ่งเป็นนักศึกษาไม่ได้มีงบประมาณมากนัก


ส่วนเวทีผู้เขียนบทความก็ได้มีการเชิญผู้เขียนบทความ 7 รายขึ้นมาพูดคุยกันถึงวารสาร Intelligenzia ได้แก่ ภูวดล ไชยอินทร์ ผู้เขียนบทความ "การขัดขืนต่อโครงสร้างทุนนิยม ความรุนแรงของอาชญากรรมในสังคมสมัยใหม่: บทวิพากษ์ภาพยนตร์เรื่อง ฉลาดเกมโกง" ลลิต บินซอและห์ ผู้เขียนบทความ "ราชาชาตินิยมกับการสถาปนาอำนาจนำในรัฐบาลพลเอกเปรม" ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้เขียน "สามัญปัญญาชนหญิงร่วมปฏิวัติ 2475" วาด รวี ผู้เขียนเรื่อง "กฎหมายทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฉบับใหม่และความเป็นมาโดยสังเขป" รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ผู้เขียนเรื่อง "จารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ: อยุธยาแผ่บารมีสู่ลุ่มน้ำมูล" บรรณษรณ์ คุณะ ผู้เขียน "อนุสาวรีย์พระเจริญราชเดช (ท้าวกวด) กับการสร้างตัวตนของชนชั้นนำท้องถิ่นมหาสารคาม (พ.ศ. 2527-2560)" และจตุรงค์ จงอาษา ผู้เขียน "Terrorism in American Movies"

วาด รวี เสนอว่า ถ้า Intelligenzia ต้องการอยู่รอดก็ต้องสร้างชุมชนขึ้นมา เพราะลำพังหนังสืออย่างเดียวไม่เพียงพอแต่จะต้องมีที่ให้สร้างความคิด ชานันท์ เสนอว่า Intelligenzia ควรจัดงานเสวนาและให้คนส่งบทความมาร่วมงานให้มากกว่านี้ ส่วนรุ่งโรจน์ก็เห็นด้วยกับวาด รวี ว่าชุมชนทางวิชาการถือเป็นเรื่องสำคัญ เขาเสริมในแง่ที่ว่าในความเป็นจริงงานดีๆ ของนักศึกษานั้นมีอยู่แต่ไม่ได้รับการตีพิมพ์ ซึ่งทาง Intelligenzia ก็ต้องไปคุยกับอาจารย์ที่รู้จัก เพราะเขาจะรู้ว่ามีงานชิ้นไหนของนักศึกษาที่น่าสนใจ แล้วจึงขอมาตีพิมพ์ลงวารสาร นอกจากนี้ รุ่งโรจน์ยังเสนอว่าให้สำรองเป็นไฟล์ PDF ไว้เผยแพร่ในกรณีที่วารสารฉบับรูปเล่มขายหมด

ส่วน ลลิต เชื่อว่าถ้าหัวข้อดีจริง อย่างไรเสียวารสารก็จะยังคงคงอยู่ได้ แต่ก็ยังเห็นคล้ายกับอีกหลายๆ คนว่า อาจต้องมีการเดินทางไปโปรโมตหนังสือในที่ต่างๆ ส่วนจตุรงค์มองว่าวารสารนี้เปิดพื้นที่เสนองานดีๆ ให้คนรุ่นใหม่ และเขาเองก็อยากให้คนรุ่นใหม่เขียนงานที่สร้างข้อถกเถียงกันภายในสังคม

“ผมเชื่อว่างานของคนรุ่นใหม่มันดีมาก ถามว่าเพราะอะไร อาจารย์บางคนที่เห็นว่างานลูกศิษย์ตัวเองดีๆ ซักพักก็เอาไปขอตำแหน่ง ผ.ศ. ขอตำแหน่ง ร.ศ. กันหน้าชื่นตาบาน…คุณคิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่เจ๋งพอหรือ ผมว่าเจ๋งนะไม่งั้นคนแก่ๆ เขาไม่เอาการบ้านพวกคุณไปขอตำแหน่งกันหรอก” จตุรงค์กล่าว

สำหรับ กาญจนพงศ์ รินสินธุ์ ผู้รายงานชิ้นนี้เป็นนักศึกษาหลักสูตรอาเซียนศึกษา จากสำนักศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปัจจุบันกำลังฝึกงานที่ประชาไท
ข่าว
การเมือง
การศึกษา
จักรพล ผลละออ
Intelligenzia
สังคมศาสตร์ปริทัศน์[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.